เวลาซื้อหุ้น ผู้ถือหุ้น ก็ต้องมีผลตอบแทนจากการลงทุนใช่ไหมล่ะ ผลตอบแทนจากการลงทุนนี้เราเรียกมันว่า “เงินปันผล”
แล้วถ้าเป็นบริษัทเล็กๆ แบบ SMEs จำเป็นต้องมีปันผลไหมมีอะไรต้องเข้าใจบ้าง วันนี้ เราจะมาทำความรู้จักกับเงินปันผลให้มากขึ้น ผ่านมุมมองของบัญชี และภาษี ที่หลายคนมักจะมองข้ามกันค่ะ
เงินปันผลคืออะไร
เงินปันผล คือ ส่วนแบ่งกำไรที่บริษัททำมาหาได้สุทธิแล้ว ซึ่งจะเก็บอยู่ในรูปกำไรสะสมของบริษัท โดยเงินส่วนนี้สามารถนำมาปันผลจ่ายคืนให้กับผู้ถือหุ้นได้ ตามสัดส่วนการถือครองหุ้น
ลักษณะของเงินปันผล ที่หลายคนมักจะไม่รู้
เรารู้ความหมายของเงินปันผลแล้ว มันก็ไม่ใช่อะไรที่เข้าใจยากนะ ธุรกิจมีกำไร ก็เอากำไรมาแบ่งกัน นี่คือมุมมองเงินปันผลที่หลายคนรู้จัก แต่ในรูปแบบของบริษัทแล้ว มันยังมีอีกหลายอย่างที่หลายคนยังไม่รู้ ยกตัวอย่างเช่น
เป็นส่วนหักลบของกำไรสะสม
เงินปันผลจะเป็นส่วนหักของกำไรสะสมในงบแสดงการเปลี่ยนแปลงของผู้ถือหุ้น
หรือพูดให้ง่ายขึ้น บริษัทมีกำไร กำไรก็สะสมอยู่ในบริษัท เพราะเอากำไรปันผลออกมา กำไรสะสม (ในอดีต) ของบริษัทก็ต้องลดลงนั่นเอง
บริษัทต้องมีกำไรสะสม และทุนสำรองตามกฎหมายถึงจะจ่ายปันผลได้
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1201 กำหนดเอาไว้ หากบริษัทมีขาดทุนสะสมอยู่ จะไม่สามารถจ่ายเงินปันผลได้ อันนี้เราก็เข้าใจได้นะ ปันผลมันก็ต้องมาจากกำไรใช่ไหมล่ะ ไม่มีกำไรจะปันผลได้ยังไง
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1202 กำหนดเอาไว้ ทุกครั้งที่บริษัทจ่ายเงินปันผล บริษัทต้องการเงินสำรองเอาไว้ 5% ของกำไร(กำไรสะสม และกำไรสุทธิประจำปี) จนกว่าจะมีเงินสำรอง มากกว่า 10% ของทุนจดทะเบียน
เงินปันผลไม่ใช่ค่าใช้จ่ายของบริษัท แต่เป็นเงินได้ของผู้ถือหุ้น
ทุกครั้งที่บริษัทจ่ายเงินปันผล บริษัทจะลดกำไรสะสมลง ซึ่งจะถูกบันทึกในส่วนทุนของบริษัท ไม่ผ่านงบกำไรขาดทุน ดังนั้น เงินปันผลจึงไม่ใช่ค่าใช้จ่ายของบริษัท และไม่ใช่ค่าใช้จ่ายทางภาษีของบริษัทด้วยเช่นกัน
แต่เดี๋ยวก่อนนะ ทุกครั้งที่ผู้ถือหุ้นได้ปันผล กลับกลายเป็นเงินได้ของผู้ถือหุ้นซะงั้น เพราะว่าตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดให้ เงินปันผล เป็นเงินได้ 40(4) ดังนั้นผู้ถือหุ้นก็ต้องเสียภาษีจากเงินปันผลด้วยนะ
หักภาษี ณ ที่จ่าย 10% ของมูลค่าเงินปันผลจ่าย
การหักภาษี ณ ที่จ่าย สำหรับผู้ถือหุ้นบางคน เวลาได้เงินปันผลเข้ามาในบัญชีธนาคาร อาจจะไม่สังเกตด้วยซ้ำว่าได้ไม่เต็มจำนวน จากที่ประกาศจ่ายเงินปันผล นั่นก็เป็นเพราะว่า บริษัทที่จ่ายเงินปันผล ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% ของมูลค่าเงินปันผล นำส่งพี่สรรพากรต่อไป
เงินปันผล บันทึกบัญชียังไง จ่ายปันผลต้องทำยังไง
เงินปันผล บันทึกบัญชีไม่ได้ยากอย่างที่คิด แต่กว่าจะจ่ายเงินปันผลได้ ก็เรียกได้ว่าต้องผ่านกันหลายขั้นตอนทีเดียว ให้เล่าอย่างละเอียดก็ยาวมากเลยล่ะ ถ้าอยากรู้ไปอ่านเพิ่มได้ที่นี่ รู้จักขั้นตอนการจ่ายเงินปันผล ทำเองได้ Step-by-Step
ดังนั้น ในบทความนี้เราจะเน้นไปที่ เงินปันผล บันทึกบัญชียังไง และขั้นตอนไหนบ้าง เพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจนะคะ
เชิญประชุม+จัดประชุมผู้ถือหุ้น+ประกาศจ่ายปันผล
ตอนแรกก่อนจะจ่ายเงินปันผล ก็ต้องมีการจัดเชิญประชุม ได้ประชุมผู้ถือหุ้น ซึ่งต้องได้มติจากที่ประชุม ให้จ่ายเงินปันผลก่อน หลังจากนั้นถึงจะประกาศจ่ายเงินปันผลได้ โดยนักบัญชีจะบันทึกรายการ ณ วันประกาศจ่ายเงินปันผล การลดกำไรสะสมลงมา เท่าที่ประกาศจ่าย
จ่ายเงินปันผลภายใน 30 วัน หลังประกาศจ่าย
เมื่อถึงวันจ่ายเงินปันผล ซึ่งต้องจ่ายภายใน 30 วัน หลังจากประกาศจ่ายเงินปันผลนะ นักบัญชีจะบันทึก จ่ายเงินสด หรือเงินฝากธนาคารออก เพื่อจ่ายให้กับผู้ถือหุ้น
ยื่น ภ.ง.ด. 2 ภายใน 7 วัน (15 วัน ออนไลน์) นับตั้งแต่สิ้นเดือนที่จ่าย
หลังจากจ่ายเงินปันผลแล้ว มันยังไม่จบเพียงเท่านี้นะ บริษัทยังต้องยื่นภาษีหัก ณ ที่จ่าย 10% ของมูลค่าปันผล ที่ได้หักเอาไว้ ณ วันจ่ายเงินปันผล โดยใช้แบบ ภ.ง.ด 2 ในการยื่นแสดงรายการ เท่านี้ก็เป็นอันเสร็จสิ้นการจ่ายเงินปันผลแล้วจ้า
ประเด็นทางภาษี เงินปันผล
ถ้าใครมาถึงตรงนี้แล้ว เชื่อว่าคงได้เข้าใจเงินปันผลมากขึ้นแล้วล่ะ แต่ยังไม่หมดนะ ประเด็นสำคัญก็คือ เรื่องภาษีนี่แหละ เราลองมาดูว่า มีอะไรน่าสนใจเกี่ยวกับเงินปันผลบ้าง ที่เราต้องรู้
ภาษีนิติบุคคล
ปันผลไม่ใช่ค่าใช้จ่ายบริษัท และไม่สามารถใช้สิทธิ์ทางภาษีเป็นค่าใช้จ่ายของบริษัทได้
เงินปันผลเป็นเงินได้ของผู้ถือหุ้น (แต่มีข้อยกเว้น มาตรา 65 ทวิ(10))
ภาษีบุคคลธรรมดา
ปันผลเป็นเงินได้ประเภท 40(4) ต้องยื่นภาษีตอนสิ้นปี ตามแบบ ภ.ง.ด.90 หรือใช้สิทธิ์ Final Tax ไม่นำมารวมคำนวณเงินได้ประจำปีก็ได้
ภาษีมูลค่าเพิ่ม
การจ่ายเงินปันผล ไม่ใช่การขายหรือให้บริการ จึงไม่มี VAT
ภาษีหัก ณ ที่จ่าย
ทุกครั้งที่มีการจ่ายต้องหัก ณ ที่จ่าย 10% ของมูลค่าเงินปันผล ซึ่งภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่าย สามารถใช้เป็นเครดิตภาษีตอนสิ้นปีได้
เข้าเงื่อนไข BOI
กิจการที่เข้าเงื่อนไข BOI ซึ่งได้รับยกเว้นภาษี เวลาจ่ายเงินปันผล กิจการไม่ต้องหัก ณ ที่จ่าย และผู้ถือหุ้นที่ได้รับปันผล จะได้รับยกเว้นภาษีเงินปันผลนั้นด้วย
สรุป
เงินปันผลเปรียบเสมือนผลตอบแทนของนักลงทุน เป็นการดึงเงินออกจากบริษัทอย่างถูกกฎหมาย ด้วยสิทธิ์ของกิจการ ไม่ต้องมีลูกหนี้กรรมการ เจ้าหนี้กรรมการ ชวนปวดหัว
โดยกิจการจะปันผลได้ กิจการก็ต้องมีกำไรก่อน ซึ่งอาจจะบอกได้ว่า บริษัทกำลังอยู่ในทิศทางที่ดี มีผลกำไร นักลงทุนก็แฮปปี้ ได้รับปันผลกันถ้วนหน้า แต่อีกมุมนึง ก็ไม่ควรจะละเลย เรื่องเกี่ยวกับบัญชี ภาษี เพราะมีเงื่อนไขมากมาย กว่าจะปันผลออกมาได้ หวังว่าทุกคนจะได้รับประโยชน์จากบทความนี้ค่ะ
อบรมบัญชีเก็บชั่วโมง CPD ออนไลน์ง่ายๆ ได้ที่บ้าน
สอบถามได้ที่ Line: @cpdacademy หรือ https://lin.ee/36U1ks0Y