ความรู้บัญชี

สภาพคล่องทางการเงินคืออะไร วิเคราะห์แบบไหนดี ?

สภาพคล่องทางการเงินคืออะไร วิเคราะห์แบบไหนดี?

งบการเงินที่นักบัญชีจัดทำขึ้นทุกเดือน ทุกปีนั้นมีความสำคัญสำหรับธุรกิจมากๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาที่ธุรกิจจะล้มหรือเจ๊ง เรามักจะเช็คได้จากสัญญานสภาพคล่องทางการเงินเป็นหลัก ซึ่งสัญญานนี้จะบ่งบอกเราว่าธุรกิจมีความสามารถในการจ่ายหนี้ในอีก 1 ปีข้างหน้าอย่างไร มีเงินสดหรือสินทรัพย์สภาพคล่องเพียงพอไหม

เล่ามาถึงตอนนี้หลายคนคงสงสัยแล้วใช่ไหมคะว่าสภาพคล่องนั้นคืออะไร เช็คกันยังไงและมีวิธีวิเคราะห์แบบไหนบ้าง เดี๋ยว CPD Academy จะชวนทุกคนไปหาคำตอบพร้อมๆ กันค่ะ

สภาพคล่องทางการเงินคืออะไร?

สภาพคล่อง หมายถึง ความสามารถในการเปลี่ยนสิ่งของหรือสินทรัพย์ไปเป็นเงินสด เช่น การขายของพอขายของก็จะได้เงินสดกลับมา การที่จะมีสภาพคล่องสูงหรือต่ำนั้นขึ้นอยู่กับการที่จะเปลี่ยนของหรือสินทรัพย์ชนิดนั้นไปเป็นเงินได้ในระยะเวลาเท่าใด

Wikipedia

ถ้าจะสรุปง่ายๆ สภาพคล่องทางการเงินของธุรกิจ หมายถึง ความสามารถในการจ่ายชำระหนี้สินระยะสั้น ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องมาจากการเปลี่ยนสินทรัพย์ระยะสั้นมาเป็นเงินสดเสียก่อนจึงจะสามารถจ่ายชำระหนี้สินในเวลาอันใกล้ได้

สินทรัพย์และหนี้สินหมุนเวียน
สินทรัพย์และหนี้สินหมุนเวียน

โดยทั่วไปแล้ว ธุรกิจมักจะมีรายการสินทรัพย์หมุนเวียน และหนี้สินหมุนเวียนที่แตกต่างกันไป ยกตัวอย่างสินทรัพย์หมุนเวียนและหนี้สินหมุนเวียนที่พบเจอกันบ่อยๆ เช่น

สินทรัพย์หมุนเวียนหนี้สินหมุนเวียน
เงินสด
เงินลงทุนระยะสั้น
ลูกหนี้การค้าและลูกหนี้อื่น
สินค้าคงเหลือ
สินทรัพย์หมุนเวียนอื่น
เงินเบิกเกินบัญชีและเงินกู้ยืมระยะสั้น
เจ้าหนี้การค้าและเจ้าหนี้อื่น
เจ้าหนี้อื่น
หนี้สินหมุนเวียนอื่น

อัตราส่วนวิเคราะห์สภาพคล่องมีอะไรบ้าง?

ถ้าอยากรู้ว่ากิจการมีสภาพคล่องไหม นอกจากจะรู้ว่ากิจการมีสินทรัพย์หมุนเวียน และหนี้สินไม่หมุนเวียนเป็นอะไร จำนวนเท่าไรบ้างแล้ว เราอาจใช้อัตราส่วนทางการเงินอย่างง่ายมาช่วยวิเคราะห์ให้ชัดเจนขึ้น

อัตราส่วนที่จะช่วยวิเคราะห์สภาพคล่องนั้นมี 3 อัตราส่วน ได้แก่

  1. อัตราส่วนทุนหมุนเวียน
  2. อัตราส่วนทุนหมุนเวียนเร็ว
  3. อัตราส่วนเงินสด

วิธีการคำนวณอัตราส่วนทั้ง 3 ชนิดนี้แบบง่ายๆ คือ เราจะใช้ยอดรวมของหนี้สินหมุนเวียนเป็นตัวส่วนเสมอ และตัวเศษเราจะเอามาเปรียบเทียบกับสินทรัพย์หมุนเวียนในแต่ละชนิดแบ่งเป็น

1. อัตราส่วนทุนหมุนเวียน

อัตราส่วนทุนหมุนเวียน = สินทรัพย์หมุนเวียน/หนี้สินหมุนเวียน

2. อัตราส่วนทุนหมุนเวียนเร็ว

อัตราส่วนทุนหมุนเวียนเร็ว = เงินสด+เงินลงทุนระยะสั้น+ลูกหนี้/หนี้สินหมุนเวียน

3. อัตราส่วนเงินสด

อัตราส่วนเงินสด = เงินสด/หนี้สินหมุนเวียน

อัตราส่วนสภาพคล่อง
อัตราส่วนสภาพคล่อง

ตัวอย่างการวิเคราะห์สภาพคล่องจากงบการเงิน

ถ้าอ่านสูตรแล้วยังนึกภาพตามไม่ออก อยากให้ทุกคนลองหยิบงบการเงินขึ้นมาแล้วลองคำนวณไปพร้อมๆ กันเลยค่ะ ตัวอย่างนี้เป็นตัวอย่างงบแสดงฐานะการเงิน ที่เราจะหยิบข้อมูลมาลองคำนวณให้ทุกคนดูไปพร้อมๆ กัน

ตัวอย่างวิเคราะห์อัตราส่วนสภาพคล่อง
ตัวอย่างวิเคราะห์อัตราส่วนสภาพคล่อง

จากภาพถ้าเราลองคำนวณสภาพคล่องกันทีละอัตราส่วนจะได้ข้อมูลตามนี้

อัตราส่วนสูตรคำนวณคำนวณได้
อัตราส่วนทุนหมุนเวียนสินทรัพย์หมุนเวียน/หนี้สินหมุนเวียน144,529,165/116,167,015 = 1.24
อัตราส่วนทุนหมุนเวียนเร็วเงินสด+เงินลงทุนระยะสั้น+ลูกหนี้/หนี้สินหมุนเวียน(1,071,590+64,279,371) /116,167,015 = 0.56
อัตราส่วนเงินสดเงินสด/หนี้สินหมุนเวียน1,071,590/116,167,015 = 0.01

เราจะพบว่าอัตราส่วนทุนหมุนเวียนจะคำนวณได้สูงสุดทุกครั้ง แล้วค่อยๆ ลดหลั่นกันลงมาเป็นทุนหมุนเวียนเร็ว และอัตราส่วนเงินสด เนื่องจากว่าอัตราส่วนทุนหมุนเวียนเราสนใจสินทรัพย์หมุนเวียนทั้งหมด เทียบกับหนี้สินหมุนเวียน แต่ทว่าอัตราส่วนตัวอื่นๆ เราจะไม่สนใจสินทรัพย์หมุนเวียนทุกชนิด เลยเป็นผลให้เราตัดสินทรัพย์บางชนิดออก และเลือกเฉพาะสิ่งที่เราสนใจมาเปรียบเทียบเท่านั้น

สรุปอัตราส่วนสภาพคล่อง
สรุปอัตราส่วนสภาพคล่อง

อัตราส่วนแบบไหนถึงจะดี ?

ธุรกิจส่วนใหญ่มักจะเทียบกับตัวเลข 1 คือ ถ้าจำนวนเท่าของสินทรัพย์หมุนเวียนมากกว่าหนี้สินหมุนเวียน อัตราส่วนทุนหมุนเวียนจะ > 1 อย่างแน่นอน

โดบปกติแล้วพวกเรามักเข้าใจว่าการมีสภาพคล่องเยอะๆ เป็นเรื่องที่ดี แต่ในความเป็นจริงสภาพคล่องที่เยอะไปหรือน้อยไปก็ไม่ได้ดีกับธุรกิจเสมอไป ยกตัวอย่างเช่น

  • สภาพคล่องสูงมาก แปลว่า เงินสดที่ถือไว้จริงๆ แล้วอาจมีค่าเสียโอกาส เพราะไม่ได้เอาไปลงทุนให้งอกเงย
  • สภาพคล่องต่ำมาก เพราะเอาเงินสดไปลงทุนหมด ก็อาจมีความเสี่ยงที่เงินลงทุนเหล่านั้นอาจไม่สามารถเปลี่ยนกลับมาเป็นเงินสดได้ทันเวลาที่จะจ่ายก็เป็นได้

ฉะนั้น เราเองอาจจะต้องตั้งเงื่อนไขในใจไว้เสียก่อนว่าสภาพคล่องควรเป็นเท่าไร เมื่อเทียบกับหนี้สินที่ต้องจ่ายใน 12 เดือนข้างหน้าจริงๆ เพราะแต่ละธุรกิจเองก็มีรอบในการจ่ายชำระเงินแตกต่างกันและต้องการความคล่องตัวทางการเงินที่ต่างกัน

ข้อควรระวังในการเช็คสภาพคล่อง

1. สภาพคล่องเรามักจะเปรียบเทียบระหว่างสินทรัพย์และหนี้สินหมุนเวียนเท่านั้น ไม่ได้เช็คไปไกลถึงหนี้สินไม่หมุนเวียน เพราะเรากำลังมองความสามารถในการจ่ายชำระหนี้ในเวลาอันใกล้มากๆ ไม่เกิน 1 ปี แต่ถ้าอยากเช็คความสามารถในการจ่ายชำระหนี้ทั้งหมด เรามักจะเช็คจากโครงสร้างเงินทุน: โครงสร้างเงินทุนคืออะไร วิเคราะห์อย่างไร? อ่านเพิ่มเติมที่นี่ได้เลย

2. สินทรัพย์หมุนเวียนบางอย่างอาจจะไม่ได้หมุนเวียนจริงๆ อย่างชื่อ ต้องเช็คให้ละเอียดรอบคอบ อย่างเช่น สินค้าคงเหลือ สำหรับบางธุรกิจใช้ระยะเวลาในการหมุนเวียนกว่า 400 วัน ซึ่งถ้าจำเป็นต้องใช้เงินสดจ่ายชำระหนี้จริงๆ สินค้านี้อาจไม่สามารถหมุนมาเป็นเงินสดได้ทันเวลา ตัวอย่างเช่น ธุรกิจผักดอง ธุรกิจเหล้า ไวน์ เป็นต้น ฉะนั้น เวลาที่คำนวณอัตราส่วนสภาพคล่องอาจต้องเลือกใช้ อัตราส่วนทุนหมุนเวียนเร็ว แทนอัตราส่วนทุนหมุนเวียนค่ะ

3. อัตราส่วนสภาพคล่องเป็นอัตราส่วนที่ช่วยให้เราประเมินธุรกิจในเบื้องต้นเท่านั้น ในชีวิตจริงเราอาจจะต้องพิจารณาข้อมูลเพิ่มเติม เช่น จำนวนวันในการจ่ายชำระเงินเจ้าหนี้ จำนวนวันที่เราเปลี่ยนลูกหนี้เป็นเงินสด เพื่อจะวิเคราะห์สภาพคล่องได้แม่นยำมากยิ่งขึ้น

ทำความเข้าใจเรื่องสภาพคล่องของธุรกิจไปพอสมควรแล้ว มาถึงตอนนี้ทุกคนน่าจะพอเข้าใจไอเดียของการเช็คสภาพคล่องกันแล้ว ถ้าตอนนี้นักบัญชีคนไหนทำบัญชีให้ลูกค้าแล้วพวกเค้าจ่ายเงินค่าทำบัญชีช้าๆ อาจจะทดลองวิเคราะห์งบการเงินกันสักนิด เผื่อจะคิดวิธีดีๆ ที่ช่วยแก้ปัญหาชักหน้าไม่ถึงหลัง เงินไม่พอจ่ายเจ้าหนี้ธุรกิจสักทีนะคะ

อบรมบัญชีเก็บชั่วโมง CPD ออนไลน์ง่ายๆ ได้ที่บ้าน

สอบถามได้ที่นี่ Line: @cpdacademy 

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า