ปัญหาส่วนใหญ่ที่พบ สำหรับนักบัญชีมือใหม่ มักเป็นเรื่องของภาษี โดยเฉพาะภาษีที่พบในการทำงาน ผู้ประกอบการจ่ายเงินเมื่อไรต้องมีภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย มาเกี่ยวข้อง
แล้วเจ้าภาษีหัก ณ ที่จ่ายที่ว่ามันคืออะไร มีอะไรที่เราต้องรู้บ้าง วันนี้ CPD Academy ขออาสาสรุปย่อให้ฟังแบบง่ายๆ ฉบับ 101 กันเลยค่ะ จะมีอะไรที่น่าสนใจบ้าง มาดูกันได้เลย
ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย คืออะไร
ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ความหมายก็ตรงตามชื่อเลย คือ ภาษีที่ “ผู้จ่ายเงินได้” ต้องหักเงินเอาไว้จากยอดเงินได้ตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งจะแตกต่างตามประเภทเงินได้ค่ะ
ใครเป็นคนหัก ณ ที่จ่าย
ก่อนจะไปถึงเงินได้แต่ละประเภท หัก ณ ที่จ่ายเท่าไหร่ เรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่า ใครกันล่ะ ที่ต้องเป็นคนหักเงินนี้
ผู้ที่มีหน้าที่หัก ณ ที่จ่าย คือ นิติบุคคล สมาคม หรือคณะบุคคลตามกฎหมาย โดยส่วนใหญ่เราจะพบได้ รูปของ บริษัท เข้าใจง่ายๆ ก็คือ หากเราเป็นบริษัท ถ้าจ่ายเงินได้ที่เข้าเงื่อนไข (ส่วนใหญ่เป็นประเภทบริการ) ก็ต้องหัก ณ ที่จ่ายแล้วล่ะ
โดยผู้มีหน้าที่หัก ณ ที่จ่าย จะมีหน้าที่หักเงิน และยื่นภาษี นำส่งเงินให้กับสรรพากร แทนผู้ถูกหัก ณ ที่จ่าย (ผู้มีรายได้)
โดยปกติแล้ว ถ้าจ่ายเงินตั้งแต่ 1,000 บาทขึ้นไป ต้องหัก ณ ที่จ่ายตามประเภทเงินได้จ้า

ประเภทเงินได้ที่ต้องหัก ณ ที่จ่าย และอัตราที่พบบ่อย
จากที่เราเกริ่นไปก่อนหน้านี้ เงินได้ส่วนใหญ่ที่ถูกหัก ณ ที่จ่าย จะเป็นประเภทบริการ แต่ไม่ใช่เพียงบริการอย่างเดียวนะ แต่มีเงินได้อีกหลายอย่างที่ต้องหัก ณ ที่จ่าย เราลองมาดูว่าแบบไหนบ้างที่เราพบเจอได้บ่อย
อัตราหัก ณ ที่จ่าย ที่พบได้บ่อย | ประเภทเงินได้ | คำอธิบาย |
อัตราก้าวหน้า จากยอดเงินได้สุทธิ | เงินเดือน | อัตราก้าวหน้า อัตรานี้อาจจะไม่คุ้นหูเท่าไหร่ แต่ถ้าบอกว่าเป็นการหัก ณ ที่จ่ายเงินเดือน ทุกคนจะคุ้นเคยขึ้นมาทันที เพราะเป็นอัตราที่โดนหักกันเยอะที่สุด ซึ่งหลายคนมักจะมองข้ามไป |
อัตรา 1% จากยอดเงินได้ | ค่าขนส่ง | ส่วนใหญ่มักจะพบได้ เมื่อบริษัทจ่ายค่าขนส่ง จากจุด A ไปจุด B แต่สาเหตุที่ เราไม่ค่อยเจอในชีวิตประจำวัน เพราะค่าขนส่งมักจะไม่เกิน 1,000 บาทนั่นเอง |
อัตรา 3% จากยอดเงินได้ | ค่าบริการ ค่ารับเหมา ค่าทำบัญชี ค่าสอบบัญชี | เป็นอัตราที่พบเจอได้บ่อยมากที่สุด ซึ่งจะเกี่ยวกับการจ้างบริการ การรับเหมา การรับจ้าง และงานบริการอื่นๆ โดย ค่าทำบัญชีและสอบบัญชี ก็หัก ณ ที่จ่ายอัตรา 3% เหมือนกันนะ |
อัตรา 5%จากยอดเงินได้ | ค่าเช่า | สำหรับบริษัทที่มีการเช่าอสังหาริมทรัพย์ หรือว่าเช่าอาคาร สำนักงาน น่าจะคุ้นเคยกับอัตรา 5% เพราะเป็นอัตราหัก ณ ที่จ่ายจากค่าเช่านั่นเอง |
อัตรา 10% จากยอดเงินได้ | เงินปันผล | บริษัทที่เคยจ่ายเงินปันผล เชื่อว่าต้องเคยหัก ณ ที่จ่ายอัตรา 10% แน่นอน เพราะส่วนใหญ่แล้ว อัตรา 10% มักจะเจอในการจ่ายเงินปันผลนั่นเอง |

แบบแสดงรายการ ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ที่พบบ่อย
แบบแสดงรายการภาษีของกรมสรรพากร มีหลากหลายรูปแบบมาก สำหรับภาษีหัก ณ ที่จ่ายก็มีหลายรูปแบบเช่นกัน แต่วันนี้จะเป็นการคุยกันเรื่องพื้นฐาน ดังนั้น เราลองมาดูตัวอย่างแบบแสดงรายการภาษีหัก ณ ที่จ่าย ที่พบเจอได้บ่อยในชีวิตประจำวันกันว่ามีอะไรบ้าง
แบบแสดงรายการ | ประเภทเงินได้ | ตัวอย่าง |
ภ.ง.ด.1 | 40(1)(2) | 40(1) เงินเดือน 40(2) ค่าตำแหน่ง |
ภ.ง.ด.2 | 40(3)(4) | 40(3) ค่าลิขสิทธิ์ 40(4) การจ่ายเงินปันผล ดอกเบี้ยจ่าย |
ภ.ง.ด.3 | 40(5)-(8) จ่ายให้กับบุคคลธรรมดา | 40(5) ค่าเช่า 40(6) ค่าทำบัญชี 40(7) ค่ารับเหมา 40(8) ค่าบริการ |
ภ.ง.ด.53 | 40(5)-(8) จ่ายให้กับบริษัท | 40(5) ค่าเช่า 40(6) ค่าทำบัญชี 40(7) ค่ารับเหมา 40(8) ค่าบริการ |
ข้อสังเกต ขั้นตอนในการกรอกเงินได้ในการหัก ณ ที่จ่าย ต้องเป็นมูลค่าเงินได้ก่อนภาษีมูลค่าเพิ่มเท่านั้น เพราะภาษีมูลค่าเพิ่มไม่ถือเป็นเงินได้ ของผู้มีเงินได้นั่นเอง

หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย
สิ่งสำคัญที่ลืมไม่ได้ สำหรับการหัก ณ ที่จ่าย คือหลักฐาน เพราะอะไรน่ะหรือ
ลองคิดตามนะ บริษัท A จ่ายค่าจ้างทำบัญชี ให้กับบริษัท B สำหรับค่าจ้างทำบัญชี 10,000 บาท(ไม่มี Vat) และได้หัก ณ ที่จ่ายเอาไว้ 3% จากค่าจ้างทำบัญชี
ดังนั้น บริษัท A จะจ่ายเงินให้กับบริษัท B เพียงแค่ 9,700 และอีก 300 บาท บริษัท A บอกกับบริษัท B ว่า จะนำส่งภาษีให้ ตาม ภ.ง.ด.53
คำถาม แล้วบริษัทบีจะเชื่อได้อย่างไร ว่าบริษัท A นำ 300 บาทของตน ไปยื่นภาษีต่อสรรพากร
เพื่อให้มีหลักฐานตามกฎหมาย บริษัท A เมื่อมีการหัก ณ ที่จ่าย จึงต้องออกหนังสือรับรองการหัก ณ ที่จ่าย ให้บริษัท B เพื่อเป็นหลักฐานว่า บริษัท A ได้นำส่งภาษีให้กับสรรพากรแล้วนั่นเอง

ต้องยื่นแบบ ภาษีหัก ณ ที่จ่ายเมื่อไร
มาถึงเรื่องสุดท้าย ที่นักบัญชีมือใหม่ต้องรู้ นั่นคือเรื่องกำหนดเวลา โดยการยื่นแบบแสดงรายการภาษีแต่ละประเภท ก็มีกำหนดเวลาไม่เหมือนกัน แล้วสำหรับภาษีหัก ณ ที่จ่ายมีกำหนดเวลาเป็นแบบไหนล่ะ
ภาษีหัก ณ ที่จ่าย เป็นหนึ่งในภาษีประเภทที่ต้องยื่นแบบเดือนต่อเดือน นั่นก็คือ มีการจ่ายเงินในเดือนนี้ ต้องยื่นแบบไม่เกิน 7 วันของเดือนถัดไป( 15 วัน แบบออนไลน์) หากยื่นแบบล่าช้า ต้องเสียค่าปรับ และเงินเพิ่มตามกฎหมายด้วยนะ

สรุป
ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ถือว่าเป็น 1 ในกฎหมายภาษี ที่มีเนื้อหาเยอะมาก หากดูรายละเอียดแยกแต่ละรายการ แต่ภาพรวมแล้ว ไม่ได้ทำความเข้าใจยากนัก
โดยสิ่งที่เราต้องรู้คือ 1)ใครต้องหัก ณ ที่จ่าย 2)เงินได้แต่ละประเภท ต้องหัก ณ ที่จ่ายเท่าไหร่ 3)ต้องยื่นแบบแสดงรายการยังไง ซึ่งทั้งหมดอยู่ในบทความนี้แล้ว
นักบัญชีมือใหม่ เรียนจบมาความรู้บัญชียังแน่นหนา เรื่องเดบิตเครดิตไม่ต้องพูดถึง เพราะอยู่ในเนื้อหาการเรียนอยู่แล้ว แต่เรื่องที่ละเลยไม่ได้ และส่วนใหญ่ต้องหาความรู้จากประสบการณ์ คือเรื่องภาษี ดังนั้น หวังว่าบทความนี้ จะช่วยให้นักบัญชีมือใหม่ สามารถต่อยอดหาความรู้ ภาษีหัก ณ ที่จ่ายเพิ่มขึ้นในอนาคตนะคะ
และสำหรับใครที่อยากเข้าใจเกี่ยวกับภาษีหัก ณ ที่จ่ายมากขึ้นกว่าเดิม เพิ่มเติมเก็บ CPD ได้ด้วย แนะนำลงเรียนคอร์สนี้ได้เลยค่า: ภาษีหัก ณ ที่จ่ายคำนวณและบันทึกบัญชีอย่างไร ?
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ Line: @cpdacademy
อ้างอิง