นักบัญชีมือใหม่

สมาชิกสภาวิชาชีพบัญชี ใครต้องสมัครบ้าง วิธีสมัครสมาชิกทำยังไง

สมาชิกสภาวิชาชีพบัญชี ใครต้องสมัครบ้าง วิธีสมัครสมาชิกทำยังไง

นักบัญชีทั้งหลายคงเคยได้ยินคำว่า “สภาวิชาชีพบัญชี” อยู่บ่อยๆ และเราก็มักจะพบว่าเพื่อนๆ นักบัญชีส่วนใหญ่เป็น สมาชิกสภาวิชาชีพบัญชี แล้วพวกเราสงสัยกันบ้างมั้ยว่า สภาวิชาชีพบัญชีเค้าเป็นใคร แล้วทำไมเราต้องเป็นสมาชิกด้วย และถ้าอยากเป็นสมาชิกเราจะต้องสมัครยังไง ยุ่งยากไหม ทำยังไงจึงสมัครสมาชิกผ่านแบบฉลุย วันนี้ CPD Academy ขออาสาไขข้อข้อใจไปพร้อมๆ กันในบทความนี้จ้า

สภาวิชาชีพบัญชีคือใคร?

สภาวิชาชีพบัญชี เป็นนิติบุคคลที่ถูกจัดตั้งมาเพื่อส่งเสริมและพัฒนาวิชาชีพบัญชี อำนาจหน้าที่หลักๆ ของสภาวิชาชีพบัญชี ก็คือ การดูแลผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี (นักบัญชีก็เป็นหนึ่งในนั้น)  กำหนดมาตรฐานการบัญชี และกำหนดจรรยาบรรณผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี เป็นต้น ทำให้ทั้งนักบัญชีจะต้องมีวิถีชีวิตวนเวียนกับสภาวิชาชีพบัญชีแบบแยกต่างหากออกจากกันไม่ได้

ทำไมนักบัญชีต้องเป็นสมาชิกสภาวิชาชีพบัญชี?

สาเหตุที่นักบัญชีต้องเป็นสมาชิกสภาวิชาชีพบัญชีก็เพราะว่า ตามพระราชบัญญัติวิชาชีพบัญชี พ.ศ. 2547 มาตรา 44 ระบุว่า

“การประกอบวิชาชีพเป็นผู้ทำบัญชีนั้น ผู้ประกอบวิชาชีพต้องเป็นสมาชิกสภาวิชาชีพบัญชี หรือ ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ทำบัญชีกับสภาวิชาชีพบัญชีฯ โดยเลือกดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง” อ่าน วิธีขึ้นทะเบียนผู้ทำบัญชีครั้งแรกแบบละเอียดสุดๆ ทุกขั้นตอน เพิ่มเติมได้ที่นี่

โดยส่วนใหญ่แล้วนักบัญชีที่จำเป็นต้องลงชื่อรับรองการทำบัญชีธุรกิจจึงต้องสมัครเป็นสมาชิกสภาวิชาชีพบัญชี พวกเค้าจะมีสิทธิเข้าร่วมประชุมใหญ่ประจำปี ออกเสียงลงคะแนนในการประชุมใหญ่ (เฉพาะสมาชิกสามัญ)  และการซื้อหนังสือจากสภา หรือสมัครอบรมหรือสัมมนาในอัตราสมาชิก แต่ผู้ขึ้นทะเบียนจะไม่มีสิทธิเหล่านี้

สมาชิกสภาวิชาชีพบัญชีมีกี่แบบ?

ประเภทของสมาชิกสภาวิชาชีพบัญชีมีทั้งหมด 4 ประเภท ได้แก่ 

1. สมาชิกสามัญ  คือ คนที่จบการศึกษาวิชาการบัญชีไม่ต่ำกว่าระดับปริญญาตรีสภาวิชาชีพบัญชีรับรอง

2. สมาชิกวิสามัญ คือ คนที่จบการศึกษาในระดับไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีในสาขาบริหารธุรกิจ พาณิชยศาสตร์ เศรษฐศาสตร์

3. สมาชิกสมทบ คือ คนที่จบการศึกษาในระดับที่ต่ำกว่าปริญญาตรี แต่ไม่ต่ำกว่าประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ทางด้านการบัญชี บริหารธุรกิจ (สาขาวิชาการบัญชี) หรืออนุปริญญาทางการบัญชี

4. สมาชิกกิตติมศักดิ์ ผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับการเชิญจากสภาวิชาชีพบัญชี

แต่ว่าสมาชิกที่สามารถเป็นผู้ทำบัญชีได้มีแค่ 2 ประเภทเท่านั้น คือ สมาชิกประเภทสามัญ (ปริญญาตรี การบัญชี) และ สมาชิกประเภทสมทบ (ปวส. การบัญชี) CPD Academy เปรียบเทียบคุณสมบัติแบบละเอียดของสมาชิกประเภทสามัญ และสมาชิกสมทบให้ทุกคนเข้าใจง่ายๆ ด้วยตารางนี้

คุณสมบัติสมาชิกสามัญสมาชิกสมทบ
1. อายุมีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์
2. สัญชาติไทยไทย
3. การศึกษาสำเร็จการศึกษาวิชาการบัญชีไม่ต่ำกว่าระดับปริญญาตรี– สำเร็จการศึกษาในระดับที่ต่ำกว่าปริญญาตรี แต่ไม่ต่ำกว่า ปวส. ทางด้านการบัญชี หรือทางด้านบริหารธุรกิจ (สาขาวิชาการบัญชี) หรือ
– อยู่ระหว่างการศึกษาในระดับปริญญาตรีทางด้านการบัญชีหรือทางด้านบริหารธุรกิจ (สาขาวิชาการบัญชี)

และในส่วนของวุฒิการศึกษาจะต้องเป็นหลักสูตรที่สภาวิชาชีพบัญชีรับรอง เช็คได้จาก ตรวจสอบหลักสูตรการศึกษาที่สภาฯ รับรอง

ค่าสมาชิกสภาวิชาชีพบัญชีกี่บาท?

ค่าสมาชิกสภาวิชาชีพบัญชี จะเรียกว่า “อัตราค่าบำรุงสมาชิก” จำนวนเงิน 300 หรือ 500 ต่อปีแล้วแต่ประเภทสมาชิก และพวกเราสามารถเลือกได้ว่าอยากจะสมัครแบบกี่ปี ลองดูตารางสรุปอัตราค่าบำรุงสมาชิกสภาวิชาชีพบัญชีด้านล่างนี้

ประเภทสมาชิกอัตราค่าบำรุงสมาชิกต่อปี
สมาชิกสามัญ500
สมาชิกวิสามัญ500
สมาชิกสมทบ300

ข้อควรรู้สำหรับอัตราค่าบำรุงสมาชิกสภา มีอยู่ 2 เรื่องคือ

  • สมัครสมาชิกหลายปีก็ไม่ได้ลดค่าสมาชิก ฮ่าๆ แต่ว่ามีหลายคนเลือกสมัครไว้หลายๆ ปีเพราะว่ายังไงก็ทำอาชีพด้านบัญชีอยู่แล้วยังไงๆ ก็ต้องเป็นสมาชิกสภาอยู่วันยังค่ำ เลยขี้เกียจต่ออายุทุกปี จ่ายก้อนใหญ่สำหรับเป็นสมาชิกระยะยาวเลยดีกว่า
  • ค่าสมาชิกเป็นอัตราตามปีปฏิทิน หมายถึง เงินที่จ่ายไปนั้นใช้สำหรับ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม ของทุกปี ไม่มีการโปรเรทให้ยุ่งยาก

เอกสารที่ต้องเตรียมเพื่อสมัครสมาชิกสภาวิชาชีพบัญชี มีอะไรบ้าง?

การสมัครสมาชิกสภาวิชาชีพบัญชีแบบออนไลน์นั้น นักบัญชีต้องเตรียมเอกสารประกอบต่างๆ ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกซ์ซึ่งเป็นไฟล์นามสกุล .jpg/.png/.gif ขนาดไม่เกิน 500MB ให้พร้อม ตามนี้

1. รูปถ่ายปัจจุบันที่ถ่ายไว้ไม่เกิน 1 ปี เป็นภาพหน้าตรง ไม่สวมหมวก ไม่สวมแว่นตาดำ 

2. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน/สำเนาบัตรประจำตัวข้าราชการหรือพนักงานองค์การของรัฐที่ยังไม่หมดอายุ

3. สำเนาหลักฐานการศึกษาทางการบัญชี ( Transcript และปริญญาบัตร)

4. สำเนาทะเบียนบ้าน

5. สำเนาทะเบียนสมรส (ถ้ามี)

6. สำเนาใบสำคัญการเปลี่ยนชื่อ (ถ้ามี)

7. สำเนาใบสำคัญการเปลี่ยนชื่อสกุล (ถ้ามี)

และก่อน Scan file อย่าลืมเซ็นต์รับรองสำเนาถูกต้องลงในเอกสารทุกรายการให้ครบถ้วนนะคะ

วิธีการสมัครสมาชิกสภาวิชาชีพบัญชีทำยังไง?

ถ้าเตรียมเอกสารทุกอย่างพร้อมแล้ว เราเริ่มต้นสมัครสมาชิกสภาวิชาชีพบัญชีแบบออนไลน์ไปพร้อมกันตามขั้นตอนนี้ได้เลย

1. เข้าสู่ระบบสมาชิกใหม่ผ่าน website ของ สภาวิชาชีพบัญชี  > เลือกเมนูสมัครสมาชิกสภาวิชาชีพบัญชี ตามภาพด้านล่าง

สมัครสมาชิกสภาวิชาชีพบัญชี
สมัครสมาชิกสภาวิชาชีพบัญชี

2. กดปุ่มสมัครสมาชิกใหม่ > กรอกรหัสประจำตัวประชาชนเสร็จแล้วให้คลิก  “ตรวจสอบ”  

ตรวจสอบสมาชิกสภาวิชาชีพบัญชี
ตรวจสอบสมาชิกสภาวิชาชีพบัญชี

ถ้าใครที่ไม่เคยเป็นสมาชิกสภาฯ มาก่อนระบบจะแสดงผลว่า “ไม่เป็นสมาชิก ต้องการสมัครสมาชิกใหม่ ?” ให้ผู้สมัครเลือก “คลิกเพื่อสมัครสมาชิก” 

ไม่เป็นสมาชิก ต้องสมัครสมาชิกใหม่
ไม่เป็นสมาชิก ต้องสมัครสมาชิกใหม่

3. กรอกข้อมูลใบสมัคร ในระบบจะมีทั้งหมด 5 หน้า ได้แก่

ข้อมูลทั่วไป

  • ข้อมูลที่อยู่
  • ข้อมูลการศึกษา
  • ไฟล์เอกสาร
  • สรุป
ใบสมัครสมาชิกสภาวิชาชีพบัญชี
ใบสมัครสมาชิกสภาวิชาชีพบัญชี

เราจะต้องกรอกข้อมูลของแต่ละหน้าให้ครบถ้วนไปตามลำดับ ถ้าสมมติเราพลาดข้อไหนไปในแต่ละหน้าระบบจะไม่อนุญาตให้ทำรายการในหน้าต่อไปได้

เมื่อกรอกข้อมูลไปถึงหน้าที่ 4 “ไฟล์เอกสาร” ระบบจะให้ผู้สมัคร Upload ไฟล์เอกสารเข้าไป ให้ผู้สมัคร Upload ไฟล์เอกสารที่จัดเตรียมไว้เข้าไปในระบบจนครบ 

ทำรายการจนถึงหน้าสรุป ให้ยืนยันรายการโดยให้เลือก “ข้าพเจ้าได้อ่านและยอมรับข้อกำหนดเงื่อนไขเหล่านี้แล้ว” หลังจากนั้นให้กดเลือก “บันทึกใบคำขอสมัครสมาชิกใหม่” ถือเป็นการเสร็จสิ้นกระบวนการสมัครในระบบออนไลน์

4. ชำระค่าบำรุงสมาชิก โดยเราสามารถเลือกชำระเงินได้ 4 วิธี ตามแต่สะดวก

  • ชำระเงินสดกับเจ้าหน้าที่สภาวิชาชีพบัญชี
  • นำเงินฝากเข้าบัญชีสภาวิชาชีพบัญชี 
  • แคชเชียร์เช็คสั่งจ่าย สภาวิชาชีพบัญชีฯ (โดยขีดคล่อมเช็คและขีดฆ่า “หรือผู้ถือ”)
  • ธนาณัติสั่งจ่าย สภาวิชาชีพบัญชี ปณ.พระโขนง  

5. ตรวจสอบผลการได้รับอนุมัติให้เป็นสมาชิกสภาวิชาชีพบัญชี โดยทำผ่านระบบสมัครสมาชิกใหม่ ภายหลัง 5 วันทำการ (นับจากวันที่สภาวิชาชีพบัญชีฯ ได้รับใบสมัครและค่าสมัคร) และหากเกิดปัญหาใด ๆ ทางสภาวิชาชีพบัญชีจะติดต่อกลับไปทางอีเมล์ที่เราเคยระบุไว้ในใบสมัครค่ะ

ตรวจสอบสถานะสมาชิกสภาวิชาชีพบัญชี
ตรวจสอบสถานะสมาชิกสภาวิชาชีพบัญชี

ถ้าสถานะสมาชิกสภาวิชาชีพบัญชีหมดอายุแล้วจะเกิดอะไรขึ้น?

กรณีที่เราได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ทำบัญชีให้กับธุรกิจแล้ว แต่ว่าสถานะสมาชิกสภาวิชาชีพหมดอายุ แปลว่า เราไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขของผู้ทำบัญชีให้ครบถ้วนแล้ว ซึ่งอาจจะเกิดผลเสียต่องบการเงินที่รับรองลงลายมือชื่อรับทำบัญชี และทำให้ไม่สามารถเก็บชั่วโมงพัฒนาความรู้ต่อเนื่อง (CPD) ได้ด้วย

ฉะนั้น ถ้าใครที่เป็นผู้ทำบัญชีควรจะเช็คสถานะสมาชิกสภาวิชาชีพเป็นประจำทุกปีว่ายังมีสถานะเป็นสมาชิกอยู่จะได้รับงานบัญชีได้อย่างสบายใจ แต่ถ้าใครสถานะหมดอายุไปแล้วก็อย่าลืมรีบต่ออายุสมาชิกให้เรียบร้อยนะคะ

ช่องทางติดต่อสภาวิชาชีพบัญชี

ใครมีคำถามสงสัยเรื่องการสมัครสมาชิกสภาโทรไปปรึกษาเจ้าหน้าที่ได้ที่นี่เลย 02-685-2500 หรืออีเมล [email protected]

สุดท้ายแล้วการสมัครสมาชิกสภาวิชาชีพบัญชีไม่ใช่แค่การเตรียมเอกสาร และก็จ่ายเงินค่าบำรุงสมาชิกรายปีเท่านั้น แต่มันคือ การเปิดโอกาสในการทำงานด้านบัญชีให้กับนักบัญชีมือใหม่หลายๆ คน ในขณะเดียวกันเองมันก็บอกให้เรารู้ว่า อาชีพนักบัญชี เป็นวิชาชีพที่สงวนไว้ให้คนที่เรียนจบมาด้านบัญชีจริงๆ แค่คิดก็ภูมิใจในวิชาชีพตัวเองสุดๆ เลยค่ะ

สำหรับใครที่อยากทำความเข้าใจต่อว่าการเป็นผู้ทำบัญชีจะต้องทำอะไรอีกนอกเหนือจากเป็นสมาชิกสภาวิชาชีพบัญชีบ้าง เช็คตัวเองที่นี่ได้เลย เช็คลิส 5 สิ่งที่ต้องทำถ้าอยากเป็นผู้ทำบัญชีอย่างถูกกฎหมาย

อบรมบัญชีเก็บชั่วโมง CPD ออนไลน์ง่ายๆ ได้ที่บ้าน สอบถามได้ที่นี่

Line: @cpdacademy หรือ https://lin.ee/36U1ks0Y

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า