อยากเปิดธุรกิจสำนักงานบัญชี สิ่งที่ต้องเข้าใจไม่ใช่แค่การหาลูกค้าให้ได้เยอะๆ หรือหาทีมงานคุณภาพมาช่วยงานเท่านั้น แต่ว่าเจ้าของสำนักงานบัญชีต้องรู้เกี่ยวกับกฎหมายด้วยเช่นกันค่ะ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ การขึ้นทะเบียนสำนักงานบัญชี กับสภาวิชาชีพบัญชีนั่นเอง
สำหรับคนที่อยากเปิดสำนักงานบัญชี แต่ไม่รู้ว่าจะเริ่มยังไง วันนี้เราจะมาสอน วิธีการขึ้นทะเบียน สำนักงานบัญชี ให้ทุกคนทำตามกันแบบ Step by step กันไปเลย
ขึ้นทะเบียนสำนักงานบัญชีต้องใช้อะไรบ้าง?
ก่อนที่เราจะไปขึ้นทะเบียน อยากให้เจ้าของสำนักงานบัญชี ทำความเข้าใจ 2 เรื่องนี้ดีๆ เลย เพราะเป็นเรื่องที่สำคัญมากค่ะ
1. การจดทะเบียนนิติบุคคล
การจะเป็นสำนักงานบัญชี หมายความว่า เราก็เป็นนิติบุคคลประเภทหนึ่ง สำนักงานบัญชี ก็เหมือนบริษัทหนึ่ง ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการรับทำบัญชีรับตรวจสอบบัญชี และแน่นอนว่าถ้าจะขึ้นทะเบียน ก็ต้องผ่านการจดทะเบียนนิติบุคคลมาก่อน
โดยกฎหมายระบุว่า นิติบุคคลที่ให้บริการด้านการสอบบัญชี หรือด้านการทำบัญชี ตามมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพบัญชี พ.ศ. 2547 ต้องดำเนินการจดทะเบียนต่อสภาวิชาชีพบัญชี
ดังนั้นใครที่เปิดบริษัท แล้วรับงานทำบัญชี หรือตรวจสอบบัญชี หากคุณไม่ขึ้นทะเบียนกับสภาวิชาชีพบัญชี ให้รีบไปดำเนินการโดยด่วนเลยนะ
2. แจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับหลักประกัน
สำนักงานบัญชีต้องมีหลักประกันเพื่อประกันความรับผิดต่อบุคคลที่สามจำนวนไม่น้อยกว่า 3% ของทุน ณ วันที่ยื่นจดทะเบียน และแจ้งรายละเอียดหลักประกัน พร้อมกับการยื่นจดทะเบียนต่อสภาวิชาชีพบัญชี
ในปีถัดๆ ไป กฎหมายกำหนดว่าต้องมีหลักประกันไม่น้อยกว่า 3% ของทุนหรือรายได้แล้วแต่อะไรจะมากกว่า
หลักประกันความรับผิดนี้ มีไว้เพื่อป้องกันปัญหาที่จะตามมาภายหลังจากการให้บริการ เช่น หากลูกค้าของสำนักงานบัญชีถูกฟ้องร้อง สำนักงานบัญชีก็จะโดนหางเลขไปด้วย ดังนั้น สำนักงานบัญชีจึงจำเป็นต้อง มีเงินสำรอง หรือมีหลักประกันเอาไว้ เผื่อกรณีฉุกเฉิน ที่เกี่ยวกับการฟ้องร้องทางธุรกิจ
หลักฐานการขึ้นทะเบียนสำนักงานบัญชี
หัวข้อก่อนหน้านี้เราได้ทราบกันไปแล้ว หลักฐานที่สำคัญที่สุด 2 อย่าง ก็คือข้อมูลการจดทะเบียนนิติบุคคล และหลักประกันที่ต้องมี แต่ยังไม่หมดเพียงเท่านี้นะ เรายังต้องใช้หลักฐานอื่นอีก เราไปดูกันว่า หลักฐานที่ใช้ในการขึ้นทะเบียนมีอะไรบ้าง
- หนังสือรับรองการจดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เป็นนิติบุคคลไม่เกิน 3 เดือน
- หลักฐานการชำระค่าจดทะเบียนบุคคลและค่าใช้จ่ายดำเนินการแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับหลักประกัน
- ข้อมูลในงบกำไรขาดทุนย้อนหลัง 1 ปี หรือเท่าที่มีในกรณีที่เป็นนิติบุคคลตั้งใหม่
- สำเนาหลักประกัน
- สำเนาใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว(กรณีต่างด้าว)
- หนังสือมอบอำนาจให้กระทำการแทนนิติบุคคล(ถ้ามี)
ขั้นตอนการขึ้นทะเบียนสำนักงานบัญชี
เอาล่ะ! มาถึงขั้นตอนการจดทะเบียน การจดทะเบียนนั้น ไม่ได้ยุ่งยากอย่างที่เราคิด งานใหญ่ของเราคือเตรียมเอกสารให้พร้อม ส่วนขั้นตอนการจดทะเบียนนั้น มีดังนี้
- ดาวน์โหลดแบบฟอร์ม คำขอจดทะเบียนของนิติบุคคล (สวบช.5) และคำขอแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับหลักประกัน (สวบช.5.3)
- กรอบแบบฟอร์ม และแนบเอกสารต่าง ๆ ให้ครบถ้วน
- นำส่งสภาวิชาชีพบัญชี โดยสามารถนำส่งด้วยตัวเอง หรือส่งไปรษณีย์ก็ได้
หน้าที่ของนิติบุคคล ที่จดทะเบียนกับสภาวิชาชีพบัญชี
เมื่อขึ้นทะเบียนเรียบร้อยแล้ว ไม่ได้แปลว่าความรับผิดชอบของสำนักงานบัญชีสิ้นสุดนะ ตามพระราชบัญญัติวิชาชีพบัญชี พ.ศ 2547 สำนักงานบัญชีมีหน้าที่ต้องทำ ดังต่อไปนี้
- จัดให้มีหลักประกันเพื่อประกันความรับผิดต่อบุคคลที่สาม
- กรณีที่ประกอบกิจการสอบบัญชี บุคคลซึ่งมีอำนาจลงนามผูกพัน ต้องเป็น CPA
- กรณีที่ผู้สอบบัญชีต้องรับผิดชอบต่อบุคคลที่สาม ให้สำนักงานบัญชี ร่วมรับผิดชอบด้วยอย่างลูกหนี้ ร่วม หากยังไม่สามารถชำระค่าเสียหายได้ครบจำนวน ให้หุ้นส่วน หรือกรรมการผู้มีอำนาจลงนาม ร่วมรับผิดจนครบจำนวน เว้นแต่พิสูจน์ได้ว่า ไม่ได้มีส่วนรู้เห็น หรือยินยอมในการกระทำนั้น
การต่ออายุ และการแจ้งหลักประกันประจำปี
เมื่อเราขึ้นทะเบียน กับสภาวิชาชีพบัญชีแล้ว ก็เสมือนว่า สำนักงานบัญชีนั้นเป็นสมาชิกของสภาวิชาชีพบัญชี เรียบร้อยแล้ว ซึ่งต้องมีการชำระค่าธรรมเนียมรายปี สำหรับการต่ออายุทะเบียนนิติบุคคล และแจ้งหลักประกันประจำปี โดยขั้นตอนที่ต้องทำทุกปี มีดังนี้
1. การต่ออายุ
สำนักงานบัญชีต้องต่ออายุทุก 1 ปี นับจากวันจดทะเบียนกับสภาวิชาชีพบัญชี โดยขอต่ออายุภายใน 3 เดือน ก่อนใบทะเบียนหมดอายุ โดยทำตามขึ้นตอนนี้เลยจ้า
- ดาวน์โหลดแบบฟอร์มคำขอต่ออายุทะเบียนนิติบุคคล (สวบช.5.2) และกรอกข้อมูลให้ครบถ้วน
- ชำระค่าจดทะเบียนต่ออายุทะเบียนนิติบุคคล 2,000 บาท
- นำส่งสภาวิชาชีพบัญชี โดยสามารถนำส่งด้วยตัวเอง หรือส่งไปรษณีย์ก็ได้
2. การแจ้งหลักประกันประจำปี
อีกเรื่องที่ขาดไม่ได้ก็คือ การแจ้งรายละเอียดหลักประกันประจำปี โดยต้องยื่นภายใน 60 วัน นับแต่วันสิ้นรอบปีบัญชีทุกปี ตามขั้นตอนนี้เลย
- ดาวน์โหลดแบบฟอร์ม คำขอแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับหลักประกัน เพื่อประกันความรับผิดต่อบุคคลที่สาม (สวบช.5.3) และกรอกข้อมูลให้ครบถ้วน
- แนบเอกสาร
- สำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล ไม่เกิน 3 เดือน
- สำเนาหลักประกัน
- สำเนาใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (กรณีต่างด้าว)
- หนังสือมอบอำนาจให้กระทำการแทนนิติบุคคล (ถ้ามี)
- ชำระค่าใช้จ่ายดำเนินการ 400 บาท
- นำส่งสภาวิชาชีพบัญชี โดยสามารถนำส่งด้วยตัวเอง หรือส่งไปรษณีย์ก็ได้
สรุป
ข้อผิดพลาดของสำนักงานบัญชีหลายแห่ง ละเลยที่จะทำตามกฏ ทำให้ลูกค้าหลุดมือไป หรือหนักไปกว่านั้นคือ เป็นสำนักงานบัญชีที่เสี่ยงโดนสรรพากรเพ่งเล็ง
ใครที่อยากเปิดสำนักงานบัญชี ก็ต้องทำให้ถูกต้องตามขั้นตอนเสียก่อน หากเราเริ่มติดกระดุมเม็ดแรกถูกต้อง เชื่อว่าอนาคตเราจะก้าวไปในทิศทางที่ถูกต้อง เป็นสำนักงานบัญชีที่รายได้เพิ่มขึ้น เป็นสำนักงานบัญชีคุณภาพ และประสบความสำเร็จได้อย่างแน่นอน CPD Academy เป็นกำลังใจให้สำนักงานบัญชีมือใหม่ทุกท่านนะคะ
อ่านสรุป 6 เทคนิคการเปิดสำนักงานบัญชีเพิ่มเติมได้ที่นี่
ขอบคุณ: ข้อมูลจากสภาวิชาชีพบัญชี นิติบุคคลที่ประกอบวิชาชีพบัญชี
อบรมบัญชีเก็บชั่วโมง CPD ออนไลน์ง่ายๆ ได้ที่บ้าน
สอบถามได้ที่ Line: @cpdacademy หรือ https://lin.ee/36U1ks0Y