ความรู้บัญชี

4 เทคนิคปิดงบการเงินอย่างถูกต้องและทันเวลา

Check-List ปิดงบการเงินอย่างถูกต้องและทันเวลา

“ไม่เคยปิดงบการเงินได้ทันเวลาเสียที ทำไมสิ้นปีทีไรอดหลับอดนอนเพื่อปิดบัญชีจนถึงวันสุดท้ายตลอด” เพื่อนๆ เคยเจอกับปัญหาแบบนี้แล้วรู้สึกเบื่อวิถีชีวิตนักบัญชีแบบเดิมๆ กันบ้างมั้ยคะ การทำงานแบบไม่ work-life-balance เสียเลย แถมยังได้เงินไม่คุ้มค่าเหนื่อยอีก ถ้าจนให้บ่นต่อ น่าจะยาวไปกว่านี้แน่นอน ฮ่าๆ แต่ไม่ต้องน้อยใจในโชคชะตาไป ในวันนี้ CPD Academy จะมาแชร์ 4 เทคนิคดีๆ ที่ทำให้เราปิดงบการเงินได้อย่างถูกต้องและทันเวลา ว่ามีอะไรบ้างที่นักบัญชีต้องรู้ แล้วแต่ละข้อนั้นเอาไปประยุกต์ใช้กับงานเราได้อย่างไรค่ะ

4 เทคนิคปิดงบการเงิน
4 เทคนิคปิดงบการเงิน

1.วางแผนปิดงบไว้ล่วงหน้า

การปิดงบการเงิน คือ การจัดการทางบัญชีให้ตัวเลขในบัญชีตรงกับความเป็นจริง กิจการสามารถพิสูจน์ความถูกต้องของยอดคงเหลือจากบัญชีแยกประเภทได้โดยการทำงบทดลองหลังปิดบัญชี  จัดทำงบการเงินเพื่อส่งแก่ผู้ตรวจสอบบัญชี และหน่วยงานรัฐ

ถ้าอยากทำงานสำเร็จก็ต้องวางแผน และถ้าอยากวางแผนให้ดีก็ต้องรู้จัก Deadline ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปิดงบให้ดี โดยปกติแล้วเราปิดงบเป็นประจำกันทุกปี แต่ว่าในขั้นตอนการปิดงบการเงินนั้นมีวันที่สำคัญๆ อยู่ 4 วัน ถ้าพลาดแล้วอาจเสียทั้งเงินและเสียใจเพราะไม่ได้เตรียมการไว้ก่อน

วัน Deadline สำคัญที่ว่า คืออะไรบ้าง ถ้าสมมติว่าวันที่สิ้นงวดเป็นวันที่ 31 ธันวาคม ลองดูตารางนี้น่าจะพอเข้าใจ Deadline ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

ห้างหุ้นส่วนบริษัทจำกัด
ประชุมสามัญผู้ถือหุ้น30 เม.ย.
นำส่งรายชื่อผู้ถือหุ้น บอจ. 514 พ.ค.
ยื่นงบการเงินแก่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า (DBD e-filing)31 พ.ค.31 พ.ค.
ยื่นภาษีเงินได้แก่กรมสรรพากร30 พ.ค.30 พ.ค.
ทบทวนเดดไลน์ปิดงบ ดูคลิปนี้

ถัดมาพอเรารู้ Deadline ของงบการเงินที่เราทำบัญชีอยู่แล้ว อยากให้ทุกคนลองคิดต่อว่าจะวางแผนอย่างไร เพื่อให้ปิดงบการเงินทัน เทคนิคที่เราแนะนำคือ การ work backward หมายถึง การตั้งต้นจากวัน Deadline แล้วลองย้อนกลับไปกำหนดตารางการทำงานว่า เราจะเหลือเวลาปิดงบการเงินจริงๆ เท่าไร และในแต่ละช่วงเวลาต้องทำอะไรบ้าง

ยกตัวอย่างเช่น

เรารู้ว่า Deadline แรกของบริษัทจำกัด คือ ต้องมีงบเสร็จเพื่อเข้าประชุมสามัญผู้ถือหุ้นภายใน 30 เมษายน เราอาจจะกำหนดตารางการรทำงานต่างๆ ไว้ตามนี้

– ช่วง มีนาคม – เมษายน ให้เวลาผู้ตรวจสอบบัญชีทำงานและเซ็นต์รับรองงบ

– ช่วง กุมภาพันธ์ จึงเป็นช่วงที่นักบัญชีควรจะปิดบัญชีเสร็จสิ้นแล้ว

วางแผนปิดงบการเงิน
วางแผนปิดงบการเงิน

และวางแผนลงลึกไปกว่านั้นจนถึงขั้นตอนการปิดบัญชีว่า การปิดบัญชีแต่ละขั้นตอนควรจะเสร็จเมื่อไรโดยแตกรายละเอียดการทำงานเป็น Check-List และมอบหมายให้ผู้รับผิดชอบทำตาม Deadline ที่กำหนดไว้

2.สื่อสารกับผู้เกี่ยวข้อง

การวางแผนปิดงบจะไม่มีประโยชน์เลยถ้าเราไม่สื่อสารให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องได้รู้ถึงหน้าที่และงานที่ได้รับมอบหมาย แล้วใครบ้างล่ะที่นักบัญชีจะต้องสื่อสารด้วย

คนที่เราต้องสื่อสารด้วยมีทั้งหมด 3 คนหลักๆ สำหรับขั้นตอนการปิดงบการเงินให้สำเร็จ

อยากปิดงบไว นักบัญชีต้องคุยกับใครบ้าง
สื่อสารปิดงบการเงิน
สื่อสารปิดงบการเงิน

1.ลูกค้า

ลูกค้าในที่นี้ หมายถึง เจ้าของธุรกิจ และพนักงานในแผนกอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ถ้ากรณีเราเป็นพนักงานบัญชีประจำอาจเปลี่ยนจากคำว่าลูกค้า เป็นเจ้านายและเพื่อนร่วมกันก็ได้

สิ่งที่เราต้องสื่อสารกับลูกค้าเนิ่นๆ คือ นักบัญชีต้องการอะไรจากลูกค้าบ้างเพื่อให้งานเราเสร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี เช่น

  • เอกสารที่จำเป็นในการบันทึกบัญชี
  • สัญญาสำคัญต่างๆ
  • การประมาณการทางบัญชีต่างๆ เช่น ประมาณหนี้สินผลประโยชน์พนักงาน ประมาณการยอดคืนสินค้า

นอกจากนี้ อย่าลืมกำหนด Deadline วันที่พวกเค้าต้องส่งเอกสารหรือข้อมูลที่เราต้องการสำหรับการปิดบัญชีด้วยนะคะ เพื่อที่ว่าเราจะได้มีเวลาทำงานต่อได้ หรือถ้าจะ Hardcore กว่านั้น อาจจะแจ้งไว้ล่วงหน้าเลยก็ได้ว่าถ้าไม่ได้รับเอกสารภายในวันนี้ เราจะปิดบัญชีช้าลงกว่าเดิมเป็นวันที่เท่าใดและจะมีค่าปรับยื่นงบการเงินล่าช้ายังไงบ้าง ฮ่าๆ รับรองว่าข้อมูลรีบมากองอยู่ตรงหน้าเร็วกว่ากำหนดเสียอีก

2.ผู้สอบบัญชี

ผู้สอบบัญชี คือ คนที่จะมาตรวจสอบการบันทึกบัญชีว่าเป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีหรือไม่ ผู้สอบบัญชี (CPA) จึงมีความสำคัญมากๆ ในการให้ความเชื่อถือในงบการเงิน ฉะนั้น ตามกฎหมายแล้วก่อนที่จะนำส่งงบการเงินให้กับหน่วยงานรัฐได้จึงจำเป็นต้องมีผู้ตรวจสอบบัญชีเซ็นต์รับรองงบบนหน้ารายงานผู้ตรวจสอบบัญชีเสียก่อน

สิ่งที่นักบัญชีต้องสื่อสารกับผู้สอบบัญชีแต่เนิ่นๆ คือ

  • ตารางการตรวจสอบบัญชีว่าจะเข้าตรวจสอบช่วงไหน
  • เอกสารที่ผู้ตรวจสอบบัญชีต้องการ
  • ประเด็นที่ผู้ตรวจสอบบัญชีสนใจเป็นพิเศษ

ถ้าผู้ตรวจสอบบัญชีได้ข้อมูลจากเราช้า อาจกลายเป็นว่าพวกเค้าลงลายมือชื่อในงบการเงินให้เราล่าช้าไปด้วย ฉะนั้น ถ้าอยากทำงานเสร็จเร็ว อย่าลืมผูกมิตรไว้กับผู้ตรวจสอบบัญชีและสื่อสารให้เข้าใจกันและกันด้วยนะคะ

คุยกับผู้สอบยังไงถึงจะผิดงบได้ไวนะ

3.นักบัญชี

นักบัญชี ก็ต้องสื่อสารกับตัวเองด้วยหรอ ใช่แล้วค่ะ นักบัญชีเนี่ยเป็นศูนย์กลางของจักรวาลเลยล่ะ เราเองต้องเชื่อมต่อระหว่างลูกค้าและผู้สอบบัญชี และที่สำคัญตัวเราเองก็ต้องคุยกับตัวเองด้วยว่าต้องทำอะไร อย่างไร และเมื่อไรบ้าง เพื่อไม่ให้มีการทำงานล่าช้า

ตัวอย่างสิ่งที่นักบัญชีต้องเตรียมให้เสร็จภายใน 30 มกราคม ของทุกปี คือ

  • ยืนยันรายชื่อธุรกิจที่รับทำบัญชี
  • เช็คสถานะสมาชิกสภาวิชาชีพบัญชี
  • แจ้งชั่วโมง CPD ประจำปีให้เรียบร้อย

แต่ๆ เรื่องการแจ้งชั่วโมง CPD นั้น เราอย่าสับสนนะคะ เพราะว่าการอบรมเก็บชั่วโมง CPD ต้องทำในปีปฏิทินนั้นๆ (ภายใน 31 ธันวาคม) ให้ครบถ้วน ส่วนการแจ้งชั่วโมงสามารถทำได้ถึง 30 มกราคม ของปีถัดไป

นอกเหนือจากเรื่องทะเบียนและสถานะผู้ทำบัญชีแล้ว อย่าลืมตกลงกับตัวเองเรื่องตารางเวลาการทำงานให้เรียบร้อยด้วยนะคะ

3.ทำตามขั้นตอนปิดงบการเงินให้แม่น

ขั้นตอนการปิดงบการเงินเป็นเหมือนคัมภีร์ในการทำงานก็ว่าได้ ถ้าเราข้ามหรือลืมทำขั้นตอนไหนไปก็อาจจะทำให้การปิดงบการเงินไม่สมบูรณ์ทำให้เราต้องย้อนกลับมาแก้ไขใหม่อยู่เรื่อยๆ

ขั้นตอนปิดงบมีทั้งหมด 4 ขั้นตอนดังนี้

  1. บันทึกบัญชี Key เอกสารให้ครบถ้วน
  2. ทำรายการปรับปรุงบัญชีให้เรียบร้อย
  3. กระทบยอดบัญชีเพื่อตรวจสอบความถูกต้อง
  4. จัดทำงบการเงิน

แล้วแต่ละขั้นมีรายละเอียดอย่างไร เราต้องทำยังไงบ้าง อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่เลย 4 ขั้นตอนการปิดงบการเงิน ทำตามนี้ไม่มีพลาด

4.ข้อควรระวัง

สุดท้ายการปิดงบการเงินอย่างถูกต้องและทันเวลามีข้อควรระวังหลักๆ อยู่ 5 ข้อดังนี้

  • อย่าลืมอ่านหน้ารายงานผู้ตรวจสอบบัญชีเสมอก่อนนำส่งงบการเงิน
  • ต้องเช็คยอดยกมากับงบการเงินปีก่อนให้เรียบร้อย
  • การปิดงบการเงินเป็นการทำตามมาตรฐานการบัญชี ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับการทำภาษี
  • การคำนวณภาษีต้องมี worksheet แยกคำนวณต่างหาก
  • เคลียร์ประเด็นภาษีให้ชัดกับเจ้าของธุรกิจ ว่าพวกเค้าต้องเสียภาษีอะไรบ้าง เสียเท่าไร มีการขอคืนหรือไม่ ตามภาพด้านล่างนี้
เคลียร์ประเด็นภาษี
เคลียร์ประเด็นภาษี

และสุดท้ายการปิดงบการเงินก็ต้องวิเคราะห์สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันของธุรกิจและสภาพเศรษฐกิจไปพร้อมๆ กันด้วย เพื่อที่ว่าเราจะได้รับรู้รายการทางบัญชีอย่างถูกต้อง

ตัวอย่างการปิดงบการเงินและประเด็นที่อาจเกิดขึ้นได้ในกรณีที่มีสถานการณ์ไม่คาดฝันอย่าง Covid-19 เราต้องพิจารณาประเด็นพวกนี้เพิ่มเติม

  • สมมติฐานการดำเนินงานต่อเนื่อง
  • การรับรู้รายได้
  • ตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ
  • ตั้งค่าเผื่อสินค้าลดมูลค่า
  • ตั้งค่าเผื่อการด้อยค่าที่ดิน อาคารและอุปกรณ์

ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ต้องรู้เกี่ยวกับการปิดงบการเงิน เสมือนหนึ่งเป็น check-list สำคัญทำให้เราปิดงบได้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งไม่ได้มีแค่เรื่องความถูกต้องของงบการเงินตามขั้นตอนงานบัญชีเท่านั้น แต่ทว่ายังให้ความสำคัญเกี่ยวกับการวางแผนเพื่อปิดงบการเงินและสื่อสารกับคนที่เกี่ยวข้องด้วย

อย่างที่เรารู้กันว่างานบัญชีสมัยนี้มีการแข่งขันสูง การปิดงบการเงินตามมาตรฐานเป็นอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ แต่สิ่งที่เราต้องพัฒนาให้มากกว่านี้ คือ การปิดงบบัญชีให้ถูกต้อง และทันเวลาไปพร้อมๆ กัน แล้วเพื่อนๆ จะรู้ว่างานบัญชีมีคุณค่ามากกว่าที่คิดเลยล่ะค่ะ

เปิดแล้ว++ รุ่น 3 คอร์สปิดงบการเงินที่จะทำให้นักบัญชีเก่งขึ้นแบบก้าวกระโดด

เรียนรู้วิธีปิดงบการเงินกับ CPD Academy แบบสดๆ วันจันทร์ที่ 2 ธันวาคม 2567 สถานที่ โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพ อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่

ปิดงบการเงินสำหรับนักบัญชีมือใหม่ รุ่น 3
ปิดงบการเงินสำหรับนักบัญชีมือใหม่ รุ่น 3

จองสิทธิ์ราคาพิเศษ สอบถามได้ที่นี่ Line: @cpdacademy 

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า