ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต (CPA) เป็นผู้ที่ได้รับความไว้วางใจให้ตรวจสอบและรับรองข้อมูลให้กับผู้ใช้ข้อมูลนั่นเอง ซึ่งหากผู้สอบบัญชีรับอนุญาตรับรองข้อมูลผิด ๆ ขึ้นมา ทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ใช้ข้อมูล ก็อาจจะถูกผู้ใช้ข้อมูลฟ้องร้องเอาได้นะคะ ดังนั้นผู้สอบบัญชีจึงต้องมีความรู้ความเชี่ยวชาญ และต้องผ่านการทดสอบสุดหิน แต่ก่อนจะผ่านการทดสอบ ไม่ใช่ทุคนนะคะที่จะเข้าสอบได้ ต้องมีกระบวนการในการสมัครสอบเช่นเดียวกับหลาย ๆ ใบประกอบวิชาชีพอื่น วันนี้เราจะมาดูกันว่าคุณสมบัติสอบ CPA มีอะไรบ้าง และต้องผ่านขั้นตอนอะไรบ้าง ถึงจะเข้ารับการทดสอบได้
คุณสมบัติของผู้สมัครสอบ CPA
1. ต้องเป็นสมาชิกสภาวิชาชีพบัญชี
โดยผู้ที่จะสอบ CPA ต้องเป็นสมาชิกของสภาวิชาชีพบัญชีตาม ข้อบังคับสภาวิชาชีพบัญชี ว่าด้วยสมาชิก พ.ศ. 2556 ซึ่งสมาชิกของสภาวิชาชีพที่เข้ารับการสมัครสอบได้นั้นคือสมาชิกแบบสามัญโดยมีเงื่อนไขการสมัครสมาชิกเบื้องต้นดังนี้
สมาชิกสามัญ
คุณสมบัติ : อายุไม่ต่ำกว่า 20 ปี สัญชาติไทย จบการศึกษาปริญญาตรีหลักสูตรบัญชี หรือก็คือคนที่จบสายตรงบัญชีมานั่นเอง
2. ต้องขึ้นทะเบียนผู้ฝึกงานสอบบัญชี
ตาม “ข้อบังคับสภาวิชาชีพบัญชี ว่าด้วยหลักเกณฑ์และคุณสมบัติของผู้สอบบัญชีรับอนุญาติ” หมวด 3 ข้อ 8 (1) ระบุว่าผู้ที่เข้ารับการทดสอบต้องฝึกหัดงานครบถ้วนแล้ว หรืออยู่ระหว่างการฝึกหัดงานสอบบัญชี ดังนั้นแล้วผู้เข้ารับการทดสอบทุกคนต้องเป็นคนที่ขึ้นทะเบียนฝึกงานแล้วเท่านั้นค่ะ
3. ต้องจบการศึกษาระดับปริญญา
ตาม “ข้อบังคับสภาวิชาชีพบัญชี ว่าด้วยหลักเกณฑ์และคุณสมบัติของผู้สอบบัญชีรับอนุญาติ” หมวด 3 ข้อ 8 (1) ระบุว่าผู้ที่เข้ารับการทดสอบต้องสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาหรือประกาศนียบัตรในวิชาการบัญชีจากสถาบันการศึกษาที่สภาวิชาชีพบัญชีรับรองไว้
4. ต้องไม่เคยเป็นผู้ทุจริตในการสอบ
ตาม “ข้อบังคับสภาวิชาชีพบัญชี ว่าด้วยหลักเกณฑ์และคุณสมบัติของผู้สอบบัญชีรับอนุญาติ” หมวด 3 ข้อ 8 (1) ระบุว่าผู้ที่เข้ารับการทดสอบต้องไม่เคยเป็นผู้ทุจริตในการทดสอบความรู้ของผู้รับการทดสอบ
คุณสมบัติต้องห้าม
หลังจากที่เรารู้กันไปแล้วนะคะ ว่าคุณสมบัติสอบ CPA ต้องเป็นสมาชิกของสภาวิชาชีพบัญชีเสียก่อน แล้วคุณสมบัติต้องห้ามล่ะ มีอะไรบ้าง?
- ไม่เคยได้รับโทษจําคุกโดยคําพิพากษาถึงที่สุดให้จําคุกในคดี กฎหมายอาญาเกี่ยวกับทรัพย์, ทํารายงานเท็จ, ฉ้อโกงประชาชน, กฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์, กฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุนธุรกิจหลักทรัพย์, กฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์, กฎหมายว่าด้วยการพนัน, กฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด, และกฎหมายเกี่ยวกับการฟอกเงิน เว้นแต่พ้นโทษมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี หรือภาษาง่ายๆก็คือคดีที่เกี่ยวข้องกับการเงินเป็นส่วนใหญ่นั่นเอง
- ถูกลงโทษเนื่องจากเป็นผู้ล้มละลายทุจริต
- ประพฤติผิดจรรยาบรรณ
- เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
- ไม่เคยต้องโทษด้านจรรยาบรรณจนถูกเพิกถอนสมาชิก เว้นแต่พ้นโทษไม่น้อยกว่าสามปี
โดยคุณสมบัติสอบ CPA ที่ต้องห้ามเหล่านี้นะคะ เรียกได้ว่าเป็นคุณสมบัติต้องห้ามของอาชีพบัญชีเลยก็ว่าได้ ตามพระราชบัญญัติวิชาชีพบัญชี พ.ศ. 2547 เพราะนอกจากจะไม่สามารถสอบได้แล้ว ยังเป็นสมาชิกของสภาวิชาชีพไม่ได้อีกด้วยค่ะ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ เป็นสมาชิกไม่ได้ก็ลงสอบ CPA ไม่ได้นั่นเองค่ะ
การฝึกหัดงาน
สำหรับคนที่จะเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาต (CPA) ได้นั้นต้องผ่านการฝึกหัดงาน หรือเราเรียกกันว่าเก็บชั่วโมงการทำงาน ก็เหมือนกับนักบินที่ต้องเก็บชั่วโมงบิน ใครมีประสบการณ์เยอะก็ถือได้ว่ามีความเชี่ยวชาญทางด้านนี้เป็นอย่างดีเลย ซึ่งการจะเป็น CPA นั้นก็ต้องมีความเชี่ยวชาญแน่นอนอยู่แล้วค่ะ
ชั่วโมงงาน และระยะเวลา
โดยการเก็บชั่วโมงการทำงานนั้น ต้องสะสมชั่วโมงการทำงาน “ตรวจสอบบัญชี” ย้ำนะคะชั่วโมงการตรวจสอบบัญชี (การทำบัญชีหรือการให้บริการอื่นไม่นับนะคะ) อย่างน้อย 3,000 ชั่วโมง เวลาในการทำงานอย่างน้อย 3 ปี และต้องเก็บชั่วโมงให้เสร็จสิ้นภายในระยะเวลา 5 ปี ไม่เช่นนั้นแล้วการเก็บชั่วโมงจะสิ้นผลเอาได้นะคะ
ทางเลือกใหม่สะสมชั่วโมงแค่ 1 ปี
เราต้องเก็บชั่วโมงถึง 3 ปีเลยหรือไงนะ? บางคนอาจจะบอกว่านานมากเลยใช่ไหมคะ
ตาม “ข้อบังคับสภาวิชาชีพบัญชี ว่าด้วยหลักเกณฑ์และคุณสมบัติของ ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๖๓” ข้อ 7.2 ถ้าเราเก็บชั่วโมง 1 ปี 1,000 ชั่วโมงแล้ว เราสามารถไปอบรมแทนการเก็บชั่วโมง 2 ปี 2,000 ชั่วโมงได้นั่นเอง เป็นไงล่ะ สะดวกแถมยังเร็วมากๆเลยใช่ไหมคะ ไม่ต้องทำออดิตกันถึง 3 ปี ก็เก็บชั่วโมงเท่ากับ 3 ปีได้แล้วค่ะ
Q&A
1. เรียนบัญชีปี 3 สามารถสมัครสอบ CPA ได้หรือไม่
ตอบ ไม่ได้ค่ะ โดยการสมัครสอบผู้รับการทดสอบต้องสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาหรือประกาศนียบัตรในวิชาการบัญชีจากสถาบันการศึกษาที่สภาวิชาชีพบัญชีรับรองไว้ ตาม “ข้อบังคับสภาวิชาชีพบัญชี ว่าด้วยหลักเกณฑ์และคุณสมบัติของผู้สอบบัญชีรับอนุญาติ” หมวด 3 ข้อ 8 (1)
2. ยังเก็บชั่วโมงฝึกหัดงานไม่ครบสามารถเข้าสอบ CPA ได้หรือไม่
ตอบ ได้ค่ะ แม้จะยังเก็บชั่วโมงไม่ครบ 3 ปี 3,000 ชั่วโมง ก็สมัครเข้าทดสอบได้ค่ะ แต่ยังคงเงื่อนไขเข้าทดสอบวิชาสอบบัญชีว่าต้องเก็บชั่วโมง 1 ปี 1,000 ชั่วโมงก่อน กรณีที่เก็บชั่วโมงครบ 1 ปี 1,000 ชั่วโมง สามารถเข้าทดสอบได้ทั้งหมด 6 วิชาเลย
3. สมาชิกสมทบสามารถเข้าสอบ CPA ได้ไหม
ตอบ ไม่ได้ค่ะ โดยสมาชิกสมทบนั้นจบการศึกษาในระดับที่ต่ำกว่าปริญญาตรี แต่ไม่ต่ำกว่าประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) หรืออยู่ระหว่างการศึกษาในระดับปริญญาตรีทางด้านการบัญชี แต่เงื่อนไขของการเข้ารับการทดสอบคือต้องสำเร็จการศึกษาระดับปริญญา ดังนั้นสมาชิกสมทบจึงเข้าสอบไม่ได้ค่ะ
4. ไม่จบปริญญาตรีบัญชี แต่จบปริญญาโทบัญชี สมัครสอบ CPA ได้ไหม
ตอบ สมัครได้ค่ะ ตาม “ข้อบังคับสภาวิชาชีพบัญชี ว่าด้วยหลักเกณฑ์และคุณสมบัติของผู้สอบบัญชีรับอนุญาติ” หมวด 3 ข้อ 8 (1) ระบุว่าผู้รับการทดสอบต้องสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาจาก สถาบันการศึกษาที่สภาวิชาชีพบัญชีรับรองไว้ ดังนั้นหากเป็นหลักสูตรปริญญาโทที่สภาวิชาชีพบัญชีรับรองไว้ก็สามารถสมัครเก็บชั่วโมงฝึกงานและสอบได้ค่ะ
สรุป
คุณสมบัติผู้สมัครสอบ CPA นั้นเป็นด่านแรกสำหรับผู้ที่เตรียมตัวสอบ CPA ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเข้าเป็นสมาชิก หรือการขึ้นทะเบียนผู้ฝึกหัดงาน ล้วนมีหลายขั้นตอนและมีกฎข้อบังคับมากมายเพราะว่าวิชาชีพสอบบัญชีเป็นวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับผู้คนจำนวนมาก เป็นผู้รับรองข้อมูลเพื่อให้ผู้ใช้ข้อมูลมากมาย จึงต้องมีคุณสมบัติและกระบวนการต่าง ๆ มากมายเช่นกัน
สำหรับเพื่อนๆ คนไหนที่ตั้งใจอยากเป็นผู้สอบบัญชี อย่าลืมเช็คคุณสมบัติให้ครบถ้วน แล้ววางแผนการสอบไว้แต่เนิ่นๆ นะคะ
อบรมบัญชีเก็บชั่วโมง CPD ออนไลน์ง่ายๆ ได้ที่บ้าน
สอบถามได้ที่ Line: @cpdacademy หรือ https://lin.ee/36U1ks0Y