ภาษี

จ่ายเงินไปต่างประเทศหัก ณ ที่จ่ายไหม ต้องยื่น ภ.พ.36 และภ.ง.ด.54 หรือเปล่า?

จ่ายเงินไปต่างประเทศหัก ณ ที่จ่ายไหม ต้องยื่น ภ.พ.36 และภ.ง.ด.54 หรือเปล่า?

กรณีที่เราซื้อสินค้า หรือบริการจากต่างประเทศ เข้ามาโดยตรง ต้องมีการจ่ายเงินไปต่างประเทศ

“แล้วการจ่ายเงินไปต่างประเทศหัก ณ ที่จ่ายไหมล่ะ?” เป็นถามที่มักพบได้บ่อยในยุคสมัยปัจจุบัน

เพราะทุกวันนี้ ค่าโฆษณาในเฟสบุค (Meta) หรือค่าซอฟต์แวร์ต่างๆ ล้วนแล้วแต่มาจากต่างประเทศทั้งนั้น CPD Academy จึงขออาสา พาทุกคนไปหาคำตอบพร้อมกัน จะเป็นยังไง ไปดู!!

ภ.พ.36 คืออะไร ภ.ง.ด.54 คืออะไร

ในจักรวาลภาษีของสรรพากร มีแบบฟอร์มภาษีต่างๆ มากมาย หลายรูปแบบการใช้งาน แต่ถ้าหากเป็นเรื่องของการจ่ายเงินไปต่างประเทศ ทุกคนคงเคยได้ยินกันมาบ้างแล้วเกี่ยวกับ ภ.พ.36 และ ภ.ง.ด.54 เดี๋ยวเรามาขยายความ 2 แบบฟอร์มนี้กันสักหน่อย 

ภ.พ.36 และ ภ.ง.ด.54 คืออะไร จ่ายเงินไปต่างประเทศหัก ณ ที่จ่ายไหม
ภ.พ.36 และ ภ.ง.ด.54 คืออะไร จ่ายเงินไปต่างประเทศหัก ณ ที่จ่ายไหม

ภ.พ.36 คือ แบบนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือที่รู้จักกันในชื่อ VAT นั่นแหละ ซึ่งถูกใช้ใน 3 กรณี ดังต่อไปนี้

  1. จ่ายเงินค่าซื้อสินค้า หรือบริการ
    1. ผู้ประกอบการอยู่ต่างประเทศ เข้ามาประกอบกิจการในไทยชั่วคราว ไม่ได้จด Vat
    2. ผู้ประกอบการที่ให้บริการในต่างประเทศ และมีการใช้บริการนั้นในไทย
  2. รับโอนสินค้า หรือรับโอนสิทธิ์ในบริการ ที่ได้เสียภาษีอัตราร้อยละ 0
  3. ขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ประกอบการจดทะเบียน 

แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว เราก็มักจะคุ้นเคยกับ ข้อที่ 1 นั่นแหละ ก็คือ การที่เราใช้แพลตฟอร์มจากต่างประเทศ ในขณะที่ตัวเรานั่งอยู่ในประเทศไทย กรณีนี้เข้าข่ายข้อ 1.2 ค่ะ

ภ.ง.ด.54 คือ แบบยื่นรายการ นำส่งภาษีเงินได้นิติบุคคล และการจำหน่ายเงินกำไร ตามมาตรา 70 และมาตรา 70 ทวิ เป็นแบบฟอร์มการจ่ายเงินไปต่างประเทศ หัก ณ ที่จ่าย โดยจะถูกใช้เมื่อกรณีดังต่อไปนี้

  1. เมื่อจ่ายเงินได้ตามมาตรา 70 บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศไม่ได้ประกอบกิจการในประเทศไทย แต่ได้รับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (2)(3)(4)(5) หรือ (6) ที่จ่ายจาก หรือในประเทศไทย
  2. เมื่อจ่ายเงินได้ตามมาตรา 70 ทวิ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่จำหน่ายเงินกำไร หรือเงินประเภทอื่นใดที่กันไว้จากกำไร หรือที่ถือได้ว่าเป็นเงินกำไรออกไปจากประเทศไทย

ถ้าการใช้บริการแพลตฟอร์มต่างประเทศของเรานั้น เข้าข่ายสองข้อด้านบนนี้ นอกจากจะยื่น ภ.พ.36 แล้ว จะต้องยื่น ภ.ง.ด.54 ไปอีกต่อนึงด้วย (ไม่จนตอนนี้จะจนตอนไหนกันนะ ฮือๆ)

ใครเป็นคนจ่าย ภ.พ.36 และ ภ.ง.ด.54

เอาล่ะ เราพอจะรู้จักแบบฟอร์ม ภ.พ.36 และ ภ.ง.ด.54 กันไปบ้างแล้ว คำถามต่อมาคือ ตัวแบบฟอร์มเหล่านี้ ใครล่ะที่เป็นคนจ่ายค่าภาษี ถ้าเราซื้อสินค้าและบริการ มาจากต่างประเทศ เราต้องเป็นคนจ่ายภาษีเองหรือเปล่านะ

ใครเป็นคนจ่าย ภ.พ.36 และ ภ.ง.ด.54
ใครเป็นคนจ่าย ภ.พ.36 และ ภ.ง.ด.54

ใครเป็นคนจ่าย ภ.พ.36

สำหรับ ภ.พ.36 หรือแบบฟอร์ม นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีที่เราซื้อสินค้า หรือบริการจากต่างประเทศ

“ผู้ที่มีหน้าที่ยืนแบบ คือ ผู้จ่ายเงิน(แม้จะไม่จดทะเบียน VAT ก็ตาม) ซึ่งก็คือบริษัทที่จ่ายค่าสินค้าหรือบริการ อย่างไรก็ตาม บริษัทสามารถนำภาษีมูลค่าเพิ่มที่จ่ายชำระไปแล้วตาม ภ.พ.36 มาใช้สิทธิ์เครดิตภาษีซื้อ ในการยื่น ภ.พ.30 ได้นะ (กรณีไม่จด VAT ถือเป็นรายจ่ายที่เกี่ยวข้องกับกิจการ ไม่ต้องห้าม)”

ใครเป็นคนจ่าย ภ.ง.ด.54

สำหรับ ภ.ง.ด.54 หรือแบบฟอร์ม นำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่าย กรณีที่เราจ่ายเงินได้ มาตรา 40(2)-(6) ไปต่างประเทศ

มาดูตัวอย่างแบบนี้ เพื่อความเข้าใจที่มากขึ้น

*ค่าโฆษณา Google/Facebook ไม่ต้องนำส่ง ภ.ง.ด.54 เพราะเป็นเงินได้ประเภท 40(8)

*ค่าใช้บริการภาพจาก Shutter Stock ต้องนำส่ง ภ.ง.ด.54 เพราะเป็นเงินได้ประเภท 40(3)

ผู้มีหน้าที่ยื่นแบบ คือ ผู้จ่ายเงิน(บุคคล ห้างหุ้นส่วน บริษัท สมาคม หรือคณะบุคคล) มีหน้าที่หัก ณ ที่จ่าย และนำส่งสรรพากร

จ่ายเงินไปต่างประเทศ คำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มยังไง หัก ณ ที่จ่ายเท่าไหร่

ตอนนี้เราเดินทางมาถึงเรื่อง อัตราการคิดภาษีมูลค่าเพิ่ม และหัก ณ ที่จ่ายกันบ้างค่ะ

หลายคนคงจะสงสัยว่า มันจะยุ่งยากซับซ้อนอย่างที่เราคิดไหม ลองมาดูอัตราที่ใช้คำนวณกัน

อัตราภาษี จ่ายเงินไปต่างประเทศหัก ณ ที่จ่าย และมี VAT เท่าไร
อัตราภาษี จ่ายเงินไปต่างประเทศหัก ณ ที่จ่าย และมี VAT เท่าไร
ภาษีมูลค่าเพิ่มภาษี หัก ณ ที่จ่าย
อัตรา 7% ของค่าซื้อสินค้า หรือบริการ
(กรณีออกภาษีหัก ณ ที่จ่ายแทน ตามสัญญา ให้รวมเป็นมูลค่าฐานภาษี)
มาตรา 70 เงินได้ 40 (2)-(6) หัก ณ ที่จ่าย 15%
มาตรา 70 ยกเว้น 40 (4) (ข) หัก ณ ที่จ่าย 10%
มาตรา 71 จำหน่ายกำไร หรือลักษณะคล้ายกำไร หัก ณ ที่จ่าย 10%

*อาจแตกต่างไป หากมีอนุสัญญาภาษีซ้อน

สำหรับใครที่อยากดู ตัวอย่างการคำนวณ การจ่ายเงินไปต่างประเทศ ภ.พ.36 และ ภ.ง.ด.54 CPD Academy ของเรา ได้มีบทความตัวอย่างการคำนวณ ที่ละเอียดยิบ สามารถตามไปดูกันได้ที่ : การจ่ายเงินไปต่างประเทศ ต้องยื่น ภ.พ.36 และ ภ.ง.ด.54 ยังไง

ไม่อยากจ่ายภาษี ไม่ยื่นสรรพากร มีโทษยังไงบ้าง

ว่าด้วยเรื่องโทษของการไม่นำส่งภาษี อันที่จริงแล้ว ภ.พ.36 และ ภ.ง.ด.54 ก็เปรียบเสมือนกับ การไม่ยื่นภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีหัก ณ ที่จ่าย ซึ่งโทษของการไม่ยื่นแบบภาษี มีดังนี้

ไม่จ่ายภาษีมีโทษยังไง
ไม่จ่ายภาษีมีโทษยังไง

การไม่ยื่น ภ.พ.36 ภายในเวลาที่กำหนด

กรณีจ่ายชำระค่าบริการหรือสินค้า ไปต่างประเทศ ต้องนำส่งภาษีภายใน 7 วัน(ภายใน 15 วันกรณียื่นแบบออนไลน์) นับตั้งแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายเงิน 

หากไม่นำส่งตามกำหนดเวลา ต้องชำระเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน และเบี้ยปรับอีก 1 เท่า หรือ 2 เท่า ของภาษีแล้วแต่กรณี 

การไม่ยื่น ภ.ง.ด.54 ภายในเวลาที่กำหนด

กรณีการหัก ณ ที่จ่าย ภ.ง.ด.54 ต้องนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่ายภายใน 7 วัน(ภายใน 15 วันกรณียื่นแบบออนไลน์) นับตั้งแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายเงิน

หากไม่นำส่งตามกำหนดเวลา ต้องชำระเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน 

เรื่องภาษีหัก ณ ที่จ่าย เป็นเรื่องที่ไม่ควรละเลยอย่างยิ่ง เพราะเป็นภาษีที่มักเจอบ่อยในชีวิตประจำวัน และมักจะหลงลืมบ่อยด้วยสิ หากใครอยากรู้ว่าลืมหัก ณ ที่จ่ายแล้วจะเป็นอย่างไร สามารถดูต่อได้ที่ : ผู้ถูกหักจะขอคืนภาษีหัก ณ ที่จ่ายได้ไหม ถ้าผู้หักเงินลืมนำส่งภาษี

สรุป จ่ายเงินไปต่างประเทศหัก ณ ที่จ่ายไหม ยื่น VAT หรือเปล่า

การจ่ายเงินไปต่างประเทศหัก ณ ที่จ่าย หรือยื่น VAT ไหม สาระสำคัญต้องดูที่ จ่ายเงินได้ประเภทอะไร (เข้าเงื่อนไข ภ.พ.36 หรือ ภ.ง.ด.54 ไหม) และจ่ายให้ใคร (ไม่ได้อยู่ไทยใช่ไหม)

และให้แยกพิจารณา เพราะบางค่าใช้จ่าย ยื่น ภ.พ.36 อย่างเดียว เช่น โฆษณา Facebook / Google

แต่บางค่าใช้จ่ายต้องยื่นทั้ง ภ.พ.36 และ ภ.ง.ด.54 เช่น Zoom, Shutter Stock

หากพิจารณา 2 เรื่องนี้แล้ว น่าจะทำให้เพื่อนๆ พอเข้าใจหลักการ และยื่นภาษีทั้งสองแบบได้อย่างถูกต้องมากยิ่งขึ้นค่ะ

สำหรับใครที่อยากได้ความรู้เรื่องการหัก ณ ที่จ่ายเพิ่มเติม ที่เข้าใจง่าย อธิบายสนุก สามารถไปดูต่อได้ที่ : สรุปภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ฉบับ 101

และสำหรับใครที่อยากเข้าใจเกี่ยวกับภาษีหัก ณ ที่จ่ายมากขึ้นกว่าเดิม เพิ่มเติมเก็บ CPD ได้ด้วย แนะนำลงเรียนคอร์สนี้ได้เลยค่า: ภาษีหัก ณ ที่จ่ายคำนวณและบันทึกบัญชีอย่างไร ?

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ Line: @cpdacademy

อ้างอิง

แบบยื่นรายการ นำส่งภาษีเงินได้นิติบุคคล และการจำหน่ายเงินกำไร ภ.ง.ด.54

แบบนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม ภ.พ.36

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า