คำว่า CPA หรือผู้สอบบัญชีรับอนุญาตอาจเป็นคำคุ้นหูสำหรับนักศึกษาบัญชีมาพอสมควรเลย แต่หลายคนก็ยังอดสงสัยใช่มั้ยคะว่า เอ..แล้วอาชีพนี้เค้ามีหน้าที่อะไรบ้าง ถ้าอยากทำอาชีพนี้เราต้องมีทักษะอย่างไร เดี๋ยวเราลองไปหาคำตอบกันค่ะ
ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต (CPA) คืออะไร?
ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต (ภาษาอังกฤษ: auditors) หรือ CPA คือ ผู้ที่ขึ้นทะเบียนและได้รับใบอนุญาตในการตรวจสอบและรับรองงบการเงินของบริษัท หรือ ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
เนื่องจากกฎหมายกำหนดไว้ว่า งบการเงินของกิจการนิติบุคคลนั้นจะต้องผ่านการตรวจสอบเสียก่อนจึงนำส่งแก่หน่วยงานรัฐได้เพื่อความน่าเชื่อถือจึงต้องมีผู้สอบบัญชีคอยตรวจสอบและรับรองนั่นไงล่ะ
ผู้สอบบัญชีมีหน้าที่อะไรบ้าง?
อย่างที่รู้กันว่าหน้าที่กว้างๆ ของผู้สอบบัญชีนั้นก็คือ การตรวจสอบงบการเงิน แต่ว่าถ้าเราลองลงลึกไปในรายละเอียดงาน ผู้สอบบัญชีต้องทำงานอย่างน้อยตามขั้นตอนต่อไปนี้ค่ะ
- ประเมินความเสี่ยงก่อนรับงาน และวางแผนการตรวจสอบ
- ตรวจสอบบัญชีและรับรองงบการเงินสำหรับกิจการที่เป็นนิติบุคคล
- ปฎิบัติงานตรวจสอบตามมาตรฐานการสอบบัญชี
- ความเป็นอิสระตามข้อกำหนดจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี
- แสดงความเห็นจากหลักฐานการตรวจสอบ ขึ้นอยู่กับความเพียงพอและเหมาะสมของหลักฐานการสอบบัญชีที่ได้รับ
นั่นหมายความว่า ผู้สอบบัญชีจะแตกต่างกับผู้ทำบัญชีตรงที่ พวกเค้าจะคอยตรวจการทำงานของผู้ทำบัญชีว่าบันทึกบัญชีอย่างถูกต้องและจัดทำงบการเงินอย่างเหมาะสมไหม ตามมาตรฐานการบัญชีที่กำหนดไว้
7 ทักษะที่ผู้สอบบัญชีต้องมีคืออะไร?
ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต หรือ CPA นั้นไม่ใช่ใบประกอบวิชาชีพที่ได้มาง่ายๆ นอกจากความรู้ด้านวิชาการที่เรามีแล้วอาจจะยังไม่เพียงพอกับการทำงานในฐานะผู้ตรวจสอบบัญชี เพราะว่าพวกเราต้องมีทักษะ ผู้สอบบัญชีอื่นๆ ให้ครบถ้วน
จากผลสำรวจของ The People Puzzle ด้วยความร่วมมือของ Robert Half และ the American Institute of CPAs (AICPA) พบว่าทักษะที่ผู้สอบบัญชีต้องมีทั้ง 7 ด้านประกอบด้วย
1. ทักษะการบริหารงานและความเป็นผู้นำ
ถ้าเรารู้สึกว่างานที่ทำไม่เคยเสร็จสักที หรือว่า Year-end ทีไรใจมันเหมือนจะขาดรอนๆ ทุกครั้ง เพราะงานท่วมหัวเอาตัวเองเกือบไม่รอดสักครั้ง มันอาจเป็นสัญญานบ่งบอกว่า เรายังขาดทักษะการบริหารงานและความเป็นผู้นำอยู่นั่นเอง
ทักษะการบริหารงาน หมายถึง การจัดการงานให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ การแบ่งงานให้กับทีมงาน และจัดตารางการทำงานให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ จะได้ไปจบลงที่งบเสร็จทัน Deadline พอดี รวมถึงมี Work Life Balance ในชีวิตค่ะ
ทักษะความเป็นผู้นำ หมายถึง ความสามารถในการนำพาองค์กร หรือว่าทีมให้ทำงานได้อย่างบรรลุวัตถุประสงค์ ราบรื่น as silk น้องๆ รัก และเทิดทูล ถ้าใครมีทักษะความเป็นผู้นำสูงก็จะยิ่งทำให้ทีมมีความกลมเกลียวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ร่วมกันทำงานจนสำเร็จ
ทั้ง 2 เรื่องนี้ถ้ามีในตัวผู้สอบบัญชี ก็ยิ่งทำให้ผู้สอบบัญชีทำงานเสร็จทันเวลา ทีมมีความสุข และสุดท้ายเราก็ไม่ทรมานจนเกินไปในช่วง Year-end นะคะ
2. ทักษะการพูดในที่สาธารณะ
คนจบบัญชีไม่ว่าจะทำงานสายงานไหนมักจะไม่ค่อยชอบพูดในที่สาธารณะหรือว่าออกหน้ากล้อง เพราะทุกคนคิดว่านี่ไม่ใช่งานที่ชั้นถนัดนี่นา งานจริงๆ ของชั้นคือ การอยู่หน้าคอมและหมกหมุ่นกับตัวเลขไงล่ะ
แต่ความเชื่อนี้อาจไม่ใช่ความเชื่อที่ถูกต้องเสมอไป เมื่อเราต้องสื่อสารผลงานให้กับคนหมู่มากได้เข้าใจ ทักษะการพูดในที่สาธารณะจึงเป็นเรื่องทำจำเป็นมากๆ
ทักษะการพูดในที่สาธารณะ นั้นเราอาจจะไม่จำเป็นต้องเก่งเหมือนพิธีกรในทีวีอย่างพี่กันต์ กันตถาวร แต่แค่เราสามารถสื่อสารอย่างมั่นใจ ให้กับผู้บริหาร ผู้ถือหุ้น หรือว่าทีมงานเป็นภาษาที่คนปกติฟังรู้เรื่อง เพียงเท่านี้ชีวิตก็จะดีขึ้นในพริบตาแล้วค่ะ
ฝรั่งมีสำนวนว่า Practice Makes Perfact ถ้าเรารู้ว่าไม่เก่งเรื่องนี้ หนทางเดียวที่จะเอาตัวรอดได้ก็คือ การฝึกฝนอย่างจริงจังนะคะ
3. ทักษะความรู้เรื่องภาษี
ผู้สอบบัญชีที่รู้ภาษีย่อมมีคนยากคนด้วยมากกว่าผู้สอบบัญชีที่ไม่รู้ภาษีเลย โดยเฉพาะเจ้าของธุรกิจ SMEs ที่ไม่มีทีมภาษีคอยช่วยเหลืออย่างบริษัทใหญ่ๆ
แม้เราเองไม่ได้รับรองงบการเงินเฉพาะเจาะจงเรื่องภาษี แต่ก็ดีไม่ใช่น้อยถ้าเรามีทักษะความรู้เรื่องภาษีบ้าง เสมือนหนึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับหน้าที่การงานของเราค่ะ
ทักษะความรู้ภาษีที่ผู้สอบบัญชีควรมี เช่น
- ภาษีเงินได้นิติบุคคล
- ภาษีมูลค่าเพิ่ม
- ภาษีหัก ณ ที่จ่าย
หรือภาษีเฉพาะด้านของธุรกิจแต่ละธุรกิจที่เรากำลังตรวจสอบอยู่ ทั้งนี้ แม้เรื่องภาษีจะเป็นเรื่องยาก แต่เราก็สามารถเรียนรู้กับกูรูแล้วนำไปต่อยอดได้
CPD Academy ขอแนะนำ คอร์สภาษี จากกูรูตัวจริง ที่จะช่วยปูพื้นฐานความเข้าใจของผู้สอบบัญชีได้อย่างดีเลยทีเดียว
4. ทักษะความเชี่ยวชาญด้านธุรกิจ
ลูกค้าสอบบัญชีหลายๆ รายนิยมขอคำแนะนำจากผู้สอบบัญชีในเรื่องธุรกิจของพวกเค้า ดังนั้น ผู้สอบบัญชีนอกจากที่จะรู้เรื่องบัญชีแล้ว ความรู้เรื่องธุรกิจก็เป็นสิ่งที่สำคัญ
คงมีเพียงไม่กีอาชีพนักที่จะมีประสบการณ์เรียนรู้ธุรกิจหลายๆ ประเภทแบบผู้สอบบัญชี หากเรียนรู้แล้วสามารถไปพัฒนาต่อยอด วิเคราะห์จุดอ่อนและจุดแข็ง รวมทั้งให้คำแนะนำลูกค้าได้แบบที่เอาไปใช้ได้จริงมันก็คงดีไม่น้อย
5. ทักษะเรื่องระบบ
ผู้สอบบัญชีที่สามารถใช้งานระบบต่างๆ ด้านบัญชี ย่อมมีภาษีกว่าผู้สอบบัญชีที่ใช้เป็นแค่ Excel ธรรมดา
ทุกวันนี้โลกก้าวไกล ธุรกิจก็เริ่มหันมาใช้ระบบบัญชีที่มีความหลากหลายและซับซ้อน หากตอนนี้ใครยังไม่รู้จัก ERP, Digital accounting หรือ cloud accounting อาจจะต้องหันกลับมาศึกษากันบ้างแล้วล่ะ
6. ทักษะการสื่อสาร
ผู้สอบบัญชีนอกจากที่จะเซ็นต์รับรองหน้ารายงานผู้สอบบัญชีแล้ว ความสามารถในการสื่อสารข้อมูลในหน้ารายงานผู้สอบบัญชีให้รู้เรื่องนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญ ยิ่งตอนนี้มาตรฐานการสอบบัญชีฉบับใหม่ได้เริ่มบังคับใช้สำหรับหน้ารายงานผู้สอบบัญชีที่จะต้องเปิดเผยถึง KAM หรือ Key Audit Matters ว่ามีอะไรบ้างและเราตรวจสอบอย่างไร ยิ่งทำให้การสื่อสารหน้ารายงานผู้สอบบัญชีมีความท้าทายมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้อย่าลืมว่าทักษะในการฟัง ก็ยังเป็นสิ่งที่สำคัญที่จะทำให้เราเข้าใจธุรกิจและลูกค้า รวมทั้งยังเป็นจุดเริ่มต้นของการสื่อสารแบบอื่นๆ ที่มีประสิทธิภาพด้วยเช่นกัน
7. การแสวงหาความรู้เพิ่มเติม
เพราะโลกธุรกิจที่หมุนเร็ว การแสวงหาความรู้เพิ่มเติมจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ เมื่อก่อนการเกิดขึ้นของร้านค้าออนไลน์ถือว่าเป็นปรากฏการณ์ แต่ถ้าสมัยนี้ต้องเป็นยุคของ Fintech และ Start-up สำหรับธุรกิจไร้กรอบ ในแง่ของผู้สอบบัญชี เราต้องเรียนรู้ในสิ่งเหล่านี้ตลอดเวลา รวมทั้งการควบคุมภายในที่จะตามมาสำหรับธุรกิจจำพวกนี้
เมื่อใดที่ผู้สอบบัญชีอย่างเราหยุดเรียนรู้ เมื่อนั้นการที่จะ Survive อยู่ในวิชาชีพนี้ก็คงจะยาก ผู้สอบบัญชีบางท่านมองเห็นโอกาสในการพัฒนาความรู้ตัวเองจากการ อบรมเก็บชั่วโมง CPD นี่แหละ
เป็นยังไงบ้างคะ พอจะเข้าใจว่า “ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต” นั้นเป็นใคร ทำงานอย่างไรบ้าง และต้องมีทักษะนอกเหนือจากความรู้บ้าง คิดว่าน่าจะพอเป็นไอเดียสำหรับน้องๆ ทุกคนได้นะคะ
หรือว่าอ่านบทความเพิ่มเติม รู้จักอาชีพผู้ตรวจสอบบัญชี ต้องจบอะไร ทำงานแบบไหน
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่นี่
Line: @cpdacademy หรือ https://lin.ee/36U1ks0Y