นักบัญชีมือใหม่อาจจะเคยได้ยินคำว่า “เก็บชั่วโมง CPD” คำๆ นี้มักจะได้ยินบ่อยๆ ในช่วงปลายปีเสียด้วย แล้วเราเคยสงสัยมั้ยคะว่าการเก็บ CPD มันเกี่ยวข้องอะไรกับนักบัญชีบ้าง มีแค่นักบัญชีใช่ไหมที่ต้องเก็บ CPD แล้วพวกเราทุกคนต้องเก็บ CPD กันยังไง ที่ไหน เมื่อไร
โอ้ยยย…ทำไมมั่นน่าปวดหัวอย่างงี้ ทำใจดีๆ ไว้ อย่าเพิ่งเป็นอะไรนะคะ เพราะวันนี้นุชจะพาทุกคนมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับ CPD ของนักบัญชีไปพร้อมๆ กันค่ะว่ามันคืออะไร และมันสำคัญกับชีวิตเรายังไงบ้าง
เก็บชั่วโมง CPD คืออะไร ? ต่างกับ CPA ไหม?
ก่อนอื่น เรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่า CPD คืออะไร?
คำว่า CPD ย่อมาจาก Continuing Professional Development หมายถึง การพัฒนาความรู้ต่อเนื่องสำหรับวิชาชีพบัญชี (แหม่…ดูโปรขึ้นมาทันที) ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีในที่นี้ คือ ผู้ทำบัญชี และผู้สอบบัญชี ค่ะ
ส่วนคำว่า CPA ย่อมาจาก Certified Public Accountant หมายถึง ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต ซึ่งแตกต่างจาก CPD อย่างชัดเจนค่ะ
อย่างที่บอกว่าทั้งผู้ทำบัญชี และผู้สอบบัญชี (CPA) ต้องพัฒนาความรู้ต่อเนื่อง การพัฒนาความรู้ต่อเนื่องหรือการเก็บชั่วโมงนี้จึงถูกเรียกสั้นๆ ว่า “เก็บชั่วโมง CPD” จ้า
ในบทความนี้เราจะพูดคุยเกี่ยวกับการเก็บชั่วโมงCPD ของผู้ทำบัญชี แต่ถ้าใครเป็นผู้สอบบัญชีไม่ต้องน้อยใจไปนะ เพราะเราสรุปสิ่งควรรู้ไว้ให้ในนี้แล้ว เก็บชั่วโมงผู้สอบบัญชี CPD ปีนี้ 40 ชั่วโมงมีอะไรต้องรู้บ้าง?
การเก็บ CPD สำคัญกับนักบัญชีอย่างไร?
การพัฒนาความรู้ต่อเนื่องสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีเป็นสิ่งสำคัญมากๆ สำหรับนักบัญชีเนื่องจากกฎหมายได้กำหนดไว้ว่า หนึ่งในคุณสมบัตินักบัญชีที่ครบถ้วน คือ การพัฒนาความรู้ทางวิชาชีพอย่างต่อเนื่องอย่างสม่ำเสมอทุกๆ ปี
นักบัญชีต้องเก็บชั่วโมง CPD ปีละเท่าไร?
ผู้ทำบัญชีต้องเข้ารับการพัฒนาความรู้ต่อเนื่องทางวิชาชีพบัญชีไม่น้อยกว่า 12 ชั่วโมงต่อปีปฏิทิน
ประกาศของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เรื่อง กำหนดคุณสมบัติและเงื่อนไขของการเป็นผู้ทำบัญชี พ.ศ. 2557
ในจำนวนชั่วโมง CPD 12 ชั่วโมงนั้น ต้องมีเนื้อหาเกี่ยวกับการบัญชี ไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่ง
ยกตัวอย่างเช่น ภายใน 1 ปีต้องเก็บชั่วโมงเกี่ยวกับวิชาบัญชีขั้นต่ำ 6 ชั่วโมง ที่เหลือเป็นวิชาอื่นๆ เช่น ภาษี ก็ได้ หรือถ้าอยากเก็บบัญชี 12 ชั่วโมงรวดก็ทำได้ไม่มีใครว่าอะไร
นักบัญชีขึ้นทะเบียนปีแรกต้องเก็บ CPD ไหม?
ถ้าเราขึ้นทะเบียนเป็นผู้ทำบัญชีตามกฎหมายในปีแรกนั้นจะต้องเช็คว่าวันที่เราขึ้นทะเบียนสมบูรณ์เป็นวันที่เท่าใด และหากมีระยะเวลาที่เหลือหลังการแจ้งในปีนั้นน้อยกว่า 6 เดือน ไม่จำเป็นต้องเริ่มเก็บชั่วโมงในปีนี้ สามารถไปเริ่มเก็บชั่วโมงในปีถัดไปได้
ยกตัวอย่าง เช่น ปี 2565 เราขึ้นทะเบียนเป็นผู้ทำบัญชีตอนเดือนพฤศจิกายน 2565 นั่นแปลว่า ในปี 2565 นี้เราไม่ต้องเริ่มเก็บชั่วโมงCPD แต่ไปเริ่มเก็บ 12 ชั่วโมงในปี 2566 ได้เลย
เก็บชั่วโมง CPD ต้องทำยังไงบ้าง?
การพัฒนาความรู้ต่อเนื่องทางวิชาชีพบัญชี (CPD) ทำได้หลายวิธี ซึ่งตามกฎหมายได้กำหนดกิจกรรมการพัฒนาความรู้ต่อเนื่องไว้ดังต่อไปนี้
- การอบรมหรือสัมมนา ทั้งนี้ ให้รวมถึงการอบรมหรือสัมมนาในรูปแบบสื่อทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-learning) ซึ่งหลักสูตร CPD ต้องได้รับการอนุมัติจากสภาวิชาชีพบัญชีด้วย
- การเป็นวิทยากร ผู้บรรยาย ผู้ดําเนินการสัมมนา ในกิจกรรมข้อแรกเท่านั้น
- การเป็นอาจารย์ในสถาบันการศึกษาของรัฐ หรือสถาบันการศึกษาของเอกชน ตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันการศึกษาเอกชน ซึ่งมีการสอนไม่ต่ํากว่าระดับอนุปริญญาหรือ ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ทางการบัญชีหรือเทียบเท่า ไม่ว่าจะเป็นการสอนในฐานะอาจารย์ ประจําหรืออาจารย์พิเศษ
- การสําเร็จการศึกษาในคุณวุฒิที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพบัญชีไม่ว่าคุณวุฒิใหม่นั้นจะสูงกว่า คุณวุฒิเดิมหรือไม่ก็ตาม
- การผ่านการศึกษาเฉพาะรายวิชาที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพบัญชีจากสถาบันการศึกษาของรัฐหรือสถาบันการศึกษาของเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันการศึกษาเอกชน ซึ่งมีการสอนไม่ต่ํากว่าระดับอนุปริญญาหรือประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ทางการบัญชีหรือเทียบเท่า
- กิจกรรมอื่น นอกจากที่ระบุข้างบนตามที่สภาวิชาชีพบัญชีประกาศกําหนด
แต่ส่วนมากกิจกรรมที่พวกเราทำได้ง่ายที่สุด คือ การเข้าร่วมอบรมสัมมนา ในหลักสูตรที่ได้รับการอนุมัติจากสภาวิชาชีพบัญชีเท่านั้น เช็คที่นี่ : วิธีตรวจสอบหลักสูตร CPD อย่างไร ให้มั่นใจ 100%
เก็บชั่วโมงแล้วต้องแจ้งภายในเมื่อไร?
ในแต่ละปีปฏิทิน เมื่อผู้ทำบัญชีเก็บชั่วโมงCPD เรียบร้อยแล้ว ต้องแจ้งชั่วโมง CPD ให้เรียบร้อย ภายในวันที่ 30 มกราคมของปีถัดไป
ยกตัวอย่าง เช่น ถ้าอบรม CPD ครบแล้วในปี 2565 ผู้ทำบัญชีต้องแจ้งชั่วโมงภายในวันที่ 30 มกราคม 2566 เท่านั้น
ฉะนั้น เพื่อป้องกันความผิดพลาดควรแจ้งชั่วโมงหลังจากที่เราเก็บ CPD เรียบร้อยทันที โดยไม่ต้องรอวันสุดท้ายค่ะ
ยื่นชั่วโมง CPD ที่ไหน ยังไง?
ช่องทางการยื่นชั่วโมง CPD สามารถทำได้แบบออนไลน์ผ่าน 2 ระบบนี้ (ระบบไหนก็ได้)
ระบบออนไลน์ของ สภาวิชาชีพบัญชี หรือ ระบบ e-accountant ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
ส่วนวิธีการแจ้งชั่วโมง CPD ทำได้ง่ายๆ ตาม ขั้นตอนนี้ สรุปวิธีแจ้งชั่วโมงผู้ทำบัญชี CPD ต้องทำเมื่อไร และทำยังไงบ้าง
ผู้ทำบัญชีไม่เก็บ CPD มีโทษยังไงบ้าง?
ผู้ทำบัญชีหลายๆ ท่านอาจจะไม่รู้ว่า ถ้าเราไม่เก็บ CPD และแจ้งนับชั่วโมงตามที่กฎหมายกำหนด อาจจะโดนโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท และถ้านอกจากนี้ยังต้องพัฒนาความรู้ต่อเนื่องย้อนหลัง ให้ครบจำนวนชั่วโมงตามระยะเวลาที่ขาดหายไป แต่รวมกันแล้วไม่เกิน 24 ชั่วโมง
ถ้าใครเจอปัญหาเก็บCPD ไม่ครบหรือยื่น CPD ไม่ครบลองแก้ปัญหาตามบทความนี้ได้เลย : ยื่นชั่วโมง CPD ผู้ทำบัญชีไม่ครบ 12 ชั่วโมง แก้ไขอย่างไร?
การเก็บCPD มีประโยชน์กับนักบัญชียังไง?
จริงๆ แล้วถ้าไม่สนใจเรื่องกฎหมาย เราเองถ้าอยู่ในวิชาชีพบัญชีก็ควรจะพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่องใช่ไหมคะ เพราะทั้งมาตรฐานการบัญชีเอง และกฎหมายที่เกี่ยวข้องก็เปลี่ยนแปลงไปทุกวัน ประโยชน์ที่ได้รับจากการพัฒนาความรู้ในทุกๆ ปี ตัวอย่างเช่น
- ทำให้ได้เลื่อนตำแหน่ง
- ทำให้ได้เงินเดือนมากขึ้น
- ต่อยอดความรู้ได้หลากหลาย
- ทำงานได้ถูกต้องมากขึ้น
และอื่นๆ อีกมากมายที่นักบัญชีจะได้รับในอนาคตจากการพัฒนาตัวเองอย่างสม่ำเสมอ
โดยสรุปแล้ว การเก็บชั่วโมง CPD เป็นสิ่งสำคัญมากๆ สำหรับนักบัญชี ถ้าอยากก้าวไกลในวิชาชีพ สละเวลาปีละเล็กน้อยหาความรู้เพิ่มเติมจะได้ไม่ตกเทรน และมีคุณสมบัติเป็นนักบัญชีอย่างครบถ้วนนะคะ
ขอบคุณข้อมูลจาก
อยากอบรมบัญชี เก็บ CPD สำหรับปีนี้แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นยังไง สอบถาม CPD Academy ได้ที่นี่เลย
Line: @cpdacademy