ความรู้บัญชี

ปิดบัญชีสิ้นปี ต้องกระทบยอดอะไรบ้าง

ปิดบัญชีสิ้นปี ต้องกระทบยอดอะไรบ้าง

“ปิดบัญชีไม่เสร็จสักทีเพราะมัวแต่กระทบยอดบัญชีไม่ตรง” นี่เป็นปัญหาของนักบัญชีหลายๆ คนตอนช่วงปิดงบการเงิน แต่นักบัญชีมือใหม่เคยสงสัยกันมั้ยว่ามันคืออะไร ถ้าจะปิดบัญชีต้องกระทบยอดอะไรบ้าง

การกระทบยอดบัญชีเป็นส่วนนึงของงานบัญชีที่สำคัญมากๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขั้นตอนการปิดงบการเงิน นักบัญชีบางคนเคยแต่ทำรายการบันทึกบัญชีประจำวัน จนลืมไปว่าอุ๊ย จริงๆ แล้วยังมีกระบวนการอื่นที่ต้องทำ เพื่อเช็คความถูกต้องของงานบัญชีที่เราบันทึกไว้ด้วย วันนี้ถ้าใครอยากทำความเข้าใจเรื่องกระทบยอดบัญชีให้กระจ่างขึ้น และอยากปิดบัญชีให้สมบูรณ์เราต้องรู้อะไรบ้าง ลองมาอ่านบทความนี้กันค่ะ

การกระทบยอดคืออะไร?

คำนี้เป็นศัพท์เฉพาะของนักบัญชี ซึ่งภาษาอังกฤษเรียกว่า Reconciliation หมายถึง กระบวนการทางบัญชีที่เปรียบเทียบข้อมูลจาก 2 แหล่ง เพื่อเช็คว่าข้อมูลที่บันทึกบัญชีในสมุดบัญชีนั้นถูกต้องและสมบูรณ์

ยกตัวอย่างเช่น

  • ถ้าบันทึกบัญชีเงินฝากธนาคารได้ยอดคงเหลือ 1,500 บาท แต่ว่าในสมุดบัญชีธนาคารมีเงินจำนวน 2,000 บาท เมื่อเอาข้อมูลจาก 2 แหล่งมากระทบกันพบว่ามีความแตกต่าง 500 บาท ซึ่งนักบัญชีต้องหาสาเหตุของความแตกต่างว่าเกิดจากอะไร และควรปรับปรุงในสมุดบัญชีหรือไม่

ถ้าใครยังมองภาพไม่ออก เราสรุปให้เพิ่มเติมในนี้นะคะ

กระทบยอดสำคัญกับการปิดบัญชียังไง?

ใครๆ ก็อยากอ่านงบการเงินที่ถูกต้อง ทั้งเจ้าของธุรกิจและผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ ฉะนั้น ถ้าจะปิดงบการเงินอย่างถูกต้อง กระบวนการกระทบยอดถือเป็นหนึ่งในขั้นตอนการปิดงบการเงินประจำปีที่สำคัญ เพื่อให้มั่นใจว่าทุกๆ บัญชีแสดงจำนวนเงินถูกต้อง เหมาะสมและสมบูรณ์แบบตามที่มาตรฐานการบัญชีกำหนดเอาไว้ เพราะบางทีธุรกิจมีการบันทึกรายการค้าจากนักบัญชีหรือพนักงานหลายๆ คน ซึ่งมีโอกาสเป็นไปได้สูงที่คนนึงอาจบันทึกบัญชีผิด ส่งผลให้บัญชีที่อีกคนรับผิดชอบผิดไปโดยปริยาย

ถ้าเราปิดงบการเงินโดยให้ทุกๆ คนลงบัญชีให้เสร็จ แต่ไม่ได้กระทบยอดบัญชีให้เรียบร้อย ตอนหลังมารู้ว่า อ่าว…ยอดที่ปิดงบไปไม่ตรงกับข้อมูลแหล่งอื่นเลย แบบนี้นักบัญชีอาจงานเข้า ต้องกลับไปย้อนแก้ไขงบการเงินอีกรอบแน่นอน

ขั้นตอนการปิดงบการเงิน
ขั้นตอนการปิดงบการเงิน

ปิดบัญชีต้องกระทบยอดอะไรบ้าง?

นักบัญชีจะต้องกระทบยอดรายการบัญชีทุกรายการในงบแสดงฐานะการเงิน และจัดทำรายละเอียดประกอบงบการเงินด้วย เพื่อช่วยตรวจสอบความถูกต้องและมีข้อมูลประกอบการปิดบัญชีอย่างครบถ้วน

แต่ละธุรกิจเองก็จะมีผังบัญชีแตกต่างกันไปตามลักษณะของธุรกิจตน ดังนั้น การกระทบยอดบัญชีในงบแสดงฐานะการเงินก็จะแตกต่างกันไป

ตัวอย่างรายการสุดฮิต ที่ทุกๆ ธุรกิจน่าจะมี ประกอบด้วย

  1. กระทบยอดเงินฝากธนาคาร
  2. ลูกหนี้
  3. สินค้า
  4. ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์
  5. เจ้าหนี้

นอกจากนี้แล้ว ยังมีการกระทบยอดเพิ่มเติมทางภาษีที่นักบัญชีต้องทำ ได้แก่

  • กระทบรายได้ตามแบบ ภ.ง.ด. 50 (ภาษีเงินได้นิติบุคคล) กับแบบ ภ.พ. 30 (ภาษีมูลค่าเพิ่ม)

กระทบยอดแต่ละบัญชีทำอย่างไร?

เราต้องตั้งต้นจากระบุให้ได้ก่อนว่าแหล่งข้อมูลที่เราใช้ในการเช็คยอดความถูกต้องแต่ละบัญชีคืออะไรบ้าง?

ยกตัวอย่างเช่น จากบัญชี 5 บัญชีที่เราพูดถึงก่อนหน้านี้ แหล่งข้อมูลที่ใช้ชนยอดมีดังนี้

บัญชีสมุดบัญชีแหล่งข้อมูลอื่น
1. เงินฝากธนาคาร      งบทดลอง– Bank Statement
– Bank Confirmation
2. ลูกหนี้      งบทดลอง– รายงานลูกหนี้
– หนังสือยืนยันยอดลูกหนี้
3. สินค้า      งบทดลอง– รายงานสินค้า
– รายงานตรวจนับสินค้า
4. ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์      งบทดลอง– รายงานทรัพย์สิน
– รายงานตรวจนับทรัพย์สิน
5. เจ้าหนี้      งบทดลอง– รายงานเจ้าหนี้
– หนังสือยืนยันยอดเจ้าหนี้

ถ้าสังเกตดีๆ จะพบว่าแหล่งข้อมูล 2 แหล่งที่เรานำมาชนยอดกันประกอบด้วย

1. ข้อมูลในสมุดบัญชี คือ งบทดลอง (มีรายละเอียดประกอบคือ บัญชีแยกประเภท)

2. ข้อมูลจากแหล่งอื่น เช่น รายงานจาก module ย่อย ๆ ในระบบบัญชี การตรวจนับทรัพย์สิน หรือการยืนยันยอดจากภายนอก

เตรียมตัวยังไงบ้างก่อนปิดบัญชี

ก่อนที่นักบัญชีจะจัดทำกระดาษทำการบัญชีเราต้องเตรียมตัวอะไรบ้าง นี่ก็เป็นอีกเรื่องที่ต้องใส่ใจ เพราะว่างบจะปิดเสร็จเร็วหรือช้านั้น ส่วนนึงอาจมาจากการกระทบยอดที่ไม่สำเร็จสักที

แต่นักบัญชีทุกคนไม่ต้องกลัวไป CPD Academy ได้สรุปวิธีการเตรียมตัวสำหรับแต่ละบัญชีมาให้เรียบร้อย ลองไปดูตัวอย่างกันนะคะ

บัญชีเตรียมตัวอย่างไร
1. เงินฝากธนาคาร– ขอคัด Bank Statement
– ทำหนังสือยืนยันยอด Bank Confirmation ให้ผู้มีอำนาจเซ็นต์ไว้
2. ลูกหนี้– จัดทำรายงานลูกหนี้ และคำนวณค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ
– ทำหนังสือยืนยันยอดลูกหนี้ให้ผู้มีอำนาจเซ็นต์ไว้
3. สินค้า– จัดทำรายงานสินค้า และคำนวณ NRV
– เตรียมแผนตรวจนับสินค้า
4. ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์– จัดทำรายงานทรัพย์สิน คำนวณค่าเสื่อมราคา และค่าเผื่อการด้อยค่า
– เตรียมแผนตรวจนับทรัพย์สิน
5. เจ้าหนี้– จัดทำรายงานเจ้าหนี้
– ทำหนังสือยืนยันยอดเจ้าหนี้ให้ผู้มีอำนาจเซ็นต์ไว้

ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเรื่องนี้

เรื่องที่หลายคนมักเข้าใจผิดบ่อยๆ มีอยู่ 4 เรื่อง คือ

1. การปรับปรุงปิดบัญชีเป็นเรื่องเดียวกับการกระทบยอดบัญชี >> การปรับปรุงปิดบัญชีไม่ใช่เรื่องเดียวกันกับการกระทบยอดบัญชี เพราะการปรับปรุงปิดบัญชีเป็นการปรับปรุงรายการที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกๆ งวดบัญชีอยู่แล้ว แต่การกระทบยอดบัญชี เป็นการตรวจสอบความถูกต้องของการบันทึกบัญชี ซึ่งบางครั้งมันช่วยระบุได้ว่าการปรับปรุงปิดบัญชีนั้นมีข้อผิดพลาดอะไรเกิดขึ้นบ้าง และช่วยให้นักบัญชีย้อนกลับไปแก้ไขข้อผิดพลาดได้ทันท่วงที

2. เอางบทดลองมากระทบกับบัญชีแยกประเภท >> อันนี้ถือว่าเป็นแหล่งข้อมูลเดียวกันจึงไม่สามารถนำมากระทบยอดกันได้ค่ะ

3. กระทบยอดแล้วไม่ปรับปรุงรายการที่ผิดพลาด >> หลายคนคิดว่าพอกระทบยอดบัญชีและเจอข้อแตกต่าง (dif) ที่เกิดจากการบันทึกสมุดบัญชีผิด เพียงแค่อธิบายได้ยังไม่พอ แต่ว่าต้องปรับปรุงรายการข้อผิดพลาดเหล่านี้ให้ถูกต้องด้วยนะคะ

4. กระทบยอดเฉพาะบัญชีสำคัญ >> การกระทบยอดบัญชีจะต้องทำทุกๆ บัญชี และมีรายละเอียดประกอบงบทุกบัญชีในงบแสดงฐานะการเงินค่ะ ไม่ควรเลือกทำเพียงแค่บางบัญชีเท่านั้น

5. กระทบยอดบัญชีทำแค่สิ้นปีทีเดียว >> ถ้าเป็นงบเล็กๆ ทำกระทบยอดสิ้นปีทีเดียวไม่น่ามีปัญหาอะไร แต่ถ้าเป็นงบใหญ่ แนะนำว่าควรทำการกระทบยอดทุกๆ สิ้นเดือนเพื่อที่จะแก้ไขข้อผิดพลาดทางบัญชีให้เรียบร้อยไม่เก็บไว้เป็นดินพอกหางหมูค่ะ

สรุปการกระทบยอดปิดบัญชี
สรุปการกระทบยอดบัญชี

โดยสรุปแล้วการกระทบยอดทางบัญชีมีส่วนสำคัญมากๆ ในการปิดงบการเงิน ถ้านักบัญชีเข้าใจเรื่องนี้ รวมถึงวิธีการกระทบยอด จากนั้นเตรียมตัว (เตรียมใจ) ไว้ก่อนล่วงหน้า การกระทบยอดบัญชีตอนปิดงบไม่น่าจะเป็นเรื่องยากสำหรับเราอีกต่อไปค่ะ

สุดท้ายนี้ ถ้าใครกลัวลืมว่าเราจะกระทบยอดบัญชียังไง และต้องเตรียมตัวเรื่องใดบ้าง เราสรุปรายการสำคัญๆ มาให้เซฟเก็บไว้เป็นเช็คลิสการทำงานตามรูปภาพนี้นะคะ

อบรมบัญชีเก็บชั่วโมง CPD ออนไลน์ง่ายๆ ได้ที่บ้าน สอบถามได้ที่นี่

Line: @cpdacademy หรือ https://lin.ee/36U1ks0Y

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า