ธุรกิจสำนักงานบัญชีนั้น มีความใกล้ชิดกับทั้งผู้ประกอบการ และสรรพากร เปรียบเสมือนคนที่อยู่ตรงกลาง ระหว่างลูกค้ากับเจ้าหน้าที่สรรพากรเลยก็ว่าได้ ดังนั้นสรรพากร จึงจำเป็นที่จะต้องติดตามการทำงานของสำนักงาน เพราะสำนักงานบางแห่งอาจจะกำลังช่วยลูกค้าของเขาในการหลีกเลี่ยงภาษีอยู่ก็ได้
สำนักงานแบบไหน ที่มีความเสี่ยงโดนสรรพากรเพ่งเล็ง แบบไหนที่สรรพากรกำลังจับตามองอยู่ และพฤติกรรมแบบไหน ที่มีความเสี่ยงถูกสรรพากรตรวจสอบ ถ้าอยากรู้แล้ว ก็ตามมาอ่านทางนี้ได้เลย
ความเสี่ยงในการปฏิบัติหน้าที่ของสำนักงานบัญชี
ลองจินตนาการว่าตัวเองเป็นสรรพากรดูสิ แล้วลองคิดต่อว่า สำนักงานแบบไหนที่มีความเสี่ยงที่สรรพากรควรจะไปตรวจสอบ แน่นอนล่ะว่า สำนักงานก็ต้องมีพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงใช่ไหมล่ะ เรามาดูกันว่าพฤติกรรมแบบไหนที่เป็นพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงกันแน่
การจัดทำเอกสารเท็จ
การจัดทำเอกสารเท็จ เป็นวิธีที่สำนักงาน มักจะทำแล้วคิดว่าจะรอดจากสรรพากรได้ ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะทำเอกสารเท็จขึ้นมาได้ข้างเดียว เช่น สร้างเอกสารค่าใช้จ่ายเท็จขึ้นมา เป็นค่าใช้จ่ายของบริษัทเรา แต่คู่ค้าอีกฝั่งนึงไม่มีเอกสารรายได้ แบบนี้ก็จะรู้ถึงความผิดปกติได้ทันที
การสร้างภาษีซื้อปลอม
โดยการนำใบกำกับภาษีของลูกค้า ออกไปให้กับผู้อื่น ซึ่งจะทำให้ได้ภาษีซื้อเพิ่มขึ้น แต่ลูกค้าก็จะมีภาษีขายเพิ่มขึ้นเช่นกัน ลักษณะนี้นอกจากจะผิดต่อสรรพากรแล้ว ก็ยังติดต่อลูกค้าอีกด้วย ลูกค้าที่ไม่ได้รู้เรื่องอะไรเลย แต่กับมีค่าใช้จ่ายภาษีขายที่เพิ่มขึ้น แบบนี้ก็ไม่ยุติธรรมกับลูกค้าเลยใช่ไหมล่ะ
การสร้างค่าใช้จ่ายปลอม
วิธีนี้ลักษณะจะใกล้เคียงกับการสร้างภาษีซื้อปลอม แต่จะเป็นการสลับเอกสารกัน ระหว่างลูกค้าในสำนักงาน ลูกค้าอีกรายก็จะค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นก็ทำให้เสียภาษีน้อยลง
การแก้ไขจำนวนเงินในใบเสร็จรับเงิน
วิธีนี้หลักการจะคล้ายกับวิธีก่อนหน้าก็คือ แทนที่จะสลับเอกสารกัน ก็แก้ไขตัวเลขในเอกสารแทน เพื่อที่จะทำให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น รายได้ลดลง อย่างไรก็ตามวิธีนี้ก็มีความเสี่ยงสูง เนื่องจากจะทำให้เกิดผลต่างในด้านจำนวนเงินนั่นเอง
การสร้างบริษัทปลอม
โดยการจดทะเบียนนิติบุคคล เพื่อออกใบกำกับภาษีขายให้กับลูกค้า วิธีนี้จะเป็นการสร้างภาษีซื้อให้กับลูกค้า พร้อมกับค่าใช้จ่ายในเวลาเดียวกัน ซึ่งก็ไม่ต่างอะไรกับการสร้างค่าใช้จ่ายปลอม จากบริษัทที่ไม่ได้มีการดำเนินธุรกิจจริง
การตกแต่งตัวเลขทางการเงิน
วิธีนี้จะเป็นวิธีที่สำนักงาน บันทึกบัญชีให้กับลูกค้า ซึ่งไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง หรืออีกความหมายนึงก็คือ สร้างตัวเลขปลอมในงบการเงิน ยกตัวอย่างเช่น บันทึกค่าใช้จ่ายโดยไม่มีเอกสาร ทำตัวเลขงบการเงินให้กำไรน้อย เพื่อนำงบการเงินดังกล่าวไปใช้ในการยื่นภาษีให้กับลูกค้า
บันทึกค่าใช้จ่ายปลอมให้บริษัทลูกค้า (ค่าทำบัญชี สอบบัญชี ของสำนักงาน)
วิธีนี้สำนักงาน จะบันทึกค่าทำบัญชี ค่าสอบบัญชี ให้กับบริษัทลูกค้า(บันทึกค่าใช้จ่ายปลอม) แต่ไม่นำค่าทำบัญชี ค่าสอบบัญชีนั้น มาเป็นรายได้ของสำนักงาน เสมือนว่าบันทึกค่าใช้จ่ายเข้าไป ในงบการเงินของลูกค้า เพื่อทำให้งบการเงินนั้น มีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น เกินกว่าความเป็นจริง
การแสดงรายได้ไม่เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี
เป็นวิธีการที่สำนักงาน ใช้ในการหลีกเลี่ยง การจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยไม่แสดงรายได้ทั้งหมดของกิจการอย่างแท้จริง ซึ่งวิธีนี้หากสรรพากรตรวจพบ มีโอกาสที่จะทำให้ กิจการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มย้อนหลังหลายเท่าตัว
จัดตั้งหน่วยภาษีเพื่อกระจายรายได้
เป็นหนึ่งในวิธี ที่ใช้ในการหลีกเลี่ยงการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งก็ไม่ถูกต้องตามกฎหมายอยู่แล้ว หากสรรพากรพบว่า กิจการมีรายได้จากหลายแหล่ง แต่ถือว่าเป็นกิจการเดียวกัน ก็ต้องนำรายได้มารวมกัน เพื่อเป็นฐานในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
ความเสี่ยงในการปฏิบัติหน้าที่ให้แก่ผู้ประกอบการ
จากข้อก่อนหน้านี้เป็นพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงของสำนักงาน ที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ในการปฏิบัติหน้าที่ และยังมีอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งเป็นการปฏิบัติหน้าที่ของสำนักงาน ร่วมกับผู้ประกอบการ ซึ่งผู้ประกอบการอาจจะได้คำแนะนำ ในการหลีกเลี่ยงภาษีจากสำนักงาน เรามาดูกันว่า มีข้อไหนบ้างที่เป็นพฤติกรรมเสี่ยงเหล่านี้
การตกแต่งยอดรายได้
วิธีการตกแต่งรายได้ เป็นรูปแบบการทำตัวเลขปลอมในงบการเงิน อีกหนึ่งลักษณะ โดยสำนักงานจะให้ลูกค้าขายสินค้า แต่ไม่บันทึกเข้าบริษัท เต็มจำนวน ทำให้รายได้ลดลง ดังนั้น รูปแบบส่วนใหญ่จะมาในลักษณะของการทำให้รายได้ต่ำเกินจริง
การลงรายได้เป็นบางส่วน
สำนักงานจะให้ผู้ประกอบการ ลงรายการขายเพียงบางส่วน เพื่อให้เสียภาษีน้อยลง ซึ่งไม่สอดคล้องกับรายได้ และค่าใช้จ่ายที่แท้จริง หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ การลงรายได้ไม่ครบตามที่เกิดขึ้นจริงนั่นเอง
เปลี่ยนจากการขายผ่อนเป็นเงินสด
สำนักงานจะให้ผู้ประกอบการ ทำเอกสารที่เป็นการขายผ่อนชำระ ให้เป็นการขายเงินสด วิธีนี้จะทำให้จุดรับผิดในการเสียภาษีผิดเพี้ยน ซึ่งจะมีผลต่อช่วงเวลาในการเสียภาษี
การสอดไส้ของที่มี Vat ในการขายสินค้า Non Vat
วิธีนี้สำนักงานจะให้ผู้ประกอบการ ออกเอกสารการขายสินค้า ที่มีภาษีมูลค่าเพิ่ม สอดไส้ไปในสินค้าที่ไม่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เช่น การขายบ้านพร้อมเฟอร์นิเจอร์ แท้จริงแล้วการขายเฟอร์นิเจอร์ต้องคิด Vat แต่การขายอสังหาริมทรัพย์ไม่มี Vat ก็ให้ขายบ้านรวมกับเฟอร์นิเจอร์ไปในรายการเดียวกัน ซึ่งเป็นวิธีที่ผิด
ออกใบกำกับภาษีอย่างย่อ และใส่ตัวเลขต่ำเกินจริง
วิธีนี้สำนักงาน จะให้ผู้ประกอบการ ออกใบกำกับภาษีอย่างย่อ แทนใบกำกับภาษีอย่างเต็มรูป และใส่จำนวนเงินต่ำกว่าความเป็นจริง เพื่อลดรายได้
การตกแต่งยอดค่าใช้จ่าย
วิธีการตกแต่งยอดค่าใช้จ่าย เป็นอีกหนึ่งวิธีทำตัวเลขปลอมในงบการเงิน ซึ่งจะตรงข้ามกับการตกแต่งยอดรายได้ ด้านรายได้คือทำให้รายได้ต่ำเกินจริง แต่ด้านค่าใช้จ่ายจะทำให้ค่าใช้จ่ายสูงเกินจริง อาจมาในรูปแบบของสร้างเอกสารค่าใช้จ่ายปลอม หรือบันทึกค่าใช้จ่ายปลอมเข้ามาเลยก็ได้
การสร้างรายจ่ายปลอม
โดยการให้ผู้ประกอบการจัดหาบุคคลธรรมดา ที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับกิจการ และจ่ายชำระเป็นค่าใช้จ่าย ซึ่งไม่ได้มีการจ่ายเงินจริง
ค่าจ้างที่ปรึกษาปลอม
วิธีนี้จะคล้ายกับวิธีการก่อนหน้า ซึ่งจะเปลี่ยนจากการซื้อขายเป็นการให้บริการที่ปรึกษา โดยอาจไม่ได้มีการให้บริการที่ปรึกษาจริง เป็นเพียงการสร้างรายจ่ายปลอม และไม่มีการจ่ายเงินจริง
การจัดทำทะเบียนทรัพย์สินปลอม
เป็นการสร้างทะเบียนทรัพย์สินปลอม ที่ไม่มีทรัพย์สินอยู่จริง เพื่อคำนวณค่าเสื่อมราคาเป็นค่าใช้จ่ายให้กับกิจการ
สรุป
วิธีการข้างต้นนี้ ที่ผู้เขียนได้กล่าวมาทั้งหมด ผู้เขียน ได้อ้างอิงมาจาก เอกสารสัมมนาของกรมสรรพากร ดังนั้น ใครที่คิดจะไปทำตาม ขอบอกเลยว่าคุณคิดผิด เพราะไม่ว่าคุณจะมีสูตรลับมากมายแค่ไหน ในการหลีกเลี่ยงภาษี สรรพากรนั้นรู้เท่าทันคุณหมดแล้ว ดังนั้น การให้คำปรึกษาที่ผิดกับลูกค้า ก็ถือเป็นหนึ่งในข้อผิดพลาดของสำนักงานเช่นกัน
ในฐานะสำนักงานบัญชีแล้ว เราควรจะเป็นที่ปรึกษาที่ดีให้กับลูกค้า สร้างความเชื่อมั่น สร้างความน่าเชื่อถือ เป็น สำนักงานบัญชีคุณภาพ ให้กับลูกค้า แล้วเราจะกลายเป็นสำนักงานบัญชีที่มีรายได้อย่างยั่งยืน
อ่านสรุป 6 เทคนิคการเปิดสำนักงานเพิ่มเติมได้ที่นี่
อบรมบัญชีเก็บชั่วโมง CPD ออนไลน์ง่ายๆ ได้ที่บ้าน
สอบถามได้ที่ Line: @cpdacademy หรือ https://lin.ee/36U1ks0Y