ภาษี

หัก ณ ที่จ่าย บุคคลธรรมดาอย่างไร เมื่อพนักงานลาออกระหว่างปี

หัก ณ ที่จ่าย บุคคลธรรมดาอย่างไร เมื่อพนักงานลาออกระหว่างปี

ทุกวันนี้โลกมีการเปลี่ยนแปลงเร็วมาก พนักงานก็หมุนเวียนเร็วตามไปด้วย และยิ่งเป็นเด็กรุ่นใหม่ ยิ่งมีการเปลี่ยนงานบ่อยมากขึ้น แล้วในด้านภาษี พนักงานลาออกระหว่างปี จะหัก ณ ที่จ่าย บุคคลธรรมดายังไง นี่เป็นปัญหาที่ HR ก็ปวดหัว และนักบัญชีก็เช่นเดียวกันค่ะ

ถ้าอยากหัก ณ ที่จ่ายพนักงานออกให้ถูกต้อง แบบไม่ต้องกังวล กรณีพนักงานลาออก CPD Academy จะชวนทุกคน มาดูวิธีคำนวณกันจ้า

เงินเดือนพนักงาน และการหัก ณ ที่จ่าย

ภาษีหัก ณ ที่จ่าย คือ ภาษีที่กำหนดให้ ผู้จ่ายเงิน(ผู้มีหน้าที่หัก ณ ที่จ่าย) เมื่อจ่ายเงินได้ตามมาตรา 40(1)-(8) ที่เข้าเงื่อนไขตามมาตรา 50 และมาตรา 3 เตรส ต้องหักเงิน ของผู้รับเงิน(ผู้มีเงินได้) เพื่อนำส่งภาษีให้สรรพากร

คำถาม!! หัก ณ ที่จ่าย บุคคลธรรมดา อยู่ตรงไหนของภาษี หัก ณ ที่จ่าย กันนะ?

การหัก ณ ที่จ่าย บุคคลธรรมดา จะเป็นการหัก ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 ของผู้มีเงินได้ 40(1) ประเภท เงินเดือนนั่นเองจ้า ต้องเรียกว่า เกี่ยวข้องกันทางตรงเลยล่ะ

ที่กล่าวมาข้างต้นนี้ เป็นหลักการพื้นฐานของภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย หากใครอยากเข้าใจภาพรวม ของการหัก ณ ที่จ่าย ฉบับ 101 แบบเข้าใจง่าย สามารถตามไปดูได้ที่ : สรุปภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ฉบับ 101

วิธีการคำนวณหัก ณ ที่จ่าย พนักงานออกระหว่างปี

เราลองมาคิดกันต่อว่า หัก ณ ที่จ่ายเงินเดือนพนักงานเขาทำกันยังไง ก่อนที่เราจะไปถึงการคำนวณ เพื่อให้เราเข้าใจหลักการปกติกันก่อน:

การหัก ณ ที่จ่าย บุคคลธรรมดา ผู้หักเงิน จะคำนวณโดยเริ่มจาก

  1. คำนวณเงินได้รายปี
  2. คำนวณเงินได้สุทธิต่อปี
  3. คำนวณภาษีต่อปี
  4. คำนวณภาษีต่อเดือน

หากใครที่ต้องการดูวิธีการคำนวณหัก ณ ที่จ่ายเงินเดือนพนักงาน เพิ่มเติม มีทั้งการคำนวณแบบเงินเดือนคงที่ และกรณีที่มีการขึ้นเงินเดือน สามารถดูเพิ่มเติมได้ที่ : วิธีคำนวณหัก ณ ที่จ่าย เงินเดือนพนักงาน

มาต่อกันที่ประเด็นหลักของเรา ถ้ากรณีที่ พนักงานลาออกไปล่ะ เราจะหัก ณ ที่จ่ายเขายังไงดีน้า?

ในกรณีที่ พนักงานเขาลาออกไประหว่างปี ขั้นตอนการคำนวณจะคล้ายกันกับการคำนวณปกติเลยจ๊ะ แต่ส่วนเพิ่มเติมคือ เราต้องคำนวณเงินได้ให้พนักงานใหม่ ที่แม่นยำขึ้น

ตอนแรกเราคำนวณให้พนักงานเป็นรายปี และเฉลี่ย หัก ณ ที่จ่าย ตามแต่ละเดือน เท่าๆ กัน

แต่หากเรารู้ว่าพนักงานจะออกกลางปี (เดือนสุดท้ายกลางปี) ดังนั้น เรารู้ได้เลยว่า เงินได้ของพนักงานที่เราจ่ายจริงเป็นเท่าไหร่ เราจะได้ตัวเลขเงินได้จริงของพนักงาน แล้วตัวเลขเงินได้นั้น มาคำนวณภาษี เพื่อหัก ณ ที่จ่ายในเดือนสุดท้ายของพนักงานอีกทีนึง

โดยเดือนสุดท้าย พนักงานควรแจ้งรายละเอียดการลดหย่อนตาม ล.ย.01 โดยอัพเดทไว้ด้วยนะ เพื่อผลประโยชน์ของพนักงานในการคำนวณภาษี

เมื่อนำทั้งหมดมารวมกันเป็นขั้นตอนการคำนวณ จะได้ดังนี้

  1. รวมเงินได้ทั้งหมดที่จ่ายไปแล้ว
  2. คำนวณเงินได้สุทธิใหม่รายปี
  3. คำนวณภาษีตามอัตราก้าวหน้า
  4. คำนวณภาษีต่อเดือน
  5. คำนวณภาษี ที่จ่ายไปแล้ว เทียบกับที่คำนวณใหม่
  6. คำนวณหัก ณ ที่จ่าย เดือนสุดท้าย

ตัวอย่าง หัก ณ ที่จ่าย บุคคลธรรมดา เมื่อพนักงานลาออกระหว่างปี

เราลองมาดูตัวอย่างเพื่อทำความเข้าใจกัน ว่าหากพนักงาน ลาออกไประหว่างปี เราจะคำนวณหัก ณ ที่จ่าย บุคคลธรรมดา ยังไง

ตัวอย่าง นาย ก. มีเงินเดือน 30,000 บาท/เดือน ตลอดทั้งปีไม่มีการขึ้นเงินเดือน ไม่มีการจ่ายโบนัส เมื่อหักลดหย่อนขั้นพื้นฐานแล้ว จะต้องถูกหัก ณ ที่จ่าย เดือนละ 170.83 บาท

ต่อมา ในเดือนที่ 6 นาย ก. แจ้งลาออก และได้นำส่ง แบบ ลย.01 พบว่า มีค่าลดหย่อนเพิ่มเติมจากประกันชีวิต 20,000 บาท ต้องคำนวณหัก ณ ที่จ่าย สิ้นเดือน 6 อย่างไร

วิธีคำนวณการคำนวณผลลัพธ์
รวมเงินได้ทั้งหมดที่จ่ายจริง30,000*12360,000
คำนวณเงินได้สุทธิใหม่  
หักค่าใช้จ่าย 50% ไม่เกิน 100,000 บาท 40(1)(100,000) 
ลดหย่อนส่วนตัว(60,000) 
ประกันสังคมเดือนละ 750 ทั้งหมด 12 เดือน(9,000) 
ลดหย่อนประกันชีวิต(20,000) 
รวมค่าลดหย่อน (189,000)
เงินได้สุทธิต่อปี 171,000
คำนวณภาษีตามอัตราก้าวหน้า171,000*อัตราก้าวหน้า1,050
คำนวณภาษีต่อเดือน1,050/1287.50
คำนวณภาษีจ่ายขาด(เกิน)(87.50-170.83)*5(416.65)
หัก ณ ที่จ่าย เดือนสุดท้ายขาด(เกิน)87.50-416.65(329.15)
เนื่องจากคำนวณแล้ว ไม่มีภาษีที่ต้องจ่ายเพิ่มในเดือนสุดท้าย จึงไม่ต้องหัก ณ ที่จ่ายเพิ่มเติม

จากตารางจะเห็นได้ว่า ส่วนที่แตกต่างกันออกไปจากการคำนวณแบบปกติ คือ การคำนวณเงินได้พนักงานใหม่อีก 1 ครั้ง  ครั้งก่อนพนักงานจะลาออก เหมือนเป็นการสรุปยอดหัก ณ ที่จ่ายครั้งสุดท้ายก่อนลาออกนั่นเอง 

อย่างไรก็ตาม คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป. 96/2543 ข้อ 3 บริษัท(ผู้จ่ายเงิน) มีสิทธิ์เลือกว่า จะให้คำนวณใหม่อีกครั้ง หรือให้หัก ณ ที่จ่ายเดือนสุดท้ายไปตามเดิมก็ได้ เพราะยังไงพนักงานก็ต้องยื่นภาษีประจำปี ด้วยยอดเงินได้เต็มจำนวนอยู่ดี ส่วนภาษีถูกหัก ณ ที่จ่าย ถ้าถูกหักน้อยลง ก็ต้องเสียภาษีปลายปีเพิ่มขึ้นอยู่ดี

ตัวอย่าง หัก ณ ที่จ่าย บุคคลธรรมดา เมื่อพนักงานลาออกระหว่างปี
ตัวอย่าง หัก ณ ที่จ่าย บุคคลธรรมดา เมื่อพนักงานลาออกระหว่างปี

หัก ณ ที่จ่ายเมื่อพนักงานออกแล้วยื่นแบบภาษีอะไร

หลังจากที่เราคำนวณหัก ณ ที่จ่าย บุคคลธรรมดา เมื่อพนักงานลาออก กันไปแล้ว ต่อมาคือการยื่นแบบภาษี คำถามตัวใหญ่ๆ ก็คือ การหัก ณ ที่จ่ายเมื่อพนักงานลาออก ยื่นแบบเหมือนกับการจ่ายเงินเดือนปกติหรือเปล่า

สำหรับผู้มีหน้าที่หัก ณ ที่จ่าย ขอบอกเอาไว้เลยว่า ไม่ต้องคิดอะไรซับซ้อนเลยล่ะ เราก็แค่ยื่น ภ.ง.ด.1 เหมือนกับการจ่ายเงินเดือนทั่วไป แต่อย่าลืม ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 ทวิ ให้กับพนักงานคนที่ลาออกไปด้วยล่ะ

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ลืมไม่ได้ คือการยื่น ภ.ง.ด.1ก การที่พนักงานลาออกระหว่างปี ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่ยื่น ภ.ง.ด.1ก ก่อนตอนสิ้นปีนะ เราก็ยังต้องยื่นเหมือนเดิมนั่นแหละ ตามเงินได้ทั้งหมดที่เราจ่ายให้พนักงานในปีนั้นทั้งหมดเลยจ้าา

หัก ณ ที่จ่ายเมื่อพนักงานออกแล้วยื่นแบบภาษีอะไร
หัก ณ ที่จ่ายเมื่อพนักงานออกแล้วยื่นแบบภาษีอะไร

หลักฐานที่ต้องให้ เมื่อพนักงานลาออกมีอะไรบ้าง

หลักฐานที่ต้องให้พนักงาน เมื่อพนักงานลาออกไป โดยส่วนใหญ่แล้ว เมื่อพนักงานลาออกเขาต้องขอเอกสารอะไรจากบริษัทบ้างนะ หรือว่าบริษัทต้องให้เอกสารอะไรกับพนักงานบ้างนะ

เราลองไปดูตัวอย่างกันว่า เมื่อพนักงานลาออกจากบริษัทไปแล้ว บริษัทต้องให้เอกสารอะไรกับพนักงานบ้าง

  1. หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย มาตรา 50 ทวิ
  2. หนังสือรับรองการทำงาน
  3. หนังสือรับรองเงินเดือน
  4. เอกสารที่เกี่ยวข้องกับการจ่ายเงินสมทบประกันสังคม
  5. เอกสารที่เกี่ยวข้องกับการจ่ายเงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
  6. สลิปเงินเดือนย้อนหลังของพนักงาน
  7. เอกสารอื่นที่พนักงานร้องขอ หรือถูกระบุในสัญญาจ้าง
หลักฐานที่ต้องให้ เมื่อพนักงานลาออกมีอะไรบ้าง
หลักฐานที่ต้องให้ เมื่อพนักงานลาออกมีอะไรบ้าง

สรุป

การลาออกของพนักงาน ไม่ได้เกิดขึ้นตอนสิ้นปีเท่านั้น แต่พนักงานก็มีหมุนเวียนเข้าใหม่ลาออกตลอดทั้งปีนั่นแหละ เมื่อพนักงานลาออกบริษัทต้องเตรียมพร้อมเรื่องเอกสาร และเรื่องภาษี โดยเฉพาะการหัก ณ ที่จ่าย จริงๆไม่ได้ซับซ้อนเกินไปกว่าการหัก ณ ที่จ่ายแบบปกติ

เพียงแค่เราต้องคำนวณภาษี ของพนักงานก่อนที่จะลาออก ใหม่อีกครั้ง และตรวจสอบค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีพนักงาน การหักลดหย่อนของพนักงาน เพื่อให้การหัก ณ ที่จ่ายของบริษัท เป็นไปอย่างถูกต้องที่สุด ในเดือนสุดท้ายที่พนักงานลาออกนั่นเอง

และสำหรับใครที่อยากเข้าใจเกี่ยวกับภาษีหัก ณ ที่จ่ายมากขึ้นกว่าเดิม เพิ่มเติมเก็บ CPD ได้ด้วย แนะนำลงเรียนคอร์สนี้ได้เลยค่า: ภาษีหัก ณ ที่จ่ายคำนวณและบันทึกบัญชีอย่างไร ?

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ Line: @cpdacademy

อ้างอิง

คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป. 96/2543

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า