ภาษี

สรุปวิธีแก้ไข กรณียื่นหัก ณ ที่จ่ายผิด

สรุปวิธีแก้ไข กรณียื่นหัก ณ ที่จ่ายผิด

อะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับตัวเลข ต้องมีโอกาสเกิดความผิดพลาดได้เสมอ ไม่เว้นแม้แต่เรื่องของการยื่นภาษี โดยเฉพาะการหักภาษี ณ ที่จ่าย หลายคนเคยยื่นหัก ณ ที่จ่ายผิดใช่ไหมล่ะ ไม่ว่าจะเป็นยื่นขาดไป ยื่นเกินไป ยื่นข้อมูลผิด หรือแม้แต่กระทั่งยื่นผิดแบบ

แต่ไม่ต้องกังวลใจไป ถึงแม้ว่ายื่นภาษีหัก ณ ที่จ่ายผิดไป เราก็ยังสามารถแก้ไขได้ วันนี้ CPD Academy จะพาทุกคนไปเรียนรู้วิธีแก้ไข กรณียื่นหัก ณ ที่จ่ายผิด ถ้าพร้อมแล้วตามมาดูกันได้เลย

ทำความเข้าใจเรื่องหัก ณ ที่จ่าย 

ภาษีหัก ณ ที่จ่าย เป็นหนึ่งในภาษีที่เจอได้บ่อยในชีวิตประจำวัน แล้วสังเกตได้ง่ายๆ เลย

ยกตัวอย่างเช่น

ถ้าเป็นบุคคลทั่วไป ตอนที่เราให้บริการกับนิติบุคคลที่เป็นบริษัท ค่าบริการตาม ใบแจ้งหนี้  1,000 บาท แต่เขาจ่ายเงินเรากลับมาแค่ 970 บาท (กรณีไม่มี Vat) พร้อมหนังสือรับรองหัก ณ ที่จ่าย เราจะรู้ได้ทันทีเลยว่า เราถูกเขาหัก ณ ที่จ่ายไปแล้วนั่นเอง

จากที่เล่ามานี้ เป็นภาพรวมของภาษีหัก ณ ที่จ่าย ในมุมมองของผู้ถูกหักภาษีแบบสั้นๆ ซึ่งในรายละเอียดเราจะได้รับหลักฐานการหัก ณ ที่จ่ายเพื่อนำไปขอเครดิตภาษีบุคคลธรรมดาคืนตอนปลายปี

ส่วนผู้จ่ายเงิน คือ ผู้มีหน้าที่หัก ณ ที่จ่าย และยื่นภาษี หัก ณ ที่จ่าย พร้อมทั้งเช็คตัวเลขให้ถูกต้องเสมอ หากเกิดข้อผิดพลาดขึ้นมา ก็ต้องตามแก้ไขให้ถูกต้อง ซึ่งบ่อยครั้งเรามักจะเจอปัญหาว่า บริษัทยื่นหัก ณ ที่จ่ายผิดพลาด แล้วเราจะแก้ไขมันได้อย่างไร มาดูตัวอย่างแต่ละกรณีกันค่ะ

กรณียื่นภาษีหัก ณ ที่จ่ายขาด

ยื่นภาษีหัก ณ ที่จ่ายขาด หมายถึง ยื่นภาษี น้อยกว่า ยอดที่ควรจะยื่นให้กับสรรพากร

กรณีนี้เกิดขึ้นบ่อยที่สุด ตั้งแต่การลืมยื่นภาษี ยื่นภาษีต่ำไป คำนวณภาษีผิดทำให้ยื่นต่ำ ซึ่งทั้งหมดทำให้ยื่นภาษีขาดไป

วิธีแก้ไข ยื่นแบบภาษีหัก ณ ที่จ่ายเพิ่มเติม ให้ครบถ้วน

ยกตัวอย่าง บริษัท A ได้รับการแจ้งหนี้ ค่าบริการทำบัญชี  จากบริษัท B  จำนวน 2 งวด งวดละ 5,000 บาท และ 3,000 บาท ตามลำดับ โดยบริษัท A ยื่นภาษีหัก ณ ที่จ่าย ภ.ง.ด.53 จำนวน 150 บาท เป็นการยื่นปกติ ภายในกำหนดของกรมสรรพากร

แต่สิ่งที่ถูกต้องคือ บริษัท A ต้องยื่นภาษีหัก ณ ที่จ่ายจากจำนวนเงินทั้งหมดที่จ่าย = 8,000 x 3% = 240 บาท

ทำให้บริษัท A ยื่นภาษีหัก ณ ที่จ่าย ขาดไป = (8,000-5,000)*3% = 90 บาท

ดังนั้น บริษัทต้องยื่น ภ.ง.ด.53 เพิ่มเติมอีก จำนวน 90 บาท โดยติ้กว่าเป็นการยื่นภาษีเพิ่มเติม และใส่รายละเอียดเฉพาะรายการที่ขาดในแบบเพิ่มเติม ตามตัวอย่างในภาพนี้ค่ะ

สรุปก็คือ หากเรายื่นภาษีขาดไป ให้เรายื่นเพิ่มเติมเข้าไปอีก ให้ครบจำนวนเท่าที่ควรจะเป็นนั่นเอง

กรณียื่นภาษีหัก ณ ที่จ่ายขาด
กรณียื่นภาษีหัก ณ ที่จ่ายขาด

กรณียื่นภาษีหัก ณ ที่จ่ายเกิน 

ยื่นภาษีหัก ณ ที่จ่ายเกิน หมายถึง ยื่นภาษี เกินกว่า ยอดที่ควรจะยื่นให้กับสรรพากร

การยื่น หัก ณ ที่จ่ายเกิน มักเกิดจากการยื่นภาษีซ้ำ หรือระบุจำนวนเงินที่จ่ายชำระสูงไป ซึ่งบางคนอาจจะมองเป็นเรื่องดี เพราะว่าได้เสียภาษีให้กับสรรพากรเพิ่ม เกินกว่าจำนวนปกติก็น่าจะปลอดภัย (จริงๆ แล้วไม่มีใครอยากเสียภาษีเยอะๆ หรอก ฮ่าๆ)

ยกตัวอย่างเช่น กรณีก่อน บริษัท A จ่ายค่าทำบัญชี 10,000 บาท และยื่นหัก ณ ที่จ่าย 300 บาท แต่ดันยื่นไป 2 ครั้ง จำนวน 20,000 บาท เท่ากับว่าบริษัท A ยื่นหัก ณ ที่จ่าย ให้บริษัท B ไป 600 บาท

วิธีแก้คือ บริษัท A ต้องยื่นแบบเพิ่มเติมอีกครั้ง โดยใส่ยอดจำนวนเงินและภาษีติดลบ 300 บาท พร้อมกับยื่น แบบ ค.10 ภายใน 3 ปี นับตั้งแต่วันสุดท้ายของปีที่ได้ถูกหักภาษีเกินไป ไม่เช่นนั้นแล้ว จะไม่สามารถขอคืนภาษีที่ยื่นเกินไปได้อีก

สรุปก็คือ หากเรายื่นภาษีเกิน ให้เรายื่นแบบเพิ่มเติมในยอดติดลบ และยื่น แบบ ค.10 เพื่อขอคืนภาษีจ้า

กรณียื่นภาษีหัก ณ ที่จ่ายเกิน 
กรณียื่นภาษีหัก ณ ที่จ่ายเกิน 

กรณียื่นภาษีหัก ณ ที่จ่าย รายละเอียดข้อมูลผิด

กรณีที่เรายื่นภาษีไปแล้ว แต่ข้อมูลดันผิด เช่น ชื่อ ที่อยู่ เลขบัตรประชาชน หรือรายละเอียดเกี่ยวกับการจ่ายเงิน ก็ถือเป็นการยื่นหัก ณ ที่จ่ายผิด ซึ่งต้องได้รับการแก้ไขให้ถูกต้อง ไม่งั้นอาจมีปัญหาในอนาคต ตอนที่ผู้ถูกหักจะใช้สิทธิ์เครดิตภาษี

ตัวอย่างเช่น จากกรณีก่อนหน้านี้ บริษัท A จ่ายค่าทำบัญชีให้บริษัท B 10,000 บาท และยื่นหัก ณ ที่จ่ายไป 300 บาท ซึ่งทั้งหมดถูกต้อง แต่ใส่ที่อยู่ของบริษัท B ผิด 

วิธีแก้คือ บริษัท A ต้องยื่น แบบคำขอแก้ไขข้อมูลภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย (ป.ป.01) พร้อมกับรายละเอียดข้อมูลที่ขอแก้ไข ว่าส่วนเดิมเป็นยังไง และแก้เป็นข้อมูลใหม่ยังไง 

สรุปก็คือ หากเรายื่นรายละเอียดข้อมูลผิด ให้เรายื่นแบบ ป.ป.01 ตามไปทีหลัง เพื่อขอแก้ไขข้อมูลเฉพาะส่วนที่ผิด

กรณียื่นภาษีหัก ณ ที่จ่าย รายละเอียดข้อมูลผิด
กรณียื่นภาษีหัก ณ ที่จ่าย รายละเอียดข้อมูลผิด

กรณียื่นภาษีหัก ณ ที่จ่ายแบบผิดประเภท

มาถึงกรณีสุดท้าย การยื่นหัก ณ ที่จ่ายผิดประเภท เกิดขึ้นได้บ่อย เพราะว่า ภาษีหัก ณ ที่จ่าย แบบที่ใช้ยื่นค่อนข้างจะใกล้เคียงกันมาก ถ้าเป็นบุคคลธรรมดา คือ ภ.ง.ด.3  ถ้าเป็นนิติบุคคล คือ ภ.ง.ด.53 บางครั้งคนที่ยื่นภาษีก็อาจจะเบลอ ก็มีผิดพลาดกันได้ แต่ไม่ใช่ความผิดพลาดที่ใหญ่หลวงอะไร

ตัวอย่างเช่น จากกรณีก่อนหน้านี้ บริษัท A จ่ายค่าทำบัญชีให้บริษัท B  10,000 บาท และยื่นหัก ณ ที่จ่ายไป 300 บาท ซึ่งจำนวนเงินนั้นถูกต้องแล้ว แต่ดันไปใช้แบบ ภ.ง.ด.3 ในการยื่นภาษี

วิธีแก้คือ บริษัท A ต้องยื่น แบบคำขออนุโลมการยื่นแบบกรณีใช้แบบผิดประเภท (ป.ป.02) พร้อมกับรายละเอียดข้อมูลที่ขออนุโลม ว่าส่วนเดิมเป็นยังไง ข้อมูลใหม่เป็นยังไง และมีเอกสารประกอบได้แก่ ใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษี หรือสัญญาบริการ เป็นต้น

สรุปก็คือ หากเรายื่นแบบผิดประเภท ให้เรายื่นแบบ ป.ป.02 ตามไปทีหลัง เพื่อขออนุโลมข้อมูลเฉพาะส่วนที่ผิด

กรณียื่นภาษีหัก ณ ที่จ่ายแบบผิดประเภท
กรณียื่นภาษีหัก ณ ที่จ่ายแบบผิดประเภท

สรุป

การยื่นแบบผิด วิธีการแก้ไม่ได้ยุ่งยากอย่างที่คิด 1)หากยื่นขาด ให้ยื่นเพิ่มเติมเข้าไป 2)หากยื่นเกิน ให้ยื่นยอดติดลบเพิ่มเติมแล้วขอคืน 3)หากยื่นข้อมูลผิด ให้ยื่นแบบ ป.ป.01 เพื่อแก้ไข 4)หากยื่นแบบผิด ให้ยื่นแบบ ป.ป.02 เพื่อขออนุโลม

สำหรับข้อผิดพลาดในการยื่นภาษีหัก ณ ที่จ่ายผิด เมื่อเรารู้ว่าผิด สิ่งสำคัญคือ ต้องตามไปแก้ไขให้ถูกต้อง อย่าปล่อยทิ้งไว้ ไม่เช่นนั้น สิ่งที่เราทิ้งไว้จะเป็นภัยตามมาในภายหลัง แต่สิ่งที่ดีที่สุดคือ ควรเช็คให้ถูกต้องตั้งแต่แรก จะได้ไม่ต้องมาตามแก้ไขในภายหลังนะคะ

และสำหรับใครที่อยากเข้าใจเกี่ยวกับภาษีหัก ณ ที่จ่ายมากขึ้นกว่าเดิม เพิ่มเติมเก็บ CPD ได้ด้วย แนะนำลงเรียนคอร์สนี้ได้เลยค่า: ภาษีหัก ณ ที่จ่ายคำนวณและบันทึกบัญชีอย่างไร ?

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ Line: @cpdacademy

อ้างอิง

คู่มือประชาชนของสำนักงานสรรพากรพื้นที่พิจิตร เรื่อง การยื่นคำขอแก้ไขข้อมูลภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย (ป.ป.01) หรือ ขออนุโลมการยื่นแบบกรณีใช้แบบผิดประเภท (ป.ป.02) ผ่านทาง e-mail

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า