ไหนใครที่เป็นผู้มีเงินได้ และเคยถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายบ้าง หลายครั้งที่เราทำงาน ไม่ว่าจะเป็นงานบริการ งานฟรีแลนซ์ หรือแม้กระทั่ง พนักงานประจำก็ตาม ล้วนแล้วแต่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไปทั้งนั้น
และพวกเราก็มักจะปลอบใจตัวเองค่ะว่า ถูกหัก ณ ที่จ่ายไปแล้ว เดี๋ยวก็ไปขอเคลมภาษีบุคคลธรรมดาตอนปลายปีได้นินา
แต่ถ้าชีวิตมันบัดซบกว่านั้น ถ้าผู้หักเงินลืมนำส่งภาษี เราจะขอคืนภาษีหัก ณ ที่จ่าย ได้อยู่หรือเปล่า CPD Academy จะพาทุกคนไปหาคำตอบกันจ้า
ทำความเข้าใจภาษีหัก ณ ที่จ่าย
ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจเรื่องภาษีหัก ณ ที่จ่ายแบบสั้นๆ
ภาษีหัก ณ ที่จ่าย คือภาษีที่ระบุให้ผู้จ่ายเงิน เมื่อจ่ายเงินได้ตามมาตรา 40 ที่เข้าเงื่อนไขตามมาตรา 50 และมาตรา 3 เตรส (ส่วนใหญ่ใช้ 2 มาตรานี้) ต้องหักภาษี ตามอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่ายที่กำหนด ก่อนจ่ายเงินให้ผู้มีเงินได้
แล้วคนที่จ่ายเงินก็นำส่งภาษีกรมสรรพากร ตามเวลาที่กำหนดไว้
เรื่องภาษีหัก ณ ที่จ่ายเนี่ย เป็นหนึ่งในภาษีที่เนื้อหากว้างมากเลยล่ะ หากใครที่อยากทำความเข้าใจภาษีหัก ณ ที่จ่ายเพิ่มเติม ฉบับเข้าใจง่าย สามารถดูต่อได้ที่ : สรุปภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ฉบับ 101
ลืมหัก ณ ที่จ่าย ส่งสรรพากร ทำให้ยื่นแบบล่าช้า มีโทษยังไงบ้าง
เราพอจะรู้จักภาษีหัก ณ ที่จ่ายกันไปบ้างแล้ว ใช่ไหมล่ะ ในด้านของหลักการภาษีหัก ณ ที่จ่าย ไม่ได้ซับซ้อนอะไร แต่หนึ่งในสิ่งที่ผู้มีหน้าที่หัก ณ ที่จ่าย (ผู้จ่ายเงิน) มักจะหลงลืม และต้องเสียค่าปรับกันอยู่เป็นประจำ นั่นก็คือ เดดไลน์นำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่ายนั่นไงล่ะ
“ผู้มีหน้าที่หัก ณ ที่จ่าย ต้องยื่นแบบแสดงรายการ และนำส่งเงินภาษีต่อเจ้าหน้าที่สรรพากร ภายใน 7 วัน นับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายเงิน (ภายใน 15 วัน กรณียื่นแบบออนไลน์)”
ถ้าลืมหัก ณ ที่จ่าย ส่งสรรพากร ภายในเวลาที่กำหนด จะมีโทษยังไงบ้างล่ะ
กรณีผู้มีหน้าที่หัก ณ ที่จ่าย (ผู้จ่ายเงิน) ยื่นแบบแสดงรายการล่าช้า นับตั้งแต่พ้นกำหนดยื่นแบบ ภายใน 7 วัน ต้องชำระค่าปรับปรับ 100 บาท และหากพ้นกำหนดยื่นแบบเกิน 7 วัน ต้องชำระค่าปรับ 200 บาท
ยังไม่หมดเพียงเท่านี้นะ กรณีที่มีการยื่นแบบ เมื่อพ้นกำหนดเวลา จะต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มอีกในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือน (เศษของเดือนให้นับเป็น 1 เดือน)
สรุปง่ายๆ ในตารางให้ทุกคนติดฝาบ้านไว้เตือนใจแบบนี้ค่ะ
พ้นกำหนดยื่นแบบ ภายใน 7 วัน | พ้นกำหนดยื่นแบบ เกิน 7 วัน |
ชำระค่าปรับปรับ 100 บาท | ชำระค่าปรับปรับ 200 บาท |
เสียเงินเพิ่มอีกในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือน (เศษของเดือนให้นับเป็น 1 เดือน) ไม่เกิน 1 เท่าของภาษี |
ผู้จ่ายเงิน หักภาษี ณ ที่จ่ายไปแล้ว แต่ไม่นำส่งภาษี จะมีโทษยังไงบ้าง
อีกหนึ่งประเด็นที่เป็นที่พูดถึง ลืมจ่ายภาษีก็ว่าแย่แล้ว ไม่จ่ายเลยอันนี้แย่กว่า ซึ่งจะมีผลกระทบ ทั้งผู้มีหน้าที่หัก ณ ที่จ่าย(ผู้จ่ายเงิน) และผู้มีเงินได้(ผู้รับเงิน)
เราลองมาดูว่า ถ้าเกิดเหตุการณ์ไม่จ่ายภาษี ตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป. 91/2542 จะมีผลกระทบอะไร ยังไงบ้าง?
ข้อ 2 กรณีผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย(ผู้จ่ายเงิน) ไม่ได้หักภาษี และไม่ได้นำส่งภาษีตามเวลาที่กำหนด ผู้มีหน้าที่หัก ณ ที่จ่าย ต้องรับผิดร่วมกับผู้มีเงินได้ ในการเสียภาษีที่ต้องชำระ พร้อมทั้งเงินเพิ่มตามกฎหมาย
ข้อ 6 กรณีผู้มีหน้าที่หัก ณ ที่จ่าย(ผู้จ่ายเงิน) หักภาษีไม่ครบ และนำส่งภาษีไม่ครบตามจำนวน ผู้มีหน้าที่หัก ณ ที่จ่าย ต้องรับผิดร่วมกับผู้มีเงินได้ ในการเสียภาษีที่ต้องชำระ พร้อมทั้งเงินเพิ่มตามกฎหมาย
ข้อ 7 กรณีผู้มีหน้าที่หัก ณ ที่จ่าย(ผู้จ่ายเงิน) หักภาษีไว้ครบถ้วน ถูกต้องแล้ว แต่ไม่ได้นำภาษีส่งสรรพากร หรือนำส่งไม่ครบ ตามจำนวนที่หักภาษีไว้ ผู้มีหน้าที่หัก ณ ที่จ่าย ต้องรับผิดในการเสียภาษีที่ต้องชำระ พร้อมทั้งเงินเพิ่มตามกฎหมาย เพียงผู้เดียว ผู้มีเงินได้จะพ้นความรับผิด
กรณีไม่ยื่นภาษี หากไม่มีเหตุสุดวิสัย มีโทษทางอาญาปรับ 2,000 บาท หากพบว่าเจตนาหลีกเลี่ยง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
สรุปง่ายๆ ตามภาพนี้เลย
กรณีตัวอย่าง | ความรับผิด | |
ผู้จ่ายไม่หักภาษี + ผู้จ่ายไม่นำส่งภาษี | ผู้จ่ายเงิน รับผิดร่วมกับ ผู้รับเงิน | |
ผู้จ่ายหักภาษีไม่ครบ + ผู้จ่ายไม่นำส่งภาษีไม่ครบ | ผู้จ่ายเงิน รับผิดร่วมกับ ผู้รับเงิน | |
ผู้จ่ายหักภาษีไว้ + ผู้จ่ายไม่นำส่งภาษี/นำส่งไม่ครบ | ผู้จ่ายเงินรับผิดคนเดียว |
ผู้ถูกหักจะขอคืนภาษีหัก ณ ที่จ่ายได้ไหม ถ้าผู้หักเงินลืมนำส่งภาษี
จากหัวข้อก่อนหน้านี้ เราคงจะเห็นกันละว่า หากกฎหมายระบุให้หัก ณ ที่จ่าย แต่ดันไม่หัก ณ ที่จ่าย แสดงว่าผิดกันทั้งคู่
เดี๋ยวก่อนนะ! กรณีที่ผู้จ่ายเงิน หักภาษีจากผู้รับเงินไว้ แต่ไม่นำส่งภาษีเองล่ะ ผู้รับเงินก็ไม่ได้ทำผิดอะไรนะ จะขอคืนภาษีหัก ณ ที่จ่ายได้ไหม ลองมาดูคำตอบตรงนี้กันเลย
ตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป. 91/2542 ข้อ 11 กรณีผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ได้หักภาษี ณ ที่จ่าย และได้ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายให้แก่ผู้มีเงินได้แล้ว(พิสูจน์แล้วว่าถูกหักเงินไว้จริง) แต่ไม่นำเงินส่งกรมสรรพากรหรือนำเงินส่งแล้วแต่ไม่ครบจำนวนที่ถูกต้อง
ผู้มีเงินได้มีสิทธิ์นำเงินที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามจำนวนที่ระบุในหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย มาเป็นเครดิตในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าผู้มีหน้าที่หัก ณ ที่จ่าย(ผู้จ่ายเงิน) จะนำเงินส่งกรมสรรพากรหรือไม่ หรือนำเงินส่งแล้วแต่ไม่ครบจำนวนที่ถูกต้องก็ตาม
ทุกคนสังเกตประโยคข้างต้น แล้วเห็นจุดสำคัญอะไรบางอย่างไหม จุดสำคัญคือ หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 ทวิ สิ่งนี้แหละที่จะช่วยเป็นหลักฐานสำคัญ ในการยืนยันว่าผู้ถูกหักเงิน ถูกหักเงินไปแล้วครบถ้วนจริงๆ
หากไม่มีหนังสือรับรองฯ ผู้ถูกหักเงิน อาจถูกมองได้ว่า ไม่ได้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ซึ่งจะกลายเป็นว่า ต้องเป็นผู้รับผิดร่วม กับผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ตามหัวข้อก่อนหน้านี้ไงล่ะคะ
สรุป
สำหรับเรื่องการหักภาษี ณ ที่จ่าย หากเราอยู่ในฐานะบริษัทจำกัด เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายที่มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย เมื่อจ่ายเงินได้ที่เข้าเงื่อนไข ไม่เช่นนั้น อาจมีโทษร้ายแรงถึง ขั้นโทษทางอาญาก็เป็นได้
กรณีที่เราเป็นผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย เมื่อเราพิสูจน์ได้ว่า เราถูกหักภาษีอย่างถูกต้อง และมีหลักฐานการถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ก็มีสิทธิ์นำเงินที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย มาเครดิตในการคำนวณภาษี หรือขอคืนภาษีหัก ณ ที่จ่าย กรณีคำนวณแล้วไม่มีภาษีที่ต้องชำระ
นอกจากเรื่องขอคืนภาษีหัก ณ ที่จ่ายแล้ว สำหรับใครที่อยากเข้าใจเกี่ยวกับภาษีหัก ณ ที่จ่ายมากขึ้นกว่าเดิม เพิ่มเติมเก็บ CPD ได้ด้วย แนะนำลงเรียนคอร์สนี้ได้เลยค่า: ภาษีหัก ณ ที่จ่ายคำนวณและบันทึกบัญชีอย่างไร ?
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ Line: @cpdacademy
อ้างอิง
คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป. 91/2542
คู่มือการหักภาษี ณ ที่จ่าย