เมื่อถึงเวลาในการนำส่งรายงานประจำปีต่างๆ วิชาชีพบัญชีก็มีอยู่ 2 หน่วยงานที่ต้องนำส่งรายงาน คือ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และกรมสรรพกร ในส่วนของยื่นภาษีเงินได้นิติบุคคคลต้องนำส่งกับกรมสรรพากร ปัจจุบันช่องที่ที่สะดวกและรวดเร็ว ประหยัดเวลา ประหยัดค่าเดินทางก็คือ การยื่นแบบภ.ง.ด.50 ออนไลน์ค่ะ โดยที่สรรพากรก็มี E-FILING อีไฟล์ลิ่ง ยื่นแบบและชำระภาษีออนไลน์ค่ะ การยื่นแบบภ.ง.ด.50 ออนไลน์จะทำอย่างไรบ้าง แล้วมีข้อควรระวังอะไรบ้าง
สรรพากรก็มี E-FILING อีไฟล์ลิ่ง ยื่นแบบและชำระภาษีออนไลน์ โดยเริ่มต้นก็ต้องมีการลงทะเบียนก่อน ถึงจะสามารถเข้าใช้ระบบได้ ต้องทำอย่างไรบ้างไปดูกันค่ะ
1. ลงทะเบียน ยื่นภาษีเงินได้นิติบุคคล RD E-filing
การลงทะเบียน เริ่มเต้นให้เข้าใช้งานใน www.rd.go.th เพื่อเริ่มต้นในการลงทะเบียนเลยนะคะ และมีเอกสารอะไรต้องเตรียมบ้างมาดูกันค่ะ
ขั้นตอนการลงทะเบียนขอใช้ E-FILING อีไฟล์ลิ่ง ยื่นแบบและชำระภาษีออนไลน์ เพื่อยื่นภาษี
ขั้นตอนที่ 1 ไปที่หน้าเว็บไซต์ www.rd.go.th
ขั้นตอนที่ 2 คลิก สมัครสมาชิก
ขั้นตอนที่ 3 ระบุเลขที่ประจำตัวผู้เสียภาษี
ขั้นตอนที่ 4 ระบุ E-Mail ที่ใช้ยืนยันตัวตน
ขั้นตอนที่ 5 ยืนยันการลงทะเบียน
ขั้นตอนที่ 6 ดาวน์โหลดใบ ภ.อ.01
ขั้นตอนที่ 7 นำส่งเอกสารประกอบการยื่นภาษีเงินได้นิติบุคคลขอใช้ E-FILING อีไฟล์ลิ่ง เพื่อยืนยันตัวตน ได้ 3 ช่องทาง
- นำส่งเอกสาร ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่
- นำส่งเอกสารทางอีเมล
- อัปโหลดเอกสารที่ลงลายมือชื่อดิจิทัล (Digital Signature)
ขั้นตอนที่ 8 ได้รับแจ้ง Username และ Password
ขั้นตอนที่ 9 เข้าสู่ระบบเพื่อทำการยื่นภาษีออนไลน์
เอกสารที่ต้องเตรียมในการสมัคร
- แบบ ภ.อ.01 เอกสารที่ได้รับจากระบบ
- ข้อตกลงการใช้บริการอิเล็กทรอนิกส์ของกรมสรรพากร เอกสารที่ได้รับจากระบบ
- กรณีมอบอำนาจ มีหนังสือมอบอำนาจ พร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน
- แสดงตนพร้อมบัตรประจำตัวประชาชน (ตัวจริง)
ขั้นตอนอาจจะยาวสักนิด แต่รับรองว่าถ้าลงทะเบียนเรียบร้อยแล้ว ก็จะสามารถยื่นภาษีได้แบบออนไลน์ง่ายๆ เลยจ้า
2. ยื่นภาษีเงินได้นิติบุคคล RD E-filing ต้องทำยังไง?
ในระบบ e-filing เราสามารถยื่นภาษีได้หลายแบบ แต่สำหรับขั้นตอนการยื่นภาษีเงินได้นิติบุคคลนั้นมีขั้นตอนดังต่อไปนี้
เมื่อทำการลงทะเบียนสำเร็จแล้ว ก็สามารถเข้าสู่ระบบโดย Username และ Password ที่กำหนดไว้
ขั้นตอนการยื่นภาษี RD E-filing
ขั้นตอนที่ 1 ไปที่หน้าเว็บไซต์ www.rd.go.th
ขั้นตอนที่ 2 คลิกที่ “ยื่นแบบทุกประเภท”
ขั้นตอนที่ 3 หน้าการยื่นแบบเลือกประเภทภาษีเงินได้นิติบุคคล ภงด50 ตามที่เราต้องการ จากนั้นก็กรอกข้อมูลตามหน้าจอที่ปรากฎได้เลยค่ะ
3. จุดสำคัญที่ควรระวังยื่นภาษี ภ.ง.ด.50
1. รอบบัญชี
การยื่นภาษี ภ.ง.ด.50 สิ่งที่ต้องดูให้มั่นใจเลยนะคะ คือ รอบบัญชี
รอบบัญชีของแต่ละกิจการอาจจะไม่เหมือนกันก็ได้นะคะ
แต่ว่าตอนที่เรายื่นในระบบกรมสรรพากรจะขึ้นวันที่มาให้อัตโนมัติ เราเลยต้องดูให้ดีนะคะ ว่ารอบระยะบัญชีถูกต้องหรือไม่
2. ชื่อผู้ทำบัญชี/ผู้สอบบัญชี
การเช็คชื่อผู้ทำบัญชีและผู้สอบบัญชีเพื่อให้ทราบว่า ผู้ทำบัญชีและผู้สอบบัญชีได้แจ้งชื่อให้กิจการเรียบร้อยหรือไม่ เพื่อประโยชน์ 4 เรื่องนี้
- ป้องกันการถูกปฏิเสธรับงบการเงิน
- ป้องกันการถูกปฏิเสธการยื่นแบบภาษี
- ข้อมูลครบถ้วน ถูกต้องตรงกัน
- ป้องกันการนำส่งข้อมูลผิดพลาด
ถ้าหากเช็คชื่อแล้วไม่ขึ้น เราก็ต้องติดต่อไปยัง ผู้ทำบัญชีและผู้สอบบัญชี เพื่อติดตามการแจ้งชื่อกิจการ และนำส่งภาษีต่อไปค่ะ
3. ขาดทุนสะสมยกมา 5 ปี
ผลขาดทุนสุทธิทางภาษี คือ ผลขาดทุนสุทธิที่ได้ปรับปรุงรายการตามมาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี แล้ว ผลขาดทุนยกมาไม่เกิน 5 รอบระยะเวลาบัญชีก่อนรอบระยะเวลาบัญชีปัจจุบัน สามารถนำมาหักเป็นรายจ่ายได้เพียงเท่าที่ไม่เกินกว่ากำไรสุทธิของรอบระยะเวลาบัญชีนั้นได้ค่ะ
เมื่อเรามีผลขาดทุนสะสมหลายปี การนำส่ง ภ.ง.ด.50 ก็ต้องมีใบแนบสำหรับการสรุปผลขาดทุนสะสมของแต่ละปีด้วยค่ะ
ก่อนที่จะยื่นภาษี เพื่อนๆก็ต้องมาดูว่า ปีก่อนนั้น กิจการมีผลขาดทุนสะสมยกมาหรือไม่ เพื่อจะได้นำผลขาดทุนสะสมมาใช้สิทธิทางภาษีค่ะ
4. ค่าใช้จ่ายต้องห้าม
ค่าใช้จ่ายต้องห้าม หมายถึง ค่าใช้จ่ายทางบัญชีที่ไม่สามารถเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีได้
ยกตัวอย่างเช่น
- รายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการส่วนตัว
- รายจ่ายที่ไม่เกี่ยวกับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล โดยผู้รับไม่มีความผูกพันในทางธุรกิจการงานกับผู้ให้
- ค่ารับรองที่ต้องบวกกลับ เป็นส่วนที่เกินมาจากเงื่อนไขดังนี้จำนวนเงินของค่ารับรอง ต้องไม่เกินร้อยละ 0.3 ของจำนวนเงินยอดรายได้หรือยอดขาย เทียบกับจำนวนเงินทุนที่ได้รับชำระแล้ว แล้วแต่อย่างใดจะมากกว่า
- รายจ่ายกำหนดขึ้นเอง ไม่มีการจ่ายจริง หรือ
- รายจ่ายที่ควรจะได้จ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีอื่นรายจ่ายซึ่งผู้จ่ายพิสูจน์ไม่ได้ว่าใครเป็นผู้รับ
ถ้าตอนที่เรากำลังบันทึกบัญชี แล้วเราเจอก็ควรแยกออกมาให้ชัดเจนเลยนะคะ เพื่อสะดวกกับการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลค่ะ
4. เอกสารประกอบการคำนวณภาษีที่ต้องมี
การคำนวณภาษี ภ.ง.ด.50 เอกสารที่ต้องมีประกอบก็คือ รายการประกอบของตัวเลขที่เรากรอกแบบลงไปค่ะ
โดยเริ่มต้นจาก
- งบการเงิน เป็นเอกสารที่แสดงถึง ตัวเลขตั้งต้นของการคำนวณภาษี คือ กำไรสุทธิทางบัญชี
- รายละเอียดประกอบ หรือที่มาการคำนวณของ รายการบวกกลับ และหักออก
- ใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษี ที่เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายที่หักได้เพิ่ม
การเก็บเอกสารดังกล่าวเป็นสิ่งที่สำคัญมากค่ะ ถ้าหากโดนสรรพากรตรวจสอบ เราก็สามารถที่จะชี้แจงเกี่ยวกับที่มาของตัวเลขอย่างมีที่มาที่ไปได้ค่ะ
เห็นไหมคะ การยื่นภาษีเงินได้นิติบุคคล RD E-filing ง่ายนิดเดียว เพียงแค่ลงทะเบียนไม่กี่คลิก นำส่งเอกสารให้เรียบร้อย และรอรับ Username และ Password เพียงเท่านี้ นักบัญชียุคใหม่ก็สามารภทำงานได้อย่างสะดวกสบายแล้วค่ะ และถ้าอยากยื่นภาษีแบบฟินๆ ไม่ต้องกังวล อย่าลืมเช็คข้อควรระวังก่อนยื่นภาษีให้ครบ เพียงเท่านี้ชีวิตก็สบายขึ้นเยอะเลยค่ะ
อบรมบัญชีเก็บชั่วโมง CPD ออนไลน์ง่ายๆ ได้ที่บ้าน สอบถามได้ที่นี่
Line: @cpdacademy หรือ https://lin.ee/36U1ks0Y