เมื่อกิจการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว กิจการต้องเริ่มในการส่งรายงานภาษีซื้อ ภาษีขายแล้วนะคะ ในส่วนของรายงานภาษีขาย กิจการขายสินค้าเป็นผู้ออกใบกำกับภาษีเองจึงไม่น่ากังวลเท่าไรนัก แต่รายงานภาษีซื้อเป็นในส่วนที่เราได้รับเอกสารมาจากภายนอก ซึ่งใบกำกับภาษีซื้อจากซัพพลายเออร์แต่ละใบก็หน้าตาไม่เหมือนกัน และถ้าออกผิดก็มักจะทำให้นักบัญชีปวดหัวอยู่เสมอเลย ว่าภาษีซื้อเหล่านี้ใช้ได้หรือเปล่า หรือเป็นภาษีซื้อที่ต้องห้ามไหม สำหรับวันนี้ใครที่กำลังสับสนกับเรื่องนี้อยู่เราลองมาทำความเข้าใจไปด้วยกันนะคะ
1.ภาษีซื้อต้องห้าม คืออะไร
“ภาษีซื้อต้องห้าม” ภาษาอังกฤษเรียกว่า Input Tax Not Deductible หมายถึง ภาษีซื้อที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไม่สามารถนำมาหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มหรือนำมาขอคืนภาษีซื้อกับกรมสรรพากร
พี่หนอม สรุปสั้นๆ ในคลิปแบบนี้ ให้เข้าใจง่ายขึ้นค่ะ
หรืออธิบายง่ายๆก็คือ ก็คือ ภาษีซื้อที่ไม่ให้นำมาคำนวณในการยื่นภาษีมูลค่าเพิ่มค่ะ เมื่อภาษีซื้อของเราลดลงเพราะว่าบางรายการนั้นไม่สามารถใช้สิทธิได้ ก็จะทำให้ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องชำระเพิ่มขึ้นนั่นเอง หลักการง่ายๆ ตามสมการนี้
ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องจ่ายชำระ = ภาษีขาย – ภาษีซื้อ
ลักษณะของภาษีซื้อต้องห้าม ให้เราคิดเลยนะคะ ว่าภาษีซื้อ คือ ใบกำกับภาษีของรายจ่ายของกิจการ ซึ่งต้องมีความผิดปกติบางอย่าง เช่น ใบกำกับภาษีไม่ถูกต้อง ข้อมูลไม่ครบถ้วน หรือใบกำกับภาษีปลอม จึงทำให้ใบกำกับภาษีนั้นเป็นใบกำกับที่ไม่สามารถเคลม VAT ได้ และกรณีต่อไปคือ ค่ารับรอง และค่าใช้จ่ายที่ไม่เกี่ยวข้องกับกิจการ ค่าใช้จ่ายเหล่านั้น ไม่สามารถนำภาษีซื้อมาเคลม VAT ได้
ตัวอย่างง่ายๆ
ค่าใช้จ่ายที่ไม่เกี่ยวข้องกับกิจการ หรือพูดง่ายๆว่าเป็นรายจ่ายส่วนตัว ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าส่วนตัว หมายถึง ข้าวของเครื่องใช้ หรือ ค่าอาหารและเครื่องดื่มส่วนตัวของผู้ถือหุ้น หรือ บุคคลผู้มีอำนาจอื่นๆในกิจการ ซึ่งแน่นอนว่าไม่สามารถเป็นค่าใช้จ่ายและเคลม VAT ได้ทั้งก้อนค่ะ
ภาษีซื้อแบบไหนที่เข้าข่ายต้องห้ามบ้างต่อไปเราลองไปดูตัวอย่างกันค่ะ
2. ตัวอย่างภาษีซื้อต้องห้าม
ตามมาตรา 82/5 แห่งประมวลรัษฎากร ระบุเกี่ยวกับลักษณะภาษีซื้อแบบต้องห้ามไว้ตามนี้
1. ภาษีซื้อที่ไม่มีใบกำกับภาษี
2. ใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบแต่ข้อความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ตามมาตรา 86/4
3. ภาษีซื้อที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบกิจการ คือ ภาษีซื้อของรายจ่ายต้องห้าม
4. ภาษีสำหรับค่ารับรอง
5. ใบกำกับภาษีปลอม คือ ใบกำกับภาษีที่ออกโดยผู้ไม่มีสิทธิที่จะออกตามกฏหมาย
6. ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 42) กำหนดตัวอย่างเพิ่มเติมดังนี้ค่ะ
- ภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อ เช่าซื้อ เช่า หรือรับโอนรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน
- ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีอย่างย่อ
- ภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อทรัพย์สินเพื่อใช้หรือจะใช้ในกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือภาษีซื้อที่เกิดจากรายจ่ายของกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
- ภาษีซื้อที่เกิดจากการก่อสร้างอาคารหรืออสังหาริมทรัพย์อื่นเพื่อใช้หรือจะใช้ในกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และต่อมาได้ขาย หรือให้เช่าหรือนำไปใช้ในกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
- ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีที่ไม่ได้ตีพิมพ์ขึ้น หรือไม่ได้จัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ในกรณีจัดทำใบกำกับภาษีขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ทั้งฉบับ
- ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีที่ไม่ได้เป็นไปตามรูปแบบตามที่สรรพากรกำหนด
- ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีมีรายการในใบกำกับภาษีเป็นสำเนา (copy) หรือพูดง่ายๆก็คือ ใบกำกับภาษีซื้อที่เป็นสำเนาค่ะ
- ภาษีซื้อส่วนที่เฉลี่ยเป็นของกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
- ภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อสินค้าหรือรับบริการ ซึ่งผู้ประกอบการจดทะเบียนนำไปใช้หรือจะใช้ในการประกอบกิจการทั้งประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและผู้ประกอบการจดทะเบียนดังกล่าวใช้สิทธิเลือกไม่นำภาษีซื้อทั้งหมดไปหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม เนื่องจากกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มมีรายได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของรายได้ของกิจการทั้งหมด
- ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีที่มีการถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลง
- ภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อ เช่าซื้อ หรือรับโอนรถยนต์ที่มิใช่รถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต เพื่อใช้หรือจะใช้ในกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และต่อมาได้มีการดัดแปลงรถยนต์ดังกล่าวเป็นรถยนต์นั่ง หรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน
- ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีที่ไม่ได้ตีพิมพ์ขึ้น หรือมิได้จัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ในกรณีจัดทำใบกำกับภาษีขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ทั้งฉบับ
ยกตัวอย่างภาษีต้องห้ามที่เจอบ่อยในกิจการ
บริษัท A จำกัด ผลิต ทุเรียนทอดกรอบเพื่อจำหน่ายต่างประเทศ มีลูกค้าที่สนใจจากประเทศมาขอดูโรงงานการผลิตเพื่อดูว่าได้รับมาตรฐานพอที่จะส่งออกไปยังประเทศจีนหรือไม่ บริษัทจึงต้องรับรองค่าใช้จ่ายลูกค้าในส่วนนี้ เช่น ค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่าตั๋วเครื่องบิน ซึ่งค่าใช้จ่ายเหล่านี้ถือเป็นค่ารับรอง ภาษีซื้อเป็นภาษีซื้อต้องห้ามที่ไม่สามารถนำมาเคลม VAT ได้ค่ะ
บริษัท B จำกัด ได้เดินทางไปดูงานที่ต่างประเทศ ระหว่างการเดินทางอากาศหนาวมาก จึงซื้อเสื้อกันหนาวกุชชี่และเอาบิลให้พนักงานลงบัญชี แต่ในระเบียบของบริษัท ระบุการสนับสนุนค่าเดินทางในส่วนของค่าใช้จ่ายในการเดินทางและค่าที่พักเท่านั้น รายการซื้อเสื้อกันหนาว จึงเป็นรายจ่ายส่วนตัว มีลักษณะเป็นรายจ่ายต้องห้าม ซึ่งภาษีซื้อก็เป็นภาษีซื้อต้องห้ามเช่นกันค่ะ
ลักษณะภาษีซื้อในข้อที่ 6 จะเป็นการบ่งบอกของลักษณะของใบกำกับภาษีที่ไม่สามารถนำมาเป็นภาษีซื้อได้ค่ะ
3. ภาษีซื้อ “ต้องห้าม” ที่ถือเป็น “รายจ่าย” ได้ คืออะไร แตกต่างกันอย่างไร
ภาษีซื้อต้องห้าม กฎหมายห้ามไม่ให้นำมาหักออกจากภาษีขายหรือขอคืนภาษีซื้อสำหรับการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่รู้หรือไม่ว่าบางประเภทนั้น สามารถนำมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิทางภาษีของภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ จึงเรียกกันว่า “ภาษีซื้อต้องห้ามที่ถือเป็นรายจ่ายได้”
ก่อนที่จะไปอธิบายเพิ่มเติม ขอทบทวนความรู้กันนิดนึงก่อนว่า ภาษีธุรกิจที่เราจะคุยกันนั้นแยกเป็นสองเรื่อง
ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax หรือ VAT)
ภาษีมูลค่าเพิ่ม คือ ภาษีทางอ้อมประเภทหนึ่งที่เรียกเก็บจากบุคคลที่ซื้อสินค้าหรือรับบริการ โดยจัดเก็บเฉพาะจากมูลค่าส่วนที่เพิ่มขึ้นในแต่ละขั้นผลิต การจำหน่ายหรือการให้บริการ โดยทุกเดือนจะต้องยื่นแบบภาษี โดยคำนวณจาก ภาษีขาย – ภาษีซื้อ
ภาษีเงินได้นิติบุคคล (Corporate Income Tax หรือ CIT)
ภาษีเงินได้นิติบุคคล คือ ภาษีที่มีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเป็นผู้เสียภาษี จากกำไรสุทธิทางภาษี คุณด้วย อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล สูงสุดอยู่ที่ 20%
และสำหรับภาษีซื้อที่ต้องห้ามตามหลักการ VAT แต่ที่สามารถนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิทางภาษีตามหลักการ CIT ที่เรามักจะเจอบ่อยในชีวิตประจำวัน ได้แก่
1. ภาษีซื้อสำหรับค่ารับรอง เช่น ค่าที่พัก ค่าอาหารค่าเครื่องดื่ม ค่ามหรสพ ค่าใช้จ่ายเพื่อการกีฬา และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ทํานองเดียวกัน รวมทั้งค่าสิ่งของ หรือประโยชน์อื่นใดที่ให้แก่บุคคลซึ่งได้รับการรับรองหรือรับบริการหรือที่ให้บุคคลอื่น
2. ภาษีซื้อที่เกี่ยวกับรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน เช่น ภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อ เช่าซื้อ เช่า หรือรับโอนรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน และภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อสินค้าหรือการรับบริการที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์นั่ง และรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตร – บังคับเฉพาะรถยนต์นั่งไม่เกิน 10 ที่นั่ง
3. ภาษีซื้อตามใบกํากับภาษีอย่างย่อ เช่น ซื้ออาหารสำหรับพนักงานจาก 7-11 และได้ใบกำกับภาษีอย่างย่อมา
4. ภาษีซื้อที่เกิดจากรายจ่ายของกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เช่น กิจการยังไม่ได้จด Vat เพราะยังไม่เข้าเงื่อนไข แต่ได้ไปซื้อคอมพิวเตอร์มาจากร้านค้าที่จด Vat
5. ภาษีซื้อที่เกิดจากการก่อสร้างอาคาร หรืออสังหาริมทรัพย์อื่นเพื่อนํามาใช้ในกิจการของตนเอง ซึ่งเป็นกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มต่อมาผู้ประกอบการได้ขายหรือให้เช่าอาคาร หรืออสังหาริมทรัพย์นั้น หรือนําไปใช้ในกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มภายใน 3 ปีนับแต่เดือนภาษีที่ก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์
6. ภาษีซื้อตามใบกํากับภาษีแบบเต็มรูปที่มีข้อบกพร่อง ตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร เช่น
- มีรายการในใบกํากับภาษีไม่ได้พิมพ์ หรือไม่ได้จัดทําขึ้นด้วยคอมพิวเตอร์ในกรณีจัดทําใบกําากับภาษีด้วยคอมพิวเตอร์ทั้งฉบับ
- มีข้อความอื่นที่อธิบดีกําหนดในใบกํากับภาษีที่ไม่ได้จัดทําขึ้นด้วยวิธีการตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร
- มีรายการในใบกํากับภาษีเป็นสําเนา (Copy) แต่ไม่รวมถึงใบกําากับภาษีที่จัดทํารวมกับเอกสารทางการค้าอื่นซึ่งมีจํานวนหลายฉบับ และใบกํากับภาษีมีรายการในใบกํากับภาษีเป็นสําเนามีข้อความว่า “เอกสารออกเป็นชุด” ปรากฏอยู่ด้วย
7. ภาษีซื้อส่วนที่เฉลี่ยเป็นของกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งได้คํานวณตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร– การเฉลี่ยภาษีซื้อ ใน กิจการ ที่มีรายการขาย / บริการ ทั้งที่มีภาษีมูลค่าเพิ่ม และ ที่ไม่มีภาษีมูลค่าเพิ่ม
8. ภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อสินค้าหรือรับบริการ ซึ่งผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษี มูลค่าเพิ่มนําไปใช้หรือจะใช้ในการประกอบกิจการทั้งประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษี มูลค่าเพิ่มใช้สิทธิเลือก ไม่นําภาษีซื้อ ทั้งหมดไปหักในการคํานวณภาษีมูลค่าเพิ่ม เนื่องจากกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มมีรายได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ90 ของรายได้ของกิจการทั้งหมด
ทาง CPD Academy ยังมีคลิปอธิบายเพิ่มเติมด้วยนะคะ ลองฟังกันเล้ยยย…
สรุปง่ายๆ
หากมีภาษีซื้อเกิดขึ้น อย่าลืมพิจารณาก่อนสามารถว่าเป็นภาษีซื้อตามหลักการภาษีมูลค่าเพิ่ม (Vat) หรือไม่ หากไม่ใช่ ก็แปลว่า ต้องห้ามตามหลักการ VAT แล้ว ให้พิจารณาต่อว่า ภาษีซื้อนั้น สามารถนำมารวมเป็นค่าใช้จ่ายในการกำไรสุทธิสำหรับภาษีเงินได้นิติบุคคลตามที่เราอธิบายในบทความนี้หรือไม่
เพราะภาษีซื้อต้องห้ามบางอย่างสามารถนำมาเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีสำหรับภาษีเงินได้นิติบุคคล ถ้าไม่ทำความเข้าใจดีๆ อาจจะเสียสิทธิประโยชน์ในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลนะจ๊ะ
อบรมบัญชีเก็บชั่วโมง CPD ออนไลน์ง่ายๆ ได้ที่บ้าน
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ Line: @cpdacademy