นักบัญชีมือใหม่

เช็คลิส 5 สิ่งที่ต้องทำถ้าอยากเป็นผู้ทำบัญชีอย่างถูกกฎหมาย

เช็คลิส 5 สิ่งที่ต้องทำถ้าอยากเป็นผู้ทำบัญชีอย่างถูกกฎหมาย

นักบัญชีเป็นวิชาชีพเฉพาะทางอย่างหนึ่งซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจแบบแยกออกจากกันไม่ได้ เพราะว่าทุกรายการค้าที่เกิดขึ้นย่อมต้องถูกจดบันทึกบัญชีอย่างสม่ำเสมอโดยผู้ทำบัญชี และทุกธุรกิจที่เป็นนิติบุคคล เช่น บริษัทจำกัด ห้างหุ้นส่วนจำกัด ต้องมี “ผู้ทำบัญชี” ที่รับผิดชอบในงานบัญชีและงบการเงินของกิจการก่อนที่จะยื่นให้กับหน่วยงานราชการอย่างกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (DBD) และกรมสรรพากร

ผู้ทำบัญชี ภาษาอังกฤษเราเรียกว่า Accountant หมายถึง คนที่รับผิดชอบในการทำบัญชีธุรกิจตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งก็ต้องเป็นคนที่มีคุณสมบัติและทำตามเงื่อนไขผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีอย่างครบถ้วนตามที่กฎหมายระบุไว้ด้วยเช่นกัน

ส่วนใครที่อยากเป็นผู้ทำบัญชีอย่างถูกต้องตามกฎหมายแบบ 100% สิ่งที่ต้องทำมีอะไรบ้าง CPD Academy รวบรวมมาให้ทุกคนได้เช็คตัวเองในบทความนี้แล้วจ้า

1. เป็นสมาชิกสภาวิชาชีพบัญชีที่ไม่หมดอายุ

ใครที่เรียนจบบัญชีมาในทางกฎหมายยังไม่ถือเป็นผู้ทำบัญชีของธุรกิจได้ครบถ้วนตามกฎหมาย เพราะลำดับแรกนักบัญชีต้องเป็นสมาชิกสภาวิชาชีพบัญชี หรือขึ้นทะเบียนไว้กับสภาวิชาชีพบัญชีตามที่กฎหมายกำหนดก่อน

สาเหตุที่ต้องเป็นสมาชิกสภาวิชาชีพบัญชีเพราะว่าสภาวิชาชีพบัญชีทำหน้าที่กำกับดูแลผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีให้เป็นไปตามจรรยาบรรณและเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด

การสมัครสมาชิกสภาวิชาชีพบัญชีในปัจจุบันทำได้ง่ายแบบออนไลน์ โดยที่ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปสภาวิชาชีพบัญชีให้ยุ่งยาก

ค่าธรรมเนียมสมาชิกสภาจะต้องชำระทุกปีจำนวนแตกต่างกันตามประเภทสมาชิกสภา ตามนี้

  • ปีละ 500 บาท สำหรับสมาชิกประเภทสามัญ (นักบัญชีจบการศึกษาปริญญาตรีการบัญชี)
  • ปีละ 300 บาท สำหรับสมาชิกประเภทสมทบ (นักบัญชีจบการศึกษา ปวส. การบัญชี)

ข้อควรจำให้ดีสำหรับการเป็นสมาชิกสภาวิชาชีพบัญชี คือ ต้องต่ออายุทุกๆ ปีให้เรียบร้อย เพราะมิเช่นนั้น สถานะของเราจะกลายเป็นหมดอายุ ไม่เข้าเงื่อนไขการเป็นผู้ทำบัญชีตามกฎหมายแล้ว

อ่านเพิ่มเติม สมาชิกสภาวิชาชีพบัญชี ใครต้องสมัครบ้าง วิธีสมัครสมาชิกทำยังไง

สมัครสมาชิกสภาวิชาชีพบัญชี
สมัครสมาชิกสภาวิชาชีพบัญชี

2. ขึ้นทะเบียนผู้ทำบัญชี

การขึ้นทะเบียนประกอบวิชาชีพนั้นเป็นขั้นตอนแยกต่างหากจากสมัครเป็นสมาชิกสภาวิชาชีพบัญชี ผู้ทำบัญชีของธุรกิจที่ถูกต้องตามกฎหมาย จะต้องขึ้นทะเบียนผู้ทำบัญชีกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (DBD) และได้รับหนังสือรับรองการอย่างครบถ้วนด้วย ในปัจจุบันก็สามารถทำได้แบบออนไลน์เช่นกันผ่าน ระบบจัดเก็บข้อมูลผู้ทำบัญชี e-accountant

สิ่งที่ควรเตรียมให้เรียบร้อยก่อนที่จะขึ้นทะเบียนผู้ทำบัญชี มีดังนี้

  • ข้อมูลส่วนตัวพื้นฐาน และที่อยู่
  • วุฒิการศึกษา
  • ข้อมูลการเป็นสมาชิกสภาวิชาชีพบัญชี
  • ฐานะผู้ทำบัญชี เลือกได้ใน 3 ฐานะนี้ คือ พนักงานของกิจการ ผู้รับจ้างทำบัญชีอิสระ สำนักงานบัญชี
  • ธุรกิจที่รับทำบัญชี

ข้อควรจำสำหรับใครที่อยากขึ้นทะเบียนให้สำเร็จ มี 3 ข้อ คือ

  • ต้องมีเอกสารหลักฐานครบถ้วน
  • ต้องมีรายชื่อธุรกิจที่รับทำบัญชีรายแรกให้พร้อม เพราะระบบจะไม่ยอมให้เราทำรายการหากไม่ได้แนบเอกสารหรือกรอกข้อมูลให้เรียบร้อย
  • ต้องมีคุณสมบัตินักบัญชีตามกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งวุฒิการศึกษาที่สภาวิชาชีพบัญชียอมรับให้พร้อม เช็คคุณสมบัติทั้งหมดที่นี่: คุณสมบัตินักบัญชีมีอะไรบ้าง อยากได้งานต้องรู้สิ่งนี้

และถ้าใครคุณสมบัติครบแล้วลองอ่านวิธีขึ้นทะเบียนผู้ทำบัญชีครั้งแรกแบบละเอียดสุดๆ ทุกขั้นตอนได้ที่นี่นะคะ

ขึ้นทะเบียนผู้ทำบัญชี e-accountant DBD
ขึ้นทะเบียนผู้ทำบัญชี e-accountant DBD

3. อัปเดตแจ้งรายชื่อธุรกิจทำบัญชีสม่ำเสมอ

สำหรับเพื่อนๆ นักบัญชีคนไหนขึ้นทะเบียนเรียบร้อยแล้ว ในระหว่างปีอย่าลืมอัปเดตรายชื่อธุรกิจอย่างสม่ำเสมอด้วย อัปเดตรายชื่อธุรกิจทำได้ง่ายๆ ผ่านระบบ e-accountant ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (DBD) เช่นกัน โดยจะต้องทำในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดตามนี้

  • เพิ่มรายชื่อลูกค้าธุรกิจทำบัญชีใหม่ ภายใน 30 วันนับแต่เริ่มทำบัญชี
  • เปลี่ยนแปลงชื่อลูกค้ารับทำบัญชี ภายใน 30 วันนับแต่วันที่มีการเปลี่ยนแปลง
  • ยกเลิกเป็นผู้ทำบัญชีธุรกิจ ภายใน 30 วันนับแต่วันที่มีการยกเลิก

การอัปเดตรายชื่อธุรกิจเหล่านี้จะถูกเก็บเป็นฐานข้อมูลในกรณีที่ธุรกิจนำส่งงบการเงินจะสามารถนำส่งได้อย่างสมบูรณ์

ข้อควรจำเกี่ยวกับการแจ้งอัปเดตรายชื่อผู้ทำบัญชี คือ กฎหมายกำหนดไว้ว่า ผู้ทำบัญชี จะรับทำบัญชีได้ไม่เกิน 100 รายต่อปีนนะจ๊ะ

4. อบรมเก็บชั่วโมงและแจ้งชั่วโมง CPD

นอกจากจะขึ้นทะเบียนและแจ้งชื่อลูกค้าให้เรียบร้อย อีกสิ่งนึงที่ขาดไม่ได้สำหรับผู้ทำบัญชี คือ การเก็บชั่วโมงพัฒนาความรู้ต่อเนื่อง (CPD) ซึ่งกฎหมายกำหนดไว้ว่า

“ผู้ทำบัญชีต้องเก็บชั่วโมงพัฒนาความรู้ต่อเนื่อง (CPD) เป็นประจำทุกปีไม่ต่ำกว่า 12 ชั่วโมงต่อปี และเป็นชั่วโมงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการบัญชีไม่ต่ำกว่า 6 ชั่วโมง”

วิธีการเก็บชั่วโมงพัฒนาความรู้ต่อเนื่อง (CPD) ที่นิยมทำกัน คือ การเข้าอบรมในหลักสูตร CPD ซึ่งต้องผ่านการอนุมัติจากทางสภาวิชาชีพบัญชีเสียก่อน

และนอกจากนี้ถ้าอบรมเก็บชั่วโมง CPD เรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนสำคัญที่ลืมไม่ได้ คือ การแจ้งรายละเอียดพัฒนาความรู้ต่อเนื่องภายใน 30 วันหลังสิ้นปีปฏิทิน (30 มกราคม ของทุกปี) ซึ่งเราสามารถทำแบบออนไลน์ได้ และผู้ทำบัญชีต้องเก็บหลักฐานการพัฒนาความรู้ต่อเนื่องทางวิชาชีพบัญชีไว้ไม่ต่ำกว่า 3 ปี นับแต่วันสิ้นสุดการอบรมด้วย

อ่าน สรุปวิธีแจ้งชั่วโมงผู้ทำบัญชีต้องทำเมื่อไร และทำยังไงบ้าง ได้ที่นี่

5. ยืนยันรายชื่อและสถานะสมาชิก

ข้อสุดท้ายเป็นเรื่องการยืนยันรายชื่อธุรกิจลูกค้าที่รับทำบัญชีประจำปี และยืนยันสถานะสมาชิกสภาวิชาชีพบัญชีว่ายังมีสถานะเป็นสมาชิกอยู่หรือไม่ ซึ่งการยืนยันทั้ง 2 อันนี้ผู้ทำบัญชีจะต้องทำเป็นประจำทุกปีภายใน 30 วันหลังสิ้นปีปฏิทิน (30 มกราคม ของทุกปี)

อ่าน วิธียืนยันรายชื่อธุรกิจรับทำบัญชี อย่าลืมทำภายใน 30 มกราคม ได้ที่นี่

โดยสรุป ถ้าอยากเป็นผู้ทำบัญชีอย่างถูกต้องตามกฎหมายเป๊ะๆ อย่าลืมเช็คว่าเราทำตาม 5 ข้อเหล่านี้ตลอดปีหรือไม่ ถ้าขาดข้อใดข้อนึงไปอาจทำให้ขาดคุณสมบัติตามกฎหมาย ฉะนั้น ถ้าใครอยากมีรายได้จากงานบัญชีและไม่ต้องมีปัญหามากวนใจทีหลังลองเช็คลิสทั้ง 5 ข้อนี้กันก่อนนะคะ

Slide3 - CPD Academy
เช็คลิสผู้ทำบัญชีตามกฎหมาย

อบรมบัญชีเก็บชั่วโมง CPD ออนไลน์ง่ายๆ ได้ที่บ้าน สอบถามได้ที่นี่

Line: @cpdacademy หรือ https://lin.ee/36U1ks0Y

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า