ปัญหาใหญ่ของคนทำธุรกิจ เปิดกิจการมาก็ตั้งนานแล้ว ไม่ได้อะไรกลับคืนมาสักที ก็ต้องหาวิธีดึงเงินออกจากบริษัทบ้างล่ะ แต่เรื่องไม่จบเท่านั้นน่ะสิ งานมันก็มาถึงนักบัญชีแบบเรา ที่ต้องคอยให้คำแนะนำลูกค้า ว่าแบบไหนถึงจะเป็นวิธีที่ถูกต้องบ้าง
ถ้าวันนี้มีลูกค้าเดินมาถามว่าอยากเอาเงินออกจากบริษัทต้องทำยังไงบ้าง ลองมาดูสิ่งที่เราแนะนำได้ในบทความนี้กันค่ะ
วิธีดึงเงินออกจากบริษัทที่ถูกต้อง
การดึงเงินออกจากบริษัท ทำได้หลากหลายวิธี ทั้งวิธีแบบผิดๆ เช่น การโอนเงินออกไปดื้อๆ แล้วก็ทิ้งนักบัญชีไว้กลางทาง เมื่อนักบัญชีหาไม่ได้ว่าเงินออกไปด้วยรายจ่ายอะไร สิ่งที่พวกเรามักทำกันก็คือ บันทึกเป็นลูกหนี้กรรมการก้อนโต โชว์ในงบการเงินไงล่ะ
วิธีนี้เป็นวิธีที่ไม่ควรทำ เพราะจะเกิดผลกระทบทางภาษี และรายการคงค้างทางบัญชี มีแต่เสียกับเสีย
แต่ถ้าพูดถึงวิธีที่ถูกต้อง ก็พอจะทำได้อยู่หลากหลายวิธี คำว่าถูกต้องในที่นี้ ถูกต้องทั้งในเรื่องของทางบัญชี และต้องอยู่ในกรอบของภาษีด้วยนะ มีวิธีอะไรบ้าง ไปดูกัน
จ่ายเงินเดือน & โบนัส
เจ้าของธุรกิจหลายคน นอกจากจะเป็นผู้ถือหุ้นแล้ว ยังทำงานเป็นกรรมการ ในบริษัทของตัวเองด้วย พบเห็นได้บ่อยสำหรับกิจการเจ้าของคนเดียว หรือธุรกิจครอบครัว ดังนั้นก็ สามารถให้เงินเดือนกับตัวเองได้ และกำหนดเงินเดือนได้ตามเหมาะสม แต่ต้องระมัดระวังค่ะว่า หากให้เงินเดือนตัวเอง Over เกินไป อาจถูกพี่สรรพากรเรียกเข้าไปพบได้นะ
จ่ายค่าที่ปรึกษา
การจ่ายค่าที่ปรึกษา หรือค่าจ้างให้กับตัวเอง กรณีนี้จะเกิดขึ้นได้ เมื่อเรามีหลายธุรกิจ หรือเราสามารถทำงานได้หลายอย่าง และธุรกิจต้องการความรู้ หรือความชำนาญเฉพาะทางจากกรรมการเอง
ยกตัวอย่างเช่น นาย ก. เปิดธุรกิจร้านซักผ้าอัตโนมัติ เผอิญว่าเครื่องพัง แต่โชคดีที่นาย ก. เป็นวิศวกร สามารถซ่อมเครื่องเองได้ ก็สามารถจ่ายค่าจ้างตัวเองในการซ่อมเครื่องได้
อีกกรณีที่พบเห็นได้บ่อย มีบริษัทย่อยหลายบริษัท เช่น เปิดร้านซักอบรีด แต่อีกธุรกิจหนึ่งรับจ้างโฆษณา แบบนี้ร้านซักอบรีดก็สามารถจ้างร้านโฆษณาได้ แบบไม่ต้องจ้างคนภายนอกเลยล่ะ
จ่ายค่าเช่า
บางครั้งธุรกิจไม่มีเงินพอที่จะลงทุนในสินทรัพย์จำนวนมาก แต่บางคราวก็จำเป็นต้องใช้รถในการเดินทางพบลูกค้า ใช้บ้านกรรมการเป็นสำนักงานนั่งทำงาน
วิธีที่เรียบง่าย อย่างการที่เจ้าของให้เช่าสินทรัพย์แก่บริษัท เช่น เช่าอาคาร สำนักงาน และให้เช่ายานพาหนะ เป็นต้น
วิธีนี้ถ้าให้ดีต้องทำสัญญาเช่าให้เรียบร้อย และกำหนดราคาเช่าระหว่างกันให้เหมาะสมไปสูงเวอร์จนเกินไปค่ะ
จ่ายเงินปันผล
การจ่ายเงินปันผล เป็นอีกหนึ่งวิธีที่สามารถทำได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย หากบริษัทมีกำไร และมีเงินสำรองตามกฎหมายเพียงพอ ก็สามารถจ่ายเงินปันผลได้ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร
แต่สิ่งที่ต้องเข้าใจก็คือ อย่าลืมว่าทุกครั้งที่จ่ายเงินปันผลนั้น บริษัทต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% นำส่งตามกฎหมายด้วยนะ
ดอกเบี้ยเงินกู้
ปล่อยเงินกู้ให้กับบริษัท วิธีนี้พบเจอได้บ่อย (เจ้าหนี้เงินกู้ยืมกรรมการ / เจ้าหนี้เงินกู้ยืมบุคคลที่เกี่ยวข้องกัน) หากเจ้าของ มีเงินทุนในมืออยู่แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องไปขอกู้ธนาคาร และจ่ายดอกเบี้ยแพงๆ ให้กับธนาคาร สู้เจ้าของบริษัทปล่อยเงินกู้ให้บริษัทเองดีกว่า ดอกเบี้ยเจ้าของบริษัทก็ได้เต็มจำนวน
เห็นไหมล่ะ วิธีที่ถูกต้องตามกฎหมาย ก็สามารถทำได้หลากหลายรูปแบบ แล้วแต่ว่าเราจะเลือกวิธีดึงเงินออกจากบริษัทวิธีไหน ก็แล้วแต่ความเหมาะสมเลย
แต่ๆๆ ย้ำอีกที เผื่อใครลืม….
*การถอนเงินไปเฉยๆ = เจ้าของเป็นลูกหนี้บริษัท (ลูกหนี้กรรมการ / ลูกหนี้บุคคลที่เกี่ยวข้องกัน) สุดท้ายก็ต้องคืนเงินบริษัทอยู่ดี จึงเป็นวิธีการดึงเงินออกจากบริษัทที่ไม่ควรทำนะคะ

ประเด็นทางภาษี ดึงเงินออกจากบริษัท
สรุปอีกครั้ง สำหรับแต่ละออฟชั่นให้ชัดๆ ว่าการจ่ายเงินออกจากบริษัท ตามแต่ละกรณีที่กล่าวมา จะเกิดผลกระทบทางภาษี ทั้งในด้านของบริษัท และตัวเจ้าของ อย่างไรบ้าง
ด้านบริษัท
- เงินเดือน & โบนัส : เป็นค่าใช้จ่ายของบริษัทได้ตามเหมาะสม
- ค่าที่ปรึกษา : ต้องมีการให้บริการจริง ไม่งั้นเป็นรายจ่ายต้องห้าม
- ค่าเช่า : ควรสำรวจเช่าตามราคาตลาด, บริษัท หัก ณ ที่จ่าย 5%
- เงินปันผล : ไม่เป็นค่าใช้จ่ายของบริษัท, บริษัท หัก ณ ที่จ่าย 10%
- ดอกเบี้ยเงินกู้ : เป็นค่าใช้จ่ายของบริษัทได้ตามเหมาะสม, บริษัท หัก ณ ที่จ่าย 15%
ด้านเจ้าของ (บุคคลธรรมดา)
- เงินเดือน & โบนัส : เงินได้ 40(1) ยื่นภาษีสิ้นปี หักเหมา 50% ไม่เกิน 1 แสน
- ค่าที่ปรึกษา : เงินได้ 40(2) ยื่นภาษีสิ้นปี หักเหมา 50% ไม่เกิน 1 แสน
- ค่าเช่า : เงินได้ 40(5) ยื่นภาษีสิ้นปี เช่ารถ, บ้าน หักเหมา 30%
- เงินปันผล : เงินได้ 40(4) ยื่นภาษีสิ้นปี หรือใช้สิทธิ์ Final Tax
- ดอกเบี้ยเงินกู้ : เงินได้ 40(4) ยื่นภาษีสิ้นปี หรือใช้สิทธิ์ Final Tax

ข้อดี&ข้อเสีย ดึงเงินออกจากบริษัท
แต่ละวิธี มีลักษณะรายการที่แตกต่างกันไป วิธีที่เห็นได้เยอะที่สุด ก็คือข้อ 1 เงินเดือนและโบนัส แต่จะเป็นวิธีที่ดีที่สุดหรือเปล่า ก็อาจจะตอบไม่ได้ เพราะแต่ละวิธีก็มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป ตามลักษณะรายการ เราลองมาดูว่าแต่ละวิธีมีข้อดีข้อเสียยังไงบ้าง
ข้อดี
- เงินเดือน & โบนัส : กิจการเจ้าของคนเดียว จ่ายโบนัสตัวเอง กำหนดเองได้
- ค่าที่ปรึกษา : ไม่ต้องจ้างคนอื่น เราก็ทำเองได้ ลดการพึ่งพาคู่ค้าภายนอก
- ค่าเช่า : คิดภาษีบุคคลธรรมดาง่าย หักค่าใช้จ่ายเหมาได้ตั้ง 30% (เช่าบ้าน+รถ)
- เงินปันผล : เจ้าของใช้สิทธิ์ Final Tax ไม่ต้องยื่นภาษีปลายปีอีก
- ดอกเบี้ยเงินกู้ : เจ้าของได้ดอกเบี้ย และบริษัทไม่ต้องกู้ Bank แล้วเสียดอกเบี้ยแพงๆ
ข้อเสีย
- เงินเดือน & โบนัส : เจ้าของเสียภาษีเยอะ เพราะหักค่าใช้จ่ายได้ไม่เกิน 1 แสน
- ค่าที่ปรึกษา : เจ้าของเสียภาษีเยอะ เพราะหักค่าใช้จ่ายได้ไม่เกิน 1 แสน
- ค่าเช่า : ควรเช่าเป็นราคาตลาด ซึ่งหาราคาตลาดเทียบยาก
- เงินปันผล : เสียภาษี 2 รอบ(ภาษีนิติบุคคล+ภาษีหัก ณ ที่จ่าย) และขั้นตอนยุ่งยาก
- ดอกเบี้ยเงินกู้ : เจ้าของต้องโอนเงินก้อนโตเข้าบริษัท อาจสูญเสียสภาพคล่อง

สรุป
ทำธุรกิจก็ต้องได้ผลตอบแทน ผลตอบแทนที่ว่า ไม่ได้หมายถึงแค่เงินปันผล แต่รวมถึงประโยชน์อื่น เช่น ทำงานให้บริษัทก็ต้องได้เงินเดือน ได้ค่าจ้าง หรือให้บริษัทใช้สินทรัพย์ก็ต้องได้ค่าเช่า ให้บริษัทกู้เงินก็ต้องได้ดอกเบี้ย
ทั้งนี้ ไม่ว่าเราจะอยากดึงเงิน ออกจากบริษัทมากแค่ไหน เราต้องไม่ลืมที่จะทำตามกฎ ทำให้ถูกตามระเบียบ วิธีการ เพื่อที่จะได้ไม่มีปัญหาตามมาในภายหลังนะคะ
อบรมบัญชีเก็บชั่วโมง CPD ออนไลน์ง่ายๆ ได้ที่บ้าน
สอบถามได้ที่ Line: @cpdacademy หรือ https://lin.ee/36U1ks0Y