อาชีพนักบัญชีเป็นอีกอาชีพนึงที่หลายๆ คนใฝ่ฝัน แต่ก็ใช่ว่าคนที่เรียนจบบัญชีทุกคนมาจะสามารถทำงานนี้ได้ เพราะนักบัญชีในธุรกิจใหญ่ๆ ที่มีโอกาสเติบโตสูง หรือแม้แต่เจ้าของสำนักงานบัญชีเองก็ต้องมี “คุณสมบัตินักบัญชี” อย่างครบถ้วนตามกฎหมาย และที่สำคัญก่อนจะจ้างงานทุกครั้งทั้งฝ่ายบุคคลเอง หรือเจ้าของธุรกิจเองก็มักจะเช็คคุณสมบัติเหล่านี้เพิ่มเติมด้วย
นักบัญชีมืออาชีพต้องมีคุณสมบัติอะไรบ้างในวันนี้ CPD Academy จะพาทุกคนมาทำความเข้าใจไปพร้อมๆ กัน
ผู้ทำบัญชี คืออะไร?
ผู้ทำบัญชี คือ ผู้รับผิดชอบในการทำบัญชีของผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี ไม่ว่าจะได้ทำในฐานะเป็นลูกจ้างของผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีหรือไม่ก็ตาม
ใครที่สามารถเป็นผู้ทำบัญชีได้บ้าง ?
ด้วยความที่กฎหมายกำหนดไว้ว่าบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนจำกัดจะต้องมีผู้ทำบัญชี 1 คนรับผิดชอบลงลายมือชื่อในการทำบัญชี ธุรกิจก็สามารถเลือกได้ใน 3 หมวดนี้ว่าจะมอบหมายให้ใครรับผิดชอบ
1. กรณีเป็นพนักงานประจำ อาจมอบหมายให้ ผู้อำนวยการฝ่ายบัญชี สมุห์บัญชี หัวหน้าแผนกบัญชี ลงลายมือชื่อเป็นผู้ทำบัญชีได้
2. กรณีเป็นสำนักงานบัญชี อาจมอบหมายให้ผู้ทำบัญชีเป็นหัวหน้าสำนักงาน หรือนักบัญชีในสังกัด
3. กรณีฟรีแลนซ์ บุคคลธรรมดาที่รับงานอิสระ ตัวของฟรีแลนซ์เองคือ คนที่ลงชื่อเป็นผู้ทำบัญชี
คุณสมบัตินักบัญชี มีอะไรบ้าง ?
ก่อนที่จะได้รับมอบหมายจากธุรกิจให้เป็น “ผู้ทำบัญชี” พวกเค้าต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้
- มีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร
- มีความรู้ภาษาไทยเพียงพอที่จะทำหน้าที่เป็นผู้ทำบัญชีได้
- มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามที่จะประกอบวิชาชีพเป็นผู้ทำบัญชีตามกฎหมาย ว่าด้วยวิชาชีพบัญชี
- ไม่เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกเนื่องจากกระทำความผิดตามฐานความผิดหรือ กฎหมายที่กำหนดในมาตรา 39 (3) แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพบัญชี พ.ศ. 2547 เว้นแต่ต้องคำพิพากษา หรือพ้นโทษมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี
- มีวุฒิการศึกษาตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับสภาวิชาชีพบัญชี
วุฒิการศึกษาของผู้ทำบัญชีเป็นอย่างไร?
วุฒิการศึกษาเป็นประเด็นที่สำคัญมากๆ คนส่วนใหญ่ที่พลาดงานบัญชีแม้ว่ามีความรู้ความชำนาญก็เพราะพวกเค้าไม่มีวุฒิการศึกษาตามที่สภาวิชาชีพบัญชีรับรอง จึงทำบัญชีให้กับธุรกิจต่างๆ ไม่ได้ และธุรกิจขนาดยิ่งใหญ่ยิ่งต้องการนักบัญชีที่มีวุฒิการศึกษายิ่งสูง ตารางนี้เป็นตารางสรุปวุฒิการศึกษาผู้ทำบัญชีตามประเภทธุรกิจที่กฎหมายกำหนดไว้
ประเภทธุรกิจ | ขนาดธุรกิจ | วุฒิการศึกษาของผู้ทำบัญชี |
บุคคลธรรมดา หรือ ห้างหุ้นส่วนที่มิได้จดทะเบียน | เล็ก | ไม่กำหนดคุณวุฒิการศึกษาของผู้ทำบัญชี |
ห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน และ บริษัทจำกัด – ทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท และ – สินทรัพย์รวมไม่เกิน 30 ล้านบาท และ – รายได้รวมไม่เกิน 30 ล้านบาท | กลาง | – อนุปริญญาหรือประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ทางการบัญชีหรือเทียบเท่า – ปริญญาตรีทางการบัญชีหรือเทียบเท่าขึ้นไป |
1.ห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน และ บริษัทจำกัด – ทุนจดทะเบียนมากกว่า 5 ล้านบาท หรือ – สินทรัพย์รวมมากกว่า 30 ล้านบาท หรือ – รายได้รวมมากกว่า 30 ล้านบาท 2. บริษัทมหาชนจำกัด 3. นิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศที่ ประกอบธุรกิจในประเทศไทย 4. กิจการร่วมค้าตามประมวลรัษฎากร | ใหญ่ | ปริญญาตรีทางการบัญชีหรือเทียบเท่าขึ้นไป |
สำหรับใครที่ไม่มั่นใจว่าวุฒิการศึกษาที่จบมาเป็นไปตามที่สภาวิชาชีพบัญชีรับรองมั้ย ลองเช็คกันได้ที่นี่ ตรวจสอบหลักสูตรการศึกษาที่สภาวิชาชีพบัญชีรับรอง
เงื่อนไขของการเป็นผู้ทำบัญชี มีอะไรบ้าง ?
นอกจากจะมีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว การที่จะเป็นผู้ทำบัญชีสำหรับธุรกิจได้ต้องเข้าเงื่อนไขทุกข้อต่อไปนี้
1. ต้องเป็น สมาชิกสภาวิชาชีพบัญชี หรือขึ้นทะเบียนไว้กับสภาวิชาชีพบัญชี อย่างใดอย่างนึง
2. แจ้งรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับการทำบัญชี ทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่เว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
3. ยืนยันรายชื่อผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีที่รับทำบัญชีและสถานภาพการเป็น สมาชิกสภาวิชาชีพบัญชี ภายใน 30 วัน นับแต่วันสิ้นปีปฏิทินของทุกปี
4. เข้ารับการพัฒนาความรู้ต่อเนื่องทางวิชาชีพบัญชี (CPD) ไม่น้อยกว่า 12 ชั่วโมงต่อปีปฏิทิน ซึ่งจำนวนชั่วโมงการพัฒนาความรู้ต่อเนื่องทางวิชาชีพบัญชีต้องมีเนื้อหาเกี่ยวกับการบัญชีไม่น้อยกว่า 6 ชั่วโมง
5. แจ้งชั่วโมงผู้ทำบัญชีหลังการทำกิจกรรมพัฒนาความรู้ต่อเนื่องทางวิชาชีพ บัญชี แต่ไม่เกิน 30 วัน นับแต่วันสิ้นปีปฏิทินของทุกปีปฏิทิน
ถ้าใครยังสงสัยว่าต้องแจ้งแบบไหนยังไง ลองอ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่: สรุปวิธีแจ้งชั่วโมงผู้ทำบัญชี CPD ต้องทำเมื่อไร และทำยังไงบ้างแจ้งชั่วโมงผู้ทำบัญชี
6. รับทำบัญชีให้กับผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีได้ไม่เกิน 100 รายต่อปีปฏิทิน
ถ้าใครกลัวลืม save ภาพนี้เก็บไว้เป็นสรุปคุณสมบัติและเงื่อนไขผู้ทำบัญชีได้ค่ะ
อยากได้งานบัญชีต้องรู้อะไรเพิ่มเติมอีก?
ที่เล่ามาด้านบนทั้งหมดเป็นเรื่องเกี่ยวกับกฎหมายว่าคุณสมบัติและเงื่อนไขมีอะไรบ้าง แต่นอกเหนือจากคุณสมบัติข้างบนแล้วยังมีสิ่งอื่นๆ ที่นักบัญชีต้องรู้และเตรียมตัวให้พร้อมอีกมากมาย เช่น
- เงินเดือนนักบัญชีในท้องตลาด
- ทักษะที่จำเป็นสำหรับงานบัญชี
- เทคโนโลยีที่นักบัญชีควรรู้
- มาตรฐานการบัญชี มาตรฐานรายงานทางการเงินที่อัปเดต
ฉะนั้นแล้วอาชีพนักบัญชีจึงไม่ได้หยุดอยู่แค่มีคุณสมบัติตามกฎหมายครบถ้วนเท่านั้น แต่ว่ามันเป็นเพียงสิ่งพื้นฐานที่ทำให้เจ้าของกิจการเปิดประตูรับเราเข้าทำงานบัญชี ส่วนความก้าวหน้าในสายอาชีพนั้นเทน้ำหนักส่วนใหญ่ไปอยู่ที่การพัฒนาตัวเองอย่างสม่ำเสมอเสียมากกว่า ถ้าวันนี้คิดว่าตัวเองยังเก่งไม่พอ ก็ยังไม่สายที่จะเริ่มต้นพัฒนาตัวเองนะคะ CPD Academy พร้อมเสมอที่จะส่งต่อความรู้ด้วยคอร์สเรียนบัญชีออนไลน์เก็บชั่วโมง CPD ให้ทุกคนค่ะ
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่
Line: @cpdacademy หรือ https://lin.ee/36U1ks0Y