ภาษี

นักบัญชีต้องรู้ เมื่อจด VAT แล้วต้องทำอะไรบ้าง?

นักบัญชีต้องรู้ เมื่อจด VAT แล้วต้องทำอะไรบ้าง

ปัจจุบันนี้มีหลายๆกิจการที่ยอดขายปังแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว พอยอดขายถึง 1.8 ล้านบาทเมื่อไร ทำให้ต้องจด Vat โดยปริยาย และเมื่อธุรกิจจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว งานก็เข้านักบัญชีอย่างจัง เพราะว่านักบัญชีนั้นจะต้องจัดทำบัญชีและสอนเจ้าของธุรกิจให้ทำเอกสารให้เรียบร้อยด้วยเช่นกัน สำหรับนักบัญชีคนไหนที่เป็นนักบัญชีมือใหม่ ยังสับสนเกี่ยวกับหน้าที่ที่ต้องทำหลังจากภาษีมูลค่าเพิ่ม CPD Academy สรุปมาให้ทุกคนได้ทำความเข้าใจพร้อมๆ กันค่ะ

1. จดภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) คืออะไร

เพื่อนๆหลายท่านต้องเคยสงสัยแน่นอน เวลาซื้อสินค้าหรือใช้บริการ บางร้านก็มีใบกำกับภาษี บางร้านก็ไม่มีใบกำกับภาษี ทำไมไม่เหมือนกัน แล้ววัดจากอะไรล่ะว่าต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่

การจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม คือ ผู้ประกอบกิจการในประเทศไทยในการขายสินค้าหรือการให้บริการ การนำเข้าสินค้าโดยผู้นำเข้า ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ยกเว้น ผู้ประกอบกิจการเข้าเงื่อนไขดังนี้

  • ผู้ประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการไม่เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี
  • ผู้ประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามกฎหมาย
  • ผู้ประกอบกิจการให้บริการจากต่างประเทศ และได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร

เพื่อนๆเริ่มคุ้นแล้วใช่ไหมคะ เพราะในการทำธุรกิจต้องเคยได้ยินคำว่า รายได้ถึง 1.8 ล้านไหม ถ้าถึงต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มนะ เป็นคำที่เราได้ยินกันมานานมาก ข้างต้นก็คือที่มาของตัวเลข 1.8 ล้านบาทนั่นเองค่ะ

2. บุคคลธรรมดา หรือ นิติบุคคลจด VAT ได้ไหม

หากลองสังเกตุดีดี ในกฏหมายจะใช้คำว่า ผู้ประกอบการ ซึ่งก็หมายถึง ผู้ประกอบการในรูปแบบของบุคคลธรรมดา หรือผู้ประกอบการในรูปแบบนิติบุคคลทั้งสองอย่างเลยค่ะ ที่ต้องยึดหลักกฏหมายการจะทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเกณฑ์เดียวกัน ก็สามารถตอบคำถามได้ว่า ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มได้ค่ะ

3. จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ต้องจดที่ไหน

ในยุคสมัยนี้แล้วคนรุ่นใหม่อย่างเราก็มีทางเลือกหลายอย่างที่สะดวกสบายในการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งมีช่องทางการจดทั้งหมด 2 ช่องทางค่ะ
1. สำนักงานสรรพากรพื้นที่หรือพื้นที่สาขาที่สถานประกอบการตั้งอยู่
2. ยื่นผ่านอินเทอร์เน็ต www.rd.go.th

ไม่ว่าจะเลือกจดทะเบียนช่องทางไหนก็จะต้องจัดเตรียมเอกสารและให้สรรพากรมาตรวจสอบ ก่อนอนุมัติเช่นกันนะคะ

4. เมื่อจด VAT เสร็จแล้ว ต้องทำอะไรบ้าง

เมื่อจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเรียบร้อยแล้ว เรามาดู 3 เรื่องหลักๆ ที่นักบัญชีต้องแนะนำให้เจ้าของธุรกิจรู้ เพราะถ้าไม่รู้อาจเจอค่าปรับมหาศาลก็เป็นได้ค่ะ จะมีอะไรบ้างลองไปดูกันค่ะ

4.1 ทำรายงานภาษีซื้อ รายงานภาษีขาย

รายงานภาษีซื้อ คือ รายงานที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการซื้อสินค้า/บริการแบบมี VAT

รายงานภาษีขาย คือ รายงานที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการขายซื้อสินค้า/บริการแบบมี VAT

ทั้ง 2 รายงานนี้ กฎหมายกำหนดให้จัดทำและลงรายการภายใน 3 วันทำการ นับแต่วันที่ได้รับใบกำกับภาษี

รายงานภาษีซื้อ ภาษีขาย
รายงานภาษีซื้อ ภาษีขาย

ข้อมูลที่สำคัญที่ต้องมีในรายงาน

  • วันเดือนปีของใบกำกับภาษี
  • เลขที่ใบกำกับภาษี เล่มที่/เครื่องที่ (ถ้ามี)
  • ชื่อผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ
  • มูลค่าสินค้าหรือบริการ
  • จำนวนภาษีมูลค่าเพิ่ม

และอย่าลืมว่ารายงานภาษีซื้อที่เราบันทึกไว้ต้องมีต้นฉบับของใบกำกับภาษีซื้อแนบไว้ และรายงานภาษีขายต้องมีสำเนาใบกำกับภาษีขายแนบไว้เช่นกันค่ะ
ใบกำกับภาษีที่ถูกต้องและข้อมูลที่สำคัญตามที่ประมวลรัษฏากรกำหนดเป็นอย่างไร มาลองดูเพิ่มเติมได้ที่นี่ค่ะ ใบกำกับภาษีสำคัญยังไง 8 จุดต้องเช็ค ถ้าอยากทำให้ถูกต้อง

4.2 ทำรายงานสินค้า

รายงานสินค้า คือ รายงานที่แสดงข้อมูลสินค้าและวัตถุดิบเข้าออกทั้งหมดในกิจการ

กฎหมายกำหนดให้จัดทำและลงรายการภายใน 3 วันทำการ นับแต่ที่ได้มาหรือจำหน่ายออกไป

รายงานสินค้า
รายงานสินค้า

ข้อมูลที่สำคัญที่ต้องมีในรายงานสินค้า

  • วันเดือนปี ของใบสำคัญ
  • ปริมาณสินค้าที่ได้รับหรือจ่ายไป
  • มูลค่ารวมของสินค้าที่ได้รับมาหรือจ่ายไป

4.3 นำส่งภาษีทุกเดือน

ผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มมีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) เป็นประจำทุกเดือน ไม่ว่าจะมียอดภาษีที่ต้องจ่ายชำระหรือไม่

พูดง่ายๆก็คือ ถ้าไม่มีรายการภาษีซื้อ ภาษีขาย ให้นำส่งแบบภ.พ.30 ด้วยมูลค่า 0 บาทค่ะ

และหน้าที่นี้ก็มักจะเป็นหน้าที่ที่นักบัญชีได้รับมอบหมายจัดการแทนผู้ประกอบการเสมอค่ะ

แบบภ.พ.30 คือ แบบภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องนำส่งภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป แต่ถ้าหากเป็นการยื่นแบบผ่านอินเทอร์เน็ต www.rd.go.th จะได้รับการขยายเวลายื่นแบบ 8 วันเลยค่ะ

ลองดูตัวอย่างภาพด้านล่างสำหรับแบบภาษี ภ.พ.30 เราต้องกรอกรายละเอียดให้ครบถ้วนก่อนยื่นให้กับกรมสรรพากรนะคะ

จด VAT ต้องยื่นแบบ ภ.พ.30
จด VAT ต้องยื่นแบบ ภ.พ.30

เป็นยังไงบ้างคะเพื่อนๆ พอเราทราบแล้วว่า จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม แล้วต้องทำอะไรบ้าง ก็น่าจะโล่งใจพอสมควรใช่ไหมคะ เพราะว่าเรื่องที่ผู้ประกอบการต้องทำนั้นมี 3 เรื่องหลักๆ และเรื่องเหล่านี้นักบัญชีเองก็สามารถช่วยผู้ประกอบการได้ค่ะ

และสำหรับใครที่สนใจศึกษาเรื่องนี้เพิ่มเติม สามารถเข้าไปอบรมได้ที่คอร์สนี้ได้เลยค่ะ : รู้จักภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ทั้งระบบ

อบรมบัญชีเก็บชั่วโมง CPD ออนไลน์ง่ายๆ ได้ที่บ้าน

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ Line: @cpdacademy

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า