นักบัญชีทุกคน ทราบกันอยู่แล้วว่า การยื่นภาษีถือเป็นหน้าที่ที่สำคัญของพวกธุรกิจ เพราะไม่ใช่เพียงการปฏิบัติตามกฎหมายเท่านั้น แต่ยังช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีและเพิ่มความน่าเชื่อถือให้แก่กิจการเองจ้า และที่สำคัญเจ้าของธุรกิจคงไม่สามารถยื่นภาษีทุกตัวด้วยตัวเองได้ (เพราะแค่ทำมาค้าขายก็เหนื่อยแทบตายแล้ว) นี่จึงเป็นเหตุที่ทำให้นักบัญชีอย่างเรามีงานทำ ฮ่าๆ และถ้าเราทำได้ตาม timeline เป๊ะๆ เจ้าของธุรกิจไม่ต้องกังวลเรื่องภาษี เราก็อาจจะเป็นนักบัญชีคนโปรดเลยก็ได้นะเนี่ย
จะเป๊ะได้ เราก็ต้องทราบกันก่อนว่า “บริษัทต้องยื่นภาษีอะไรบ้าง?” หรือ “ปีหนึ่งต้องยื่นกี่ครั้ง?” วันนี้ CPD Academy ขอมาสรุปให้เพื่อนๆ ในบทความนี้ เพื่อกันพลาด กันลืม และเป็นการแจ้งเตือนตัวเองกันด้วย มาดูกันเลย
ในแต่ละปีบริษัท ต้องยื่นภาษีอะไรบ้าง?
ก่อนอื่น มาดูภาพรวมกันก่อนค่ะ ว่า ในทุกๆปี ทุกบริษัทในประเทศไทยมีหน้าที่ต้องยื่นภาษีประจำปี 4 ประเภทหลักๆ ได้แก่
- ภาษีเงินได้นิติบุคคล
- ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย สำหรับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1)(2) ภ.ง.ด.1ก
- ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
- ภาษีป้าย
ภาษีแต่ละประเภทคืออะไร คำนวณแบบไหน กำหนดเวลาการยื่น เป็นยังไงมาดูกันต่อเลยค่ะ
1. ภาษีเงินได้นิติบุคคล
ภาษีประเภทนี้คำนวณจากกำไรสุทธิของบริษัท พูดง่ายๆ ก็คือ ภาษีนี้เป็นภาษีที่เรียกเก็บจากการทำธุรกิจมีกำไรของบริษัทค่ะ แต่ถึงแม้จะยังไม่มีกำไร กฎหมายก็กำหนดว่าต้องยื่นภาษีเงินได้นิติบุคคลปีละ 2 ครั้ง ได้แก่
1.1 ภาษีครึ่งปี (ภ.ง.ด.51)
ภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปี จุดประสงค์เพื่อติดตามรายได้ของบริษัทในช่วงครึ่งปีแรกของปีภาษี โดยรวมถึงให้ผู้มีเงินได้ชำระภาษีรายได้ล่วงหน้าสำหรับนิติบุคคลในกรณีที่ประมาณการกำไรสุทธิทั้งปี แล้วมีภาษีที่ต้องชำระนั่นเองค่ะ
เอกสารที่ต้องเตรียม
โดยแบบภาษีที่ใช้ยื่น คือ แบบภ.ง.ด.51
Deadline ในการยื่นแบบ
การยื่นแบบภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปี กฎหมายกำหนดไว้ว่าให้ยื่นแบบภายใน 2 เดือนนับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาครึ่งปี
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าสมมติรอบบัญชีประจำปีปิด 31 ธันวาคม 25×1 และครึ่งรอบบัญชีจะเป็นวันที่ 30 มิถุนายน 25×1 การยื่นแบบภาษี ภ.ง.ด.51 ต้องยื่นภายใน
- 31 สิงหาคม 25×1 (ถ้ายื่นแบบกระดาษ)
- 8 กันยายน 25×1 (ถ้ายื่นแบบผ่านอินเตอร์เน็ต)
1.2 ภาษีสิ้นปี (ภ.ง.ด.50)
“ภาษีเงินได้นิติบุคคล” เป็นภาษีอากรประเภทหนึ่ง ให้จัดเก็บจากเงินได้ของบริษัท หรือ ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล โดยกำหนดโครงสร้างในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล คือ เราต้องปรับปรุงรายการจากกำไรทางบัญชี ให้เป็นกำไรทางภาษีเสียก่อนที่จะยื่นภาษีนั่นเอง
สำหรับใครที่เป็นนักบัญชีมือใหม่ ไม่มั่นใจในการคำนวณและยื่นภาษีเงินได้นิติบุคคล
ขอแนะนำทำความเข้าใจเพิ่มเติมในบทความนี้เลย ประเด็นสำคัญ ต้องรู้ก่อนยื่น “ภาษีเงินได้นิติบุคคล”
เอกสารที่ต้องเตรียม
โดยแบบภาษีที่ใช้ยื่น คือ แบบภ.ง.ด.50
Deadline ในการยื่นแบบ
ยื่นภายใน 150 วันหลังสิ้นสุดปีบัญชี
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าสมมติรอบบัญชีประจำปีปิด 31 ธันวาคม 25×1 การยื่นแบบภาษี ภ.ง.ด.50 ต้องยื่นภายใน
- 30 พฤษภาคม 25×2 (ถ้ายื่นแบบกระดาษ ต้องนับ 150 วัน)
- 7 มิถุนายน 25×2 (ถ้ายื่นแบบผ่านอินเตอร์เน็ตต้องนับ 150 วัน +ยื่นออนไลน์ 8 วัน)
2. ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย สำหรับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1)(2) ภ.ง.ด.1ก
ภ.ง.ด.1ก เป็นเอกสารทางภาษีที่บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนที่มีจ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1)(2) เช่น เงินเดือน ค่าจ้าง หรือรายได้อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง จะต้องยื่นต่อกรมสรรพากร เพื่อรายงานข้อมูลการหักภาษี ณ ที่จ่ายจากรายได้ของลูกจ้างในแต่ละปี
ดังนั้น ถ้ามีลูกจ้างแล้วในทุกๆ เดือนเราจะยื่น ภ.ง.ด.1 และอย่าลืมว่าทุกๆ สิ้นปีจะต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.1ก เป็นการสรุปรายการไปด้วยนะ
เอกสารที่ต้องเตรียม
โดยแบบที่ใช้นำส่งข้อมูล คือ ภ.ง.ด.1ก
Deadline ในการยื่นแบบ
ภ.ง.ด.1ก ต้องยื่นภายในเดือนกุมภาพันธ์ของปีถัดไป
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าสมมติรอบบัญชีประจำปีปิด 31 ธันวาคม 25×1 การยื่นแบบภาษี ภ.ง.ด.1ก ต้องยื่นภายใน
- 28 กุมภาพันธ์ 25×2
- 8 มีนาคม 25×2 (ถ้ายื่นแบบผ่านอินเตอร์เน็ต + 8 วัน)
3. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง คือ ภาษีที่เรียกเก็บจากเจ้าของที่ดิน อาคาร หรือสิ่งปลูกสร้างอื่น ๆ เพื่อใช้เป็นรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยมีการบังคับใช้ตาม พระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562
ผู้ที่ต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างต้องเข้าเงื่อนไข ดังนี้
- เจ้าของกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ (ดูตามโฉนด ไม่ใช่ทะเบียนบ้าน)
- ผู้ครอบครอง/ทำประโยชน์ในที่ดินนั้น
นั่นก็แปลว่า ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนี้ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนที่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นของตัวเอง อย่าลืมที่จะจ่ายภาษีส่วนนี้ด้วยนะคะ ส่วนบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนที่เช่าพื้นที่ทำธุรกิจอาจจะต้องย้อนกลับไปดูสัญญาเช่าว่าต้องรับภาระส่วนนี้แทนตามสัญญาหรือไม่
เอกสารที่ต้องเตรียม
โดยแบบที่ใช้นำส่งข้อมูล คือ เอกสารประเมินภาษีที่ดินและสิ่งปลูกจ้างจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
Deadline ในการยื่นแบบ
กิจการต้องนำส่งให้ภายในเดือนกุมภาพันธ์ของแต่ละปี และชำระภายในเดือนเมษายนของปีนั้นๆ นั่นเอง
4. ภาษีป้าย
ภาษีป้าย คือภาษีที่เรียกเก็บสำหรับป้ายโฆษณาหรือป้ายที่มีการแสดงชื่อ โลโก้ หรือข้อความเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจหรือสินค้า โดยเจ้าของป้ายต้องรับผิดชอบชำระภาษีนี้ให้แก่หน่วยงานท้องถิ่น
เอกสารที่ต้องเตรียม
โดยแบบที่ใช้นำส่งข้อมูล คือ แบบ ภ.ป.1
Deadline ในการยื่นแบบ
โดยต้องยื่นแบบและเสียภาษีภายใน 31 มีนาคม ของทุกปีนะคะ
ตารางสรุปกำหนดเวลาและรอบการยื่นภาษีสำหรับแต่ละประเภท
หลังจากที่เราทราบกันแล้วว่า ภาษีรายปีที่เราต้องยื่นกันมีอะไรบ้าง เรามาดูสรุปกำหนดเวลาและรอบการยื่นภาษีแต่ละประเภทกันเลยค่ะ
ตารางนี้จะช่วยในการแจ้งเตือนของนักบัญชีได้ดีเลยค่ะ สามารถเช็คได้ว่า กิจการที่เราบัญชีให้อยู่นั้น ยื่นภาษีเหล่านี้ครบถ้วนแล้วหรือยังนะ
ความสำคัญของการยื่นภาษีตรงเวลา
เรามาดูกันค่ะ ว่าการที่เรายื่นภาษีครบ ตรงเวลา มีความสำคัญยังไงต่อกิจการบ้าง
สร้างความน่าเชื่อถือและสามารถตรวจสอบได้
การยื่นภาษีตรงเวลาเป็นสิ่งที่ช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ความน่าเชื่อถือของกิจการ ยิ่งเป็นด้านการเงิน เมื่อเราต้องการใช้งบการเงิน หรือแสดงความถูกต้องต่องบการเงินของเรา โดยเฉพาะเมื่อมีการติดต่อกับคู่ค้า นักลงทุน หรือธนาคาร การที่เรายื่นภาษีครบถูกต้อง ก็ถือว่าเป็นเครดิตที่ดีมากๆเลยค่ะ
แสดงถึงการจัดการที่ดีของกิจการ
นอกจากความน่าเชื่อถือแล้ว ยังแสดงถึงว่ากิจการ มีการจัดการภายในที่ดี สามารถปฏิบัติตามกำหนดเวลาในการยื่นภาษีและมีความรับผิดชอบในเรื่องทางการเงิน และภาษีอีกด้วย
ป้องกันค่าปรับย้อนหลังและบทลงโทษ
การยื่นภาษีล่าช้าหรือไม่ยื่นภาษีเลย อาจทำให้ต้องจ่ายค่าปรับหรือดอกเบี้ยในอัตราที่สูง ซึ่งเราก็ทราบกันอยู่แล้วว่าเบี้ยปรับ เงินเพิ่ม บางรายการนั้นโหดมากกว่าค่าภาษีเสียอีก นอกจากนี้ยังอาจนำไปสู่บทลงโทษทางกฎหมายแล้ว ก็อาจทำให้เสียเงินก้อนโตเลยก็ได้นะ
ลดความเสี่ยงต่อการตรวจสอบภาษี
การยื่นภาษีให้ถูกต้องและตรงเวลาช่วยลดความเสี่ยงที่หน่วยงานภาษี หรือคุณพรี่สรรพากรจะเข้ามาตรวจสอบ หากพบข้อผิดพลาดหรือความล่าช้าในการยื่นภาษี อาจทำให้พรี่สรรพเกิดความสงสัยขอเข้าพบก็เป็นได้นะ
บทสรุป บริษัท ต้องยื่นภาษีอะไรบ้าง ปีละกี่ครั้ง
การยื่นภาษีอาจดูซับซ้อน แต่หากคุณมีการจัดการที่ดีและปฏิบัติตามกำหนดการที่วางแผนไว้ การยื่นภาษีจะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป แถมช่วยเสริมสร้างความน่าเชื่อถือของบริษัทในสายตาของคู่ค้าและหน่วยงานภาครัฐ
ดังนั้น นักบัญชีควรตรวจสอบกำหนดเวลาการยื่นภาษีรายปีและเตรียมเอกสารให้ครบถ้วนในทุกงวดเพื่อให้การดำเนินกิจการเป็นไปอย่างราบรื่นกันค่ะ
อยากทำความเข้าใจเรื่องภาษีเพิ่มเติม อบรม CPD ออนไลน์ เก็บชั่วโมงกับเราได้ที่ www.cpdacademy.co เข้าใจง่าย เรียนได้แม้ไม่มีพื้นฐานจ้า
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ Line: @cpdacademy