เพื่อนๆ นักบัญชีเบื่อกันมั้ยเอ่ย ที่ต้องมาคอยเตือนตัวเองและผู้ประกอบการว่าอย่าลืมยื่นภาษีประจำเดือนนะ!
จริงๆ แล้วหน้าที่การยื่นภาษีรายเดือน นิติบุคคล นั้นเป็นหน้าที่ที่สำคัญมาก และหากลืมยื่นไปก็อาจต้องเสียค่าปรับอานเลยค่ะ ถึงแม้ว่าน่าเบื่อขนาดไหน บริษัททั้งหลายก็ต้องทำให้ถูกต้องด้วย
แล้วถ้าอยากทำงานง่ายขึ้น ไม่หลงลืมการยื่นภาษีประจำเดือน วันนี้ CPD Academy ขออาสามาสรุปให้เพื่อนๆ ในบทความนี้ว่า ทุกๆ เดือนบริษัทจะต้องยื่นภาษีอะไรบ้าง และภาษีเหล่านั้นมันคืออะไรนะ แถมท้ายด้วยทริคดีๆ สำหรับการยื่นภาษีประจำเดือนด้วยจ้า
1. การยื่นภาษีรายเดือน นิติบุคคลคืออะไร?
การยื่นภาษีรายเดือนสำหรับนิติบุคคล หมายถึง การนำส่งแบบภาษีตามที่กฎหมายกำหนดในแต่ละเดือน (ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นการทำตามกฎหมาย) เมื่อเข้าเงื่อนไข ก็จะต้องยื่นภาษีให้เรียบร้อยนะคะ
นิติบุคคลที่ว่านั้นหมายถึง บริษัท ห้างหุ้นส่วนจำกัด ที่จดทะเบียนแยกต่างหากออกจากบุคคลธรรมดาจ้า
กว่าจะยื่นภาษีได้ เราต้องเริ่มต้นจากการมีนักบัญชีอย่างพวกเรา (ฮ่าๆ) ที่ทำหน้าที่จัดทำบัญชี และเตรียมเอกสารที่เกี่ยวข้อง เช่น รายการซื้อขาย ใบกำกับภาษี และรายงานสินค้า เพื่อให้สามารถยื่นภาษีได้อย่างถูกต้อง ซึ่งบ่อยครั้ง เจ้าของธุรกิจก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าพวกเขาต้องยื่นภาษีประจำเดือนอะไรบ้างนะ (มีแต่นักบัญชีนี่ล่ะ ที่ต้องมาคอยตักเตือน)
2. ประเภทของภาษีที่นิติบุคคลต้องยื่นประจำทุกเดือน
ในประเทศไทยนั้น มีภาษีมากมายหลายประเภท แต่ถ้าพูดถึงภาษีที่ต้องยื่นเป็นประจำทุกเดือน แบบขาดไม่ได้เลย ก็คือ 3 ภาษีนี้ค่ะ
2.1 ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)
ภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT (Value Added Tax) เป็นภาษีที่เก็บจากมูลค่าของสินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้นในแต่ละขั้นตอนการผลิตหรือการจัดจำหน่าย นิติบุคคลที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปีต้องยื่นแบบ ภ.พ.30 ทุกเดือน เพื่อรายงานภาษีขายและภาษีซื้อ หากภาษีขายมากกว่าภาษีซื้อ จะต้องชำระส่วนต่างให้กรมสรรพากร แต่หากภาษีซื้อมากกว่า สามารถขอคืนภาษีหรือใช้เป็นเครดิตในเดือนถัดไปได้
หมายเหตุ: แม้ว่าเดือนไหนกิจการซบเซา เจ้าของธุรกิจก็ยังต้องยื่นแบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ภ.พ.30 ทุกเดือนนะคะ (ไม่มีอนุโลม)
2.2 ภาษีหัก ณ ที่จ่าย (Withholding Tax)
ภาษีหัก ณ ที่จ่าย เป็นภาษีที่ผู้จ่ายเงินต้องหักจากผู้รับเงินตามอัตราที่กฎหมายกำหนด และนำส่งให้กรมสรรพากร เช่น
- การจ่ายค่าจ้าง ค่าบริการ หรือค่าเช่า
- การจ่ายเงินปันผลหรือดอกเบี้ย
นิติบุคคลต้องยื่นแบบภาษีที่เกี่ยวข้อง เช่น แบบ ภ.ง.ด.3 หรือ ภ.ง.ด.53 หรือ ภ.ง.ด.1 ในแต่ละเดือน
ดังนั้น ภาษีตัวนี้จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเรามีการจ่ายเงิน เข้าตามเงื่อนไข และถ้าเดือนนั้นๆ ไม่มีการจ่ายเงินประเภทดังกล่าว ก็ไม่ต้องหัก ณ ที่จ่าย และไม่ต้องยื่นภาษีหัก ณ ที่จ่ายนะ
2.3 ภาษีธุรกิจเฉพาะ (Specific Business Tax)
ภาษีธุรกิจเฉพาะเป็นภาษีที่จัดเก็บจากการประกอบกิจการบางประเภทที่กฎหมายกำหนดให้เป็นกิจการพิเศษ ซึ่งต้องเสียภาษีในอัตราเฉพาะแตกต่างจากภาษีทั่วไป โดยมุ่งเน้นกิจการที่มีลักษณะเฉพาะทางหรือมีผลกระทบทางเศรษฐกิจสูง โดยยื่นแบบภาษี ภธ.40 ให้แก่สรรพากร
ตัวอย่างประเภทของกิจการที่อยู่ในขอบข่ายภาษีธุรกิจเฉพาะ ได้แก่ ธุรกิจธนาคาร ธุรกิจที่ประกอบกิจการเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ เช่น การให้กู้ยืมเงิน เป็นต้น
กรณีสำหรับนิติบุคคลบริษัททั่วไป ที่ต้องยื่นภาษีธุรกิจเฉพาะนั้นได้แก่ บริษัทที่ได้รับดอกเบี้ยจากการให้กู้ยืม ซึ่งการให้เงินกู้ยืมกรรมการก็เช่นเดียวกันนะ
3. Timeline การยื่นภาษีรายเดือน นิติบุคคล
เข้าใจกันแล้วว่าภาษีทั้ง 3 ตัวที่ต้องยื่นทุกเดือนมีอะไรบ้าง ถัดมาเรามาดู Timeline การยื่นภาษีรายเดือนกันเลย
3.1 เดดไลน์การยื่นภาษีในแต่ละเดือน
- ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) แบบภาษีที่ใช้ยื่น คือ แบบ ภ.พ.30
เดดไลน์ของการยื่นแบบกระดาษ : ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป
เดดไลน์ของการยื่นแบบผ่านอินเทอร์เน็ต : ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป และขยายเพิ่มได้อีก 8 วัน
- ภาษีหัก ณ ที่จ่าย (Withholding Tax) แบบภาษีที่ใช้ยื่น คือ แบบ ภ.ง.ด.1/3/53
เดดไลน์ของการยื่นแบบกระดาษ : ภายใน 7 วันนับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายเงิน
เดดไลน์ของการยื่นแบบผ่านอินเทอร์เน็ต : ภายใน 7 วันนับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายเงิน และขยายเพิ่มได้อีก 8 วัน
- ภาษีธุรกิจเฉพาะ (Specific Business Tax) แบบภาษีที่ใช้ยื่น คือ แบบ ภ.ธ.40
เดดไลน์ของการยื่นแบบกระดาษ : ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป
เดดไลน์ของการยื่นแบบผ่านอินเทอร์เน็ต : ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป และขยายเพิ่มได้อีก 8 วัน
4. วิธีตรวจสอบปฏิทินภาษี
สำหรับใครที่กลัวพลาด กรมสรรพากรได้สร้างตัวช่วยเพื่อสนับสนุนให้นักบัญชีทำงานได้ง่ายขึ้น ด้วยการสรุปปฏิทินภาษี พร้อมทั้งขยับวันที่กรณีที่ติดวันหยุดให้เราด้วยน้า
และถ้าใครอยากอ่านทริคดีๆ เกี่ยวกับปฏิทินภาษี ไปดูที่บทความนี้เลยจ้า รู้จักปฏิทินภาษี ตัวช่วยวางแผนงานบัญชี เดดไลน์ไหนก็ไม่พลาด
5. คำถามที่พบบ่อย (FAQs)
Q : หากบริษัทไม่มีรายได้ต้องยื่นภาษีหรือไม่?
A : ถึงแม้บริษัทไม่มีรายได้ หากบริษัทจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว ก็ยังต้องยื่นแบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ภ.พ.30 ทุกเดือนนะคะ
ส่วนภาษีธุรกิจเฉพาะ เราต้องยื่นต่อเมื่อมีรายได้เฉพาะ อย่างเช่น การรับรายได้ดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมในเดือนนั้นๆ
Q : ไม่มีรายการภาษีหัก ณ ที่จ่ายจำเป็นต้องยื่นไหม?
A : สำหรับภาษี หัก ณ ที่จ่าย กรณีที่เดือนนั้นๆ จ่ายเงินออกไปให้ Supplier แต่ว่าไม่เข้าเงื่อนไขต้องหัก ณ ที่จ่าย ก็ไม่ต้องยื่นแบบภาษีหัก ณ ที่จ่ายค่ะ พูดง่ายๆก็คือ ภาษี หัก ณ ที่จ่าย ก็หมายความว่า ต้องมีการจ่ายเงินก่อน แล้วกิจการถึงต้องหักเงินไว้ได้ และต้องนำส่งสรรพากร แต่ถ้าไม่มีหัก ไว้ก็ไม่มีอะไรที่ต้องนำส่งนั่นเองจ้า
Q : ข้อควรระวังการยื่นภาษี SBT
A : เน้นในเรื่องของการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลรายได้หรือรายรับ การคำนวณภาษีธุรกิจเฉพาะขึ้นอยู่กับรายได้ของกิจการ การกรอกข้อมูลรายได้ที่ผิดพลาด อาจส่งผลให้เกิดความเสียหายหรือค่าปรับที่ไม่จำเป็นได้ค่ะ
Q : เคล็ดลับการยื่นภาษี ที่อยากบอกคืออะไร?
A : จากตารางสรุป Timeline จะเห็นว่า หากเราสามารถยื่นแบบออนไลน์หรือว่ายื่นแบบผ่านอินเทอร์เน็ตได้ จะทำให้เราได้ขยายวันเพิ่มขึ้นอีก 8 วัน ดังนั้น เคล็ดลับการยื่นภาษีก็คือ ต้องสมัครออนไลน์ให้ได้เร็วๆ เราจะมีเวลาทำงานได้เพิ่มขึ้นอีก 8 วันเลยค่ะ
บทสรุป
การยื่นภาษีรายเดือนสำหรับนิติบุคคลเป็นภารกิจที่สำคัญและต้องการความใส่ใจในกำหนดเวลาอย่างเคร่งครัด เพื่อปฏิบัติตามกฎหมายและหลีกเลี่ยงค่าปรับที่อาจเกิดขึ้น นักบัญชีจึงควรให้ความสำคัญกับการวางแผนและติดตามกำหนดการยื่นภาษีอย่างต่อเนื่องเพื่อความเป็นมืออาชีพของเรา และความไว้วางใจจากลูกค้าค่ะ และสำหรับนักบัญชีคนไหนที่กลัวลืมว่าต้องยื่นภาษีอะไร และเมื่อไรบ้าง อย่าลืม save บทความนี้เก็บไว้เตือนใจด้วยนะคะ
อบรม CPD ออนไลน์ เก็บชั่วโมงกับเราได้ที่ www.cpdacademy.co ทุกคอร์สได้รับการอนุมัติจากสภาวิชาชีพบัญชีเพื่อเก็บชั่วโมง CPD อบรมได้ตลอด 24 ชั่วโมง
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ Line: @cpdacademy