ภาษี

ถ้าเราหัก ณ ที่จ่ายค่าเช่าไม่ได้ เจ้าของที่ไม่ยอม จะทำยังไงดี?

หัก ณ ที่จ่ายค่าเช่าไม่ได้ เจ้าของที่ไม่ยอม จะทำยังไงดี

การทำธุรกิจต้องมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าจดทะเบียนเป็นบริษัท และจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เจ้าของธุรกิจจะต้องมีที่อยู่เพื่อดำเนินการจดทะเบียนเหล่านี้ให้พร้อม

แต่ทุกวันนี้การเป็นเจ้าของที่ดินหรือสำนักงานสักแห่งมันช่างยาก และใช้เงินลงทุนมหาศาล ทำให้การเช่าสำนักงานเพื่อทำธุรกิจนั้นเป็นทางเลือกอันดับแรกๆ สำหรับคนไม่มีที่ทางเป็นของตัวเอง

แน่นอนว่า เมื่อตัดสินใจเช่าสำนักงานแล้วก็ต้องมีการจ่ายค่าเช่า เมื่อมีการจ่ายค่าเช่าก็จะมีภาษีที่เกี่ยวข้องก็คือ ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย หลายคนเลยก็สงสัยว่า จ่ายค่าเช่าต้องหัก ณ ที่จ่ายด้วยหรอ ไม่หักจะได้ไหม แล้วถ้าเจ้าของที่ไม่ยอมให้เราหัก ณ ที่จ่ายค่าเช่า เราจะแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ยังไงได้บ้าง วันนี้ CPD Academy จะมาชี้แจงให้ฟังกันแบบละเอียดเลยค่ะ

คุยเรื่องการหัก ณ ที่จ่าย

สำหรับใครที่ยังไม่เข้าใจเรื่องการหัก ณ ที่จ่าย เรามาปูพื้นกันเบื้องต้นสักหน่อย 

การหัก ณ ที่จ่าย คือ การที่ผู้จ่ายเงิน จะต้องหักเงินบางส่วนของผู้มีเงินได้ ณ ตอนที่มีการจ่ายเงิน เพื่อเอาเงินส่วนนั้นนำส่งสรรพากร เป็น “ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย

โดยการหัก ณ ที่จ่ายที่เราจะพูดถึงกันนั้น จะหักตามมาตรา 3 เตรส คือ ทุกครั้งที่มีการจ่ายเงินได้ มาตรา 40 ซึ่งเข้าเงื่อนไขของการหัก ณ ที่จ่าย ผู้จ่ายเงิน มีหน้าที่หักเงินค่าภาษี และนำส่งต่อกรมสรรพากร

ซึ่งแน่นอนว่า การจ่ายค่าเช่าที่เป็นเงินได้ประเภท ค่าเช่าตามมาตรา 40 (5)  ก็เข้าเงื่อนไขของการหัก ณ ที่จ่ายด้วยเช่นกัน

สำหรับผู้รับเงิน เงินที่ถูกหักไป จะถือเป็นการภาษีจ่ายล่วงหน้า ซึ่งสามารถนำมาหักลบกับการเสียภาษีตอนสิ้นปีได้ ซึ่งผู้รับเงินจะได้รับหลักฐานการหัก ณ ที่จ่าย คือ “หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 ทวิ

และหากใครอยากเข้าใจภาพรวม ของการหัก ณ ที่จ่าย ฉบับ 101 แบบเข้าใจง่าย สามารถตามไปดูได้ที่ : สรุปภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ฉบับ 101 

จ่ายค่าเช่าต้องหัก ณ ที่จ่ายทุกกรณีไหม ทำไมต้องหัก ณ ที่จ่ายค่าเช่า 

เอาล่ะ เกริ่นนำกันไปพอสมควร เรามาเข้าประเด็นเนื้อหาหลักกันดีกว่า คำถามสำคัญ คือ 

“จ่ายค่าเช่าจำเป็นต้องหัก ณ ที่จ่ายทุกกรณีหรือไม่?” 

จะตอบคำถามนี้ได้ เราต้องมุ่งประเด็นไปที่ใครกันล่ะที่เป็นผู้หัก ณ ที่จ่าย? 

อย่างที่บอกไปก่อนหน้านี้ว่า เราจะยึดตามมาตรา 3 เตรส ในการหัก ณ ที่จ่าย นั่นหมายความว่า ผู้หักเงินได้ ณ ที่จ่ายต้องเป็นบริษัทจำกัด หรือเป็นนิติบุคคลผู้มีหน้าที่หัก ณ ที่จ่าย เพราะกฎหมายกำหนด ให้บุคคลตามกฎหมายเหล่านี้ มีหน้าที่ในการหัก ณ ที่จ่ายนั่นเอง

ดังนั้น เราสามารถสรุปได้เลยว่า ถ้าเราเป็นบริษัทที่จ่ายค่าเช่า แน่นอนล่ะ เราต้องหัก ณ ที่จ่าย ร้อยละ 5 ทุกครั้งที่มีการจ่ายเงิน แต่ถ้าเราเป็นบุคคลธรรมดา เราจะไม่เป็นผู้มีหน้าที่หักเงินได้ ณ ที่จ่ายค่าเช่า ตามมาตรา 3 เตรส 

หัก ณ ที่จ่ายค่าเช่า ต้องทำทุกกรณีไหม
หัก ณ ที่จ่ายค่าเช่า ต้องทำทุกกรณีไหม

เจ้าของที่ไม่ยอมให้หัก ณ ที่จ่ายค่าเช่า เพราะสาเหตุใดบ้าง

ปัญหาปวดหัวของคนเช่าที่ ก็คือ เจ้าของที่ไม่ยอมให้หักภาษี ณ ที่จ่าย (ทั้งๆ ที่กฎหมายกำหนดไว้ว่ารับเงินค่าเช่าจากบริษัท ต้องถูกหัก ณ ที่จ่าย 5%)

สาเหตุที่ทำให้เจ้าของที่ไม่อยากให้เราหัก ณ ที่จ่ายอาจจะมาจาก

  • ไม่อยากเข้าระบบภาษี กรณีนี้จะพบเจอได้บ่อยมาก สำหรับเจ้าของที่เป็นบุคคลธรรมดา เนื่องจากการหัก ณ ที่จ่ายหมายความว่า สรรพากรจะรู้ถึงรายได้ค่าเช่า เขาจึงไม่อยากให้เราหัก ณ ที่จ่าย
  • อยากได้เงินเต็มจำนวน หลายคนมักเข้าใจผิดว่า การหัก ณ ที่จ่ายทำให้เราได้เงินไม่เต็มจำนวนค่าเช่า แต่อันที่จริงแล้วเงินที่ถูกหัก เป็นภาษีที่จ่ายล่วงหน้า ซึ่งเราสามารถใช้เป็นเครดิต ตอนชำระภาษีประจำปีได้
  • ไม่อยากทำเอกสาร อีกหนึ่งประเด็นสำหรับบุคคลธรรมดา ที่ให้บุคคลธรรมดาด้วยกันเช่า ไม่ต้องทำเอกสารอะไรเลย แต่ถ้าให้บริษัทเช่า เขามีความจำเป็น ต้องทำเอกสารตามที่บริษัทร้องขอ
  • แอบปล่อยเช่าช่วง การเช่าช่วง คือ การเช่าจากเจ้าของที่แท้จริง แล้วนำไปปล่อยเช่าต่อ ซึ่งบางกรณีไม่สามารถทำได้ (เพราะไม่ได้มีสัญญาระบุไว้) จึงต้องแอบปล่อยเช่า ถ้าถูกหัก ณ ที่จ่าย อาจเป็นหลักฐานว่า ทำผิดสัญญาได้
ทำไมเจ้าของที่มักไม่ยอมให้หัก ณ ที่จ่าย
ทำไมเจ้าของที่มักไม่ยอมให้หัก ณ ที่จ่าย

แนวทางแก้ไข กรณีผู้ให้เช่าไม่ยอมให้หัก ณ ที่จ่าย

อย่างที่บอกว่า หากฝั่งผู้ให้เช่าเป็นบุคคลธรรมดา เขามักจะไม่อยากเข้ามาสู่ในระบบภาษี ไม่อยากทำเอกสาร และไม่อยากถูกหักเงิน แล้วเราพอจะมีวิธีแก้ไขยังไงได้บ้างน้าา ลองมาดูกันว่าจะแก้ไขยังไง

  • คุยให้เข้าใจ การที่เขาไม่ยอมให้เราหัก ณ ที่จ่ายค่าเช่า อาจเป็นเพราะว่าเขากำลังเข้าใจผิดอยู่ก็ได้ เพราะถ้าเขาปล่อยเช่าบุคคลธรรมดาด้วยกันเอง ก็ไม่ต้องหัก ณ ที่จ่าย แต่ถ้าเราเป็นบริษัทเรามีหน้าที่ต้องหัก ณ ที่จ่ายเขานะ กรณีนี้ถ้าคุยแล้วเคลียร์ เข้าใจกัน เราก็สามารถหัก ณ ที่จ่ายได้ตามปกติเลยค่ะ
  • หัก ณ ที่จ่ายออกให้แทน กรณีที่เขาไม่ยอมให้เราหัก เพราะเขาคิดว่าจะได้ค่าเช่าลดลง แบบนี้เราสามารถแก้ไขปัญหาโดยการออกหัก ณ ที่จ่ายแทนให้เขาได้ แต่ต้องมีขั้นตอนนิดนึง แนะนำศึกษาเพิ่มเติมได้ที่นี่ค่ะ : ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ออกให้ครั้งเดียว/ตลอดไป คำนวนอย่างไร
  • ให้กรรมการเช่าช่วง อย่างที่เราเข้าใจว่า ถ้าบุคคลธรรมดาเป็นผู้เช่า ก็ไม่จำเป็นต้องหัก ณ ที่จ่าย ถ้าเจ้าของที่ไม่อยากให้หัก ณ ที่จ่าย กรรมการอาจเช่าจากเจ้าของที่ และนำมาปล่อยเช่าให้บริษัทต่ออีกที แบบไม่คิดค่าเช่าเพิ่ม (ตอนยื่นภาษีบุคคลธรรมดา ใช้วิธีหักค่าใช้จ่ายตามจริง 40(5) ทำให้ไม่มีกำไรจากการให้เช่า ไม่ต้องเสียภาษี) ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่สามารถทำได้เช่นกัน
แนวทางแก้ไข กรณีเจ้าของที่ไม่ยอมให้หัก ณ ที่จ่ายค่าเช่า
แนวทางแก้ไข กรณีเจ้าของที่ไม่ยอมให้หัก ณ ที่จ่ายค่าเช่า

ตัวอย่างการกรอกแบบภาษี กรณีเจ้าของธุรกิจเช่าช่วงแล้วมาให้บริษัทเช่าต่อ

วิธีนี้น่าสนใจไม่น้อยเลย แต่จุดสำคัญของวิธีนี้ กรรมการต้องพูดคุยอธิบาย ให้เจ้าของทรัพย์เข้าใจด้วย เพราะไม่ใช่ทุกสัญญาเช่า ที่สามารถเช่ามาแล้ว ปล่อยเช่าช่วงต่อได้ ต้องดูรายละเอียดสัญญาให้ดีด้วยล่ะ ไม่งั้นอาจโดนฟ้อง จากการผิดสัญญาเช่าได้นะ

อยากรู้ไหมว่าวิธีนี้เขาทำกันยังไง เราลองมาดูกรณีตัวอย่างกัน 

บุคคลธรรมดานาย ก. ไม่อยากเข้าในระบบภาษี จึงไม่ต้องการถูกหัก ณ ที่จ่าย แต่มีตึกให้เช่าทำเลที่ดีมาก บริษัท A ซึ่งต้องการพื้นที่นั้น จึงให้กรรมการเช่าตึกจากนาย ก. โดยจ่ายค่าเช่าเดือนละ 30,000 บาท ต่อเดือน หรือ 360,000 บาท ต่อปี

หลังจากนั้นให้กรรมการ ทำสัญญาเช่ากับบริษัท A โดยการให้เช่าช่วง ด้วยค่าเช่าเดือนละ 30,000 บาท เท่ากับจำนวนที่เช่าจากนาย ก.

ประเด็นอยู่ตรงที่ กรรมการจะยื่นภาษียังไงล่ะ?

กรณีนี้กรรมการ จะเป็นผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(5)(ก) ซึ่งจะต้องถูกบริษัทหัก ณ ที่จ่าย 5% เป็นมูลค่า 1,500 บาทต่อเดือน หรือ 18,000 บาทต่อปี แต่เนื่องจากกรรมการเป็นผู้ให้เช่าช่วง กรรมการจึงสามารถหักค่าใช้จ่ายตามจริงจากการเช่า ได้ทั้งจำนวน 

จึงสรุปได้ว่า กรรมการจะมีเงินได้จากการให้เช่าช่วง แต่จะมีค่าใช้จ่ายจากการเช่าด้วยเช่นกัน ซึ่งรายได้กับรายจ่ายที่เท่ากัน จะทำให้กรรมการไม่มีเงินได้จากการให้เช่า และยังสามารถขอคืนภาษี ณ ที่จ่ายได้ทั้งจำนวนอีกด้วย

กรรมการทำสัญญาเช่า แล้วให้บริษัทเช่าช่วงต่อ
กรรมการทำสัญญาเช่า แล้วให้บริษัทเช่าช่วงต่อ

ถ้าเจ้าของบ้านไม่ยอมให้หัก ณ ที่จ่าย มีข้อเสียกับธุรกิจอะไรบ้าง 

ในกรณีที่ เราเช่าบ้านเพื่อทำเป็นสำนักงานออฟฟิศ และเจ้าของบ้านไม่ยอมให้เราหัก ณ ที่จ่ายค่าเช่า พูดคุยก็แล้ว ทำความเข้าใจก็แล้ว ยกเหตุผลใดๆ มา ก็ยังไม่ยอม ถึงที่สุดแล้วจะมีข้อเสียยังไงบ้างนะ ลองมาดูตัวอย่างกัน

ข้อเสียของการเช่าสำนักงานแล้วไม่หัก ณ ที่จ่าย
ข้อเสียของการเช่าสำนักงานแล้วไม่หัก ณ ที่จ่าย
  • ไม่มีหลักฐานในการบันทึกค่าใช้จ่ายของบริษัท นำไปสู่ค่าใช้จ่ายต้องห้าม เสียสิทธิ์ทางภาษี 
  • มีความเสี่ยงถูกปรับทางภาษี หากพบว่าเราไม่ได้หัก ณ ที่จ่าย เมื่อเรามีหน้าที่ หักภาษี ณ ที่จ่าย 
  • ไม่มีหลักฐานในการเช่า อาจนำมาซึ่งปัญหาในภายหลัง เช่น ถูกให้ออกโดยฉับพลัน หรือมีการเรียกเงินเพิ่มเกินกว่าค่าเช่า
  • อาจเป็นความเสี่ยง ที่ทำให้สรรพากรตรวจสอบกิจการ หากบริษัทมีสำนักงาน แต่ไม่มีค่าเช่า ไม่มีสินทรัพย์อาคาร และไม่มีหนังสือสิทธิ์ให้ใช้อาคารฟรี
  • ต้องหาที่เช่าใหม่ หากเจ้าของบ้านเขาไม่ยอม ซึ่งเราพูดคุยประนีประนอมทุกอย่างแล้ว เราอาจจะต้องยอมหาที่เช่าใหม่ เพื่อให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้

จะเห็นได้ว่า ข้อดีแทบไม่มีเลย ส่วนใหญ่จะเป็นข้อเสียซะมากกว่า เอาเป็นว่าทางเลือกที่ดีที่สุด คือการทำสัญญาเช่า เมื่อมีการจ่ายค่าเช่า ก็หัก ณ ที่จ่ายให้ถูกต้อง แบบนี้แหละเราจะสบายใจที่สุด ฮ่าๆๆ

สรุป

จากทั้งหมดนี้เราสามารถสรุปได้ว่า ถ้าเราอยู่ในฐานะบริษัท ยังไงเสียเราก็ต้องหัก ณ ที่จ่าย หากเรามีการจ่ายค่าเช่า ซึ่งหากเจ้าของที่ หรือเจ้าของบ้าน ไม่ยอมให้เราหัก ณ ที่จ่าย เราอาจต้องเข้าไปพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจเสียก่อนค่ะ และถ้าหากพยายามเต็มที่แล้วหัก ณ ที่จ่ายไม่ได้จริงๆ อาจเลือกแก้ไขตามวิธีที่เราแนะนำตามลำดับได้เลยจ้า

และสำหรับใครที่อยากเข้าใจเกี่ยวกับภาษีหัก ณ ที่จ่ายมากขึ้นกว่าเดิม เพิ่มเติมเก็บ CPD ได้ด้วย แนะนำลงเรียนคอร์สนี้ได้เลยค่า: ภาษีหัก ณ ที่จ่ายคำนวณและบันทึกบัญชีอย่างไร ?

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ Line: @cpdacademy

อ้างอิง

คู่มือการหักภาษี ณ ที่จ่าย

ข้อหารือภาษีอากร กค 0702/2649 ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีให้เช่าช่วง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า