ยุคสมัยใหม่มาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลง !! ในยุคปัจจุบันนี้ โลกธุรกิจเชื่อมโยงกันไปหมด ซึ่งเปิดโอกาสให้เราได้มุ่งไปสู่โลกกว้าง แน่นอนว่าเราทราบกันดี ผู้ตรวจสอบบัญชีหรือ CPA เป็นอาชีพที่รายได้สูงมาก และจะสูงมากยิ่งขึ้นหากเราสามารถเป็น CPA ในต่างประเทศได้
คนไทยสอบ CPA ต่างประเทศได้ไหม ขอสปอยล์ก่อนเลยว่า คนไทยสอบ CPA ต่างประเทศได้ และนี่เป็นโอกาสที่เปิดกว้างมาก สำหรับคนไทยแบบเรา ๆ แต่จะมีวิธีการทำยังไง ตามมาดูกันได้เลย
ประเทศไทยที่เข้าสอบ CPA ได้
ประเทศที่คนไทยสามารถเข้าไปสอบ CPA ต่างประเทศได้นั้น ต้องเป็นประเทศที่คนไทยสามารถทำงานสอบบัญชีได้ และหนึ่งในประเทศที่เปิดกว้างสำหรับเรื่องนี้คือ USA ประเทศแห่งความเสรีภาพ และแน่นอนว่าวันนี้เราจะมาแชร์ข้อมูลการสอบ CPA USA กัน สำหรับใครที่อยากสอบ CPA ต่างประเทศ ห้ามพลาดเด็ดขาดเลยจ้า
ข้อกำหนดการศึกษา CPA USA
ผู้สมัคร CPA USA จะต้องสำเร็จการศึกษาขั้นต่ำระดับปริญญาตรี หรือคุณวุฒิการศึกษาเพิ่มเติมที่แต่ละรัฐกำหนดเกณฑ์เอาไว้ ดังนั้นหากเราจะเริ่มต้นเป็น CPA USA เราต้องไปหาข้อมูลก่อนว่าจะไปสอบ CPA ที่รัฐไหนของ USA และหารายละเอียดว่า เกณฑ์ที่รัฐนั้นกำหนดไว้ต้องสำเร็จการศึกษาหลักสูตรไหนบ้าง
ชั่วโมงฝึกหัดงาน CPA USA
ในไทยเองมีข้อมูลของชั่วโมงฝึกหัดงานอยู่ที่ 3 ปีและ 3,000 ชั่วโมง แต่ทางอเมริกาจะอยู่ที่ 1 ปี (ประมาณ 2,000 ชั่วโมง) ซึ่งต้องถือเป็นการทำงานที่มีผู้สอบบัญชีที่อเมริกากำกับด้วย แต่เงื่อนไขก็แตกต่างกันไปแต่ละรัฐอีกเช่นกัน ควรตรวจสอบข้อมูลให้ดี เพื่อไม่ให้พลาดจุดสำคัญๆไป
สอบ CPA USA ต้องทำยังไง
ภาพรวมของการสอบ CPA ไทยกับ USA ก็ค่อนข้างจะคล้ายกันมาก มีหลายจุดที่เหมือนกันเลยด้วย เรามาเริ่มกันที่สำรวจขั้นตอนกันก่อนนะ คนจะเป็น CPA USA ได้ต้องทำยังไงบ้าง
1. สำรวจคุณสมบัติของตัวเองก่อน
เราได้เกริ่นกันมาก่อนหน้านี้แล้วเนาะ สำหรับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และการฝึกหัดงานของ CPA USA แต่ว่าแต่ละรัฐก็มีเกณฑ์ที่แต่ต่างกันออกไป เราจึงต้องศึกษาข้อมูลของรัฐที่เราจะสอบให้ดีก่อนนะคะ
2. ส่งใบสมัคร
เมื่อพิจารณาคุณสมบัติแล้ว ก็ถึงเวลาสมัครกันล่ะ ให้เรากรอกใบสมัครผ่าน NASBA’s CPA Central portal และส่งเอกสารที่จำเป็นสำหรับสมัครสอบ (NASBA หรือ National Association of State Boards of Accountancy คือหน่วยงานที่จัดการสอบ CPA USA)
เมื่อ NASBA ตรวจสอบการสมัครแล้ว เราจะได้รับหนังสือแจ้งกำหนดเวลา (NTS) ซึ่งมีอายุหกเดือนและอนุญาตให้คุณกำหนดเวลาส่วนการสอบ CPA ได้
3. กำหนดวัน เวลา ของการสอบ CPA
หลังจากตัดสินใจได้แล้วว่าเราจะสอบวันไหน เวลาไหน ให้เราเข้าไปกำหนดวันสอบ ก็จะคล้าย ๆ กับการของไทยที่ต้องสมัครสมาชิกก่อน แล้วจะสมัครเข้าสอบรอบไหนก็ไปว่ากันอีกทีนึง โดยการเลือกแผนการเข้าสอบของ USA จะทำผ่านระบบ Notice to Schedule (NTS) สำหรับใช้กำหนดรอบที่จะสอบโดยเฉพาะเลย
การสอบ CPA USA รูปแบบใหม่
เราจะมีเวลา 18 เดือน ในการสอบให้ผ่าน CPA ทั้ง 4 ส่วน ด้วยคะแนนขั้นต่ำ 75 คะแนน นี่คือเกณฑ์พื้นฐานของการสอบ CPA USA ซึ่งจะแตกต่างกับของไทยนิดหน่อย ที่สอบ 6 วิชา ใน 4 ปี แนนขั้นต่ำ 60 คะแนน
เดิมทีแล้ว CPA USA จะสอบทั้งหมด 4 วิชาได้แก่
- Auditing and Attestation : AUD คือ วิชาการสอบบัญชี และจรรยาบัญวิชาชีพ
- Financial Accounting and Reporting : FAR คือ การสอบ มาตรฐานการบัญชี อิงจาก US GAAP/ IFRS
- Regulation : REG คือ วิชา ภาษี บุคคลธรรมดา และนิติบุคคล
- Business Environment and Concepts : BEC คือ บัญชีต้นทุนรวมถึงความรู้ทั่วไปทางธุรกิจ
แต่ทาง NASBA ได้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการสอบ โดยมีผลตั้งแต่ 1 มกราคม 2024 เป็นต้นไป ซึ่งการสอบจะเป็น 4 ส่วนเหมือนเดิม แต่เปลี่ยนเป็น 3 วิชา Core และ 1 วิชา Discipline
เราไปดูกันดีกว่าว่า ตั้งแต่ 2024 เป็นต้นไป CPA USA เขาต้องสอบอะไรกันบ้าง
Auditing and attestation (AUD)
วิชานี้จะถูกอัพเกรดขึ้นไปเป็นวิชา Core หรืออีกความหายหนึ่งก็คือ จะเป็น 1 ใน 3 วิชาหลักนั่นเอง ซึ่งเป็นวิชาเกี่ยวกับการตรวจสอบบัญชี โดยจะครอบคลุมขั้นตอนการตรวจสอบตามมาตรฐานการสอบบัญชีที่รับรองทั่วไป และจรรยาบรรณวิชาชีพของ AICPA หรือถ้าเปรียบเทียบกับของไทยก็จะเป็นวิชา สอบบัญชี 1 กับสอบบัญชี 2 รวมกันนั่นแหละจ้า
Financial Accounting and Reporting (FAR)
วิชานี้เป็นหนึ่งในวิชาที่ถูกอัพเกรดขึ้นไปเป็นวิชา Core เหมือนกันนะคะ โดยเนื้อหาจะเกี่ยวกับมาตรฐานการบัญชีโดยตรงเลย หรือก็คือ IFRS นั่นแหละ (TFRS ของไทยก็แปลมาจาก IFRS) ซึ่งแต่ละรัฐก็อาจจะมีรายละเอียดบางอย่างที่แตกต่างกันไปบ้างนะคะ โดยวิชานี้ถ้าเปรียบเทียบกับของไทยก็จะเหมือนกับวิชาบัญชี 1 กับบัญชี 2 รวมกันเลย
Regulation (REG)
วิชานี้เป็นวิชาสุดท้ายที่จะอยู่ใน 1 ใน 3 วิชา Core ซึ่งจะเกี่ยวกับ ด้านภาษีอากรของสหรัฐ จริยธรรมและความรับผิดชอบทางวิชาชีพของสหรัฐ และกฎหมายธุรกิจของสหรัฐ และก็เป็นที่เลื่องลือกันว่า สหรัฐเป็นหนึ่งในประเทศที่มีกฎหมายแปลก ๆ เยอะมาก แต่ละรัฐเองก็มีกฎหมายของตัวเองแตกต่างกันออกไป
ดังนั้นเราก็ควรศึกษากฎหมายของรัฐที่เราจะไปสอบให้ดีเพราะอาจมีรายละเอียดปลีกย่อยที่แตกต่างกันออกไป โดยถ้าเปรียบเทียบวิชานี้กับของไทยก็จะตรงกับวิชา กฎหมาย 1 และกฎหมาย 2 นั่นเอง
วิชาความรู้ทั่วไปทางธุรกิจ (Discipline)
เดิมทีวิชานี้เป็น 1 ใน 4 วิชาหลัก นั่นก็คือ Business Environment and Concepts (BEC) แต่ในปี 2024 เป็นต้นไปจะถูกแตกออกเป็น 3 หมวดวิชา ซึ่งผู้เข้าสอบต้องเลือกสอบ 1 ใน 3 หมวด วิชาใดก็ได้ เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความรู้ความสามารถด้านธุรกิจของผู้ที่จะเป็น CPA โดย 3 หมวดประกอบไปด้วย
- Business analysis and reporting (BAR) : สำหรับ CPA ที่เน้นงานที่ปรึกษา งานวิเคราห์งบการเงิน
- Information systems and controls (ISC) : สำหรับ CPA ที่เน้นงานที่ปรึกษา IT และ Data หรือ IT Audit
- Tax compliance and planning (TCP) : สำหรับ CPA ที่เน้นงานวางแผนทางการเงิน วางแผนภาษี
สรุป
การสอบ CPA ต่างประเทศนั้น ถือเป็นการเปิดโอกาสให้กับนักบัญชีคนไทยเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังสร้างโพรไฟล์สวยหรูให้กับเราอีกด้วย รวมทั้งยังเป็นที่ยอมรับในระดับสากล แต่อย่างที่เล่ามานะคะ CPA เป็นอาชีพที่ถูกควบคุม ต้องมีคุณสมบัติที่เหมาะสม เช่นเดียวกับไทยก็ต้องมีคุณสมบัติ CPA ไทยเหมือนกัน
ในส่วนของวิธีการนั้น เราก็พอจะรู้แล้วว่าทำยังไงถึงจะได้เป็น CPA USA แต่เช่นเดียวกับ CPA ไทยนั่นแหละค่ะ การสอบก็มีความยากไม่แพ้กัน ผู้ที่จะสอบเองก็ต้องมีการเตรียมตัวสอบ CPA ที่ดีด้วยเช่นกัน ถึงจะไปสู่จุดมุ่งหมายได้ สำหรับใครที่สนใจจะไปสอบ CPA USA ผู้เขียนขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านประสบความสำเร็จในการสอบด้วยนะคะ
อบรมบัญชีเก็บชั่วโมง CPD ออนไลน์ง่ายๆ ได้ที่บ้าน
สอบถามได้ที่นี่ Line: @cpdacademy หรือ https://lin.ee/36U1ks0Y
อ้างอิง
Follow this general guide to earn your CPA
Transition Policy Announced for the 2024 CPA Exam Under the CPA Evolution Initiative