เคยเจอปัญหาแบบนี้บ้างไหมคะ รู้ว่าต้องหัก ณ ที่จ่าย แต่ดันลืมว่า เงินที่เราจ่ายต้องหักกี่เปอร์เซ็นต์ โอ๊ย! ปัญหาโลกแตก แล้วเจ้าอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่ายก็มีเยอะแยะมากมาย แล้วใครจะไปจำได้หมดล่ะ วันนี้ CPD Academy จะพาทุกคนมาดูว่าอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่ายไหนบ้างที่พบได้บ่อย ลองมาดูพร้อมๆ กัน แล้วเตรียมตัว Print ภาพไว้ติดฝาผนังออฟฟิศเลยนะคะ
ภาษีหัก ณ ที่จ่ายคืออะไร
ก่อนจะไปถึงเรื่อง อัตราภาษี เราลองมาทำความรู้จักกับภาษีหัก ณ ที่จ่ายกันก่อน บางคนที่ไม่ค่อยรู้จักภาษีหัก ณ ที่จ่าย จะได้เข้าใจกันมากขึ้น
ภาษีหัก ณ ที่จ่าย หรือชื่อเต็ม “ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย” เป็นข้อกฎหมายที่สรรพากรออกไว้ เพื่อให้ผู้จ่ายเงิน หักเงินบางส่วนของผู้รับเงิน และนำส่งกรมสรรพากร
เนื่องจากสรรพากรกลัวว่าผู้มีเงินได้ จะไม่มีเงินจ่ายภาษีตอนปลายปี จึงให้หัก ณ ที่จ่ายและนำส่งเมื่อเกิดเงินได้ระหว่างปี ตอนปลายปีผู้มีเงินได้ จะได้จ่ายเงินน้อยลงยังไงล่ะ
ผู้รับเงิน เมื่อถูกหัก ณ ที่จ่าย จะได้รับหลักฐาน คือ “หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 ทวิ” ซึ่งเป็นหลักฐานในการเครดิตภาษีปลายปี เอกสารนี้สำคัญมาก หากโดนหัก ณ ที่จ่าย ต้องมีตัวนี้นะ
ที่กล่าวมาข้างต้นนี้ เป็นหลักการพื้นฐานของภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย หากใครอยากเข้าใจภาพรวม ของการหัก ณ ที่จ่าย ฉบับ 101 แบบเข้าใจง่าย สามารถตามไปดูได้ที่ : สรุปภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ฉบับ 101
อัตราภาษีหัก ณ ที่จ่ายที่พบบ่อยมีอะไรบ้าง
มาถึงประเด็นหลักของเราในวันนี้ อัตราภาษีไหนบ้างที่เราจะพบได้บ่อย ซึ่งส่วนใหญ่เราก็จะเจอซ้ำๆ กันบ้าง
เบื้องต้น อยากให้ทุกคนทำความเข้าใจกันก่อนค่ะว่า สำหรับการซื้อมาขายไป อันนี้จะไม่ถูกหัก ณ ที่จ่ายนะ คิดตามง่ายๆ เวลาที่เราไปซื้อของเซเว่นอีเลฟเว่น บิ๊กซี แม็คโคร โลตัส ก็ไม่มีที่ไหนเขาหัก ณ ที่จ่ายเราใช่ไหมล่ะ ฮ่าๆๆ
เอาล่ะ งั้นเรามาโฟกัสกันที่เงินได้ประเภทไหนบ้างที่ต้องหัก ณ ที่จ่าย และเราพบได้บ่อยในชีวิตประจำวัน ซึ่ง CPD Academy รวบรวมมาให้ ตามตารางด้านล่างดังนี้
ประเภทเงินได้ | รายการที่พบบ่อย | ผู้รับ บุคคลธรรมดา | ผู้รับ นิติบุคคล |
40(1) | เงินเดือน, ค่าสวัสดิการพนักงาน | อัตราก้าวหน้า | – |
40(2) | ค่าจ้างฟรีแลนซ์ | อัตราก้าวหน้า | 3% |
40(3) | ค่าลิขสิทธิ์ | อัตราก้าวหน้า | 3% |
40(4) | ดอกเบี้ย | 1% | 15% |
40(4) | ปันผล | 10% | 10% |
40(5) | ค่าเช่าทรัพย์สิน | 5% | 5% |
40(6) | บริการวิชาชีพเฉพาะ เช่น หมอ ทนาย | 3% | 3% |
40(7) | ค่ารับเหมา เช่น ก่อสร้าง (มีต้นทุนวัตถุดิบ) | 3% | 3% |
40(8) | ค่าบริการทั่วไป รับเหมาค่าแรง จ้างทำของ | 3% | 3% |
40(8) | ค่าซ่อมแซม (อะไหล่รวมค่าแรง) | 3% | 3% |
40(8) | ค่าโฆษณา | 2% | 2% |
40(8) | ค่าขนส่ง | 1% | 1% |
อัตราหัก ณ ที่จ่ายที่เข้าใจผิดบ่อยๆ
ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ถึงแม้จะเป็นภาษีตัวที่เหมือนจะง่ายที่สุด แต่ในความเป็นจริงแล้วมีหลายประเด็นที่เพื่อนๆ นักบัญชี รวมไปถึงผู้ประกอบการมักเข้าใจผิดบ่อยๆ ได้แก่
1.หัก ณ ที่จ่าย ค่าฟรีแลนซ์ ค่ารับเหมา ค่าบริการ แตกต่างกันอย่างไร
สำหรับเงินได้ทั้ง 3 ประเภทนี้ อัตราการหัก ณ ที่จ่ายมีความใกล้เคียงกัน แต่หากมองไปถึงเรื่องเงินได้ เรียกได้ว่าต่างกันมาก เพราะเงินได้แต่ละประเภท หากเป็นของบุคคลธรรมดา จะหักค่าใช้จ่ายได้แตกต่างกัน ซึ่งสามารถแยกได้ดังนี้
รายการที่พบบ่อย | ประเภทเงินได้ | ประเภทเงินได้ |
ค่าฟรีแลนซ์ | 40(2) | ใช้แรงงานตัวเอง, มีค่าใช้จ่ายน้อย, ไม่มีสำนักงาน, ไม่มีลูกจ้าง |
ค่ารับเหมา | 40(7) | ลงทุนเครื่องมือ, มีค่าใช้จ่ายเยอะ, มีลูกจ้าง, มีต้นทุนวัตถุดิบ |
ค่าบริการ | 40(8) | ลงทุนเครื่องมือ, มีค่าใช้จ่ายเยอะ, มีสำนักงาน, มีลูกจ้าง |
โดยส่วนใหญ่แล้ว หากเป็นการให้บริการ ประเภทจ้างงาน จะอยู่ในหมวดของ 40(2) หรือ 40(8) แต่หากเป็นบริการรับเหมาแบบเบ็ดเสร็จ เช่น การก่อสร้าง ที่ต้องลงทุนค่าวัสดุก่อสร้างเอง จะอยู่ในหมวด 40(7)
พอแยกประเภทเงินได้ได้แล้ว เราค่อยย้อนกลับไปดูตารางอัตราหัก ณ ที่จ่ายว่าเป็นเท่าไร บอกได้คำเดียวเลยว่าทำได้ไม่มีพลาด เป๊ะ ปัง แน่นอน
2.หัก ณ ที่จ่ายการรับจ้างผลิต และการซื้อมาขายไป แตกต่างกันอย่างไร
อีกหนึ่งประเด็นฮอตฮิตที่พบได้บ่อย คือคำถามที่ว่า รับจ้างผลิต และซื้อมาขายไป ลักษณะแตกต่างกันอย่างไร เพราะหากเป็นการรับจ้างผลิต ถือเป็นการรับจ้างทำของ รายได้ประเภท 40(8) ต้องหัก ณ ที่จ่าย แต่การซื้อมาขายไปนั้น จะไม่มีการหักณที่จ่าย ซึ่งส่วนใหญ่มีความแตกต่างกันดังนี้
การรับจ้างผลิต [เงินได้ 40(8)] | การซื้อมาขายไป |
ผู้รับจ้างผลิต ไม่ได้มีหน้าร้านขายสินค้าเป็นปกติธุระ รับจ้างผลิตเพียงอย่างเดียว ไม่มีการผลิตสินค้าไว้ล่วงหน้า ผลิตตามคำสั่งซื้อเท่านั้น วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตทั้งหมด เป็นของผู้ว่าจ้าง ผู้รับจ้างทำตามคำสั่งเท่านั้น | ผู้รับจ้างผลิต มีหน้าร้านขายสินค้าเป็นปกติธุระ และอาจรับจ้างผลิตตามแบบของลูกค้าด้วย มีการผลิตสินค้าไว้ล่วงหน้า มีการสต๊อกสินค้าไว้เพื่อขาย |
ประเด็นสำคัญที่แยกระหว่างการรับจ้างผลิต และการซื้อมาขายไป คือ การทำธุรกิจขายสินค้าเป็นปกติธุระหรือเปล่า หากมีหน้าร้านขายสินค้า ซึ่งปกติหากไม่รับจ้างผลิต ก็ขายสินค้าได้อยู่แล้ว ลักษณะนี้จะเข้าข่ายเป็นการซื้อมาขายไป อ้างอิง ข้อหารือภาษีอากร กค 0702/5546
หัก ณ ที่จ่ายผิด มีผลกระทบอะไรบ้าง
การยื่นหัก ณ ที่จ่ายผิด ไม่ว่าจะเป็นยื่นชื่อผู้มีเงินได้ผิด ยื่นประเภทเงินได้ หรือยื่นอัตราหัก ณ ที่จ่ายผิด บอกให้สบายใจก่อนเลยว่า ทั้งหมดนี้สามารถยื่นแบบปรับปรุงแก้ไขได้ ไม่ได้มีความผิดอะไรที่ร้ายแรง อย่างที่ทุกคนกลัวมากนัก
แล้วผลกระทบจะเกิดอะไรขึ้นล่ะ หากเรายื่นผิด?
ผลกระทบจะเกิดขึ้นหลังจากนั้น ใช้คำว่าผลที่ตามมาน่าจะเหมาะมากกว่า เพราะหากเรายื่นแบบผิด และไม่แก้ไข ผู้มีเงินได้ อาจไม่สามารถเคลมภาษีได้ เนื่องจากเงินได้ที่ยื่น และเงินได้ที่ถูกหัก ณ ที่จ่าย ข้อมูลไม่ตรงกัน หรือกรณีที่ผู้มีเงินได้ขอคืนภาษี แต่ข้อมูลทางภาษีผิด เช่นยื่นต่ำไป อาจจะต้องเสียภาษีเพิ่ม พร้อมเงินเพิ่มทางภาษีด้วยนะ
ตามหลักแล้ว การไม่ยื่นภาษีถือว่ามีความผิดทางอาญา และทางแพ่ง แต่หากเรายื่นภาษีผิดอันนี้ยังพอแก้ไขได้ อาทิเช่น ยื่นภาษีผิดงวด ยื่นภาษีขาด ยื่นภาษีเกิน ข้อมูลผู้เสียภาษีผิด ข้อมูลเหล่านี้ สามารถแก้ไขได้ทั้งนั้น โดยสามารถดูเพิ่มเติมได้ที่ : สรุปวิธีแก้ไข กรณียื่นหัก ณ ที่จ่ายผิด
สรุป
อัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย เป็นเรื่องน่าปวดหัวสำหรับทุกคนอยู่แล้วค่ะ ถ้าคิดจะทำธุรกิจ อย่าลืมทำความเข้าใจเรื่องนี้ให้ดีเลยค่ะ
สิ่งที่คิดว่าทุกคนน่าจะได้ประโยชน์กับไปจากบทความนี้ ก็คือ เรื่องการตีความให้ได้ว่าเงินได้ที่เราจ่ายออกไปเป็นประเภทอะไรกันแน่ แล้วหลังจากนั้นก็เช็กอัตราหัก ณที่จ่ายจากตารางที่เราสรุปมาให้ได้เลยจ้า
และสำหรับใครที่อยากเข้าใจเกี่ยวกับภาษีหัก ณ ที่จ่ายมากขึ้นกว่าเดิม เพิ่มเติมเก็บ CPD ได้ด้วย แนะนำลงเรียนคอร์สนี้ได้เลยค่า: ภาษีหัก ณ ที่จ่ายคำนวณและบันทึกบัญชีอย่างไร ?
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ Line: @cpdacademy
อ้างอิง