ภาษี

ยื่นแบบ ภ.พ.30 ต้องเช็คอะไรบ้าง ?

ยื่นแบบ ภพ.30 ต้องเช็คอะไรบ้าง ?

ภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นภาษีอีกตัวนึงที่เราต้องทำเป็นประจำทุกเดือนเลยค่ะ สำหรับกิจการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ทั้งนี้แบบภาษีที่ต้องยื่นทุกเดือนสำหรับภาษีมูลค่าเพิ่ม เราเรียกว่า แบบ ภ.พ.30 ซึ่งมีความสำคัญมากๆ สำหรับธุรกิจไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าพวกภาษีเงินได้อื่นๆ เพราะหากยื่นผิดก็มีค่าปรับมหาศาล และในเมื่อการยื่น ภพ.30 มีความสำคัญอย่างนี้ เรามาดูกันค่ะ หากจะยื่นแบบภพ.30 ให้ถูกต้อง เราต้องเช็คอะไรบ้าง?

ภ.พ.30 คืออะไร
ภ.พ.30 คืออะไร

เริ่มแรก…เราไปทำความรู้จักกับแบบภพ.30 ก่อนเลย

แบบภพ.30 คือ แบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม ผู้มีหน้าที่ในการยื่น จะเป็นผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดา นิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนจำกัด คณะบุคคล หรืออื่นๆตามที่กฏหมายกำหนดรายละเอียดในการกรอก หลักๆจะมี 4 ส่วนค่ะ

  • ยอดขายที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
  • ภาษีขาย
  • ยอดซื้อที่มีสิทธินำมาภาษีซื้อมาคำนวณ
  • ภาษีซื้อ

เมื่อนำมาหักลบกันแล้ว จะได้เป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม ขึ้นอยู่กับว่าภาษีซื้อ หรือว่าภาษีขายจะมากกว่ากันค่ะ

ภาษีขาย มีความหมายว่า กิจการขายสินค้าให้ลูกค้าแต่เก็บภาษี 7% มาไว้ที่กิจการก่อน แล้วค่อยนำส่งกรมสรรพากร เพราะฉะนั้น บัญชีภาษีขาย จึงถือเป็น บัญชีหนี้สินที่กิจการจะต้องจ่ายคืนกรมสรรพากรตามกำหนด

ภาษีซื้อ มีความหมายว่า กิจการซื้อสินค้าในธุรกิจที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ทำให้กิจการจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มตอนที่ซื้อสินค้าไปก่อนล่วงหน้า เพราะฉะนั้น บัญชีภาษีซื้อ จึงถือเป็น บัญชีสินทรัพย์ที่กิจการจ่ายล่วงหน้าไปก่อนแล้ว

เมื่อมีทั้งบัญชีสินทรัพย์และหนี้สินกรมสรรพากร ก็ต้องทำการปิดบัญชีของสองหมวดนี้ด้วยนะคะ เพื่อที่เราจะได้ทราบถึงจำนวนเงินที่จะจ่าย หรือเก็บไว้เป็นเครดิตในเดือนัดไป หรืออาจจะทำการขอคืนสรุปคือ

หากภาษีขายมีจำนวนมากกว่าภาษีซื้อ เท่ากับว่า ต้องจ่ายชำระค่าภาษี >> เกิดหนี้สิน

หากภาษีขายมีจำนวนน้อยกว่าภาษีซื้อ เท่ากับว่า ไม่มีค่าภาษีที่ต้องจ่ายชำระ >> มีสินทรัพย์

แบบยื่นภาษีมูลค่าเพิ่ม-ภ.พ.30
แบบยื่นภาษีมูลค่าเพิ่ม-ภ.พ.30

เมื่อต้องยื่นแบบภพ.30 ต้องเช็คอะไรบ้าง ?

CPD Academy จะพาทุกท่านมาเช็ก 6 ข้อสำคัญนี้ ก่อนยื่นภาษีมูลค่าเพิ่มกันนะคะ

เช็กก่อนยื่น ภ.พ.30
เช็กก่อนยื่น ภพ.30

1. เช็คงบทดลอง

บัญชีที่เกี่ยวข้องที่ต้องโดยตรงกับการยื่นแบบภาษีมูลค่าเพิ่ม คือ บัญชีภาษีซื้อ และบัญชีภาษีขาย หากชนยอดบัญชีภาษีซื้อ และบัญชีภาษีขาย กับเอกสารตัวจริง และรายงานภาษีซื้อ ภาษีขายแล้ว ให้ปิดบัญชีภาษีซื้อและภาษีขาย เพื่อที่จะตั้งเจ้าหนี้กรมสรรพากร(ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องจ่าย) หรือเป็นลูกหนี้กรมสรรพากร(ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ชำระไว้เกิน)

อย่าลืมเช็คจำนวนในงบทดลองให้ถูกต้องว่าตรงกับแบบภาษีหรือไม่

2. กระทบยอดรายได้ระหว่างงบทดลอง (TB) และแบบยื่นภ.พ.30

การกระทบยอดรายได้ระหว่างงบทดลอง (TB) และแบบยื่นภพ.30 ว่ามีผลต่างเกิดจากอะไร เนื่องจากสรรพากรอาจสอบถามว่าทำไมรายได้ตามแบบภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภงด50) ที่แสดงใน TB นั้นไม่ตรงกับการยื่นแบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ภพ 30

วิธีการกระทบยอด คือ เช็คว่ารายได้ประกอบด้วย TB กี่บัญชีมีอะไรบ้าง ผลต่างระหว่างรายได้ใน TB กับแบบที่ยื่นภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดจากอะไร เช่น

  • รับเงินมัดจำ ยังไม่รับรู้รายได้ (VAT เกิดแล้ว)
  • รายได้ค่าบริการที่ให้บริการแล้ว แต่ยังไม่ได้รับเงิน (VAT ยังไม่เกิด)

3. บัญชีภาษีซื้อยังไม่ถึงกำหนด

ภาษีซื้อยังไม่ถึงกำหนดต้องไม่มีรายการซ้ำในรายงานภาษีเดือนปัจจุบันที่กำลังจะยื่น ถ้าหากว่ามีรายการซ้ำ แสดงว่า ไม่ได้ปิดบัญชีภาษีซื้อยังไม่ถึงกำหนด ไปยังบัญชีภาษีซื้อ แต่เป็นการบันทึกเข้าไปใหม่เลย อาจทำให้ค่าใช้จ่ายนั้นๆก็เกิดรายการซ้ำเช่นกันค่ะ

4. ภาษีซื้อต้องห้าม ที่ไม่มีสิทธินำมาใช้ภาษี

ภาษีซื้อต้องห้าม ภาษีซื้อห้ามขอคืน ที่ไม่มีสิทธินำมาใช้เป็นเครดิตภาษีซื้อ เช่น ค่ารับรอง ภาษีซื้อที่ไม่มีใบกำกับภาษี ใบกำกับภาษีไม่สมบูรณ์ เป็นต้น ต้องแยกการบันทึกบัญชีนี้ออกมาต่างหากไม่รวมกับบัญชีภาษีซื้อ

Slide2 10 - CPD Academy

5. กรณีจ่ายชำระค่าบริการต่างประเทศ – ภ.พ.36

แบบภ.พ.36 คือ แบบนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อได้จ่ายเงินค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการ ให้แก่ผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักร ฯ หากมีนำส่งในเดือนก่อนหน้า ให้นำมาใช้สิทธิในเดือนปัจจุบันด้วยนะคะ โดยหลักฐานใบเสร็จการชำระเงินให้สรรพากรนั้นสามารถเอามาใส่ในรายงานภาษีซื้อได้เพื่อขอเครดิตคืนในเดือนถัดไป

โดยการให้นำไปรวมในยอดซื้อและภาษีซื้อใบแบบภพ.30 และอย่าลืมใส่เข้าไปในรายงานภาษีซื้อด้วยนะคะ

6. ตรวจสอบแบบภาษีมูลค่าเพิ่มของเดือนก่อนหน้า

ตรวจสอบแบบภาษีมูลค่าเพิ่มของเดือนก่อนหน้าในการยื่นแบบของเดือนปัจจุบันให้กลับไปดูแบบเดือนก่อนด้วยว่า กิจการมีรูปแบบการชำระภาษีแบบไหน ที่ต้องดูเพราะว่ามีผลต่อแบบยื่นภพ.30 ในเดือนปัจจุบันค่ะ

ให้ตรวจสอบยอดภาษีมูลค่าเพิ่มของเดือนก่อน

ถ้าเดือนก่อนมียอดในช่อง “8.ภาษีที่ต้องชำระ” และกิจการมีใบเสร็จแนบในการชำระเงินแล้ว เคสนี้ไม่มีผลต่อเดือนถัดมาแล้วนะคะแต่ที่จะมีผลก็คือช่อง “9.ภาษีที่ชำระเกินเดือนนี้” หมายถึง กิจการมีภาษีซื้อมากกว่าภาษีขาย ในหัวข้อภาษีสุทธิ ก็จะแสดงในช่อง “12. ชำระเกิน” กิจการก็ยังสามารถเลือกรูปแบบการขอคืนภาษีได้ด้วยนะคะ มี 3 รูปแบบ คืนเงินสด คืนผ่านธนาคาร และขอนำภาษีไปชำระในเดือนถัดไป ซึ่งส่วนใหญ่กิจการที่ดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ก็จะเลือกขอนำภาษีไปชำระในเดือนถัดไปค่ะช่องที่มีผลกับแบบเดือนปัจจุบันอีกหนึ่งช่อง ก็คือ “10.ภาษีชำระเกินยกมา” หมายถึง ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ชำระไว้เกินของเดือนก่อนๆเป็นยอดสะสมกันมานั่นเองค่ะ เพื่อนจะได้ตรวจสอบได้แบบนี้ค่ะช่อง “10.ภาษีที่ชำระเกินยกมา” ของเดือนปัจจุบัน จะเท่ากับ ช่อง “12. ชำระเกิน” ของเดือนก่อนหน้าค่ะ

Slide3 12 - CPD Academy

หรือเพื่อนๆสามารถดูตัวอย่างการยื่น Vat กรอกแบบ ภพ.30 ยังไงดี ดูได้ที่นี่เลยค่า

แบบภ.พ.30 นี้เป็นที่เรายื่นกันเป็นประจำ แต่ก็ที่ต้องให้ความสำคัญเพราะว่า ข้อมูลอาจจะสัมพันธ์กับแบบอื่นๆ หรือรายงานอื่นๆด้วยนะคะ ข้อมูลในแบบนี้จึงต้องกระทบยอดได้ และมีเอกสารตัวจริงที่ถูกต้องแนบประกอบ ถ้าหากตรวจสอบขึ้นมาไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบจากผู้ตรวจสอบบัญชีหรือว่ากรมสรรพากร นักบัญชีก็ควรมีข้อมูลเตรียมพร้อมให้ตรวจสอบได้เสมอ และช่วยเช็คข้อผิดพลาดในการทำงานด้วยอีกทางค่ะ

อบรมบัญชีเก็บชั่วโมง CPD ออนไลน์ง่ายๆ ได้ที่บ้าน

Line: @cpdacademy

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า