นักบัญชีทุกคนคงรู้จักภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายว่าเป็นการหักเงินไว้บางส่วนเพื่อนำส่งสรรพากร สำหรับรายจ่ายที่กฎหมายกำหนด แต่หลายคนอาจจะไม่รู้จัก “ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ออกให้ตลอดไป/ออกให้ครั้งเดียว” พอได้ยินชื่อนี้แล้ว เชื่อว่าหลายคนต้องเกิดความสงสัยแน่นอน! ภาษีมันออกแทนกันได้จริงหรอ? เดี๋ยววันนี้ CPD Academy จะมาเล่าให้ฟังกันค่ะ
ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย คืออะไร
ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย คือ ภาษีที่ผู้จ่ายเงิน ต้องหักเงินเอาไว้ จากยอดเงินได้ ของผู้รับเงิน เพื่อนำเงินที่หักไว้ ยื่นภาษีต่อกรมสรรพากร
ในรายละเอียดว่าหักอย่างไร คำนวณแบบไหน เรียนรู้กันง่ายๆ ได้ที่นี่: สรุปภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ฉบับ 101
ยกตัวอย่างเช่น ค่าบริการ 1,000 บาท หัก ณ ที่จ่าย 3% คือ 30 บาท แต่ผู้รับเงินต้องการจำนวน 1,000-30 = 970 บาท
แต่เอ๊ะ! จากหัวข้อของเรา มีการออกแทนภาษีให้กันได้ด้วยนะ ภาษีมันออกแทนกันได้ด้วยหรอ?
ต้องบอกว่า ภาษีหัก ณ ที่จ่ายนี้ สามารถออกแทนกันได้ โดยผู้จ่ายเงิน จะออกภาษีแทน ผู้รับเงิน เพื่อให้ผู้รับเงิน ได้รับเงิน ตามจำนวนที่ตัวเองต้องการ
การออกภาษีหัก ณ ที่จ่ายแทน จะมีด้วยกัน 2 รูปแบบ ดังนี้
1.ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ออกให้ครั้งเดียว
คำว่าออกให้ครั้งเดียว หรือพูดอีกอย่างหนึ่งคือ ออกให้แค่ทอดเดียว
ยกตัวอย่างค่าบริการ 1,000 บาท หัก ณ ที่จ่าย 3% คือ 30 บาท แต่ผู้รับเงินต้องการจำนวน 1,000 บาท
ดังนั้นผู้จ่ายเงินได้ จึงยอมจ่ายเงิน 30 บาท ที่เป็นค่าภาษี แทนผู้รับเงิน
แต่อย่าลืมว่าจากเหตุการณ์นี้ ผู้รับเงินจะต้องมีเงินได้ = 1,000+30 = 1,030 บาท นะคะ
2.ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ออกให้ตลอดไป
คำว่าออกให้ตลอดไป หรืออีกภาษานึงคือ ออกให้ทุกทอด
ปกติแล้ว การออกภาษีแทน 1 ครั้ง เรียกว่า 1 ทอด หากค่าบริการ 1,000 บาท หัก ณ ที่จ่าย 3% ออกแทน 1 ทอดเท่ากับ 30 บาท
แต่สำหรับการออกภาษีแทนให้ทุกทอดนั้น หมายถึง นอกเสียจากผู้รับเงินจะมีเงินได้ 1,000 บาท แล้ว ยังมีเงินได้จาก 30 บาทในส่วนที่ผู้จ่ายเงินออกเงินแทนให้ด้วยค่ะ
พอเจ้าเงิน 30 บาทนี้ ถือเป็นเงินได้ ก็ต้องถูกหักภาษีณที่จ่าย 3% นั่นเอง
เจ้าเงินส่วนนี้จะต้องถูกคำนวณไปเรื่อยๆ จนกว่าเงินได้จะเหลือเท่ากับ 0 ค่ะ… เอาล่ะสิ ทีนี้งงไปกันหมดทั้งคนรับเงินและคนจ่ายเงิน
สรุปอีกครั้งนะ ตั้งใจอ่านดีๆ
ค่าบริการ 1,000 บาท ออกภาษีแทน 1 ครั้ง คือ 30 บาท แต่ 30 บาท ก็เป็นเงินได้ของผู้รับเงิน จึงต้องหัก ณ ที่จ่ายอีก 3% ของ 30 บาท เป็นครั้งที่ 2 เท่ากับ 0.9 บาท และ 0.9 บาทก็ถือเป็นเงิน ต้องนำไปหัก ณ ที่จ่ายต่อ เป็นทอดต่อไปเรื่อยๆ จนเงินได้เท่ากับ 0 เรียกว่าออกให้ตลอดไป หรือออกให้ทุกทอด
ลองมาดูตารางคำนวณตามนี้
เงินได้ของผู้รับเงิน (บาท) | อัตรา หัก ณ ที่จ่าย | ภาษีออกแทน (บาท) |
1,000.00 | 3% | 30.00 |
30.00 | 3% | 0.90 |
0.90 | 3% | 0.03 |
0.03 | 3% | 0.00 |
ภาษีที่ออกแทน | 30.93 |
ทั้งนี้ ทุกคนน่าจะกังวลว่า ถ้าถึงเวลาทำงานจริงต้องคำนวณแบบนี้ ไม่มีเวลาทำงานอย่างอื่นแน่นอนค่ะ อันที่จริงแล้วเรามีสูตรคำนวณอยู่ ดังนี้จ้า
ภาษีหัก ณ จ่ายออกให้ตลอดไป = จำนวนเงินได้ x อัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย / (100 – อัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย) = 1,000*3/97 = 30.93 บาท |
พอรู้สูตรปุ๊บ ชีวิตก็ง่ายขึ้นปั๊บ หากใครมีสัญญาที่ต้องออกภาษีหัก ณ ที่จ่าย ออกให้ตลอดไป สามารถนำสูตรนี้ไปใช้คำนวณได้เลย ลดเวลาการคำนวณได้มากเลยล่ะ
ช่องหักภาษี/ออกภาษีแทน ในหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย
มาถึงตรงนี้ หลายคนต้องตั้งคำถามว่า เราจะรู้ได้อย่างไรว่า มีการออกภาษีแทน ต้องดูที่ตรงไหนนะ?
จะตอบคำถามนี้ เราก็ต้องย้อนกลับไปที่หลักฐาน ของการหัก ณ ที่จ่าย นั่นก็คือ หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย หรือที่หลายคนรู้จักกันในชื่อ ใบ 50 ทวิ
โดยในหนังสือรับรองฯ จะมีช่องให้เราอยู่ 3 ช่อง สำหรับการเลือกวิธี หักภาษีณที่จ่าย ดังนี้
- หัก ณ ที่จ่าย : หากติ๊กช่องนี้ หมายความว่า ไม่มีการออกแทน หรือก็คือหัก ณ ที่จ่ายตามปกติ
- ออกให้ตลอดไป : การออกภาษีแทนแบบทุกทอด ผู้รับเงินไม่ต้องจ่ายภาษีหัก ณ ที่จ่ายเลย
- ออกให้ครั้งเดียว : การออกภาษีแทนแค่ทอดเดียว ซึ่งภาษีที่ออกแทน จะเป็นเงินได้ของผู้ถูกหัก ณ ที่จ่าย
โดยส่วนใหญ่แล้ว มักจะไม่มีใครที่เลือกข้อ 3 เนื่องจาก เป็นการออกแทนแบบไม่สุด ผู้ถูกหัก ณ ที่จ่าย ต้องถูกหัก ณ ที่จ่ายจากยอดภาษีที่ออกแทน อีกอยู่ดี
ดังนั้น คนส่วนใหญ่จึงเลือก ข้อ 1 หรือ 2 เพื่อลดความยุ่งยากในการคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่าย
หมายเหตุ อย่าลืมว่าถ้าจะออกหัก ณ ที่จ่ายแทน ต้องไปตกลงทำสัญญากันอีกว่า ผู้จ่ายเงินจะออกภาษีแทนผู้รับเงิน ไม่ใช่อยู่ๆ จะออกแทนได้เลยนะ
ตัวอย่างการคำนวณ ออกภาษีหัก ณ ที่จ่ายแทนผู้รับเงิน
ภาคทฤษฎีเราจบกันไปแล้ว หากใครเข้าใจหลักการเบื้องต้น ด้านบนนี้ เชื่อว่าต้องเข้าใจ ตัวอย่างด้านล่างนี้แน่นอน เราลองมาดูตัวอย่างการคำนวณประกอบความเข้าใจกัน
บริษัท A จ่ายค่าจ้างทำบัญชี ให้กับบริษัท B สำหรับค่าจ้างทำบัญชี 1,000 บาท(ไม่มี Vat) และได้หัก ณ ที่จ่ายเอาไว้ 3% จากค่าจ้างทำบัญชี
ดังนั้น ถ้าเป็นแบบปกติ บริษัท A จะจ่ายเงินให้กับบริษัท B จำนวน 970 และอีก 30 บาท คือภาษีของบริษัท B ซึ่งรายได้ของบริษัท B จะเท่ากับ 1,000 บาท
งั้นเราลองมาดูว่า หากบริษัท A และ B มีการทำสัญญา ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ออกให้ครั้งเดียว/ออกให้ตลอดไป จะคำนวณอย่างไร
ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ออกให้ครั้งเดียว | ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ออกให้ตลอดไป | ||||
เงินได้ | ภาษีถูกหัก | เงินที่จ่าย | เงินได้ | ภาษีถูกหัก | เงินที่จ่าย |
1,030.00 | 30.90 | 999.10 | 1,030.93 | 30.93 | 1,000.00 |
จะเห็นได้ว่า ยิ่งออกภาษีแทนมากเท่าไหร่ รายได้ของผู้รับเงิน ก็จะเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น นั่นเป็นเพราะว่า ภาษีที่ผู้จ่ายเงิน ออกแทนผู้รับเงิน เท่ากับเงินได้ของผู้รับเงินที่เพิ่มขึ้นนั่นเอง
ดังนั้น เรื่องการออกภาษีแทน ผู้รับเงินเอง ก็ต้องดูเรื่องรายได้รวมประกอบด้วยนะ เพราะสุดท้ายแล้ว ออกภาษีแทนไป ก็กลายไปเป็นรายได้ที่ต้องยื่นภาษีตอนสิ้นปีอยู่ดี
สรุป
ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย สามารถออกแทนกันได้ ซึ่งส่วนใหญ่จะเลือก ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ออกให้ตลอดไป หรือไม่ก็ไม่ออกเลย โดยการจะออกภาษีแทน นอกจากนี้เราจะต้องมีการทำสัญญา ตั้งเงื่อนไขให้ผู้จ่ายเงินออกภาษีแทนด้วยนะ
อีกเรื่องที่สำคัญคือ ภาษีที่ออกแทน จะกลายเป็นรายได้ ของผู้รับเงิน ดังนั้น ก่อนจะทำสัญญาการค้าแบบออกภาษีแทน อย่าลืมดูตรงนี้เพิ่มเติมด้วยนะคะ
จำไว้ว่าไม่มีอะไรในโลกนี้ได้มาฟรีๆ ดังนั้น เรื่องภาษีที่ออกแทนก็เช่นเดียวกันค่ะ แม้จะมีคนออกแทนให้ แต่สุดท้ายก็คนรับเงินมีรายได้เพิ่มขึ้นอยู่ดี
และสำหรับใครที่อยากเข้าใจเกี่ยวกับภาษีหัก ณ ที่จ่ายมากขึ้นกว่าเดิม เพิ่มเติมเก็บ CPD ได้ด้วย แนะนำลงเรียนคอร์สนี้ได้เลยค่า: ภาษีหัก ณ ที่จ่ายคำนวณและบันทึกบัญชีอย่างไร ?
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ Line: @cpdacademy
อ้างอิง