ถ้าพูดถึงใบกำกับภาษี หรือ Tax Invoice ต้องนึกถึงกิจการที่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มมาแล้ว ที่ต้องให้ความสำคัญกับเอกสารนี้ก็เพราะว่า ถ้าหากเราเป็นผู้ขาย เราจำเป็นต้องออก Tax Invoice ที่ถูกต้องตามที่กฏหมายกำหนด เพื่อยืนยันว่าเราเรียกเก็บภาษีจากลูกค้าเรียบร้อยแล้วและนำส่งสรรพากร ส่วนถ้าเราเป็นผู้ซื้อก็ต้องเช็คใบกำกับที่ได้รับเช่นกันว่าถูกต้องมีข้อความครบถ้วนหรือไม่ การออกใบกำกับฯ ต้องเช็กอะไรบ้าง ลองมาดู 8 จุดสำคัญกันค่ะ
1. ใบกำกับภาษี Tax Invoice คืออะไร
Tax Invoice คือ เอกสารหลักฐานสำคัญ ซึ่งผู้ประกอบการที่จดทะเบียน VAT จะต้องจัดทำและออกให้กับผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการทุกครั้งที่มีการขายสินค้าหรือให้บริการ เพื่อที่แสดงมูลค่าของค่าสินค้าหรือการให้บริการและจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนเรียกเก็บจากผู้ซื้อสินค้าหรือรับบริการนั่นเอง
ตัวอย่างเช่น ถ้าเราจดทะเบียน VAT แล้วขายสินค้าราคา 100 บาท จะต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% จำนวนเงินที่ลูกค้าจ่ายสุทธิจะเป็น 107 บาท ค่ะ เราต้องออกเอกสารยืนยันว่า 7 บาทนี้คือ VAT นะ ให้กับลูกค้าด้วย
Tax Invoice มี 3 ประเภท ได้แก่
- ใบกำกับเต็มรูปแบบ
- ใบกำกับอย่างย่อ
- เอกสารอื่นที่ถือเป็น Tax Invoice เช่น ใบลดหนี้ ใบเพิ่มหนี้ ใบเสร็จรับเงินที่ส่วนราชการออกให้ ใบเสร็จรับเงินของกรมสรรพากร กรมศุลกากร หรือกรมสรรพสามิต เฉพาะส่วนที่เป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม
2. จุดสำคัญ Tax Invoice 8 จุด
การออกใบกำกับแบบเต็มรูปนั้น เราต้องเช็คให้ดีว่ามีเนื้อหาสำคัญตามที่กฎหมายกำหนดทั้ง 8 ข้อหรือไม่
8 จุดที่สำคัญในใบกำกับเต็มรูปมีดังต่อไปนี้ ตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร
- คำว่า “ใบกำกับภาษี” ในที่เห็นได้ชัดเจน
- ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร ของผู้ประกอบการ
- ชื่อ ที่อยู่ ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ
- หมายเลขลำดับของ Tax Invoice
- ชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณ และมูลค่าของสินค้าหรือบริการ
- จำนวนภาษีมูลค่าเพิ่ม แสดงแยก ออกจากมูลค่าสินค้าหรือบริการ
- วัน เดือน ปี ที่ออก
- ข้อความอื่นที่อธิบดีกำหนด
– เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ซื้อสินค้าหรือรับบริการ – คำว่า “สำนักงานใหญ่ หรือ สาขาที่….” ของผู้ขายสินค้าหรือให้บริการ
– คำว่า “สำนักงานใหญ่ หรือ สาขาที่….” ของผู้ซื้อสินค้าหรือรับบริการ
3. ใบกำกับภาษี แบบไหนเคลม VAT ได้ แบบไหนเคลม VAT ไม่ได้
อย่างที่เรารู้กันว่า Tax Invoice มี 3 ประเภทด้วยกัน ซึ่งจะแบ่งการเคลม VAT ได้ตามตารางดังนี้ค่ะ
ประเภท Tax Invoice | เคลม VAT | แก้ไขอย่างไร |
ฉบับ “เต็มรูปแบบ” | ได้ | |
ฉบับ “อย่างย่อ” | ไม่ได้ | ให้นำฉบับ “อย่างย่อ” ไปขอฉบับ “เต็มรูปแบบ” กับผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการได้ |
เอกสารอื่น | ได้ | ใบลดหนี้ ใบเพิ่มหนี้ ใบเสร็จรับเงินที่ส่วนราชการออกให้ ใบเสร็จรับเงินของกรมสรรพากร กรมศุลกากร หรือกรมสรรพสามิต เฉพาะส่วนที่เป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม |
แต่อย่าลืมว่า ไม่ใช่ใบกำกับทุกใบจะเคลมได้เสมอ เพราะเราต้องเข้าใจเรื่องภาษีซื้อต้องห้าม ที่ไม่สามารถนำมาเคลมได้ ถึงแม้ว่าจะได้ Tax Invoice เต็มรูปแบบมาก็ตาม เนื่องจากส่วนใหญ่ภาษีซื้อต้องห้ามจะเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการโดยตรง เช่น ค่ารับรอง ค่าที่พักและอาหารที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการ รายจ่ายต้องห้าม เป็นต้น
วิธีการพิจารณาภาษีซื้อต้องห้าม ถ้าหากเป็นภาษีซื้อไม่ได้ ต้องคิดต่ออีกนะคะ ว่าภาษีซื้อต้องห้ามที่ถือเป็นรายจ่ายได้ คืออะไร แตกต่างกันอย่างไร
4. ตัวอย่าง Tax Invoice
มาดูตัวอย่างกันชัดๆ สำหรับใบกำกับที่ถูกต้องกันนะคะ ในตัวอย่างนี้เป็นกรณีการให้บริการซึ่งมีจุดรับผิดทางภาษี (Tax Point) เพื่อได้รับเงินค่าบริการแล้ว
5. Tax Invoice สะกดชื่อผิดได้ไหม
ตามที่หัวข้อที่ 2 ได้ระบุไว้เกี่ยวกับ ประมวลรัษฎากร ตามมาตรา 86/4 รูปแบบที่สำคัญ
ในด้านของ ชื่อ ที่อยู่ เลขประจำตัวผู้เสียภาษี ของทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย ต้องระบุให้ชัดเจน แต่ถ้าหากสะกดผิดนิดหน่อย ไม่ทำให้ผู้รับเอกสารเข้าใจผิดก็ยังถือว่าใบกำกับภาษีนั้นใช้เคลมภาษีซื้อได้นะคะ
เรามาดูข้อหารือของกรมสรรพากรกันเพิ่มเติมนะคะ
เลขที่หนังสือ | กค 0811/2154 |
เรื่อง | ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการออกใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร |
ข้อกฎหมาย | มาตรา 86/4, คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.86/2542 ฯ |
ข้อหารือ | กรณีบริษัท อ. จำกัด ได้ออกใบกำกัขภาษีให้แก่บริษัท จ. (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทฯได้รับแจ้งว่า ชื่อที่ถูกต้องตามที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามแบบ ภ.พ.20 ต้องเป็น บริษัท จ. (ไทยแลนด์) จำกัด จึงหารือว่าจุดผิดตรงนี้เป็นสาระสำคัญหรือไม่และอนุโลมให้นำไปถือเป็นภาษีซื้อได้หรือไม่ หรืออาจผิดจุดอื่นๆ การเว้นวรรค แสดงเครื่องหมาย จุด หรือลูกน้ำ แบบนี้เป็นสาระสำคัญหรือไม่ และอนุโลมให้นำไปถือเป็นภาษีซื้อได้หรือไม่ |
แนววินิจฉัย | 1. การออกชื่อลูกค้าผิด จาก (ไทยแลนด์) เป็น (ประเทศไทย) เป็นที่เห็นได้อย่างชัดเจนว่าไม่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าเป็นผู้ประกอบการรายอื่น บริษัท จ. (ไทยแลนด์) จำกัด มีสิทธินำไปถือเป็นภาษีซื้อในการคำนวณ ภาษีมูลค่าเพิ่มได้ 2. บริษัทฯ ระบุชื่อผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการโดยตัวสะกด สระ วรรณยุกต์ การันต์ ผิดพลาด แต่เป็นที่เห็นได้อย่างชัดเจนโดยไม่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าเป็นผู้ประกอบการรายอื่น ถือว่าบริษัทฯระบุชื่อครบถ้วนแล้ว |
6. Tax Invoice ไม่มีลายเซนต์ได้หรือเปล่า
ตามที่หัวข้อที่ 2 ได้ระบุไว้เกี่ยวกับ ประมวลรัษฎากร ตามมาตรา 86/4 รูปแบบของ Tax Invoice ที่สำคัญ ไม่ได้ระบุเกี่ยวกับลายเซนต์ จะมีก็ได้ หรือไม่มีก็ได้ แต่การมี ย่อมดีกว่าค่ะ เพราะว่าในระบบการควบคุมภายในของกิจการ จะได้ทราบถึง บุคคลที่ขายสินค้าหรือรับเงินค่าสินค้า และถ้าลูกค้ามีการเซนต์รับ ก็เป็นหลักฐานได้อีกอย่างหนึ่งว่าเราได้ขายสินค้าให้ลูกค้าจริง ส่งมอบสินค้าหรือให้บริการจริงๆ สามารถระบุตัวตนได้
7. ใบกำกับภาษีต้องระบุเลขที่ผู้เสียภาษีของผู้ซื้อเสมอไปไหม
ตามคำชี้แจงกรมสรรพากรเรื่อง การระบุเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ ได้กล่าวไว้เพื่อให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนได้เข้าใจตรงกันในเรื่องของ การระบุเลขที่ผู้เสียภาษีของผู้ซื้อ สรุปได้ดังนี้
1. ผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการจด VAT ต้องระบุเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ ในกรณีผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการเป็นผู้ประกอบการจด VAT เท่านั้นค่ะ
แต่ว่าผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการต้องแจ้งให้ลูกค้าทราบเป็นการทั่วถึง หรือเป็นรายบุคคล หรือแจ้งโดยวิธีการอื่นใดแล้ว อย่างเช่น ข้อความที่ปิดประกาศในสถานประกอบการ หรือแจ้งบนเว็บไซต์ของกิจการ ว่าถ้าต้องการ Tax Invoice ฉบับเต็มรูปแบบ สามารถแจ้งข้อมูลให้ทางสถานประกอบการให้ครบถ้วนได้ ก็ถือว่าผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการจด VAT ไม่ได้มีเจตนาที่จะไม่ออกใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบค่ะ
2. ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการจด VAT ต้องแจ้งเลขที่ผู้เสียภาษี เมื่อมีการซื้อสินค้าหรือรับบริการ เพื่อผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการจะได้ระบุรายการดังกล่าวให้ครบถ้วน
3. ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการไม่ได้จด VAT ก็ไม่จำเป็นต้องแจ้งเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรค่ะ
เมื่อรู้แบบนี้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการเอง หรือว่าพนักงานทุกแผนกในกิจการ ก็ต้องเริ่มคำนึงถึงความสำคัญของใบกำกับแล้วเมื่อเกิดการซื้อสินค้าหรือรับบริการ เพราะการที่ได้ Tax Invoice มาแล้ว ไม่สามารถนำไปเคลม VAT ได้ หมายถึง กิจการเสียผลประประโยชน์ทางภาษีไปด้วยเลยนะคะ ต้องระมัดระวังกันให้ดีน้าาา…
อบรมบัญชีเก็บชั่วโมง CPD ออนไลน์ง่ายๆ ได้ที่บ้าน
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ Line: @cpdacademy