การปิดงบการเงิน เป็นงานประจำปีที่ถือว่าเป็นงานที่ “ท้าทายงาน” นึงสำหรับนักบัญชีเลยก็ว่าได้ เพราะว่านักบัญชีจะต้องรวบรวมสติและจัดการกับรายการทางบัญชีทั้งหมดที่บันทึกเอาไว้ทั้งปี จัดระเบียบให้เข้ามันรูปเข้ารอยเพื่อให้มั่นใจว่าเป็นรายการที่ถูกต้องตามมาตรฐานการบัญชีและส่งงบทันเวลาตามที่กฎหมายกำหนด
แล้วการปิดงบมันคืออะไร มีเรื่องอะไรที่นักบัญชีอย่างเราต้องเข้าใจบ้าง ก่อนจะปิดงบปีนี้ลองมาทำความเข้าใจสาเหตุ ที่มาที่ไป และสิ่งที่นักบัญชีต้องรู้ก่อนปิดงบการเงินประจำปีแบบครบจบในบทความนี้กันค่ะ
ปิดงบการเงินคืออะไร?
คำว่า “ปิดงบการเงิน” ในภาษาอังกฤษเราเรียกว่า “Closing Financial Statement” หมายถึง การสรุปรายการทางบัญชีประจำปี และจัดทำออกมาในรูปแบบงบการเงิน เพื่อนำส่งหน่วยงานราชการอย่างกรมพัฒนาธุรกิจการค้าและกรมสรรพากร
และ “งบการเงิน” ที่ได้จากกระบวนการปิดงบการเงินนั้น จะเป็นรายงานทางบัญชีที่บอกถึงฐานะการเงิน ผลประกอบการของธุรกิจ และรายการสำคัญๆ ที่เกิดขึ้นในธุรกิจสำหรับปีที่ผ่านมา
ถ้าอ่านแล้วยังไม่ค่อยเข้าใจ ลองดูคลิปนี้ที่เราอธิบายเรื่องของการปิดงบการเงินให้ฟังค่ะ
ใครต้องปิดงบการเงินบ้าง?
ธุรกิจที่ต้องปิดงบการเงินจะเป็นธุรกิจที่กฎหมายกำหนดให้มีการจัดทำบัญชีและนำส่งงบการเงินประจำปี ภาษากฎหมายเค้าเรียกว่า “ผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี”
ซึ่งถ้าจะอธิบายง่ายๆ ก็อาจจะพูดได้ว่า ทุกบริษัท และห้างหุ้นส่วนจำกัด จะต้องจัดทำบัญชี ปิดงบการเงินให้เรียบร้อยประจำปี แล้วก็นำส่งงบให้กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าและกรมสรรพากรนั่นเอง
ปิดงบการเงินต้องทำเดือนไหน?
โดยปกติแล้วธุรกิจจะต้องปิดงบการเงินทุกๆ 12 เดือน (1 รอบระยะเวลาบัญชี) ยกเว้นเสียแต่ว่าจะเพิ่งจดทะเบียนเปิดบริษัทใหม่ในรอบระยะเวลาบัญชีปีแรกอาจจะมีน้อยกว่า 12 เดือนก็ได้ โดย “จะถือวันเริ่มจัดตั้งจนถึงวันหนึ่งวันใด เป็นรอบระยะเวลาบัญชีแรกก็ได้ แต่ไม่เกิน 12 เดือน”
ยกตัวอย่างเช่น จดทะเบียนบริษัท 2 มีนาคม 2565 รอบระยะเวลาปิดบัญชีปีแรกอาจจะเป็น
- 2 มีนาคม 2565 ถึง 1 มีนาคม 2566 (12 เดือน พอดี) หรือ
- 2 มีนาคม 2565 ถึง 31 ธันวาคม 2565 (น้อยกว่า 12 เดือน) ก็ได้
แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว เจ้าของธุรกิจมักเลือกที่จะปิดงวดวันสุดท้ายของปี 31 ธันวาคม ซึ่งถ้าเราเลือกวันไหนเป็นวันปิดงบการเงินแล้ว เราก็จะต้องยึดวันนั้นๆ ไปตลอดสำหรับปีถัดๆ ไป

หลังจากปิดงบการเงินแล้วสิ่งที่ต้องทำ 2 เรื่องสำคัญคือ
1.นำส่งงบกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
- บริษัทจำกัด – ภายใน 1 เดือนหลังจากประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น (ประชุมวันสุดท้าย 30 เมษายน)
- ห้างหุ้นส่วนจำกัด – ภายใน 5 เดือนหลังปิดรอบระยะเวลาบัญชี
2.ยื่นภาษีเงินได้นิติบุคคลประจำปีกับกรมสรรพากร ภายใน 150 วันนับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี
ปิดงบการเงินทำยังไง?
นักบัญชีมือใหม่ส่วนมากจะกังวลว่าการปิดงบจะทำยากมั้ยสำหรับเรา แต่จริงๆ แล้ววิธีการและขั้นตอนการปิดงบการเงินไม่ได้ยากอย่างที่คิด ซึ่งอาจสรุปได้เป็น 4 ขั้นตอนหลักๆ ได้แก่
1.บันทึกบัญชีให้ครบถ้วน
2.ปรับปรุงรายการทางบัญชี
3.กระทบยอดบัญชีเพื่อตรวจสอบความถูกต้อง
4.จัดทำงบการเงิน

โดยส่วนใหญ่แล้ว อุปสรรคที่ทำให้นักบัญชีทำงานไม่เสร็จสักที คือ การลืมปรับปรุงรายการต่างๆ ตอนปิดงวดบัญชีให้เรียบร้อย ทำให้ต้องกระทบยอดบัญชีใหม่ และแก้ไขงบการเงินใหม่หลายๆ รอบ
Top Hit รายการปรับปรุง ปิดบัญชี ที่นักบัญชีมักหลงลืม มีอะไรบ้าง ลองอ่านที่นี่เลย
ปิดงบล่าช้าเจอค่าปรับเท่าไร?
ขึ้นชื่อว่าเป็นธุรกิจที่มี “หน้าที่ทำบัญชี” และ “ยื่นงบการเงิน” ตามกฎหมายแล้ว การที่เราปิดงบการเงินล่าช้า ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ เราจะโดนค่าปรับจาก 2 แหล่ง คือ
1.กรมพัฒนาธุรกิจการค้า แบ่งค่าปรับตามช่วงเวลาการยื่นงบล่าช้า เช่น 2 เดือน, 2-4 เดือน, 4 เดือนขึ้นไป อัตราค่าปรับก็จะปรับผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี และกรรมการผู้จัดการ/หุ้นส่วนผู้จัดการ/ผู้รับผิดชอบในการดำเนินงาน รวมไปถึงค่าปรับเกี่ยวเนื่องอื่นๆ ที่เราไม่ได้จัดประชุม จัดให้มีผู้สอบบัญชีตามเวลาที่กำหนดด้วย
2.กรมสรรพากร ซึ่งแบ่งค่าปรับตามช่วงเวลาเช่นกัน เช่น 1-7 วัน มากกว่า 7 วันขึ้นไป จะมีค่าปรับ 2 ส่วน คือ
- ปรับแบบภาษีเงินได้นิติบุคคล
- ปรับงบการเงินล่าช้า
นอกจากนี้ถ้ามีเงินที่ต้องเสียภาษีก็จะโดนเรื่องของเงินเพิ่มในอัตรา 1.5% ต่อเดือนด้วย




พอจะเข้าใจวิธีการคำนวณแล้วว่าค่อนข้างซับซ้อนเหลือเกิน ถ้าอยากจะศึกษาเพิ่มเติม เราสรุปไว้ในในบทความนี้แล้วค่ะ สรุปครบ…ยื่นงบและภาษีล่าช้าเจอค่าปรับเท่าไร
ค่าปิดงบประจำปี ราคาเท่าไร?
ถ้าเป็นนักบัญชีได้เงินเดือนประจำจากธุรกิจอาจจะไม่ต้องคิดเรื่องค่าใช้จ่ายปิดงบการเงิน เพราะทำเท่าไรก็ได้เป็นเงินเดือนอยู่ดี (ฮ่าๆ จะคุ้มไหมนะ) แต่บางครั้งเราอาจจะได้ค่าธรรมเนียมวิชาชีพเสริมเข้ามา จากการลงลายมือชื่อรับรองเป็นผู้ทำบัญชีธุรกิจประจำปีด้วย เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับการเจรจานะคะ
ส่วนใครที่ทำเป็นนักบัญชีฟรีแลนซ์หรือสำนักงานบัญชี ค่าบริการปิดงบส่วนนี้เราคิดจากเวลาและปริมาณงานที่ทำไป ซึ่งก็จะแตกต่างกันไปตามธุรกิจ แต่ขั้นต่ำในตลาด ค่าปิดงบเปล่า (งบที่ไม่มีการดำเนินการ ซื้อ-ขาย/เคลื่อนไหวบัญชี) ก็อยู่ที่ราวๆ 5,000-8,000 บาทแล้วล่ะ
นักบัญชีแบบไหนปิดงบการเงินได้บ้าง?
ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่าการปิดบัญชีนั้น นักบัญชีทุกคนที่มีความรู้ความสามารถสามารถหัดและเรียนรู้กันได้ ซึ่งเราอาจจะเป็นส่วนนึงในทีมงานที่ช่วยกันปิดบัญชีสำหรับธุรกิจก็ได้ค่ะ
แต่ถ้าใครจะลงชื่อเป็นนักบัญชีที่เซ็นต์เป็นผู้ทำบัญชีรับรองงบการเงินของธุรกิจ กฎหมายได้กำหนดไว้ว่าต้องปฏิบัติตาม 5 เงื่อนไขนี้อย่างครบถ้วน
- เป็นสมาชิกสภาวิชาชีพบัญชี
- ขึ้นทะเบียนผู้ทำบัญชีกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
- แจ้งรายชื่อธุรกิจทำบัญชี
- อบรมเก็บชั่วโมง CPD และแจ้งชั่วโมงให้ครบ 12 ชั่วโมงต่อปี
- ยืนยันรายชื่อธุรกิจและสถานสมาชิกสภาทุกปี
แต่ละเงื่อนไขเราต้องทำอย่างไรบ้าง ศึกษาเพิ่มเติมกันที่นี่ได้เลย เช็คลิส 5 สิ่งที่ต้องทำถ้าอยากเป็นผู้ทำบัญชีอย่างถูกกฎหมาย
โดยสรุปแล้วการปิดงบการเงินแม้ว่ามีเรื่องราวมากมายที่นักบัญชีต้องเรียนรู้ แต่เชื่อแน่ค่ะว่า นักบัญชีคนไหนที่ลงมือปิดงบการเงินด้วยตัวเองแล้ว ฝึกฝนแล้วศึกษาหาความรู้อย่างต่อเนื่องก็จะสามารถทำงานนี้ได้ดีขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น และที่สำคัญงานนี้อาจจะเป็นงานนึงที่เปิดโอกาสการเติบโตในสายงานบัญชีแบบก้าวกระโดด เปลี่ยนจาก “พนักงานบัญชี” เป็น “ผู้จัดการบัญชี” หรือ “เจ้าของสำนักงานบัญชี” ก็ได้นะ
เรียนรู้วิธีปิดงบการเงินกับ CPD Academy แบบสดๆ วันที่ 16 มี.ค. 2567 BTS พญาไท อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่
ปิดงบการเงินสำหรับนักบัญชีมือใหม่
จองสิทิ์ราคาพิเศษ สอบถามได้ที่นี่
Line: @cpdacademy