สำหรับกิจการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เรามักจะพูดกันบ่อยๆ ว่าต้องออกใบกำกับภาษีตาม “Tax Point” นำส่ง VAT 7% ให้เรียบร้อย
และบ่อยครั้งที่นักบัญชีมักจะถูกตั้งคำถามจากผู้ประกอบการว่า แล้วเจ้า Tax Point เนี่ยมันคืออะไร ถ้าธุรกิจเค้าเป็นลักษณะนี้จะต้องออกใบกำกับภาษีเมื่อไรกันแน่
บทความ CPD Academy จึงขออาสาสรุปข้อมูลเกี่ยวกับ “Tax Point คืออะไร ขายของและให้บริการออกใบกำกับต่างกันไหม” มาให้ทุกคนได้คลายสงสัยกันค่ะ รายละเอียดจะเป็นอย่างไรนั้น ตามไปดูพร้อม ๆ กันเลยค่ะ
Tax Point คืออะไร ?
Tax Point คือ จุดที่ความรับผิดทางภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นตามกฎหมาย ทำให้ผู้ประกอบการที่จดทะเบียน VAT มีสิทธิและหน้าที่ที่ต้องกระทำ ได้แก่
- การเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากผู้ซื้อสินค้า หรือผู้รับบริการ
- การจัดทำ และส่งมอบใบกำกับภาษีให้แก่ผู้ซื้อสินค้า หรือผู้รับบริการ
- นำยอดขาย ภาษีขายลงในรายงานภาษีขาย และส่งให้กับกรมสรรพากร
เมื่อได้ทราบความหมายของคำว่า Tax Point กันแล้ว ตามกฎหมายประมวลรัษฎากรได้กำหนดจุดรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (จุดที่เกิดภาษีขาย) ไว้หลากหลายกรณี ในบทความนี้จะขอกล่าวถึง Tax Point ที่มักจะเจอได้บ่อยในชีวิตประจำวัน ซึ่งประกอบด้วย การขายสินค้า และการให้บริการ โดยมีรายละเอียดต่าง ๆ ให้ทำความเข้าใจในหัวข้อถัดไปค่ะ
แต่อย่าลืมน้า จะมี Tax Point ได้ต้องเป็นผู้ประกอบการที่จด VAT แล้วเท่านั้นนะ ใครกำลังสงสัยว่าจด VAT ต้องทำยังไง มาดูที่ลิงค์นี้เลย เมื่อจด VAT แล้วจะเกิดอะไรขึ้น
Tax Point จากการขายสินค้าเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ?
คำนิยามของ “การขาย” ตามประมวลรัษฎากร หมวด 4 มาตรา 78 คือการที่ผู้ขายจำหน่าย จ่าย และส่งมอบสินค้าให้ผู้ซื้อ ไม่ว่าจะมีราคาสินค้าหรือไม่
ดังนั้นเมื่อการขายมีการส่งมอบสินค้า มีการโอนกรรมสิทธิ์ หรือมีการรับเงินเกิดขึ้น เท่ากับว่าจะมีการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น และต้องออกใบกำกับภาษีให้ผู้ซื้อทันที โดยกฎหมายได้บัญญัติถึงการเกิด Tax Point จากการขายไว้หลายกรณี แต่จะขอยกตัวอย่างการขายที่เจอได้บ่อยในชีวิตประจำวัน ดังนี้ค่ะ
1. การขายสินค้าทั่วไป
การขายลักษณะนี้ เช่น การขายของในห้างสรรพสินค้า หรือร้านค้าต่าง ๆ จะเกิด Tax Point ขึ้นเมื่อมีการส่งมอบสินค้า โดยที่ยังไม่ต้องสนใจว่าผู้ขายจะรับเงินแล้วหรือไม่ หรือกล่าวง่าย ๆ ว่า วันไหนมีการส่งสินค้าให้ผู้ซื้อแล้ว วันนั้นร้านค้าจะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ในขณะเดียวกัน หากก่อนมีการส่งมอบสินค้าให้ผู้ซื้อ ผู้ขายได้มีการโอนกรรมสิทธิ์สินค้า ได้รับค่าชำระสินค้า หรือได้ออกใบกำกับภาษี Tax Point จะเกิดขึ้น ณ ตอนนั้นทันทีค่ะ
ยกตัวอย่างสถานการณ์
นาย A ได้สั่งตู้เย็นของร้าน ABC ในแอปออนไลน์เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2567 โดยนาย A เลือกที่จะชำระเงินปลายทาง ทางร้านจึงได้ส่งตู้เย็นไปที่บ้านนาย A เมื่อวันที่ 11 พ.ค. ตู้เย็นถึงบ้านนาย A และชำระเงินในวันที่ 15 พ.ค. Tax Point จึงเกิดขึ้นในวันที่ส่งตู้เย็นไปที่บ้าน เพราะฉะนั้น ร้าน ABC จะต้องออกใบกำกับภาษีให้กับนาย A ในวันที่ 11 พ.ค. เพราะถ้าหากออกใบกำกับภาษีในวันที่ 15 จะถือว่าออกใบกำกับภาษี “ช้า”
2. การขายตามสัญญา
ไม่ว่าจะเป็นการสัญญาให้เช่าซื้อ หรือสัญญาซื้อขายผ่อนชำระ หากกรรมสิทธิ์ในสินค้าของผู้ให้เช่ายังไม่ถูกโอนไปยังผู้เช่าซื้อ Tax Point จะเกิดขึ้นเมื่อถึงกำหนดชำระราคาตามงวดที่ถึงกำหนดชำระราคาแต่ละงวดของผู้เช่าซื้อ แต่ถ้าก่อนถึงกำหนดชำระงวดได้มีการชำระราคาสินค้า (ชำระก่อนถึงงวด) หรือ ออกใบกำกับภาษีให้ Tax Point จะเกิดขึ้นทันทีด้วยค่ะ
ยกตัวอย่างสถานการณ์
นาย B ซื้อรถยนต์ที่โชว์รูม EFG โดยใช้วิธีผ่อนชำระ 6 ปี จึงต้องทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์เป็นลายลักษณ์อักษร และมีกำหนดชำระเงินงวดแรกในวันที่ 15 พ.ค. Tax Point จึงเกิดขึ้นในวันที่ถึงกำหนดชำระหนี้งวดแรก ดังนั้น โชว์รูม EFG จะต้องออกใบกำกับภาษีให้นาย B เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในวันที่ 15 นั่นเอง
3. การขายสินค้าผ่านตัวแทน
สำหรับบางกรณีที่มีการฝากขายสินค้าผ่านตัวแทน และผู้ขายได้ส่งมอบสินค้าให้กับตัวแทนขายแทนแล้วนั้น Tax Point จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อตัวแทนได้ส่งมอบสินค้าให้กับผู้ซื้อ แม้ว่าผู้ซื้อจะยังไม่ชำระเงินให้ตัวแทนก็ตามค่ะ ยกเว้นว่าตัวแทนได้โอนกรรมสิทธิ์สินค้าให้ผู้ซื้อ ได้รับชำระราคาสินค้า ได้ออกใบกำกับภาษี หรือได้มีการนำสินค้าไปใช้ไม่ว่าจะโดยตัวแทนหรือบุคคลอื่น ให้ถือว่า Tax Point เกิดขึ้นทันทีค่ะ
ยกตัวอย่างสถานการณ์
นาย C เป็นเจ้าของคอมพิวเตอร์ที่ต้องกาารขายออกตลาด จึงได้ฝากบริษัทตัวแทนช่วยขายให้แทน ต่อมานาย D สนใจที่จะซื้อคอมพิวเตอร์ของนาย C ตัวแทนจึงได้ตกลงราคากับนาย D และได้โอนเงินค่าคอมพิวเตอร์ให้กับตัวแทนเรียบร้อย ดังนั้น Tax Point จะเกิดขึ้นในตอนที่ตัวแทนได้รับเงิน ไม่ใช่เกิดขึ้นตอนที่ส่งมอบคอมพิวเตอร์ให้นาย D จึงต้องออกใบกำกับภาษีให้นาย D เสียภาษีมูลค่าเพิ่มค่ะ
นอกจากนี้ ยังมีการขายกรณีอื่น ๆ ที่น่าสนใจ ซึ่งก่อให้เกิด Tax Point ให้ผู้ขายต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และดำเนินการออกใบกำกับภาษีให้กับผู้ซื้อเช่นเดียวกันค่ะ ยกตัวอย่างเช่น
- การขายสินค้าโดยการส่งออก จุด Tax Point จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีการชำระขาออก หรือ อยู่ในวันที่นำสินค้าในราชอาณาจักรเข้าไปในเขตปลอดอากร ตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร
- การขายสินค้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 และมีการโอนกรรมสิทธิ์ในสินค้าที่ทำให้ผู้รับโอนสินค้าต้องเสียภาษีในภายหลัง จุด Tax Point ที่เกิดขึ้นจึงเป็นตอนที่มีการโอนกรรมสิทธิ์สินค้า
- การขายสินค้าด้วยเครื่องอัตโนมัติ จุด Tax Point จะเกิดขึ้นเมื่อนำเงินออกจากเครื่องอัตโนมัติ
- การขายสินค้า และชำระเงินด้วยบัตรเครดิต จุด Tax Point จะเกิดขึ้นเมื่อส่งมอบสินค้า ยกเว้นเมื่อมีหลักฐานบัตรเครดิต หรือออกใบกำกับภาษีก่อนส่งมอบ
Tax Point จากการให้บริการเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ?
นอกจากการขายสินค้าในกรณีต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดจุดต้องเสียภาษีขายแล้ว การให้บริการก็เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมการค้าที่ผู้ประกอบการจะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามกฎหมาย ซึ่งหากมีการรับเงินค่าบริการจากผู้รับบริการ หรือให้บริการเสร็จสิ้นแล้ว จะมีภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น และผู้ให้บริการจะต้องออกใบกำกับภาษีให้กับอีกฝ่าย ณ วันนั้นทันทีค่ะ
สำหรับใครที่ยังนึกภาพไม่ออก ให้นึกถึงสถานการณ์ที่ลูกค้าเข้าไปใช้บริการที่ร้าน ๆ หนึ่ง และเมื่อมีการคิดค่าบริการ จะมี VAT 7% เพิ่มมาในบิลก็ได้ค่ะ แต่ทั้งนี้ ตามประมวลรัษฎากร หมวด 4 มาตรา 78/1 การให้บริการไม่ได้มีแค่กรณีนี้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ยังมีอีกหลายกรณีที่ก่อให้เกิด Tax Point ได้เช่นกัน โดยมีรายละเอียดต่าง ๆ ดังนี้ค่ะ
1. การให้บริการโดยทั่วไป
การให้บริการทั่วไปที่พบได้ในชีวิตประจำวัน เช่น บริการซักผ้า บริการนวดแผนไทย เป็นต้น เมื่อผู้รับบริการได้ทำการชำระเงิน Tax Point จะเกิดขึ้นในตอนนั้น แต่ถ้าหากผู้ให้บริการได้ออกใบกำกับภาษี หรือใช้บริการโดยตนเองหรือบุคคลอื่น Tax Point จะเกิดขึ้นทันที แล้วแต่กรณีค่ะ
ยกตัวอย่างสถานการณ์
นาย E รู้สึกตึงกล้ามเนื้อที่หลัง จึงได้เข้าไปใช้บริการในร้านนวดแผนไทย จากนั้นได้ทำการชำระค่าบริการเรียบร้อย ดังนั้น Tax Point ที่จะเกิดขึ้น คือตอนที่ นาย E ชำระเงินให้ร้านนวดแผนไทย และทางร้านจะต้องออกใบกำกับภาษีให้กับนาย E ตามกฎหมายค่ะ
2. การให้บริการตามสัญญา
บริการใด ๆ ที่มีการทำสัญญากำหนดค่าตอบแทนตามส่วนของบริการที่ทำ เช่น การให้บริการอินเทอร์เน็ต การให้บริการประกันภัย เป็นต้น Tax Point จะเกิดขึ้นเมื่อได้รับชำระค่าบริการตามส่วนของบริการที่สิ้นสุดลง เว้นแต่ว่าจะมีการออกใบกำกับภาษี หรือได้ใช้บริการโดยตนเองหรือบุคคลเสียก่อน Tax Point จะเกิดขึ้นตอนนั้นทันที โดยไม่ต้องรอให้มีการชำระเงินจากผู้ให้บริการนั่นเองค่ะ
ยกตัวอย่างสถานการณ์
นาย F ต้องการจะติดอินเทอร์เน็ตใหม่ จึงไปซื้อและใช้บริการอินเทอร์เน็ตไวไฟที่ร้าน GHI ทำให้ทางร้านต้องทำสัญญาให้บริการ 12 เดือน และนาย F ได้ชำระค่าบริการตามงวดแล้ว Tax Point ที่จะเกิดขึ้นจึงเป็นตอนที่นาย F โอนเงินค่าเน็ตให้กับร้าน GHI นั่นเองค่ะ
3. การให้บริการต่างแดน
สำหรับสถานประกอบการเจ้าไหนที่ให้บริการในต่างประเทศ และใช้บริการนั้นในประเทศไทย
ยกตัวอย่างเช่น Meta หรือ Facebook – บริษัทให้บริการโฆษณา ตั้งอยู่ที่ประเทศ Ireland กรณีนี้ถ้าเราใช้บริการโฆษณาที่ไทย ถือว่า Tax Point จะเกิดขึ้นเมื่อมีการชำระค่าบริการทั้งหมดหรือบางส่วนให้กับผู้ให้บริการค่ะ
Tips: ถ้าเป็นกรณีนี้ ผู้ซื้อ (ใช้บริการ) จะเป็นคนนำส่ง VAT แก่กรมสรรพากรแทน Facebook ด้วยการยื่นแบบ ภ.พ.36 นะคะ
4. การให้บริการที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0
อย่างเช่น การให้บริการที่ทำขึ้นในประเทศไทย และได้ใช้บริการในต่างประเทศ หรือการให้บริการขนส่งระหว่างประเทศผ่านทางอากาศ หรือทางเรือโดยผู้ประกอบการที่เป็นนิติบุคคล เป็นต้น และภายหลังได้โอนสิทธิ์ในบริการให้กับผู้รับโอนสิทธิ์ Tax Point จะเกิดขึ้นเมื่อมีการชำระค่าบริการ และผู้รับสิทธิ์บริการจะเป็นผู้เสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามกฎหมายค่ะ
Tips: กรณีนี้ความรับผิดทางภาษีเกิดขึ้นแล้ว แต่ว่าอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มจะเป็นร้อยละ 0 (ไม่ใช่ 7% เหมือนการขาย/ให้บริการในประเทศนะคะ)
นอกจากนี้ ยังมีการให้บริการกรณีอื่น ๆ ที่น่าสนใจ ซึ่งก่อให้เกิด Tax Point เมื่อผู้รับบริการได้ชำระค่าบริการให้กับสถานประกอบการ ยกตัวอย่างเช่น
- การให้บริการโดยใช้เครื่องอัตโนมัติ เช่น บริการซักผ้าอัตโนมัติ Tax Point จะเกิดขึ้นตอนที่นำเงินออกจากเครื่อง
- การให้บริการที่รับชำระด้วยบัตรเครดิต Tax Point จะเกิดขึ้นเมื่อได้ออกหลักฐานการใช้บัตรเครดิต
- การให้บริการโดยไม่มีค่าตอบแทน Tax Point จะเกิดขึ้นเมื่อมีการใช้บริการโดยตนเองหรือบุคคลอื่น ๆ แต่เมื่อมีการออกใบกำกับภาษีก่อนใช้บริการ Tax Point จะเกิดขึ้นตอนที่ออกใบกำกับทันที
ตัวอย่างเอกสารใบกำกับภาษี จากกรณีขายสินค้าและให้บริการ
หลังจากที่ได้ทำความเข้าใจกับ Tax Point ที่จะเกิดขึ้นจากการขายสินค้า และให้บริการกันในกรณีต่าง ๆ กันไปแล้ว ผู้ประกอบการหลายคนอาจมีข้อสงสัยว่า เมื่อเกิด Tax Point ขึ้น ซึ่งต้องจัดทำรายงานภาษีเพื่อส่งให้กับกรมสรรพากรตามกฎหมายนั้น จะต้องใช้เอกสารอะไร ? ในหัวข้อนี้จะขอยกตัวอย่างเอกสารสำคัญที่ต้องใช้ นั่นก็คือ “ใบกำกับภาษี” ค่ะ
ใบกำกับภาษี คือ เอกสารหลักฐานที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ต้องจัดทำและออกให้กับผู้ซื้อสินค้าหรือผู้ให้บริการ โดยทุกครั้งที่มีการขายสินค้าหรือให้บริการ จะต้องออกใบกำกับภาษีทันทีที่เกิด Tax Point ขึ้น เพื่อแสดงมูลค่าของสินค้าหรือบริการ และตัวเลขภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ประกอบการเรียกเก็บจากอีกฝ่าย ใบกำกับภาษีที่พบได้บ่อยในชีวิตประจำวัน มีทั้งหมด 3 รูปแบบด้วยกัน ดังนี้ค่ะ
1. ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป
เป็นรูปแบบเอกสารที่สถานประกอบการจะต้องออกให้กับผู้ซื้อหรือผู้รับบริการ ยกเว้นว่าผู้ประกอบการค้าปลีกมีสิทธิ์ออกใบกำกับภาษีอย่างย่อ หรือผู้ซื้อและผู้ให้บริการเป็นรายย่อยค่ะ โดยตามประมวลรัษฎากร มาตราที่ 86/4 เอกสารจะต้องมีรายการต่าง ๆ ได้แก่
- คำว่า “ใบกำกับภาษี” จะต้องอยู่ในตำแหน่งที่เห็นชัด
- ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ออกใบกำกับภาษี
- ชื่อ และที่อยู่ของผู้ซื้อสินค้า หรือผู้รับบริการ
- หมายเลขลำดับของใบกำกับภาษี และหมายเลขลำดับของเล่ม (ถ้ามี)
- ชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณ และมูลค่าของสินค้าหรือบริการ
- จำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือบริการ โดยให้แยกรายการออกจากมูลค่าสินค้าหรือบริการให้ชัดเจน
- วัน เดือน ปี ที่ออกใบกำกับภาษี
- ข้อความอื่น ๆ ที่อธิบดีกำหนด
มาดูจุดสำคัญของใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบที่พลาดไม่ได้กันที่นี่เลย ตัวอย่างใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบ
2. ใบกำกับภาษีแบบย่อ
เป็นรูปแบบเอกสารหนึ่งที่ย่อมาจากใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป โดยผู้ที่มีสิทธิ์ออกเอกสารนี้ก็คือ ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ทำกิจการค้าปลีก หรือธุรกิจที่ให้บริการให้กับรายย่อยที่เป็นบุคคลจำนวนมากนั่นเองค่ะ โดยตามประมวลรัษฎากร มาตราที่ 86/6 ในเอกสารจะต้องมีรายการต่าง ๆ ได้แก่
- คำว่า “ใบกำกับภาษีอย่างย่อ” จะต้องอยู่ในตำแหน่งที่เห็นชัด
- ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ออกใบกำกับภาษี
- หมายเลขลำดับของใบกำกับภาษี และหมายเลขลำดับของเล่ม (ถ้ามี)
- ชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณ และมูลค่าของสินค้าหรือบริการ
- ราคาสินค้าหรือราคาค่าบริการ โดยต้องมีข้อความระบุอย่างชัดเจนว่า ได้รวมภาษีมูลค่าเพิ่มไว้แล้ว
- วัน เดือน ปี ที่ออกใบกำกับภาษี
- ข้อความอื่น ๆ ที่อธิบดีกำหนด
3. ใบกำกับภาษีแบบย่อที่ออกโดยเครื่องบันทึกการเก็บเงิน (POS)
อีกหนึ่งรูปแบบของใบกำกับภาษี ที่ย่อจากใบกำกับภาษีแบบปกติมาอีกทีค่ะ ซึ่งหน้าตาของเอกสารรูปแบบนี้อาจดูคล้ายคลึงกับใบเสร็จรับเงิน หรือสลิปรับเงินที่หลายคนพบเจอได้ในชีวิตประจำวัน ตามมาตรา 86/6 แห่งประมวลรัษฎากร และประกาศอธิบดีกรมสรรพกรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม ฉบับที่ 46 ในเอกสารจะต้องมีรายการต่าง ๆ ได้แก่
- คำว่า “ใบกำกับภาษีอย่างย่อ” หรือคำว่า “TAX INV (ABB)” หรือคำว่า “TAX INVOICE (ABB)”
- ชื่อ หรือชื่อย่อ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอาการของผู้ประกอบการจดทะเบียน
- วัน เดือน ปี ที่ออกใบกำกับภาษี
- หมายเลขลำดับของใบกำกับภาษี
- ชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณ และมูลค่าของสินค้าหรือบริการ
- ราคาสินค้าหรือราคาค่าบริการ โดยต้องมีข้อความระบุอย่างชัดเจนว่า รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว หรือ VAT INCLUDED
- เลขรหัสประจำเครื่องบันทึกการเก็บเงิน
Tax Point กรณีอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
1.Tax Point จากการรับเงินก่อนส่งของ
ถ้าหากมีการรับเงินค่าสินค้าก่อนการส่งของ Tax Point จะเกิดขึ้นทันทีที่รับเงิน (ค่ามัดจำ) ดังนั้น ผู้ส่งจะต้องออกใบกำกับภาษี หรือใบเสร็จรับเงินให้กับผู้รับ จากนั้นทำรายงานภาษีซื้อ-ขาย และยื่นแบบ ภ.พ.30 กับกรมสรรพกรให้เรียบร้อยค่ะ
2.Tax Point จากการส่งของก่อนรับเงิน
ส่วนธุรกิจที่มีการส่งของก่อนรับเงินนั้น เมื่อมีการส่งของก่อนที่ผู้รับจะชำระเงินมาให้ Tax Point จะเกิดขึ้น ณ ตอนนั้นทันที โดยให้ออกใบกำกับภาษี หรือใบส่งของให้กับผู้รับ จากนั้นทำรายงานภาษีซื้อ-ขาย ยื่นแบบ ภ.พ.30 ตัด Stock สินค้า และทำรายงานสินค้าให้เรียบร้อย เพื่อนำส่งให้กับกรมสรรพากร
ในขณะเดียวกัน ภายหลังได้รับเงินค่าสินค้าจากผู้รับ 50% ให้ผู้ส่งออกใบเสร็จรับเงิน พร้อมกับรับชำระเงินและทำรายงานลูกหนี้ค่ะ
สรุป
Tax Point คือจุดรับผิดที่ทำให้เกิดภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ทั้งจากการขายสินค้า การให้บริการ และกิจกรรมการค้ากรณีอื่น ๆ อย่างเช่น การส่งออก และการนำเข้า ฯลฯ โดยผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขายสินค้า หรือธุรกิจให้บริการ จะต้องออกใบกำกับภาษี (แบบเต็มรูป หรือแบบอย่างย่อ) ให้กับผู้ซื้อ หรือผู้รับบริการเป็นผู้เสียภาษีตามประมวลรัษฎากร พร้อมกับดำเนินการทำรายงานภาษี และเอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อยื่นแสดงข้อมูลภาษีให้กับกรมสรรพากรค่ะ
สำหรับนักบัญชีมือใหม่คนไหนที่อาจจะยังไม่ชำนาญข้อมูลในเรื่อง Tax Point ขอแนะนำให้ทำความเข้าใจกับบทความนี้ และอย่าลืมนำไปใช้ออกใบกำกับภาษีอย่างถูกต้องกับธุรกิจของทุกคนกันนะคะ
และสำหรับใครที่อยากเข้าใจเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม มากขึ้นกว่าเดิม เพิ่มเติมเก็บ CPD ได้ด้วย แนะนำลงเรียนคอร์สนี้ได้เลยค่า: รู้จักภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ทั้งระบบ
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ Line: @cpdacademy