ความรู้บัญชี

ความสามารถในการทำกำไรคืออะไร วิเคราะห์แบบไหนได้บ้าง

ความสามารถในการทำกำไรคืออะไร วิเคราะห์แบบไหนได้บ้าง

ถ้าอยากรู้ว่าธุรกิจมีผลประกอบการดีไหม ตัวชี้วัดตัวแรกที่เรามักจะเช็คก็คือ กำไร ถ้ายิ่งกำไรเยอะก็เป็นเรื่องที่ดี แต่จริงๆ แล้วกำไรเยอะหรือน้อยนั้น เราอาจวัดด้วยตัวเลขมูลค่าเงินไม่ได้เสมอไป เพราะบริษัทเล็กๆ กำไรก็น่าจะน้อยกว่าบริษัทใหญ่ๆ อยู่แล้ว แต่ก็ใช่ว่าพวกเค้าจะมีศักยภาพในการทำกำไรด้อยกว่าจริงไหมคะ

แล้วถ้าเราอยากวัดความสามารถในการทำกำไรแบบที่เอาไปเปรียบเทียบกันได้กับธุรกิจคู่แข่ง หรือบริษัทต่างไซด์กันนั้นเราจะทำอย่างไร ลองมาศึกษากันในบทความนี้ได้เลย

ความสามารถการทำกำไรคืออะไร

ความสามารถการทำกำไร (Profitability) หมายถึง ความสามารถที่จะสร้างผลตอบแทนจากกลับมาจากหน่วยชี้วัดต่างๆ เช่น รายได้ สินทรัพย์ หรือเงินลงทุนที่เจ้าของธุรกิจลงทุนไป ยิ่งธุรกิจมีความสามารถในการทำกำไรกลับมาสูงยิ่งแปลว่า เป็นธุรกิจที่มีผลประกอบการดี

วิเคราะห์ความสามารถในการทำกำไรทำยังไง

ปกติแล้วเรามักจะวัดความสามารถการทำกำไรในรูปแบบ % เทียบกับตัวฐานต่างๆ เช่น เทียบกับรายได้ สินทรัพย์ หรือเงินลงทุนส่วนของเจ้าของ

ทีนี้อัตราส่วนความสามารถการทำกำไรที่เรามักใช้กันบ่อยๆ โดยการเปรียบเทียบกับรายได้นั้นมีอะไรบ้าง CPD Academy คัดมาให้ทุกคนแล้วค่ะ

1. อัตราส่วนกำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin)

อัตราส่วนกำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin) คือ การวัด % กำไรจากการขาย/บริการขั้นแรกโดยไม่สนว่าจะต้องมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในการดำเนินการเท่าไร

2. อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงาน (Operating Profit Ratio หรือ EBIT)

อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงาน (Operating Profit Ratio หรือ EBIT) คือ การวัด % กำไรจากการขาย/บริการ ค่าใช้จ่ายในการขาย และค่าใช้จ่ายในการบริหาร รวมๆ แล้วเราเรียกว่าค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ซึ่งยังไม่รวมถึงค่าดอกเบี้ยจ่ายและค่าใช้จ่ายภาษี

3. อัตราส่วนกำไรก่อนภาษีเงินได้ (Earning before Tax: EBT)

อัตราส่วนกำไรก่อนภาษีเงินได้ (Earning before Tax: EBT) คือ การวัด % กำไรจากค่าใช้จ่ายทุกอย่างที่เกิดขึ้นในธุรกิจยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล

4. อัตราส่วนกำไรสุทธิ (Net Income)

อัตราส่วนกำไรสุทธิ (Net Income) คือ การวัด % กำไรสุทธิจากการทำธุรกิจทั้งหมดเปรียบเทียบกับรายได้ ว่าสุดท้ายแล้วรายได้หักค่าใช้จ่ายทั้งหมดจะเหลือกำไรสุทธิเป็นเท่าไรกันแน่

ความสามารถในการทำกำไรต่อรายได้
ความสามารถการทำกำไรต่อรายได้

และนอกจากการคำนวณกำไรเปรียบเทียบกับรายได้แล้ว เราอยากให้ทุกคนทำความเข้าใจเพิ่มเติมเกี่ยวกับกำไรเปรียบเทียบกับองค์ประกอบอื่นๆ อย่างเช่น

  • กำไรต่อสินทรัพย์ (Return on Asset: ROA)

การเอากำไรมาเปรียบเทียบกับสินทรัพย์ จะทำให้เราเห็นว่าสินทรัพย์ที่ธุรกิจลงทุนไปได้ผลกำไรตอบแทนกลับมาเป็นเท่าไรกันนะ บางทีอาจจะทำให้เราถึงบางอ้อว่า ถ้าบริหารสินทรัพย์ไม่ดี รายได้ก็ไม่มา กำไรก็ไม่เกิด

  • กำไรต่อส่วนของเจ้าของ (Return on Equity: ROE)

อัตราส่วนนี้เป็นการเปรียบกำไรกับส่วนของเจ้าของ ซึ่งเป็นต้นตอของเงินลงทุนในธุรกิจ ปกติแล้วส่วนของเจ้าของนั้นคือ ส่วนที่เหลืออยู่จากสินทรัพย์หักด้วยหนี้สิน ถ้ามีกำไรเยอะ เจ้าของลงทุนน้อยก็ยิ่งดี เพราะแปลว่าเจ้าของได้ผลตอบแทนกลับไปเต็มๆ จากธุรกิจนี้

ความสามารถในการทำกำไรอื่นๆ
ความสามารถการทำกำไรอื่นๆ

ตัวอย่างคำนวณความสามารถทำกำไร

เราจะคำนวณความสามารถการทำกำไรได้อย่างไร ลองมาดูตัวอย่างจากงบการเงินจริงกันค่ะ

ตัวอย่างการคำนวณ
ตัวอย่างการคำนวณ

ถ้าเราหยิบงบกำไรขาดทุนขึ้นมาแล้วลองกำหนดให้รายได้เท่ากับร้อยละ 100 จากนั้นลองเช็คอัตราส่วนของกำไรในแต่ละขั้นเราจะพบว่า บริษัทแห่งนี้มีกำไรในแต่ละขั้นไม่น้อยเลยทีเดียว

ความสามารถการทำกำไรตัวย่อสูตรคำนวณได้
กำไรขั้นต้น
(Gross Profit Margin)
GP(รายได้-ต้นทุนขาย)/รายได้18%
กำไรจากการดำเนินงาน
(Earnings before Interest and Tax)
EBIT(รายได้-ต้นทุนขาย-ค่าใช้จ่ายในการขาย-ค่าใช้จ่ายในการบริหาร) /รายได้12%
กำไรก่อนภาษีเงินได้
(Earnings before Tax: EBIT)
EBT(รายได้-ต้นทุนขาย-ค่าใช้จ่ายในการขาย-ค่าใช้จ่ายในการบริหาร-ดอกเบี้ย) /รายได้9%
กำไรสุทธิ
(Net Income)
NIกำไรสุทธิ/รายได้8%

และถ้าลองคำนวณ ROA และ ROE ของกิจการโดยเอาข้อมูลจากงบแสดงฐานะการเงินมาเปรียบเทียบจะได้ตัวเลขตามนี้

ความสามารถการทำกำไรตัวย่อสูตร คำนวณได้
กำไรต่อสินทรัพย์
(Return on Assets)
ROAกำไรสุทธิ/สินทรัพย์10.57%
กำไรต่อส่วนของเจ้าของ
(Return on Equity)
ROEกำไรสุทธิ/ส่วนของเจ้าของ36.76%

ถ้าลองเปรียบเทียบกันแล้วธุรกิจนี้ทำกำไรได้ต่อสินทรัพย์ 10% และทำกำไรได้ต่อส่วนของเจ้าของ 36% ก็ถือว่าเป็นธุรกิจที่ความสามารถการทำกำไรค่อนข้างดี

ข้อควรระวัง

แม้ว่าเราจะวิเคราะห์ความสามารถในการทำกำไรได้ไม่ยาก แต่สิ่งที่ควรระลึกไว้เสมอในการวิเคราะห์อัตราส่วนนี้ คือ

1. ต้องไปเช็คให้ชัวร์ว่ารายได้รวม ประกอบด้วยรายได้จากการทำธุรกิจหลักจริงๆ ไหม บางธุรกิจอาจมีรายได้อื่นแทรกเข้ามาในปีนั้น เช่น รายได้อื่นจากการปรับโครงสร้างหนี้ ทำให้ผลกำไรในปีดูดีกว่าปกติ

ตัวอย่างที่เราเห็นได้ชัดจากงบการเงินของ บริษัท การบินไทย จำกัดมหาชน ในปี 2564 ธุรกิจมีกำไรกว่า 55,000 ล้านบาท แต่ส่วนใหญ่แล้วเกิดจากการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งจริงๆ ก็ไม่ใช่รายได้หลักของธุรกิจ

ข้อควรระวังวิเคราะห์กำไร
ข้อควรระวังวิเคราะห์กำไร
งบกำไรขาดทุนบริษัทการบินไทย
งบกำไรขาดทุนบริษัทการบินไทย

2. อัตราส่วนการทำกำไร อาจเปรียบเทียบได้กับตัวเองในอดีต หรือคู่แข่ง หรืออุตสาหกรรม เพราะเป็นบรรทัดฐานที่ดีในการวิเคราะห์ว่าธุรกิจมีความสามารถในการทำกำไรดีหรือแย่ขึ้นอย่างไรบ้าง

3. ผลการทำกำไรในอดีต ไม่อาจบอกถึงผลการทำกำไรในอนาคตเสมอไป เพราะว่าธุรกิจทุกวันนี้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การยึดติดกับกำไรในอดีต โดยไม่สนใจนวัตกรรมใหม่ หรือหารายได้ช่องทางใหม่อาจทำให้ผลการดำเนินงานในปัจจุบันนั้นไม่ดีอย่างที่คิดก็เป็นได้

การวัดผลประกอบการจากการทำกำไรของธุรกิจนั้นสามารถเช็คได้ง่ายๆ จากอัตราส่วนทางการเงินต่างๆ ที่เราอธิบายมาข้างต้น แต่สิ่งที่สำคัญของการวิเคราะห์ผลประกอบการนั้น อาจไม่ได้หยุดอยู่แค่การวิเคราะห์ผลการทำกำไร แต่เราต้องวิเคราะห์เรื่องอื่นๆ อย่างเช่น

  • ประสิทธิภาพการดำเนินงาน

ประกอบด้วย เพราะการทำกำไรเป็นเพียงแค่ผลดำเนินงานในปีนั้นๆ แต่ในอนาคตธุรกิจจะเติบโตได้ดีไหม อยู่รอดหรือเปล่าอาจจะต้องเช็คปัจจัยอื่นๆ ประกอบด้วยนั่นเองค่ะ

อบรมบัญชีเก็บชั่วโมง CPD ออนไลน์ง่ายๆ ได้ที่บ้าน

สอบถามได้ที่นี่ Line: @cpdacademy

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า