นักบัญชีหลายคน คงจะเคยได้ยินกับคำว่า รถยนต์นั่งไม่เกิน 10 ที่นั่ง แล้วก็มักจะมีประเด็นทางภาษีตามมาอยู่ตลอด เรียกได้ว่าเป็นประเด็นฮอตฮิตเลยก็ว่าได้ เพราะในทางภาษีแล้วรถยนต์เหล่านี้มีข้อจำกัดหลายๆ อย่างในการเคลมภาษีมูลค่าเพิ่ม และหักค่าใช้จ่ายสำหรับภาษีเงินได้นิติบุคคลค่ะ
วันนี้ถือเป็นโอกาสดีๆ ที่เราจะพาทุกคนทำให้ความใจเรื่องภาษี รถยนต์นั่งไม่เกิน 10 ที่นั่งกัน รับรองว่าอ่านแล้วได้ความรู้เพิ่มเติม และหายงงแน่นอนค่ะ
รถยนต์มีกี่แบบ ทำความรู้จัก พิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต
ก่อนอื่นเราก็ต้องมาทำความเข้าใจกับ “พิกัดอัตราภาษีกรมสรรพสามิต” กันก่อน ซึ่งอัตรานี้เป็นตัวระบุคำจำกัดความว่า รถแบบไหนคือรถยนต์นั่งไม่เกิน 10 ที่นั่ง
พิกัดกรมสรรพสามิตนั้น มีอยู่ด้วยกันหลากหลายรูปแบบ ในทีนี้เราขอยกตัวอย่าง รูปแบบรถยนต์ที่มักเจอบ่อยๆ ในธุรกิจ 3 ชนิดค่ะ
1. รถยนต์นั่งไม่เกิน 10 ที่นั่ง
โดยปกติแล้ว สรรพากรจะเพ่งเล็งไปที่ พิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต “06.01 และ 06.02 ซึ่งเป็นรถยนต์นั่งไม่เกิน 10 ที่นั่ง เหตุผลก็เพราะว่า รถยนต์นั่งที่ราคาแพงเป็นพิเศษ อย่างเช่นรถหรู หรือรถซุปเปอร์คาร์ และการเดินทางเพื่อกิจกรรมทางธุรกิจ สรรพากรมองว่า ไม่มีความจำเป็น ที่จะต้องใช้รถมูลค่าสูง ก็เดินทางได้เช่นกัน
ในทางภาษี รถยนต์นั่งไม่เกิน 10 ที่นั่ง จะถูกจำกัด มูลค่าเพดานค่าใช้จ่ายทางภาษีเอาไว้ ไม่เกิน 1 ล้านบาท ไม่ว่าจะเป็นค่าเช่ารถ หรือว่าค่าเสื่อมราคาของรถที่ซื้อมา และภาษีซื้อที่เกิดจากรถยนต์นั่งไม่เกิน 10 ที่นั่ง ก็ต้องเป็นภาษีซื้อต้องห้ามอีกด้วย
2. รถยนต์กระบะ
รถกระบะ หรือรถปิคอัพที่เรารู้จักกัน อยู่ในพิกัดกรมสรรพสามิตที่ “06.03 รถประเภทนี้ ส่วนใหญ่แล้วจะใช้ในการขนของเป็นหลัก เพราะไม่มีพื้นที่ผู้นั่งโดยสาร มีเฉพาะพื้นที่ขนของด้านหลัง ดังนั้น วัตถุประสงค์การซื้อมาใช้ในธุรกิจก็ค่อนข้างจะชัดเจน ว่ามาใช้เพื่อธุรกิจจริง ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เอามาใช้เพื่อการส่วนตัว
ในด้านภาษีของรถกระบะ ทางสรรพากรจะให้คิด เป็นค่าใช้จ่ายได้เต็มจำนวน ตามมูลค่าจริงที่ซื้อมา ในการหักค่าเสื่อมราคา หรือค่าเช่าที่เกี่ยวข้อง และภาษีซื้อที่เกี่ยวข้องกับรถกระบะ ก็จะไม่เป็นภาษีซื้อต้องห้ามอีกด้วย
3. รถจักรยานยนต์
รถจักรยานยนต์ หรือรถมอเตอร์ไซค์ อยู่ในพิกัดกรมสรรพสามิตที่ “07.01 รถประเภทนี้ ก็จะเหมือนกับรถกระบะ โดยส่วนใหญ่แล้วจะใช้ เพื่อการประกอบธุรกิจเป็นหลัก ไม่มีเหตุผลที่จะต้องซื้อมาเพื่อ ใช้เป็นการส่วนตัว
ในด้านภาษีของรถจักรยานยนต์ ก็จะลักษณะเช่นเดียวกับ รถกระบะ คิดเป็นค่าใช้จ่ายได้เต็มจำนวน ตามมูลค่าที่ซื้อมา ในการหาค่าเสื่อมราคา หรือค่าเช่าที่เกี่ยวข้อง รวมถึงภาษีซื้อ จะไม่เป็นภาษีซื้อต้องห้ามเช่นกัน
ประเด็นทางภาษีรถยนต์พนักงาน
เราลองมาวิเคราะห์ ประเด็นทางภาษี รถยนต์นั่ง และรถกระบะกัน โดยกรณีศึกษาในวันนี้ เราจะมุ่งไปที่ กรณีเกี่ยวกับพนักงาน และบริษัทเป็นหลัก ซึ่งเป็นประเด็นที่พบได้บ่อย ในชีวิตประจำวัน
1. รถยนต์นั่งที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน
บริษัทเช่ารถเก๋ง เพื่อให้พนักงาน ใช้เป็นรถยนต์ประจำตำแหน่ง และใช้เพื่อกิจการของบริษัท รถประจำตำแหน่งมีลักษณะเป็นรถเก๋ง ไม่เกิน 10 ที่นั่ง
คำถาม ค่าเช่าใช้เป็นค่าใช้จ่ายของบริษัทได้ไหม? ภาษีซื้อของค่าเช่าใช้ได้สิทธิ์หรือเปล่า?
คำตอบ
ภาษีมูลค่าเพิ่ม | ภาษีเงินได้นิติบุคคล |
รถเก๋ง ไม่เกิน 10 ที่นั่ง ภาษีซื้อก็จะเป็นภาษีซื้อต้องห้าม แต่เป็นค่าใช้จ่ายได้ | รถดังกล่าวใช้ในงานของบริษัทหรือเปล่า ถ้าใช่ แสดงว่าใช้เป็นค่าใช้จ่ายของบริษัทได้ ค่าเช่ารวมค่าภาษีซื้อที่เป็นค่าใช้จ่ายทางภาษี ต้องมีมูลค่าไม่เกิน 1 ล้านบาท ต่อรถยนต์ 1 คัน |
2. รถยนต์กระบะ
พนักงานใช้รถยนต์ส่วนตัว ซึ่งเป็นรถกระบะ และใช้ในงานของบริษัท สามารถพิสูจน์ได้ ทั้งนี้บริษัทมีระเบียบการเบิกค่าน้ำมันรถของพนักงานอย่างชัดเจน มีการทำรายงานการเดินทาง และมีการอนุมัติการเบิกจ่าย
คำถาม ค่าน้ำมัน ที่พนักงานนำมาเบิกกับบริษัท เป็นค่าใช้จ่ายของบริษัทได้ไหม? ภาษีซื้อต้องห้ามไหม?
อันดับแรก วิธีการวิเคราะห์เหมือนเดิม ต้องดูก่อนว่า รถยนต์ส่วนตัวที่พนักงานนำไปใช้ ใช้ในงานของบริษัทจริงหรือเปล่า
โดยกรณีนี้ เป็นรถส่วนตัวของพนักงาน จึงค่อนข้างที่จะต้องรัดกุม บริษัทต้องมีระเบียบการเบิกจ่ายที่ชัดเจน ต้องมีการทำรายงานการเดินทาง และมีอนุมัติการเบิกจ่าย ซึ่งหากครบเงื่อนไข ก็ใช้เป็นค่าใช้จ่ายบริษัทได้
ต่อมา วิเคราะห์ว่า ใช้รถประเภทไหน จากกรณีข้างต้น ใช้เป็นรถกระบะ ซึ่งไม่เข้าพิกัดของรถยนต์นั่งไม่เกิน 10 ที่นั่ง ดังนั้นภาษีซื้อ จึงไม่ต้องห้าม หากว่าใช้ในงานของบริษัทจริง
ภาษีมูลค่าเพิ่ม | ภาษีเงินได้นิติบุคคล |
ภาษีซื้อค่าน้ำมันเป็นภาษีซื้อไม่ต้องห้าม | มีระเบียบการเบิกค่าน้ำมันชัดเจน ใช้ทำงานบริษัท ใช้เป็นค่าใช้จ่ายของบริษัทได้ |
การพิจารณาค่าใช้จ่ายทางภาษี
จากหัวข้อก่อนหน้า เรามีการพูดถึงกรณีตัวอย่างไปแล้ว สำหรับใครที่ยังคงงงอยู่ว่า เป็นรถพนักงาน หรือรถบริษัท เป็นรถเก๋ง หรือรถกระบะ ฟังดูปนกันไปหมด เราขอสรุปแนวทางในการวิเคราะห์อย่างง่ายให้ทุกคนไว้เป็นคัมภีร์การทำงานดังนี้
เงื่อนไขที่ 1 ไม่ว่าจะเป็นรถของบริษัท หรือรถของพนักงาน คำถามคือ ถูกใช้ในงานของบริษัทจริงหรือเปล่า
เงื่อนไขที่ 2 หากเป็นรถของพนักงาน ต้องมีระเบียบการเบิกจ่าย มีรายงานการเดินทาง และมีการอนุมัติจ่าย
เงื่อนไขที่ 3 หากเข้าเงื่อนไขทั้งข้อ 1 และข้อ 2 มาดูต่อว่าใช้รถอะไร ถ้าใช้รถเก๋ง เป็นภาษีซื้อต้องห้าม แต่ยังคงเป็นค่าใช้จ่ายภาษีนิติบุคคลได้อยู่ หากไม่ใช่รถเก๋งก็จะสามารถใช้สิทธิ์ภาษีซื้อได้
สรุป
เรื่องภาษีเกี่ยวกับรถยนต์เป็นเรื่องที่ปวดหัว แต่ชีวิตนักบัญชีต้องเกี่ยวข้องกับรายจ่ายเหล่านี้อยู่เสมอค่ะ สำหรับเทคนิคในการแยกแยะรายการนั้น
อันดับแรกที่สุดเลย ต้องดูก่อนว่าค่าน้ำมันหรือว่าค่าเช่ารถนั้น ใช้จ่ายเพื่อบริษัทจริงหรือเปล่า หากใช้เป็นการส่วนตัวแล้ว ไม่ว่าภาษีซื้อหรือภาษีนิติบุคคลก็ใช้สิทธิ์ไม่ได้ทั้งนั้น หลักการคิดนี้ ใช้ได้กับทั้งของที่แจกให้กับพนักงาน หรือของที่แจกเป็น Voucher ทั่วไป หากให้เป็นการส่วนตัวก็ต้องห้ามทางภาษีเช่นกัน
หากใช้รถดังกล่าวในงานของบริษัทแล้ว ต้องมีระเบียบการเบิกจ่ายที่ชัดเจน มีการอนุมัติจ่าย การรายงานการเดินทางที่ชัดเจน กรณีนี้ถึงจะไปดูต่อว่าใช้รถอะไร ถ้าเป็นรถเก๋ง เข้าข่ายภาษีซื้อต้องห้าม แต่ยังสามารถใช้เป็นค่าใช้จ่ายของภาษีนิติบุคคลได้
สรุปง่ายๆ แบบนี้ หวังว่าจะมีประโยชน์สำหรับทุกท่านค่ะ
อบรมบัญชีเก็บชั่วโมง CPD ออนไลน์ง่ายๆ ได้ที่บ้าน
สอบถามได้ที่ Line: @cpdacademy หรือ https://lin.ee/36U1ks0Y
อ้างอิง
กฎกระทรวง กำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ 23) พ.ศ. 2565
ข้อหารือเลขที่ กค 0811/พ.02340, กค 0811(กม.04)/02