แม้เวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน เรื่องภาษีก็ยังคงเป็นปัญหาของใครหลายๆคน แล้วพนักงานบัญชีก็มักจะถูก HR ถามเสมอ ภาษีอันนี้หักยังไง อันนี้เป็นเงินได้พนักงานไหม เรียกได้ว่านักบัญชีต้องรอบรู้เกือบทุกอย่าง เสมือนเป็นห้องสมุดดีๆ นี่เอง
วันนี้เราลองมาดูวิธีคำนวณหัก ณ ที่จ่ายเงินเดือนพนักงาน ที่ว่ากันว่าเป็นปัญหาที่นักบัญชีถูกถามบ่อยมากๆ และถึงแม้ไม่อยากรู้ แต่สถานการณ์มันบังคับให้เรียนรู้ เราจะต้องเข้าใจอะไรบ้าง วันนี้ลองมาดูไปพร้อมกันค่ะ
เงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีหัก ณ ที่จ่าย เกี่ยวข้องกันอย่างไร
ภาษีบุคคลธรรมดา แปลเป็นภาษาเข้าใจง่าย คือ บุคคลธรรมดาทุกคน ในไทย ที่มีเงินได้ตามมาตรา 40 ที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี ต้องเสียภาษีนะคะ
ส่วนภาษีหัก ณ ที่จ่าย แปลเป็นภาษาเข้าใจง่าย คือ ใครที่จ่ายเงินได้มาตรา 40 ที่เข้าเงื่อนไข ต้องหัก ณ ที่จ่ายตามกฎหมายกำหนด (ถ้าไม่หักละก็ ระวังโดนสรรพากรตี)
เราเห็นอะไรที่มันทับซ้อนกันอยู่ไหมล่ะ ทั้ง 2 อย่างนี้ อยู่ในกรอบใหญ่ของภาษีเงินได้ ตามมาตรา 40 เหมือนกันไงล่ะ
ที่กล่าวมาข้างต้นนี้ เป็นหลักการพื้นฐานของภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย หากใครอยากเข้าใจภาพรวม ของการหัก ณ ที่จ่าย ฉบับ 101 แบบเข้าใจง่าย สามารถตามไปดูได้ที่ : สรุปภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ฉบับ 101
เงินเดือนพนักงาน และการหัก ณ ที่จ่าย
คอนเซ็ปต์เบื้องต้น คือ พนักงานเงินเดือน มีเงินได้ประเภท 40(1) เมื่อบริษัท จ่ายเงินให้พนักงาน ก็ต้องหัก ณ ที่จ่าย เพราะเข้าเงื่อนไขหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50
หลังจากนั้น สิ่งที่พนักงานเงินเดือนจะได้รับ หลังจากสิ้นปีไปแล้ว ก็คือ “หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 ทวิ” ถ้าใครไม่ได้เนี่ย ต้องปรี่เข้าไปหา HR เลยนะ โดยปกติแล้ว จะต้องได้รับไม่เกิน เดือนกุมภาพันธ์ของปีถัดไป จากปีที่เกิดเงินได้
และเราสามารถใช้ หนังสือรับรองฯ ตามมาตรา 50 ทวิ เป็นหลักฐานในการขอคืนภาษี/เครดิตภาษี ได้ด้วยนะ สำหรับใครที่ยังไม่ได้ตอนต้นปีนี้ อย่าลืมไปขอล่ะ สำคัญมากๆ
อัตราภาษี ที่ใช้คำนวณหัก ณ ที่จ่ายเงินเดือนพนักงาน
พอคุยเรื่องภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย แน่นอนต้องมีเรื่องอัตราภาษีเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยการหัก ณ ที่จ่าย เงินเดือนพนักงาน จะใช้ “อัตราก้าวหน้า” ไม่ใช่หัก ณ ที่จ่ายอัตราคงที่ 3% หรือ 5% ที่เราคุ้นเคยกันนะ
อัตราก้าวหน้าของเงินได้ประเภท 40(1) จะเป็นไปตามตารางดังนี้
เงินได้สุทธิ (บาท) | ช่วงของเงินได้สุทธิ | อัตราภาษี (ร้อยละ) |
1 – 150,000 | 150,000 | ได้รับยกเว้น |
150,001 – 300,000 | 150,000 | 5 |
300,001 – 500,000 | 200,000 | 10 |
500,001 – 750,000 | 250,000 | 15 |
750,001 – 1,000,000 | 250,000 | 20 |
1,000,001 – 2,000,000 | 1,000,000 | 25 |
2,000,001 – 5,000,000 | 3,000,000 | 30 |
5,000,001 บาทขึ้นไป | – | 35 |
อันที่จริงก็คืออัตราเดียวกับ ที่เราคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตอนสิ้นปีเลยล่ะ แต่ว่าพอเอามาใช้หัก ณ ที่จ่ายรายเดือน ก็จะมีวิธีคำนวณหาเงินได้เป็นรายเดือนอีกขั้นนึง เพื่อหัก ณ ที่จ่ายเงินเดือนพนักงานจ้า
สำหรับใครที่อยากได้ความรู้ เกี่ยวกับเรื่องอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่ายเพิ่มเติม เพื่อต่อยอดขึ้นไปอีกขั้น สามารถไปดูกันต่อได้ที่ : สรุปอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่ายที่พบบ่อย
สูตรคำนวณหัก ณ ที่จ่ายเงินเดือนพนักงาน
พอจะเข้าสู่การคำนวณ นี่มันของถนัดนักบัญชีแบบเราอยู่แล้ว (เอ๊ะ! ใช่หรือเปล่านะ ฮ่าๆ) งั้นเราลองมาดูตัวอย่างการคำนวณกันสักหน่อยนะ
ตัวอย่างนาย ก. มีเงินเดือน 30,000 บาท/เดือน ตลอดทั้งปีไม่มีการขึ้นเงินเดือน ไม่มีการจ่ายโบนัส (แหม! ไม่ขึ้นเงินเดือนก็เศร้าอยู่แล้ว ไม่มีโบนัสเศร้าขึ้นไปอีก) แผนก HR จะคำนวณภาษีง่ายมากเลยกรณีแบบนี้
โดยเรามีวิธีคำนวณดังนี้ คำนวณเงินได้รายปี>คำนวณเงินได้สุทธิต่อปี>คำนวณภาษีต่อปี >คำนวณภาษีต่อเดือน
วิธีคำนวณ | การคำนวณ | ผลลัพธ์ |
คำนวณเงินได้รายปี | 30,000×12 | 360,000 |
คำนวณเงินได้สุทธิต่อปี | *360,000-100,000-60,000-9,000 | 191,000 |
คำนวณภาษีต่อปี | 191,000xอัตราก้าวหน้า | 2,050 |
คำนวณภาษีต่อเดือน | 2,050/12 | 170.83 |
*คำนวณจาก (เงินได้รายปี – หักค่าใช้จ่าย 50% ไม่เกิน 100,000 บาท 40(1) – ลดหย่อนส่วนตัว – ประกันสังคมเดือนละ 750 ทั้งหมด 12 เดือน)
จะเห็นได้ว่าคอนเซ็ปต์การคำนวณ คือ หาเงินได้ของพนักงานทั้งปี แล้วหักค่าใช้จ่ายหักค่าลดหย่อนของพนักงาน จนเหลือเงินได้สุทธิ แล้วนำไปคำนวณอัตราภาษีแบบก้าวหน้า ก็จะได้ภาษีที่ต้องเสียต่อปี เพราะนำมาหารจำนวนเดือน ก็จะได้อัตราหัก ณ ที่จ่ายต่อเดือน (กรณีเงินเดือนคงที่)
สูตรคำนวณหัก ณ ที่จ่ายเงินเดือนพนักงาน (กรณีขึ้นเงินเดือน)
หากเงินเดือนไม่คงที่ เราก็สามารถพลิกแพลงได้ง่ายๆ โดย (คำนวณภาษีที่ต้องเสียทั้งหมด – ส่วนที่โดนหัก ณ ที่จ่ายไปแล้วในปี) / จำนวนเดือนที่เหลืออยู่
เช่น ณ เดือนที่ 7 นาย ก. มีเงินได้เพิ่มขึ้น จาก 30,000 บาท/เดือน เป็น 50,000 บาท/เดือน (เอ๊ะ บริษัทที่ไหนเนี่ย ขึ้นเงินเดือนขนาดนี้เลยหรือ!!)
โดยเราจะใช้วิธีเดิมในการคำนวณดังนี้ คำนวณเงินได้รายปี>คำนวณเงินได้สุทธิต่อปี>คำนวณภาษีต่อปี >หักส่วนที่จ่ายไปแล้วต่อเดือน>คำนวณภาษีต่อเดือน
วิธีคำนวณ | การคำนวณ | ผลลัพธ์ |
คำนวณเงินได้รายปี | (30,000×6)+(50,000×6) | 480,000 |
คำนวณเงินได้สุทธิต่อปี | *480,000-100,000-60,000-9,000 | 311,000 |
คำนวณภาษีต่อปี | 311,000xอัตราก้าวหน้า | 8,600 |
หักส่วนที่จ่ายไปแล้วต่อเดือน | 8,600-(170.83×6) | 7,575.02 |
คำนวณภาษีต่อเดือน(ส่วนที่เหลือ) | 7,575.02/6 | 1,262.50 |
*คำนวณจาก (เงินได้รายปี – หักค่าใช้จ่าย 50% ไม่เกิน 100,000 บาท 40(1) – ลดหย่อนส่วนตัว – ประกันสังคมเดือนละ 750 ทั้งหมด 12 เดือน)
สรุป
การคำนวณหัก ณ ที่จ่ายเงินเดือนพนักงาน ไม่ได้ยากอย่างที่คิด หัวใจสำคัญ คือ การคำนวณภาษีที่ต้องเสียต่อปี ของพนักงานออกมาให้ได้ แล้วหารเฉลี่ยต่อเดือน
หลังจากนั้นจะเป็นการพลิกแพลง หากมีการเปลี่ยนแปลงเงินได้พนักงานระหว่างปี เราต้องคำนวณเงินได้รายปีพนักงานใหม่อีกทีนึง และยอดหัก ณ ที่จ่ายก็จะเปลี่ยนตาม
และสำหรับใครที่อยากเข้าใจเกี่ยวกับภาษีหัก ณ ที่จ่ายมากขึ้นกว่าเดิม เพิ่มเติมเก็บ CPD ได้ด้วย แนะนำลงเรียนคอร์สนี้ได้เลยค่า: ภาษีหัก ณ ที่จ่ายคำนวณและบันทึกบัญชีอย่างไร ?
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ Line: @cpdacademy
อ้างอิง