สำหรับท่านที่กำลังตัดสินใจในเส้นทางสายอาชีพว่าจะเลือกเส้นทางไหนดี เชื่อว่าผู้ที่มาอ่านบทความนี้จะต้องมีตัวเลือกเป็นเส้นทางสายบัญชีอย่างแน่นอน ในบทความนี้ก็จะมาพูดถึงเกี่ยวกับหากเพื่อนๆเลือกบัญชีเป็นเส้นทางอาชีพ จะต้องพบกับงานอะไรบ้าง สิ่งที่ควรรู้และความสำเร็จในอาชีพบัญชีจะเป็นอย่างไร ลองมาดูกันค่ะ
อาชีพบัญชีคืออะไร มีหน้าที่ต้องทำอะไรบ้าง
อาชีพบัญชี เป็นอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการบันทึกและจัดการข้อมูลซื้อ ขาย จ่านเงิน รับเงิน สินค้าคงเหลือ รวมถึงธุรกรรมอื่นๆในกิจการทั้งหมด หน้าที่หลักของบัญชีมีดังนี้
หน้าที่นักบัญชี | ต้องทำอะไรบ้าง |
1. การบันทึกบัญชี | ชื่อก็บอกตรงตัว ตรงสาขาของเราเลยนะคะ การบันทึกบัญชีเป็นการบันทึกข้อมูลทางการเงิน เช่น รายรับ รายจ่าย และธุรกรรมทางการเงินอื่นๆที่เกิดขึ้นทั้งหมดในกิจการ |
2. วิเคราะห์และรายงานทางการเงิน | นอกจากที่เราจะบันทึกบัญชีอย่างเดียว หากเราสามารถวิเคราะห์ข้อมูลทางการเงินเพื่อให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ผู้บริหารและหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้องได้ด้วยแล้ว อาจจะเป็นนักบัญชีคนโปรดของผู้บริหารเลยก็ได้นะคะ |
3. การจัดทำงบการเงิน | ข้อนี้ก็จะขาดไม่ได้เลย นอกจากที่บันทึกรายการต่างๆลงบัญชีแล้วก็ต้องสามารถประมวลผลได้ ในการประมวลผลของนักบัญชี ก็คือการจัดทำงบการเงินนั่นเอง การจัดทำงบการเงิน เช่น งบแสดงฐานะการเงิน งบกำไรขาดทุน งบแสดงการเปลี่ยนแปลงของผู้ถือหุ้น และยังมีงบกระแสเงินสดที่ต้องจัดทำให้เป็นเพราะผู้บริหารบางท่านก็อาจจะใช้งบนี้ในการบริหารงานค่ะ |
4. การจัดการภาษี | ด้วยที่ว่าบัญชีและภาษีเป็นของคู่กัน หน้าที่ในการ เพื่อให้องค์กรสามารถประหยัดภาษีและจัดการภาษี ก็ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบ กฎหมายได้อย่างถูกต้องด้วยเช่นกัน |
ที่กล่าวมานะคะ ก็เป็นหน้าที่หลักๆของนักบัญชี แต่ว่ายังมีงานบัญชีอื่นๆ ที่หน้าที่ของงานก็แตกต่างกันไปอีกอย่างสิ้นเชิงเลย
นอกจากนักบัญชีแล้ว จะมีอาชีพที่เกี่ยวกับบัญชีอื่นๆอะไรที่น่าสนใจไปค้นหาได้ที่บทความนี้เลยค่ะ
อาชีพบัญชี มีอะไรบ้าง งานแบบไหนเหมาะสมกับเรา
เหตุใดควรเลือกบัญชีเป็นอาชีพ
การเปิดโอกาสให้เติบโตในกิจการ
การเลือกอาชีพบัญชีเปิดโอกาสในองค์กรและธุรกิจให้มากขึ้นดังนี้
- โอกาสทำงานในแผนกบัญชีของกิจการ โดยเป็นผู้รับผิดชอบในการบันทึกและตรวจสอบข้อมูลทางการเงิน รวมถึงการจัดทำงบการเงินและรายงานทางการเงินให้แก่ผู้บริหารโดยตรง
- โอกาสทำงานในการวิเคราะห์ข้อมูลทางการเงินเพื่อให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ผู้บริหาร รวมถึงการวางแผนทางการเงินเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจทางธุรกิจ
- โอกาสทำงานในระดับสูงขึ้น โดยจะมีบทบาทในการวางแผนและดำเนินกิจกรรมทางการเงินเพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และยุทธศาสตร์ของกิจการ
- โอกาสทำงานเป็นที่ปรึกษาทางบัญชีและภาษี โดยให้คำปรึกษาและคำแนะนำเพื่อช่วยให้ผู้บริหารตัดสินใจที่มีความสอดคล้องกับกฎหมาย
การเลือกอาชีพบัญชีนี้จะเปิดโอกาสให้คุณมีศักยภาพในการพัฒนาทักษะและความรู้ทางด้านบริหารแล้ว และมีโอกาสที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืนและเจริญรุ่งเรืองอย่างยั่งยืนในกิจการที่คุณทำงานอยู่ด้วยนะคะ
โอกาสมีอัตราผลตอบแทนที่สูง
อาชีพบัญชีถือว่าเป็นอาชีพที่มีผลตอบแทนที่ดี ยิ่งถ้าเป็นองค์กรขนาดใหญ่และมีความมั่นคง โอกาสในการได้รับตำแหน่งงานที่มีเงินเดือนและสวัสดิการที่สูงก็จะมีมากขึ้นไปด้วย
เราสามารถพัฒนาทักษะและความรู้ในงานบัญชีเพื่อเปิดโอกาสในการเติบโตในสายงานอยู่เสมอ อนาคตอาจมีโอกาสเป็นผู้บริหารทางบัญชีและการเงินที่มีระดับสูงกว่าก็ได้นะคะ
และความรู้บัญชีและการเงิน ก็เป็นพื้นฐานที่ดีสำหรับผู้บริหารเลยค่ะ ผู้บริหารหลายๆท่านก็เรียนจบและทำงานเกี่ยวกับธุรกิจจนกระทั่งได้เป็น CEO CFO หลายๆคน
ยกตัวอย่างเช่น คุณสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท AIS หนึ่งในบริษัทด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอันดับต้นของไทย เรียนจบปริญญาตรีจากคณะพาณิชยศาสตร์การบัญชีด้วยนะคะ
มีการเรียนรู้และพัฒนาอยู่ตลอด
อาชีพบัญชีเป็นอาชีพที่ต้องการเรียนรู้และพัฒนาตลอดเวลา เนื่องจากสาขาวิชานี้มีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาอย่างต่อเนื่องในระบบบัญชีและกฎหมาย การเรียนรู้และติดตามข่าวสารที่เกี่ยวข้องเป็นสิ่งสำคัญเพื่อปรับตัวและปรับปรุงทักษะให้เข้ากับสภาวะแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว และกฎหมายก็ยังบังคับอีกด้วยว่า นักบัญชี และผู้ตรวจสอบบัญชีจะต้องมีชั่วโมงการพัฒนาตนเอง (การเก็บชั่วโมง CPD) ตามที่กำหนดให้ครบทุกปีอีกด้วย
ขั้นตอนในการเริ่มต้นอาชีพในการเป็นบัญชี
ใครที่อยากลองเริ่มต้นอาชีพบัญชี ลองไปดูกันค่ะว่ามีขั้นตอนอย่างไร
ขั้นตอนที่ 1 เริ่มต้นศึกษาและค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับอาชีพบัญชี
ศึกษาเกี่ยวกับข้อกฎหมาย ข้อปฏิบัติที่เราต้องทำ หรือแนวทางการทำงานต่างๆ และลองสำรวจตัวเองดูค่ะว่าเราจะไปในแนวทางไหน แต่ว่าทั้งนี้ทั้งนั้น ถ้าหากว่าเราไม่ได้ลองดูก่อน เราก็จะไม่มีทางรู้ได้เลยว่า เราชอบงานไหน หรือไม่ชอบงานไหนนะคะ
ยกตัวอย่างเว็บไซต์ที่เป็นการเริ่มต้นศึกษาค้นคว้ากันค่ะ อันแรกเลยคือ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพราะว่าเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลนักบัญชีนั่นเอง ถัดมา สภาวิชาชีพบัญชี และเราขอแนะนำเว็บไซต์ของเราเอง CPD Academy ที่รวบรวมเรื่องสำคัญที่ต้องรู้เกี่ยวกับการเป็นนักบัญชีไว้ให้แล้วค่ะ
ขั้นตอนที่ 2 การเลือกสถาบันการศึกษาที่เหมาะสม
ข้อนี้สำหรับน้องๆนักศึกษาที่กำลังเข้ามาอ่าน หรือว่าน้องๆที่กำลังเล็งสาขาการบัญชีเพื่อเป็นตัวเลือกในการเรียนต่อในมหาวิทยาลัย หากสนใจในอาชีพนี้ ก็อยากให้เลือกสถาบันการศึกษาที่มีภาควิชาบัญชีเปิดสอนและสามารถออกวุฒิบัญชีบัณฑิตได้ค่ะ
ขั้นตอนที่ 3 การเข้าร่วมคอร์สอบรมตามกฎหมายที่กำหนด
ข้อนี้สำหรับผู้ที่จบการศึกษามาแล้ว ตัดสินใจที่จะเป็นนักบัญชี ต้องมีการเก็บชั่วโมงอบรม CPD ก็ต้องเลือกสถาบันที่สามารถเพิ่มทักษะบัญชีหรือทักษะอื่นๆให้เราเพื่อไปใช้งานได้จริง และที่สำคัญ ต้องดำเนินการเก็บชั่วโมงพัฒนาความรู้อย่างต่อเนื่อง CPD ได้ด้วย
ขั้นตอนที่ 4 วิธีการกำจัดความกลัวที่จะเริ่มต้นเป็นนักบัญชี
กลัวไม่มีลูกค้า
ดังนั้น หากคุณเป็นผู้ทำบัญชีตัวเล็กๆ ที่อยากเริ่มรับงานให้เริ่มต้นหาลูกค้าจากลูกค้าขนาดเล็ก ฝึกฝีมือไปก่อน เพราะสามเหตุผลนี้
- ธุรกิจ SMEs เติบโตอย่างมากในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีสองปีที่ผ่านมาเพราะรัฐบาล สนับสนุนให้เจ้าของธุรกิจจดทะเบียนในรูปแบบนิติบุคคลมากขึ้น โดยใช้อัตราภาษีมาจูงใจ ค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนลดลง ฯลฯ จากสถิติของบริษัทจดทะเบียนในประเทศไทยมีประมาณเกือบ 600,000 ราย และมีการจดทะเบียนเพิ่มขึ้นเกือบ 70,000 รายต่อปี ที่สำคัญไปกว่านั้น 55% ของบริษัทเหล่านี้ ใช้บริการผู้ทำบัญชีอิสระหรือสำนักงานบัญชี เพราะพวกเค้าไม่มีแผนกบัญชีเป็นของบริษัทเอง ดังนั้น จึงเป็นโอกาสสำคัญอย่างยิ่งในการเริ่มต้นรับงานบัญชีสำหรับผู้ทำบัญชีมือใหม่
- บริษัทเล็กๆ ตัดสินใจเลือกใช้บริการง่าย กว่าบริษัทใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเราสามารถให้คำปรึกษาแก่พวกเขาได้ เท่ากับว่าเค้าจ่ายค่าทำบัญชีพร้อมๆ กับค่าที่ปรึกษาในราคาที่ย่อมเยาว์ เมื่อเปรียบเทียบกับบริษัทบัญชียักษ์ใหญ่อย่างพวก Big4 แล้ว ค่าที่ปรึกษาของพวกเขานั้นราคาสูงลิบลิ่ว เชื่อได้เลยว่าบริษัท SMEs ที่เพิ่งเริ่มต้นใหม่นั้น คงรับไม่ไหวอย่างแน่นอน
- ธุรกิจไม่ซับซ้อนทำงานง่าย คุยกับลูกค้าไม่กี่คน เช่น บางธุรกิจอาจจะเป็นเจ้าของคนเดียว ดูแลเองคนเดียว เท่านั้น เราไม่จำเป็นต้องคุยกับหลายๆ แผนก อีกทั้งปริมาณงานที่เราต้องทำนั้น ยังไม่มากมายมหาศาลเท่ากับบริษัทใหญ่ๆ ใครที่รับงานแบบ Part-time ก็สบายใจได้เลยล่ะว่าบริหารจัดการเวลาได้ชัวร์
กลัวความรู้ไม่พอ
หลายคนไม่เชื่อมั่นในตัวเอง คิดว่าตัวเองเนี่ยมีความรู้ไม่ดีพอ จึงไม่มั่นใจที่จะรับงานบัญชี จริงๆ แล้วเราเนี่ยเรียนจบบัญชีมา ไม่ว่าจะ ปวช. ปวส. หรือปริญญาตรี พวกเรามีความรู้พื้นฐานเพียงพออยู่แล้วนะคะ เดบิต/เครดิต พื้นฐานเป็นกันทุกคน อ่านงบเป็น การปรับปรุงรายการปิดบัญชีก็เรียนกันมาแล้ว พื้นฐานแค่นี้ ถามว่าทำบัญชีได้มั้ย คำตอบก็คือ ทำได้ สบายมาก
เหลือเพียงแค่ในระหว่างทาง เราเก็บเกี่ยวประสบการณ์หาความรู้ภาษีบ้าง บัญชีบ้างใส่ตัวเข้าไปในทุกๆ วัน เราก็จะชำนาญขึ้นเอง และที่สำคัญต้องเลือกใช้โปรแกรมบัญชีที่เหมาะสม เช่น สามารถใช้งานง่าย ประหยัดเวลาการทำงาน และช่วยให้เรา Connect กับลูกค้าได้อย่างไม่มีอุปสรรค
กลัวการรับมือกับลูกค้า
เป็นที่รู้กันดีว่า ลูกค้านั้นมีมากมายหลากหลายสไตล์ ง่ายบ้าง ยากบ้าง เป็นเรื่องปกติ สังเกตง่ายๆ ว่าถ้าเราเข้ากรุ๊ป Social Media ของผู้ทำบัญชี เราก็จะเห็นว่าเพื่อนๆร่วมวิชาชีพมาบ่นใน Group กันพอสมควร ไม่ว่าจะเป็น
- ลูกค้าไม่ยอมส่งเอกสารให้
- ลูกค้าไม่เข้าใจว่าทำยังไง
- ลูกค้าไม่อยากเสียภาษีเยอะ
- ลูกค้าเบี้ยวค่าทำบัญชี บลาๆๆ
สิ่งเหล่านี้ก็เป็นร้อยแปดพันเก้าปัญหา ที่ต้องเรียนรู้และแก้ไขไปพร้อมๆ กัน แต่ที่สำคัญเนี่ย อยากจะแนะนำว่าอย่าเพิ่งท้อใจกับอุปสรรคเหล่านี้ เพราะว่ามันคือการฝึกฝนให้คุณเก่งขึ้นนั้นเอง
ทั้ง 3 ความกลัวนี้ เป็นความกลัวที่ผู้ทำบัญชีมือใหม่ทั้งหลายกำลังเผชิญ แต่หากเราไม่เริ่มต้นหาทางแก้ปัญหาหรือว่าก้าวข้ามผ่านความกลัวนี้ให้ได้ อาชีพนี้ก็อาจะไม่ได้เริ่มต้น เราเชื่อเสมอว่าหากคุณมีความตั้งใจ เชื่อมั่นในตัวเอง พร้อมที่จะเผชิญปัญหาที่เข้ามา และเลือกใช้เครื่องมือทำบัญชีที่เหมาะสมกับการเริ่มต้นแล้วล่ะก็ อนาคตในอาชีพนี้ก็จะสดใสแน่นอนค่ะ
ความสำเร็จในอาชีพบัญชี
การเตรียมความพร้อมสำหรับโอกาสที่เกิดขึ้น
การเตรียมความพร้อมสำหรับคนที่ทำงานและรู้สึกว่ามันยาก นั่นหมายถึง คุณกำลังที่พัฒนาตัวเองอยู่ ถ้าเราพัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ มันก็คือ เรากำลังเตรียมความพร้อมที่จะรับงานที่ยากขึ้นได้ ซึ่งนั่นแหละเป็นโอกาสสำคัญที่เราอาจจะเติบโตได้ในอนาคต
นอกจากการทำงานแล้ว การเตรียมความพร้อมสำหรับโอกาสก้าวหน้าในสายอาชีพบัญชีสามารถทำได้โดยการติดตามและเข้าร่วมการฝึกอบรมที่เกี่ยวข้องกับอาชีพ การอ่านหนังสือ เข้าร่วมกิจกรรมและองค์กรที่เกี่ยวข้องกับอาชีพบัญชี และติดต่อเพื่อนร่วมงานหรือผู้เชี่ยวชาญเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความรู้ในสายงาน
การเป็นผู้นำในอาชีพบัญชี
เมื่อเลือกบัญชีแล้ว ก็ต้องไปให้สุดทาง การเป็นผู้นำในอาชีพบัญชีเป็นสิ่งสำคัญเนื่องจากมีบทบาทที่สำคัญในการสร้างและบริหารจัดการทีมบัญชี การเป็นผู้นำในอาชีพบัญชีจะทำได้ยังไงบ้างลองมาดูกัน
การเป็นผู้นำในอาชีพบัญชี | วิธีการปฏิบัติ |
ความเชี่ยวชาญทางการเงินและบัญชี | ผู้นำควรมีความรู้และทักษะทางการเงินและบัญชีที่เข้มแข็ง เข้าใจหลักการทางการบัญชีและสามารถใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการข้อมูลทางการเงินได้ |
ทักษะการบริหารทีม | ผู้นำควรมีทักษะในการบริหารทีมงานบัญชี สามารถกำหนดและจัดระเบียบงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างบรรยากาศที่สร้างสรรค์และสนับสนุนการทำงานทีม และสามารถแก้ไขข้อขัดแย้งและปัญหาที่เกิดขึ้นในทีมได้ |
ความรับผิดชอบ | ผู้นำควรมีความรับผิดชอบในการบริหารจัดการข้อมูลทางการเงินอย่างเคร่งครัด และให้ความสำคัญกับความถูกต้องและความน่าเชื่อถือในข้อมูลทางการเงิน |
การสื่อสารและความเข้าใจ | ผู้นำควรมีทักษะการสื่อสารที่ดีเพื่อสื่อสารกับทีมงานและผู้ที่เกี่ยวข้องในเรื่องการเงิน สามารถสื่อสารและสื่อถึงความสำคัญของข้อมูลทางการเงินได้อย่างชัดเจน |
การพัฒนาตนเองและทีม | ผู้นำควรมีการตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาทักษะและความรู้ของตนเองและสมาชิกในทีม สนับสนุนให้สมาชิกในทีมมีโอกาสพัฒนาและเติบโตในสายอาชีพบัญชี |
การตระหนักถึงความสำคัญของจรรยาบรรณ | ผู้นำควรเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องของจรรยาบรรณทางอาชีพ ปฏิบัติตามหลักและกฎเกณฑ์ทางอาชีพอย่างสม่ำเสมอและให้คำปรึกษาทางกฎหมายทางการเงินอย่างถูกต้อง |
ผู้นำในอาชีพบัญชีมีบทบาทสำคัญในการบริหารจัดการข้อมูลทางการเงินและให้คำปรึกษาทางการเงินที่มีคุณภาพ การพัฒนาทักษะและความรู้ที่เกี่ยวข้องกับอาชีพบัญชีเป็นสิ่งสำคัญในการเตรียมตัวเพื่อเป็นผู้นำที่มีความสำเร็จในสายอาชีพบัญชีนะคะ
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการเป็นบัญชี
Q : ความแตกต่างระหว่างบัญชีกับการเงิน
A : บัญชีและการเงินเป็นสองสาขาที่เกี่ยวข้องกันแต่มีความแตกต่างกันดังนี้
บัญชี
- บัญชีเน้นไปที่การบันทึกและการจัดเก็บข้อมูลทางการเงิน เช่น บันทึกธุรกรรมทางการเงิน เตรียมรายงานการเงิน เป็นต้น
- การบัญชีมีการใช้หลักสูตรทางคณิตศาสตร์และกฎหมายทางการเงินเพื่อทำงาน เพื่อคำนวณผลกำไรขาดทุน หรือเพื่อประเมินการเงินของกิจการ
- การบัญชีเกี่ยวกับการรายงานสถานการณ์ทางการเงินให้กับผู้บริหารและผู้เกี่ยวข้อง เพื่อให้ข้อมูลสำคัญในการตัดสินใจทางธุรกิจ
การเงิน
- การเงินเน้นไปที่การวางแผนทางการเงินและการบริหารทรัพยากรทางการเงิน เช่น การวางแผนงบประมาณ การจัดการเงินสด การวิเคราะห์การลงทุน เป็นต้น
- การเงินมุ่งเน้นการตรวจสอบและควบคุมทางการเงิน เพื่อให้มีการใช้ทรัพยากรทางการเงินอย่างมีประสิทธิภาพและป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน
- การเงินเกี่ยวข้องกับการวางแผนการเงินส่วนบุคคล การเงินส่วนบุคคล เพื่อการเงินที่มั่นคงและการบรรลุเป้าหมายทางการเงิน
สรุปแล้ว บัญชีเน้นไปที่การบันทึกและจัดเก็บข้อมูลทางการเงิน ในขณะที่การเงินเน้นไปที่การวางแผนและการบริหารทรัพยากรทางการเงินเพื่อการตัดสินใจและการควบคุมทางการเงินที่มีประสิทธิภาพนั่นเองค่ะ
Q : เลือกบัญชีแล้ว มีความจำเป็นต้องเชี่ยวชาญทางภาษีหรือไม่
A : นักบัญชีที่มีความเชี่ยวชาญทางภาษีเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากในสายอาชีพบัญชี เนื่องจากภาษีเป็นเรื่องที่ซับซ้อนและมีความยุ่งยาก ซึ่งถ้าเราไม่รู้วิธีการคำนวณภาษีก็อาจจะทำให้งบการเงินที่เราจัดทำนั้นแสดงตัวเลขไม่ถูกต้องได้ค่ะ
การมีนักบัญชีที่มีความเชี่ยวชาญทางภาษีจะช่วยให้กิจการนั้น ประสบความสำเร็จในการปฏิบัติตามกฎหมายภาษี และสามารถปรับปรุงงบการเงินให้แสดงตัวเลขที่ถูกต้องและยอดจ่ายภาษีถูกต้องที่สุด ไม่เสี่ยงโดนตรวจสอบย้อนหลังด้วยนะคะ
บทสรุป
เราได้พูดถึงเกี่ยวกับเส้นทางอาชีพบัญชีไปแล้ว ตั้งแต่อาชีพบัญชีคืออะไร เหตุใดจึงต้องเลือก ขั้นตอนการเข้ามาเป็นนักบัญชี และถ้าอยากสำเร็จในอาชีพนักบัญชีต้องทำอะไรบ้าง ถ้าหากใครอ่านแล้วมองว่าอาชีพนี้เป็นที่น่าสนใจ คุณคิดถูกแล้วค่ะ เพราะเส้นทางนี้ได้ฝึกฝนตัวเองอยู่ตลอดเวลา เท่ากับว่าเราไม่มีวันอยู่ที่เดิมแน่ๆ รับรองเลยว่า หากใครตั้งใจฝึกฝนและเรียนรู้สายงานบัญชีนี้ ไม่ผิดหวังแน่นอนค่ะ
ใครที่กำลังเริ่มต้นเป็นนักบัญชี CPD Academy ยังมีอบรมออนไลน์ มีคอร์สมากมายต่างๆเลือกเรียน แถมยังเก็บชั่วโมง CPD ได้ด้วยนะ
ลองทักมาคุยกันที่ช่องทางนี้ได้นะคะ
Line: @cpdacademy หรือ https://lin.ee/36U1ks0Y