ความรู้บัญชี

เทคนิคเตรียมสอบ CPA กฎหมาย 1 ให้ผ่านฉลุย

เทคนิคเตรียมสอบ CPA กฎหมาย 1 ให้ผ่านฉลุย

เป็นที่รู้กันในหมู่นักบัญชีว่าการสอบใบอนุญาต CPA นั้น จำเป็นต้องมีคุณสมบัติหลาย ๆ อย่าง และเงื่อนไขหลายประการ หนึ่งในนั้นคือ เราต้องผ่านการทดสอบที่ยากมาก ๆ ถึง 6 วิชาด้วยกัน โอ้…แม่เจ้า

วันนี้เราจะพาทุกคนมารู้จักกับหนึ่งในวิชาที่ใช้ในการสอบ CPA นั่นก็คือวิชากฎหมาย 1 ที่คนในวงการรู้ดีว่าควรลงสอบวิชานี้ก่อนเป็นลำดับแรก วิชานี้มันเกี่ยวกับอะไร มีเทคนิคยังไงจึงสอบผ่าน เรามาเรียนรู้ไปพร้อมๆกันเลย

CPA กฎหมาย 1 เป็นวิชายอดฮิตที่คนเข้าสอบกันมากที่สุด

วิชากฎหมาย 1 นั้นเป็นวิชาที่รุ่นพี่ผู้สอบบัญชีมักแนะนำให้น้องๆ เข้าสอบเป็นวิชาแรกค่ะ เพราะอะไรน่ะหรอ ลองมาดูสาเหตุกัน

สถิติผู้เข้ารับการทดสอบ CPA 5 ปีย้อนหลัง

ปกติแล้วการสอบ CPA จะจัดขึ้นปีละ 3 ครั้ง และจากการสอบ CPA 5 ปีที่ผ่านมาพบว่า วิชาที่มีคนเข้าสอบเยอะมากที่สุดคือวิชากฎหมาย 1 โดยจาก 5 ปีย้อนหลังถ้าไม่นับปี 2564 ที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 (ทำให้จัดการสอบได้เพียงแค่ 2 ครั้ง) ทุก ๆ ปีจะมีคนเข้าสอบวิชากฎหมาย 1 มากกว่า 3,000 คน และบางปีสูงถึง 4,000 คน

โดยจากสถิติผลสอบ CPA 5 ปีย้อนหลัง CPA กฎหมาย 1 มีอัตราการผ่านเฉลี่ยอยู่ที่ 16% เลยทีเดียว ดูเผิน ๆ อาจจะน้อยแต่ว่าเมื่อเทียบกับจำนวนผู้เข้าสอบที่สูงกว่าวิชาอื่น ๆ มาตลอดก็ถือว่าไม่น้อยเลยนะคะ

ดังนั้นจากสถิตินี้ทำให้เราสามารถบอกได้ว่า วิชากฎหมาย 1 เป็นวิชายอดฮิตที่คนเข้าสอบกันมากที่สุดนั่นเอง

สถิติการเข้าสอบ CPA 2561 - 2565
สถิติการเข้าสอบ CPA 2561 – 2565

เนื้อหาเข้าใจง่าย เกี่ยวกับกฎหมายธุรกิจทั่วไป

ส่วนใหญ่แล้วคนที่จบการศึกษาหรือกำลังศึกษาด้านบริหารธุรกิจอย่างน้อย ๆ ก็น่าจะเคยเรียนกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาบ้างแล้ว และวิชากฎหมาย 1 ไม่มีเนื้อหาการคำนวณเลย และออกแนวเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการทำธุรกิจ และกฎหมายบริษัทเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งคนที่เป็นเจ้าของบริษัทบางคนก็พอจะทราบเรื่องเหล่านี้บ้างแล้ว ที่สำคัญเลยใช้ความเข้าใจตัวบทกฎหมายเป็นหลัก และการท่องจำบ้างเล็กน้อย จึงทำให้คนที่เริ่มสอบมักจะสอบวิชานี้เป็นวิชาแรกนั่นเอง

เนื้อหาที่ใช้ในการสอบ CPA กฎหมาย 1

ว่าด้วยเรื่องการสอบ CPA กฎหมาย 1 หรือชื่อเต็ม ๆ คือ “กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบวิชาชีพสอบบัญชี 1” มีเนื้อหาเกี่ยวกับกฎหมาย 5 ฉบับหลักๆ ดังนี้

กฎหมายการบัญชี

บทนี้จะเป็นเนื้อหาเกี่ยวกับกฎหมายการจัดทำบัญชีเลยค่ะ เช่น หน้าที่และความรับผิดชอบของผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี (ผู้ประกอบการ) และหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้ทำบัญชี (ผู้ประกอบวิชาชีพ) ในการจัดทำบัญชีและงบการเงินให้ถูกต้อง

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์

บทนี้จะเป็นเนื้อหาของบริษัทจำกัดและห้างหุ้นส่วนจำกัด เกี่ยวกับการจัดตั้งบริษัท การเลิกบริษัท การบริหารจัดการบริษัท เช่น จดทะเบียนบริษัทต้องจัดประชุมไหม ลงหนังสือพิมพ์ไหม ต้องใช้ระยะเวลาทำการเท่าไหร่ ชำระทุนจดทะเบียนเท่าไหร่

กฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัด

บทนี้จะเป็นเนื้อหาของบริษัทมหาชนจำกัด หัวข้อจะคล้าย ๆ กับบทที่ผ่านมาเลยค่ะ การจัดตั้งบริษัท การเลิกบริษัท การบริหารจัดการ แต่เป็นเรื่องของบริษัทมหาชนก็จะมีเนื้อหาที่รายละเอียดแตกต่างกันและมากกว่าของบริษัทจำกัด

พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

บทนี้จะเป็นเนื้อหาเกี่ยวกับกฎหมายที่ควบคุมบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ เช่น ห้ามเปิดเผยข้อมูลภายใน หรือใช้ข้อมูลภายในเพื่อหาประโยชน์จากราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ เป็นต้น

กฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว

บทนี้จะเป็นเนื้อหาเกี่ยวกับการลงทุนของคนต่างด้าว และหลักเกณฑ์ในการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวในไทย เช่น มีธุรกิจอะไรบ้างที่คนต่างด้าวไม่สามารถประกอบกิจการในไทยได้ หรือธุรกิจไหนทำได้แต่ต้องมีใบอนุญาต ลงทุนในไทยต้องใช้เงินทุนขั้นต่ำเท่าไหร่ เป็นต้น

เนื้อหา CPA กฎหมายฯ 1
เนื้อหา CPA กฎหมายฯ 1

เทคนิคสอบ CPA กฎหมาย 1 ต้องโฟกัสตรงไหน

วิชานี้จะมีชุดข้อสอบปรนัย 40 ข้อ ข้อละ 1 คะแนน และอัตนัย 3 ข้อ 60 คะแนน รวมทั้งหมด 100 คะแนน เกณฑ์การผ่านอยู่ที่ 60 คะแนนขึ้นไป

ตามความเห็นส่วนตัวแล้ว ถ้าเราพูดถึงข้อสอบที่เป็นปรนัย แน่นอนว่าข้อสอบที่ออก เนื้อหาต้องกระจายครอบคลุมทุกบทเรียนอย่างแน่นอน คงจะเจาะไปตรงไหนเป็นพิเศษไม่ได้ ดังนั้นหากเราเตรียมตัวสำหรับข้อสอบที่เป็นปรนัย ก็ควรฝึกทำโจทย์ที่หลากหลายรูปแบบให้ครอบคลุมค่ะ

ส่วนในด้านข้อสอบอัตนัยนั้น ก็พอจะจับจุด Focus ได้บ้าง จากการศึกษาตัวอย่างข้อสอบเก่า ๆ ที่ผ่านมา งั้นเรามาลงรายละเอียดกันสักหน่อยว่า Focus ยังไง?

กฎหมายการบัญชี

ตามวัตถุประสงค์การสอบแล้ว เขาต้องการให้เรารู้ถึงหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้ประกอบการ และผู้ทำบัญชี ว่าต้องต้องทำอะไร ทำอย่างไร เช่น บันทึกรายการค้าต้องทำภายในกี่วัน รูปแบบงบการเงินมีกี่แบบ ต้องปิดงบภายในกี่วัน สถานที่เก็บเอกสารต้องเก็บที่ไหนและเก็บกี่วัน

กฎหมายบริษัทมหาชนและบริษัทจำกัด

กฎหมายบริษัทมหาชนและบริษัทจำกัดนั้น รูปแบบของเหตุการณ์ต่าง ๆ จะคล้าย ๆ กัน แต่วิธีการจัดการจะต่างกันแล้วแต่กรณีไป ดังนั้นเราสามารถเหมารวมเข้าไว้ด้วยกันได้ โดยหมวดนี้เป็นหมวดที่ควรเน้นที่สุด เนื้อหาเยอะที่สุด และสำคัญที่สุดของ CPA กฎหมาย 1

โดยเนื้อหาต้องใช้ความเข้าใจหลักการ แต่บางอย่างเราต้องใช้ความจำเข้าช่วยบ้าง เช่น การจดทะเบียนบริษัท การประชุมจัดตั้ง การปิดสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น การประชุมผู้ถือหุ้น การจ่ายปันผล การตั้งสำรองตามกฎหมาย การเพิ่มทุนลดทุน การเลิกบริษัท

เรื่องต่าง ๆ ข้างต้นนี้สิ่งที่เราต้องเข้าใจและจำให้ได้คือ เวลา และเงื่อนไข เช่น การจ่ายเงินปันผลต้องได้รับอนุมัติจากที่ประชุม ถ้าขาดทุนสะสมห้ามจ่าย และต้องจ่าย 1 เดือนหลังจากได้รับอนุมัติจ่ายปันผลเป็นต้น

พ.ร.บ. หลักทรัพย์

เรื่องที่ควร Focus คือความรับผิดทางแพ่งเรื่องหนังสือชี้ชวนเป็นเท็จ หรือขาดสาระสำคัญที่ต้องแจ้ง และการเปิดเผยข้อมูลภายในให้คนนอกรู้ และการที่คนภายนอกใช้ประโยชน์จากข้อมูลภายใน (Insider) และเรื่องผู้สอบบัญชีต้องทำอย่างไรหากพบข้อสงสัยว่าผิด พ.ร.บ. หลักทรัพย์

กฎหมายการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว

เรื่องที่ควร Focus คือ การลงทุนของคนต่างด้าว ทุนจดทะเบียนขั้นต่ำเท่าไหร่ การชำระทุนจดทะเบียน และอาชีพห้ามทำ 3 รูปแบบ ไม่ให้ทำด้วยเหตุผลพิเศษ ไม่ให้ทำเพราะความมั่นคง ไม่ให้ทำเพราะคนไทยแข่งขันไม่ได้

เทคนิคสอบ CPA กฎหมาย 1 ต้องโฟกัสตรงไหน
เทคนิคสอบ CPA กฎหมาย 1 ต้องโฟกัสตรงไหน

สรุป

เนื้อหาการสอบ CPA นั้นแต่ละวิชาที่สอบ ไม่มีวิชาไหนเลยที่ง่าย การเตรียมตัวสอบ CPA นั้น แต่ละคนจึงมีวิธีการที่แตกต่างกันออกไป แต่จะบอกว่ายากจนทำไม่ได้เลยก็คงจะไม่ใช่นะคะ โดยสถิติข้างต้นแล้วก็อาจจะพอบอกได้ว่า CPA กฎหมาย 1 น่าจะเป็นวิชาที่เบาที่สุดใน 6 วิชาที่สอบ

หากเรามีเป้าหมายระยะไกลที่จะสอบให้ผ่านให้ได้แล้ว การเริ่มจากวิชาที่คิดว่าสอบผ่านก่อนเป็นวิชาแรก ก็เป็นกลยุทธ์ที่ดีมากเลยในระยะยาว เพราะช่วยสร้างความมั่นใจ สร้างกำลังใจ เป็นเชื้อไฟในใจให้เราสู้ต่อไปกับการสอบที่เหลือได้ CPD Academy ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนที่กำลังสอบอยู่สู้จนกว่าจะถึงเป้าหมายให้ได้นะคะ

อบรมบัญชีเก็บชั่วโมง CPD ออนไลน์ง่ายๆ ได้ที่บ้าน

สอบถามได้ที่ Line: @cpdacademy หรือ https://lin.ee/36U1ks0Y

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า