นักบัญชีคนไหนรับทำบัญชี ยื่นภาษีอย่างเดียว ตอนนี้อาจจะยังไม่เพียงพอ เพราะทุกวันนี้ลูกค้าต้องการมากกว่างานบัญชีและยื่นภาษี แล้วลูกค้าต้องการอะไรบ้าง

งานรับทำบัญชี ยื่นภาษีคืออะไร?
โดยทั่วไปแล้ว นักบัญชีจะมีหน้าที่ ในการบันทึกธุรกรรมทางการเงินต่างๆ ของธุรกิจในนามขององค์กร งานที่เราต้องทำเป็นประจำทุกเดือนประกอบด้วย
- สอบทานเอกสารประกอบการลงบัญชี สมุดบัญชี
- จัดทำรายงานภาษีหัก ณ ที่จ่าย เช่น ภงด. 3, 53, 54
- จัดทำรายงานภาษีซื้อ – ขาย และ ภ.พ. 30 ตามกฎหมายภาษีมูลค่าเพิ่ม
- จัดทำรายงานภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปี (ภ.ง.ด. 51) ภาษีเงินได้นิติบุคคลประจำปี (ภ.ง.ด. 50)
- ยื่นภาษีต่อกรมสรรพากรภายในเวลาที่กำหนด
โดยทั่วไปแล้ว งานเหล่านี้ต้องการผู้ทำบัญชีที่มีคุณสมบัติตามกฎหมายกำหนด
แต่รู้หรือไม่?? การเป็นนักบัญชีนอกจากหน้าที่ที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ลูกค้ายังคาดหวังอะไรจากนักบัญชีบ้าง
ในโลกของการทำธุรกิจ ลูกค้าหรือ CEO ของบริษัท คงไม่ได้โฟกัสแค่การทำบัญชีให้แม่นยำถูกต้องตามมาตรฐานเพียงอย่างเดียว
เพราะอะไรน่ะหรอ ?
ก็เพราะว่าลูกค้าต้องบริหารทั้งบริษัท ให้มีกำไร ไปรอด แล้วยังต้องแก้ปัญหาหลายๆ อย่างไปพร้อมๆกัน ฉะนั้น ข้อมูลทางบัญชี และคำแนะนำจากนักบัญชี จึงเป็นสิ่งที่สำคัญกับลูกค้ามากๆ

4 เรื่องที่ลูกค้าคาดหวังจากนักบัญชี
นอกจากการทำบัญชี ยื่นภาษีให้เสร็จแล้ว 4 เรื่องสำคัญที่ลูกค้าต้องการจากเรามีอะไรบ้าง ลองมาหาคำตอบกัน
1. งบรายเดือน
ลูกค้าจะไม่รู้ผลประกอบการในแต่ละเดือนเลยถ้าไม่มีงบรายเดือน บริษัทส่วนใหญ่ที่ไม่ได้จ้างพนักงานบัญชีประจำอาจจะไม่เคยเห็นงบการเงินรายเดือน ถ้าไม่ได้จ่ายเงินเพิ่ม ซึ่งนักบัญชีเองก็ไม่อยากทำงบรายเดือนให้เช่นกันเพราะต้องปรับปรุงรายการประจำเดือนยุ่งยากไปอีก
แต่ทว่า ถ้าไม่นับเรื่องงานที่เพิ่มเข้ามา การมีงบประจำเดือน อย่างน้อย งบกำไรขาดทุนประจำเดือนนั้น จะทำให้ลูกค้ารู้ความเป็นไปของธุรกิจว่าเดือนนี้มีกำไรหรือขาดทุน จำนวนเท่าไร จะได้ตัดสินใจวางกลยุทธ์ต่อในอนาคต หรือประมาณการต้นทุนและค่าใช้จ่ายต่างๆได้แม่นยำขึ้น อีกทั้งยังสามารถแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นระหว่างเดือนได้ทันกับสถานการณ์นั้นๆ
ในความเป็นจริงแล้วนักบัญชีถ้ารับทำบัญชี ยื่นภาษีเสร็จแล้ว ลองดาวน์โหลดงบการเงินให้ลูกค้าดูสักนิด ก็คงไม่ยากอะไร แถมยังทำให้ลูกค้าพอใจได้อีกด้วย
2. ช่วยวิเคราะห์งบการเงิน
มีงบแล้ว ถ้าลูกค้าอ่านและวิเคราะห์งบไม่เป็น สุดท้ายก็บริหารไม่ได้อยู่ดี จังหวะนี้เป็นโอกาสของนักบัญชีที่จะช่วยวิเคราะห์งบรายเดือนให้กับลูกค้าว่า เดือนที่ผ่านมาผลประกอบการดีขึ้นไหม โดยเปรียบเทียบง่ายๆ แบบนี้
- สัดส่วนกำไรต่อรายได้เป็นอย่างไร
- งบการเงินเติบโตขึ้นไหม
- มีอัตราส่วนการเงินอะไรที่ผิดปกติบ้างหรือเปล่า

ตัวอย่างอัตราส่วนทางการเงิน และการวิเคราะห์เบื้องต้นที่นักบัญชีควรรู้
- วัดสภาพคล่องทางการเงิน (Liquidity ratio)
อัตราส่วนสภาพคล่อง = สินทรัพย์หมุนเวียน / หนี้สินหมุนเวียน
การวิเคราะห์อัตราส่วนนี้ : ผลลัพธ์ถ้าออกมามีค่า > 1 ถือว่าสภาพคล่องดี แต่หาก มีค่า < 1 อาจมองว่าขาดสภาพคล่อง ในการดำเนินธุรกิจ หากสภาพคล่องดี แสดงถึงความสามารถในการชำระหนี้สินระยะสั้นที่ดีตามไปด้วย
- วัดความสามารถในการทำกำไร (Profitability ratio)
อัตรากำไรขั้นต้น= กำไรขั้นต้น / ขายสุทธิ
การวิเคราะห์อัตราส่วนนี้ : ช่วยรายงานผลการดำเนินงานของธุรกิจได้ว่ามีความสามารถในการทำกำไรอย่างไรได้บ้าง ช่วยในการนำไปวิเคราะห์เพื่อแข่งขันทางธุรกิจในอุตสาหกรรมเดียวกันได้อีกด้วย
- วัดประสิทธิภาพในการจัดการสินทรัพย์ (Asset management ratio)
อัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์ = กำไรสุทธิ / สินทรัพย์รวม (เฉลี่ย)
การวิเคราะห์อัตราส่วนนี้ : เป็นการวัดอัตราส่วนเปรียบเทียบกำไรสุทธิกับสินทรัพย์รวม แสดงถึงความสามารถในการใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ทั้งหมดที่กิจการมี
- วัดความสามารถในการชำระหนี้ (Debt management ratio หรือ Leverage ratio)
อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น = หนี้สินรวม / ส่วนของผู้ถือหุ้น
การวิเคราะห์อัตราส่วนนี้ : อัตราส่วนที่นำ หนี้สินรวม หารด้วย ส่วนของผู้ถือหุ้น อัตราส่วนนี้จะแสดง โครงสร้างเงินทุนของกิจการว่า สินทรัพย์ของกิจการมาจากการกู้ยืม หรือมาจากทุนของกิจการ ถ้าอัตราส่วนนี้สูงมีโอกาสที่กิจการจะไม่สามารถชำระดอกเบี้ย ได้สูงตามไปด้วย
อยากวิเคราะห์งบการเงินให้เก่งขึ้น อบรมที่นี่เพื่ออัปสกิลได้เลย: รู้ทันธุรกิจด้วยการวิเคราะห์งบการเงิน
3. แนะนำเพื่อพัฒนา
นักบัญชีทำงานคลุกคลีกับตัวเลขและย่อมรู้ดีกว่าบริษัทน่าจะต้องพัฒนาอะไรเพิ่มเติม เพื่อสร้างกำไรได้ดีขึ้น มีประสิทธิภาพการทำงานที่มากขึ้น
ยกตัวอย่างเช่น ถ้านักบัญชีเห็นตัวเลขยอดขายในเดือนที่ผ่านมาเพิ่มสูงขึ้นจากผลิตภัณฑ์ม้ามืดที่บริษัทไม่เคยโปรโมทเลย นักบัญชีอาจช่วยแนะนำลูกค้าได้ว่าลองโปรโมทสินค้าตัวนี้ดูไหม เผื่อว่าจะขายได้ดี มีกำไรเข้ามาเพิ่ม
นอกจากนี้ นักบัญชีหากใช้การสังเกตข้อมูลต่างๆ ที่รวบรวมมา สามารถนำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบง่ายๆ ดูแนวโน้มข้อมูลทางการเงินต่างๆ จนมองเห็นการเปลี่ยนแปลงในตัวเลข หรือแนวโน้มที่ผู้บริหารมองไม่เห็น ซึ่งถ้านำไปรายงานต่อ อาจทำให้ผู้บริหารเห็นช่องทางใหม่ๆ การพัฒนาใหม่ๆ หรือการลดต้นทุนการผลิต จนสามารถใช้เป็นข้อได้เปรียบในการแข่งขันทางธุรกิจได้ อีกด้วย
4. บอกแนวทางแก้ปัญหา มากกว่าชี้จุดผิด
นักบัญชีมักยอมไม่ได้กับข้อผิดพลาดต่างๆ ที่เกิดขึ้นในบริษัท นอกจากจะค้นหาข้อผิดพลาด เราจะช่วยลูกค้าหาแนวทางแก้ไขปัญหาข้อผิดพลาดนี้ไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำๆ
เช่น ถ้าพบว่าสินค้าเหลือ ไม่ตรงกับรายงานบัญชี เพราะพนักงานคลังไม่ได้ตรวจนับของรับคืน อันนี้เราควรจะหาวิธีช่วยให้พนักงานคลังทำงานเป็นระบบขึ้น โดยการทำเช็คลิสตรวจนับสินค้าจากคลังให้ตรงกับการบันทึกรับของทางบัญชี
ลูกค้าเองก็จะได้แฮปปี้ เพราะนี่ไม่ใช่แค่การบอกว่าคลังทำงานผิดตรงไหน แต่นักบัญชีได้ช่วยให้ทีมคลังมีการควบคุมภายในที่ดีในการทำงานมากยิ่งขึ้น
การนำเสนอแนวทางการควบคุมภายใน เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่นักบัญชีสามารถทำได้ดี เนื่องจากการมองเห็นปัญหา และข้อผิดพลาดมากกว่าคนอื่น ข้อผิดพลาด หรือการทุจริตที่อาจเกิดขึ้นในองค์กร เป็นสิ่งที่ควบคุมได้บ้าง ไม่ได้บ้าง แต่หากเรามีการควบคุมภายในที่ดี อย่างน้อยก็ช่วยลดความเสี่ยงสืบเนื่องที่อาจเกิดขึ้นได้ไม่มากก็น้อย บางครั้ง แนวคิดหรือมุมมองของนักบัญชีในการค้นพบ ป้องกัน หรือแม้แต่การแก้ไขข้อผิดพลาด หรือการทุจริตนั้นๆ ต้องเป็นประโยชน์ต่อลูกค้าไม่ทางใดก็ทางหนึ่งได้อย่างแน่นอน
4 เรื่องสำคัญที่ลูกค้าต้องการจากนักบัญชี มาถึงตอนนี้อย่าลืมสำรวจตัวเองกันนะคะว่างานที่เราทำทุกวันนี้เป็นสิ่งเดียวกับที่ลูกค้าต้องการจากเราไหม เพราะถ้าไม่ใช่ ในอนาคตลูกค้าอาจมองหาคนใหม่ที่ทำงานโดนใจกว่า มีประโยชน์กับบริษัทมาทดแทนเราได้โดยไม่รู้ตัวนั่นเองค่ะ
อ่านเพิ่มเติมอยากเป็นนักบัญชีมืออาชีพ 3 เรื่องต้องรู้มีอะไรบ้าง?
อยากเก่งกว่านี้ ทำงานได้ดีกว่าเดิม อบรม CPD เพื่อเพิ่มพูนทักษะงานบัญชีที่นี่