ในโลกของธุรกิจที่ต้องการความโปร่งใสและน่าเชื่อถือ การตรวจสอบบัญชีหรือที่เรียกว่า ออดิท นั้นเป็นสิ่งสำคัญมากๆ เพราะการตรวจสอบงบการเงินจะทำให้บริษัทนั้นมีความน่าเชื่อถือเพิ่มขึ้นมาค่ะ แต่ในฐานะคนทำบัญชี ถ้าออดิทเข้าเมื่อไร เราก็มักจะวิตกกังวลจริงไหมคะ ว่าออดิทนั้นจะตรวจสอบอะไร ตรวจยังไง แล้วแบบไหนถึงเรียกว่าว่าถูกใจเทอ
ในบทความนี้ CPD Academy จะพาทุกคนมาเจาะลึกในรายละเอียดของการตรวจสอบบัญชี และไขข้อสงสัยว่า ออดิท ตรวจอะไรบ้าง เผื่อไว้สำหรับเตรียมตัวเตรียมใจ ตอนออดิทเข้าทีไรจะได้ไม่หวั่นใจนะคะ ถ้าพร้อมแล้วไปดูกันเลย
ก่อนอื่น เราไปดูกันก่อนว่า การตรวจสอบบัญชี หรือที่เรียกว่า ออดิท ไม่ใช่ว่ากำหนดกันขึ้นมาเองในวงการบัญชีนะคะ
แต่ว่ามีกฎหมายกำหนดเอาไว้แบบนี้ค่ะ
1. ข้อกฎหมายบังคับใช้การตรวจสอบบัญชี
พระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ. 2543 มาตรา 11 วรรค 4 กำหนดให้งบการเงินต้องได้รับการตรวจสอบและแสดงความเห็นโดยผู้สอบบัญชีรับอนุญาต เว้นแต่ จะเป็นงบการเงินซึ่งเป็นห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ที่มีทุนไม่เกิน 5 ล้านบาท และสินทรัพย์รวม ไม่เกิน 30 ล้านบาท และมีรายได้รวมไม่เกิน 30 ล้านบาท
พระราชบัญญัติวิชาชีพบัญชี พ.ศ. 2547 มาตรา 38 ผู้ใดจะเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาตต้องได้รับใบอนุญาตจากสภาวิชาชีพบัญชี
พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 56 บริษัทที่ออกหลักทรัพย์ตามมาตรา 32 มาตรา 33 หรือมาตรา 34 จัดทำและส่งงบการเงินและรายงานเกี่ยวกับฐานะการเงิน และผลดำเนินงาน
(1) งบการเงินรายไตรมาสที่ผู้สอบบัญชีได้สอบทานแล้ว
(2) งบการเงินประจำงวดการบัญชีที่ผู้สอบบัญชีตรวจสอบและแสดงความเห็นแล้ว
(3) รายงานประจำปี
(4) รายงานการเปิดเผยข้อมูลอื่นใดเกี่ยวกับบริษัทตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต.ประกาศกำหนด
ตามกฎหมาย บริษัทต้องเลือกผู้สอบบัญชีที่มีความเป็นกลางและไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นธรรมและน่าเชื่อถือที่สุด
2. ออดิท ตรวจอะไรบ้าง?
การตรวจสอบงบการเงินหรือออดิท (Audit) มีขั้นตอนหลักๆ ที่ผู้สอบบัญชีต้องปฏิบัติเพื่อให้มั่นใจว่างบการเงินของบริษัทเป็นไปตามมาตรฐานและเป็นความจริงตามข้อมูลทางการเงิน โดยมีขั้นตอนดังนี้
วิธีการตรวจสอบบัญชี
1. วางแผนการตรวจสอบ
ในขั้นตอนแรกนี้ ผู้สอบบัญชีจะทำความเข้าใจธุรกิจและอุตสาหกรรมที่บริษัทดำเนินการอยู่ รวมถึงประเมินความเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อการรายงานทางการเงิน จากนั้นจะวางแผนกระบวนการตรวจสอบเพื่อให้เหมาะสมกับขนาดและลักษณะของธุรกิจนั้น ๆ
2. การทดสอบระบบควบคุมภายใน (Test of control)
ผู้สอบบัญชีจะตรวจสอบระบบควบคุมภายในของบริษัท เช่น การควบคุมการใช้จ่าย การบันทึกบัญชี และการตรวจสอบการทำงาน เพื่อให้แน่ใจว่าระบบภายในมีประสิทธิภาพและลดความเสี่ยงในการเกิดข้อผิดพลาดหรือการทุจริต
ตัวอย่างการควบคุมภายในที่ดี เช่น การจ่ายเงิน ต้องมีขั้นตอนการอนุมัติรับรอง การแบ่งแยกหน้าที่ และขั้นตอนการตรวจสอบอย่างชัดเจน ไม่ใช่ว่า เซนต์อย่างเดียว ไม่เหลียวมองความถูกต้องเลย แบบนี้ออดิทไม่ยอมนะคะ
3. การตรวจสอบข้อมูลหลักฐาน (Substantive Testing)
ขั้นตอนนี้เป็นการทดสอบข้อมูลและหลักฐานทางการเงินโดยตรง เช่น ตรวจสอบยอดเงินสด ยอดลูกหนี้ และยอดเจ้าหนี้ การทดสอบนี้ทำเพื่อยืนยันว่า ข้อมูลในงบการเงินถูกต้องและสมบูรณ์
โดยปกติแล้วออดิทจะเลือกรายการค้าต่างๆ ขึ้นมาตรวจสอบ จากนั้นจะขอเอกสารจากผู้ทำบัญชี ยกตัวอย่างเช่น หากเป็นการขายสินค้า ออดิทจะขอข้อมูลตั้งแต่การเปิดบิลขาย ใบส่งของ ใบแจ้งหนี้ ใบเสร็จรับเงิน และยอดเงินเข้าในบัญชีธนาคาร เป็นต้น ซึ่งจะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับการคำนวณตัวอย่างที่เลือก และวิธีการตรวจสอบที่ถูกออกแบบมาค่ะ
4. การวิเคราะห์ข้อมูลทางการเงิน (Analytical Procedures)
นอกจากจะตรวจสอบเอกสารหลักฐานแล้ว ผู้สอบบัญชีจะวิเคราะห์แนวโน้มของข้อมูลทางการเงิน เช่น รายได้ กำไร ขาดทุน และอื่นๆ เพื่อหาความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น และเพื่อให้เห็นภาพรวมของสภาพการเงินของบริษัท
ยกตัวอย่างเช่น ปีนี้กำไรขั้นต้นลดลง สาเหตุเกิดจากอะไรทั้งๆ ที่กิจการไม่ได้เปลี่ยนแปลงวิธีการตั้งราคา หรือว่าโครงสร้างต้นทุนสินค้าไม่ได้เปลี่ยนแปลง
6. การสรุปผลและจัดทำรายงาน
เมื่อการตรวจสอบทั้งหมดเสร็จสิ้น ผู้สอบบัญชีจะสรุปผลการตรวจสอบและจัดทำหน้ารายงานผู้สอบบัญชี ซึ่งระบุถึงสถานะของงบการเงิน ว่าได้มาตรฐานและมีความถูกต้องเพียงใด รวมถึงข้อสังเกตต่าง ๆ ที่ควรแจ้งให้ผู้มีส่วนได้เสียทราบ
หากท่านไหนอยากทราบเคล็ดลับวิธีจัดทำกระดาษทำการของผู้สอบบัญชีที่ควรรู้ ศึกษาเพิ่มเติมได้ที่คอร์สนี้เลย
วิธีจัดทำกระดาษทำการของผู้สอบบัญชี
3. หน้ารายงานผู้สอบบัญชี
ในรายงานตรวจสอบ ผู้สอบบัญชีจะแสดงความเห็นเกี่ยวกับงบการเงินว่ามีความถูกต้องครบถ้วนตามมาตรฐานบัญชีหรือไม่ ซึ่งสามารถแสดงความเห็นได้ 4 รูปแบบคือ
- แบบที่ 1 ไม่มีเงื่อนไข หมายถึง งบการเงินถูกต้องสมบูรณ์ ผู้ตรวจสอบบัญชี ไม่พบข้อมูลที่ขัดต่อข้อเท็จจริงอย่างมีสาระสำคัญ
- แบบที่ 2 มีเงื่อนไข หมายถึง มีข้อจำกัดบางประการแต่ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อภาพรวมของงบการเงิน มีลักษณะเหตุการณ์ทำให้การแสดงความเห็นของงบการเงินเปลี่ยนแปลง เช่น งบแสดงข้อมูลข้อต่อข้อเท็จจริง นโยบายไม่เหมาะสม นำนโยบายไปใช้ผิด เปิดเผยข้อมูลไม่เหมาะสมไม่เพียงพอ
- แบบที่ 3 งบการเงินไม่ถูกต้อง หมายถึง มีลักษณะเหตุการณ์ทำให้การแสดงความเห็นของงบการเงินเปลี่ยนแปลง เช่นงบแสดงข้อมูลข้อต่อข้อเท็จจริง แต่ว่าต่างจากมีเงื่อนไขคือ ผลกระทบของการตรวจสอบที่เกิดขึ้น แผ่กระจายไปทั่วงบการเงินเลยค่ะ
- แบบที่ 4 ไม่แสดงความเห็น หมายถึง ไม่แสดงความเห็นต่องบการเงิน หมายถึง มีลักษณะเหตุการณ์ ไม่สามารถหาหลักฐานที่เหมาะสมอย่างเพียงพอเพื่อการตรวจสอบได้
ทำความเข้าใจ หน้ารายงานผู้สอบบัญชีในงบการเงินอ่านเพิ่มเติมตามลิงค์นี้เลยค่ะ
4. ประโยชน์ของการมี Auditor
การตรวจสอบบัญชีช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้ถือหุ้น นักลงทุน และผู้มีส่วนได้เสียรายอื่น ๆ ว่าข้อมูลทางการเงินที่บริษัทเปิดเผยนั้นเป็นความจริง ถูกต้อง และเป็นไปตามมาตรฐานทางบัญชี สิ่งนี้ช่วยลดโอกาสที่จะเกิดการทุจริตและข้อผิดพลาดในกระบวนการทำงานภายในบริษัท
และที่สำคัญสุดๆ นักบัญชีเองก็จะได้ความรู้เพิ่มเติมในอีกมุมมองนึกจากบุคคลภายนอกด้วยนะ ว่าเราทำงานแบบนี้ถูกต้องหรือไม่ ควบคุมภายในดีหรือเปล่า มีอะไรต้องปรับปรุงแก้ไขหรือไม่ เหมือนกับการวัดเกรดตัวเองด้วยเช่นเดียวกันจ้า
ใครที่อ่านแล้วอยากทำงานด้านตรวจสอบ หรือว่าอยากทราบว่า เส้นทางผู้ตรวจสอบบัญชีต้องทำอะไรบ้าง มาดูกัน
เส้นทาง CPA ต้องทำอย่างไร?
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ Line: @cpdacademy