ความรู้บัญชี

เก็บชั่วโมงผู้สอบบัญชี CPD ปีนี้ 40 ชั่วโมงมีอะไรต้องรู้บ้าง?

เก็บชั่วโมงผู้สอบบัญชี CPD ปีนี้ 40 ชั่วโมงมีอะไรต้องรู้บ้าง

ใครที่เป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาตฟังทางนี้ ในปีนี้เงื่อนไขของการเก็บชั่วโมงผู้สอบบัญชี CPD นั้นเปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่เราเคยจำขึ้นใจว่าเก็บชั่วโมงเป็นทางการ 20 และไม่เป็นทางการ 20 รวมกันให้ครบ 40 ชั่วโมงก็พอแล้ว แต่ในปี 2565 นี้มีบางเรื่องที่เปลี่ยนแปลงไป ถ้าไม่อยากพลาดเรื่องการเก็บชั่วโมงพัฒนาความรู้ต่อเนื่อง (CPD) ลองมาทำความเข้าใจไปพร้อมๆ กันในบทความนี้นะคะ

ผู้สอบบัญชีคือใคร ทำไมต้องเก็บชั่วโมง CPD

ผู้สอบบัญชี ย่อมาจากคำว่า “ผู้ตรวจสอบบัญชีรับอนุญาต” หรือภาษาอังกฤษเราเรียกย่อๆ ว่า CPA (Certified Public Accountant) ซึ่งเป็นผู้มีใบอนุญาตในการประกอบวิชาชีพตรวจสอบบัญชี หรือตรวจสอบงบการเงินของกิจการที่จัดทำโดยผู้ทำบัญชีนั่นไงล่ะ

กว่าจะได้เป็นผู้ตรวจสอบบัญชีนั้น ชีวิตต้องผ่านอะไรมาเยอะ ตั้งแต่การฝึกหัดงานและการทดสอบหลายวิชา แต่พอเป็นผู้ตรวจสอบบัญชีแล้วชีวิตก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเช่นกัน เพราะว่าผู้สอบบัญชีเองก็ต้องเก็บชั่วโมงพัฒนาความรู้ต่อเนื่อง (CPD) ทุกๆ ปีแบบขาดไม่ได้ ตามที่ข้อบังคับสภาวิชาชีพบัญชีว่าด้วยหลักเกณฑ์ และวิธีการเข้ารับการฝึกอบรมหรือเข้าร่วมประชุมสัมมนาของผู้สอบบัญชีรับอนุญาต พ.ศ. 2559 กำหนดไว้

เก็บชั่วโมงผู้สอบบัญชี CPD จำนวนเท่าไร?

ตั้งแต่ปี 2560 สภาวิชาชีพบัญชีได้กำหนดให้ผู้สอบบัญชีเก็บชั่วโมง CPD พัฒนาความรู้ต่อเนื่องรวมกันอย่างน้อย 40 ชั่วโมงต่อปี ตามนี้

  1. ชั่วโมง CPD ที่เป็นทางการ อย่างน้อย 20 ชั่วโมงต่อปี โดยต้องมีเนื้อหาเกี่ยวกับการบัญชีหรือการสอบบัญชีไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่ง และเนื้อหาด้านอื่นตามประกาศของสภาวิชาชีพบัญชี
  2. ชั่วโมง CPD ที่ไม่เป็นทางการ อย่างน้อย 20 ชั่วโมงต่อปี ทั้งนี้ ให้นับชั่วโมงส่วนที่เกินจาก 1. เป็นชั่วโมงตามข้อนี้ได้ด้วย

แต่เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2565 ทางสภาวิชาชีพบัญชีได้ประกาศข้อบังคับเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเก็บชั่วโมงแบบเป็นทางการ โดยระบุว่า

“ชั่วโมงการพัฒนาความรู้ต่อเนื่องทางวิชาชีพที่เป็นทางการอย่างน้อยยี่สิบชั่วโมงต่อปีโดยต้องมีเนื้อหาเกี่ยวกับการบัญชีหรือการสอบบัญชีไม่น้อยกว่าสิบชั่วโมง และเนื้อหาเกี่ยวกับจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีไม่น้อยกว่าหนึ่งชั่วโมง รวมทั้งเนื้อหาด้านอื่นตามประกาศของสภาวิชาชีพบัญชี”

ข้อบังคับสภาวิชาชีพบัญชีว่าด้วยหลักเกณฑ์ และวิธีการเข้ารับการฝึกอบรมหรือเข้าร่วมประชุมสัมมนาของผู้สอบบัญชีรับอนุญาต
(ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๖๕

ทำให้ในปัจจุบัน ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตจะต้องเก็บชั่วโมง CPD 40 ชั่วโมงต่อปี แบ่งเป็น

1. ชั่วโมง CPD เป็นทางการอย่างน้อย 20 ชั่วโมง

แบ่งเป็นวิชาบัญชีหรือการสอบบัญชีไม่น้อยกว่า 10 ชม. จรรยาบรรณไม่น้อยกว่า 1 ชม. และอื่นๆ ในส่วนที่เหลือ

เนื้อหาเกี่ยวกับจรรยาบรรณที่ต้องอบรมแยกมาโดยเฉพาะ 1 ชั่วโมงในปี 2565 นั้น เป็นการยกระดับมาตรฐานผู้สอบบัญชีให้เทียบเท่าสากล ทำให้มั่นใจว่าผู้สอบบัญชีทุกท่านปฏิบัติหน้าที่อย่างมีจรรยาบรรณค่ะ

2. ชั่วโมง CPD ไม่เป็นทางการ 20 ชั่วโมง

ชั่วโมง CPD แบบไม่เป็นทางการ หมายถึง การเรียนรู้และฝึกฝนทักษะในกิจกรรมเพื่อเป็นการพัฒนาความรู้ในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหรือวิชาชีพ และสามารถนําไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีได้อย่างต่อเนื่อง โดยไม่จำเป็นต้องเข้าอบรมจากสถาบันที่ได้รับการรับรอง เสมือนหนึ่งเราศึกษาหาความรู้ด้วยตัวเองค่ะ

กิจกรรมที่ได้ชั่วโมง CPD ไม่เป็นทางการมีอะไรบ้าง อ่านเพิ่มเติมในบทความนี้ “ชั่วโมง CPD ไม่เป็นทางการผู้สอบบัญชีคืออะไร? เก็บยังไง? ต่างจากชั่วโมงเป็นทางการไหม?

เก็บชั่วโมงผู้สอบบัญชี CPD ล่าสุด
เก็บชั่วโมงผู้สอบบัญชี CPD ล่าสุด

สังเกตได้ว่าจำนวนชั่วโมงรวมของการพัฒนาความรู้ต่อเนื่องของผู้สอบบัญชีนั้นยังมีจำนวนรวม 40 ชั่วโมงเท่าเดิม แต่เพียงว่าเราจะต้องเก็บชั่วโมงวิชาจรรยาบรรณ 1 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำแทนชั่วโมงอื่นๆ เท่านั้นเอง

ผู้สอบบัญชีปีแรกต้องเก็บชั่วโมง CPD ไหม?

ถ้าผู้สอบบัญชีที่ได้รับใบอนุญาตเป็นปีแรกต้องมีจํานวนชั่วโมงเข้ารับการฝึกอบรมหรือเข้าร่วมประชุมสัมมนาตามสัดส่วนของจํานวนเดือนที่ได้รับใบอนุญาตในปีนั้น โดยไม่นับเศษของเดือน

ตัวอย่างเช่น ถ้าเราขึ้นทะเบียนเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาตเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2565 ผู้สอบบัญชีมีเวลา 6 เดือนถึงสิ้นปีในการเก็บชั่วโมงพัฒนาความรู้ต่อเนื่อง = 40 x 6/12 = 20 ชั่วโมง

ผู้สอบบัญชี CPD ต้องยื่นชั่วโมงเมื่อไร?

การยื่นชั่วโมง CPD ของผู้สอบบัญชีแตกต่างจากผู้ทำบัญชีนะคะ เพราะว่าผู้สอบบัญชีต้องเก็บชั่วโมง CPD ให้ครบภายในปีปฏิทิน แล้วต้องยื่นชั่วโมง CPD ภายในวันทำการสุดท้ายของปีนั้นๆ ด้วย

ผู้สอบบัญชียื่นชั่วโมง CPD เมื่อไร
ผู้สอบบัญชียื่นชั่วโมง CPD เมื่อไร

ผู้สอบบัญชียื่นชั่วโมง CPD ไม่ครบ ไม่ทัน มีโทษไหม?

กรณีที่ผู้สอบบัญชียื่นชั่วโมง CPD ไม่ครบ หรือว่าไม่ทันอันนี้เป็นเรื่องที่ค่อนข้างซีเรียส ถ้าสมมติเป็นผู้สอบบัญชีที่ลงลายมือชื่อในงบการเงินนะคะ

แม้ว่ายื่นชั่วโมงไม่ครบนั้นไม่มีค่าปรับเหมือนกับผู้ทำบัญชี แต่สภาวิชาชีพบัญชีอาจมีคําสั่งพักใช้ใบอนุญาตและอาจกําหนดเงื่อนไขให้ผู้สอบบัญชีปฏิบัติเพิ่มเติมก็เป็นได้ ซึ่งยุ่งยากวุ่นวายพอสมควร

รายละเอียดวิธีแก้ไขปัญหาถ้าผู้สอบบัญชียื่นชั่วโมง CPD ไม่ครบให้ทำตามนี้: CPD ผู้สอบบัญชี เก็บไม่ครบ ยื่นไม่ทัน แก้ไขอย่างไร?

แต่ทางที่ดี เราแนะนำว่าเช็คจำนวนชั่วโมงดีๆ และยื่นชั่วโมง CPD ให้ครบไว้แต่เนิ่นๆ จะดีที่สุดค่ะ

ข้อควรระวังในการเก็บชั่วโมง CPD

จากประสบการณ์การให้อบรม CPD ของ CPD Academy มากว่า 5 ปี เรามีข้อควรระวังสำหรับผู้สอบบัญชีมาแนะนำตามนี้ ถ้าใครเป็นผู้สอบบัญชีมือใหม่ต้องเช็คดีๆ เลยอย่าให้ผิดพลาดเด็ดขาดนะคะ

  • ต้องอบรมเก็บชั่วโมง CPD กับสถาบันและหลักสูตรที่ผ่านการรับรองจากสภาวิชาชีพบัญชีเท่านั้น
  • อบรมเสร็จควรแจ้งชั่วโมง CPD ไว้เลย
  • เมื่อแจ้งชั่วโมง CPD ไว้แล้ว ควรตรวจสอบหลังจากนั้นด้วยว่า ชั่วโมงที่แจ้งไปขึ้นเป็น “อนุมัติ” ครบถ้วนก่อนสิ้นปีไหม
  • อย่ารอให้ถึงสิ้นปีถึงแจ้งชั่วโมง เพราะถ้าอ่านกฎหมายดีๆ เค้าระบุไว้ว่าเป็นวันทำการสุดท้ายของปีนะคะ (คนละวันกับผู้ทำบัญชีอย่าจำสับสนเด็ดขาด)

และทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่ควรรู้สำหรับการเก็บชั่วโมง CPD ประจำปีของผู้ตรวจสอบบัญชี (CPA) ถ้าอยากประกอบวิชาชีพนี้ไปนานๆ อย่าลืมเก็บชั่วโมง CPD เป็นประจำทุกปี เพราะนอกจากจะได้รับความรู้แล้ว เรายังสามารถทำความรู้นั้นไปต่อยอดในการตรวจสอบบัญชีกิจการได้ด้วยค่ะ และปีนี้ถ้าใครยังอบรมไม่ครบ ลองดูคอร์สอบรม CPD ออนไลน์จาก CPD Academy ได้เลยนะคะ


ไม่อยากพลาดบทความดีๆ ด้านบัญชี-ภาษี และโปรโมชั่นพิเศษ กดสมัครรับข่าวสารที่นี่

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า