ภาษีครึ่งปีนิติบุคคลที่เราต้องยื่นแบบภงด.51 ทุกๆปี พอถึงปลายปี ก็ต้องคำนวณภาษีใหม่เป็นตัวเขที่เกิดขึ้นจริงทั้งปีและเสียภาษี เราก็จะมีความกังวลว่า เอะ!! ยอดที่นำส่งไปตอนครึ่งปีนี้ มีความคลาดเคลื่อนเท่าไหร่กันนะ และความคลาดเคลื่อนนี้แหละค่ะ ที่จะต้องมาประเมินกันอีกครั้งนึง ว่าเราต้องแก้ไขกันอย่างไรดี จึงเกิดเป็นบทความนี้ขึ้นค่ะ
เริ่มต้น เรามารู้จักว่า ทำไมเราต้องประมาณการภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปีกันก่อนเลยค่ะ
1. ประมาณการภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปี
ภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปีนั้น ที่ต้องประมาณการก็เพราะว่า แบบภ.ง.ด.51 ใช้สำหรับยื่นภาษีครึ่งปี หรือครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี เช่น 1 มกราคม 2565 – 30 มิถุนายน 2565 ทำให้ทราบรายได้และค่าใช้จ่ายที่เกิดจริงเพียงแค่ 6 เดือน ส่วนอีก 6 เดือนต้องใช้วิธีประมาณการขึ้นมาให้ใกล้เคียงกับกำไรสุทธิที่จะเกิดขึ้นจริงมากที่สุดค่ะ จึงเป็นที่มาของบทความนี้ค่ะ ถ้าหากประมาณการภาษีครึ่งปีนิติบุคคลขาดเกิน25%แก้ไขอย่างไร? ไปดูกันต่อค่ะ
- กำไรสุทธิที่เกิดขึ้นจริง 6 เดือน
- ประมาณการกำไรสุทธิ 6 เดือน
นำมารวมกัน แล้วคำนวณภาษีต่อไป
2. ประมาณการภาษีครึ่งปีขาดเกิน25% เช็คยังไง?
ประมาณการภาษีเงินได้นิติบุคคลขาดเกิน หมายถึง การเปรียบเทียบยอดภาษีระหว่าง กำไรสุทธิตามแบบ ภ.ง.ด.50 และ ประมาณกำไรสุทธิตามแบบ ภ.ง.ด.51 ว่าแตกต่างกันไปกี่เปอร์เซ็นต์
สูตร (1) กำไรสุทธิตามแบบ ภ.ง.ด.50 – ประมาณการกำไรสุทธิตามแบบ ภ.ง.ด.51 = ประมาณการกำไรสุทธิที่ขาดไป
(2) (ประมาณการกำไรสุทธิที่ขาดไป / กำไรสุทธิตามแบบ ภ.ง.ด.50) x 100 = …….%
ยกตัวอย่างที่ 1
กำไรสุทธิตามแบบ ภ.ง.ด.50 | 1,000,000 |
ประมาณการกำไรสุทธิตามแบบ ภ.ง.ด.51 | 800,000 |
คำนวณหาประมาณการภาษีครึ่งปีขาดเกิน
กำไรสุทธิตาม ภ.ง.ด.50 | 1,000,000 |
ลบ ประมาณการกำไรสุทธิตามแบบ ภ.ง.ด.51 | 800,000 |
ประมาณการกำไรสุทธิที่ขาดไป | 200,000 |
(1) กำไรสุทธิตามแบบ ภ.ง.ด.50 – ประมาณการกำไรสุทธิตามแบบ ภ.ง.ด.51 = ประมาณการกำไรสุทธิที่ขาดไป
1,000,000 – 800,000 = 200,000 บาท
(2) ( ประมาณการกำไรสุทธิที่ขาดไป / กำไรสุทธิตามแบบ ภ.ง.ด.50 ) x 100 = …….%
( 200,000 / 1,000,000 ) x 100 = 20%
สรุปตัวอย่างที่ 1 ประมาณการภาษีครึ่งปีขาด 20%
ยกตัวอย่างที่ 2
กำไรสุทธิตามแบบ ภ.ง.ด.50 | 1,000,000 |
ประมาณการกำไรสุทธิตามแบบ ภ.ง.ด.51 | 700,000 |
คำนวณหาประมาณการภาษีครึ่งปีขาดเกิน
(1) กำไรสุทธิตามแบบ ภ.ง.ด.50 – ประมาณการกำไรสุทธิตามแบบ ภ.ง.ด.51 = ประมาณการกำไรสุทธิที่ขาดไป
1,000,000 – 700,000 = 300,000 บาท
(2) ( ประมาณการกำไรสุทธิที่ขาดไป / กำไรสุทธิตามแบบ ภ.ง.ด.50 ) x 100 = …….%
( 300,000 / 1,000,000 ) x 100 = 30%
สรุปตัวอย่างที่ 2 ประมาณการภาษีครึ่งปีขาด 30%
ยกตัวอย่างที่ 3
กำไรสุทธิตามแบบ ภ.ง.ด.50 | 1,000,000 |
ประมาณการกำไรสุทธิตามแบบ ภ.ง.ด.51 | 1,500,000 |
คำนวณหาประมาณการภาษีครึ่งปีขาดเกิน
(1) กำไรสุทธิตามแบบ ภ.ง.ด.50 – ประมาณการกำไรสุทธิตามแบบ ภ.ง.ด.51 = ประมาณการกำไรสุทธิที่ขาดไป
1,000,000 – 1,500,000 = – 500,000 บาท
(2) ( ประมาณการกำไรสุทธิที่ขาดไป / กำไรสุทธิตามแบบ ภ.ง.ด.50 ) x 100 = …….%
( -500,000 / 1,000,000 ) x 100 = 50%
สรุปตัวอย่างที่ 3 ประมาณการภาษีครึ่งปีเกิน 50%
3. ประมาณการภาษีครึ่งปี สูงไป หรือ ต่ำไป มีวิธีแก้ไขอย่างไร?
3.1 ประมาณการภาษีครึ่งปีสูงไป
ประมาณการภาษีครึ่งปีสูงไป หมายถึง กิจการประมาณการภาษีครึ่งปีเกินไป ทำให้จ่ายภาษีครึ่ง ภ.ง.ด.51 มีมากกว่าจำนวนเงินที่จะจ่ายจริงตามภาษีทั้งปี ภ.ง.ด.50
ยกตัวอย่าง รอบระยะเวลาบัญชี 1 ม.ค. 2565 – 31 ธันวาคม 2565
ภ.ง.ด.51 ปี 2565 | ยอดจ่ายภาษี 300,000 บาท |
ภ.ง.ด.50 ปี 2565 | ยอดจ่ายภาษี 250,000 บาท |
ภ.ง.ด.51 ปี 2565 มากกว่า ภ.ง.ด.50 ปี 2565 จำนวน 50,000 บาท
ทำให้ต้องทำเรื่องขอคืนภาษีค่ะ
3.2 ประมาณการภาษีครึ่งปีต่ำไป
ประมาณการภาษีครึ่งปีต่ำไป หมายถึง กิจการประมาณการภาษีครึ่งปีขาดไป ทำให้จ่ายภาษีครึ่ง ภ.ง.ด.51 มีน้อยกว่าจำนวนเงินที่จะจ่ายจริงตามภาษีทั้งปี ภ.ง.ด.50
ยกตัวอย่าง รอบระยะเวลาบัญชี 1 ม.ค. 2565 – 31 ธันวาคม 2565
ภ.ง.ด.51 ปี 2565 | ยอดจ่ายภาษี 100,000 บาท |
ภ.ง.ด.50 ปี 2565 | ยอดจ่ายภาษี 250,000 บาท |
ภ.ง.ด.51 ปี 2565 น้อยกว่า ภ.ง.ด.50 ปี 2565 จำนวน 150,000 บาท
หากเป็นกรณี ประมาณการภาษีครึ่งปีต่ำไป ต้องมีคำถามต่ออีกว่า ต่ำไปเท่าไหร่กี่เปอร์เซ็นต์
เนื่องจากหากต่ำไป 25% ต้องไปพิจารณาเกี่ยวกับการเสียเบี้ยปรับเงินเพิ่มอีกค่ะ
ถ้าหากคำนวณออกมาแล้วมีประมาณการกำไรสุทธิที่ขาดไปเกิน 25% ต้องพิจารณาว่าในส่วนที่เกินนั้น เป็นเหตุอันสมควรตามกฏหมายหรือไม่ ในหัวข้อถัดไปค่ะ
4. เหตุอันสมควรลักษณะเป็นอย่างไร?
การประมาณการกำไรสุทธิขาดไปเกินกว่าร้อยละ 25 ของกำไรสุทธิประจำปีนั้น หากเป็นเหตุอันสมควรตามที่กฎหมายกำหนดเราก็ไม่ต้องกังวลนะคะ ผ่านฉลุยจ้า และเหตุอันสมควรที่กฎหมายกำหนดนั้นมีอะไรกันบ้างเราลองมาดูกันค่ะ
ตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.152/2558ฯ “ข้อ 1 กรณีดังต่อไปนี้ ให้ถือวาเป็นกรณีมีเหตุอันสมควร
(1) กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้จัดทำประมาณการกำไรสุทธิและยื่นแบบแสดงรายการ เสียภาษีครึ่งปี ไว้ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ได้ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีที่แล้ว
(2) กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้จัดทำประมาณการกำไรสุทธิซึ่งได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่ได้กระทำหรือ จะได้กระทำในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นไม่น้อยกว่ากำไรสุทธิที่ได้ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีที่แล้ว แต่ได้ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีครึ่งปี ไว้น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ได้ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีที่แล้วเนื่องจากได้รับยกเว้นหรือลดอัตราภาษี”
พอเป็นภาษากฏหมายก็ยิ่งงกันเข้าไปใหญ่เลยค่ะ สรุปง่ายๆคือ ใครที่กำลังจะกดยื่น ภงด.51 ลองมาเช็คสมการด้านล่างสองสมการกันเลย
สมการแรก เพื่อนๆลองเช็คดูค่ะว่าคำนวณภาษีเป็นไปตามสมการข้อนี้หรือไม่
- ภาษีครึ่งปีปีปัจจุบัน (ภงด.51 ปีนี้) > กึ่งหนึ่งของภาษีเงินได้นิติบุคคลปีก่อน (ภงด.50 ปีก่อน)
ถ้าภาษีครึ่งปีที่คำนวณไว้เป็นไปตามสมการข้างต้นแล้วก็สบายใจได้เลยค่ะ หมายความว่า เพื่อนๆไม่ต้องเสียเงินเพิ่มใดใดแล้วค่ะ แต่ถ้าไม่ผ่านสมการแรกก็อย่าเพิ่งเสียใจไปนะคะ ลองมาดูสมการที่สองต่อค่ะ
สมการสอง หากคุณไม่ผ่านสำหรับสมการแรกแล้ว สองเช็คสมการที่สองนี้ดูว่าคุณผ่านหรือเปล่า
- ประมาณการกำไรสุทธิปีปัจจุบัน (ภงด.51 ปีนี้) > กำไรสุทธิปีก่อน (ภงด.50 ปีก่อน)
เพราะในบางปีที่มีการยกเว้นหรือลดอัตราภาษีประมาณการภาษีครึ่งปีอาจจะต่ำ แต่อย่างน้อยหากท่านประมาณการกำไรในปีนั้นไว้มากกว่ากำไรสุทธิของปีก่อนแล้วก็เข้าข่ายว่าการประมาณการกำไรสุทธิขาดไปเกินกว่าร้อยละ 25 ของกำไรสุทธิประจำปีเป็นเหตุอันสมควรตามที่กฎหมายกำหนด ถือว่าอยู่รอดปลอดภัยนะคะ
5. ข้อเสนอแนะ ก่อนยื่นภาษีเงินครึ่งปี ภ.ง.ด.51
อย่างไรก็ตาม สำหรับวิธีที่เราแนะนำนั้นจะเหมาะกับกิจการที่กำลังเติบโตนะคะ เพราะว่ากิจการเหล่านี้มีโอกาสเสี่ยงสูงที่กำไรสุทธิแต่ละปีจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และการประมาณการกำไรสุทธินั้นทำได้ค่อนข้างยาก เพื่อ safe ตัวเอง เราก็ควรจะคำนวณ ภงด.51 ให้สูงกว่าปีก่อนเอาไว้จะได้ไม่ต้องมาจ่ายเงินเพิ่มทีหลัง
แต่สำหรับกิจการที่ผลการดำเนินงานปีนี้ค่อนข้างแย่และเราทราบว่าแนวโน้มธุรกิจของเราในอีกครึ่งปีข้างหน้าคงไปไม่ได้สวยเหมือนปีก่อนๆ ท่านควรจะประมาณการกำไรสุทธิตามที่เป็นจริงนะคะ อย่าไปยึดติดกับ ภงด.50 ในอดีต เพราะหากท่านยึดตามกำไรสุทธิในอดีตที่สูงมากแล้ว นั่นหมายความว่าปีปัจจุบันท่านจะต้องควักกระเป๋าจ่ายภาษีครึ่งปีให้สรรพากรไปโดยไม่จำเป็น เพราะความเป็นไปได้ที่จะทำกำไรปีนี้นั้นอาจจะน้อยกว่าเดิมมาก และเมื่อท่านจ่ายภาษีครึ่งปีล่วงหน้าไปเกินความเหมาะสมแล้ว สุดท้ายท่านมาขอคืนภาษีอาจจะยากเย็นแสนเข็นกว่าเดิมเสียอีกที่จะได้เงินจ่ายภาษีล่วงหน้านั้นกลับมาค่ะ
สุดท้ายนี้ อยากให้ทุกกิจการเล็งเห็นความสำคัญของการจัดทำบัญชี และการยื่นภาษีให้ถูกต้องตามกฎหมายแล้ว การมีงบประมาณประจำปีนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งก็ว่าได้ เพราะหากท่านมีข้อมูลยิ่งมากเท่าไร การประมาณการก็จะคลาดเคลื่อนน้อยลง สุดท้ายปัญหาเรื่อง ประมาณการกำไรสุทธิขาดไปเกินกว่า 25% ก็จะลดความเสี่ยงในการเกิดประมาณการภาษีครึ่งปีนิติบุคคลขาด เกิน25% ไปได้ค่ะ
สามารถดูภาพรวมของประมาณการภาษีครึ่งปีนิติบุคคลขาดเกิน25% ได้ดังนี้
ส่วนในเรื่องของอัตราค่าปรับสำหรับการประมาณการกำไรสุทธิ ภ.ง.ด.51 ขาดไป เกิน 25%ของกำไรสุทธิที่เกิดขึ้นจริง โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร สามารถดูอัตราค่าปรับได้เพิ่มเติมที่บทความนี้ค่ะ
ยื่นภาษีกลางปี นักบัญชีต้องเช็คให้ครบก่อนยื่นจริง
อบรมบัญชีเก็บชั่วโมง CPD ออนไลน์ง่ายๆ ได้ที่บ้าน
สอบถามได้ที่นี่ Line: @cpdacademy หรือ https://lin.ee/36U1ks0Y