เหลือเวลาอีกไม่กี่วันก็จะก้าวเข้าสู่ปีใหม่แล้ว ผู้ตรวจสอบบัญชีรับอนุญาตหรือ CPA นอกจากจะยุ่งกับการวางแผนตรวจนับสต็อกแล้ว ต้องอย่าลืมดูแล รักษาสถานภาพผู้ประกอบวิชาชีพของเราด้วยนะคะ ขั้นตอนการเช็คสถานภาพผู้สอบบัญชีทำอย่างไร และมีอะไรที่ผู้สอบบัญชีต้องทำก่อนสิ้นปีบ้าง เรารวบรวมมาไว้ให้ที่นี่ครบจบในที่เดียวเลยจ้า
3 ขั้นตอนที่ผู้ตรวจสอบบัญชีรับอนุญาต (CPA) ต้องทำก่อนสิ้นปี
เนื่องจากกฎหมายได้กำหนดไว้ว่าผู้ตรวจสอบบัญชี CPA จะต้อง 1) เป็นสมาชิกสภาวิชาชีพบัญชี 2) ชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทุกปี 3) อบรมเก็บชั่วโมง CPD ครบถ้วน ถ้าขาดข้อใดข้อนึงไปจะถือว่าขาดคุณสมบัติผู้สอบบัญชีรับอนุญาตตามกฎหมาย เราเลยจะพาเพื่อนๆ ผู้สอบทุกท่านมาไล่เช็คพร้อมกันทีละ Step นะคะ
1. ชำระค่าบำรุงสมาชิกสภาวิชาชีพบัญชี
ผู้สอบบัญชีจะต้องชำระค่าบำรุงสมาชิกสภาวิชาชีพบัญชีสำหรับปีหน้า พศ. 2566 ให้เรียบร้อย ซึ่งมีค่าบำรุงสมาชิกปีละ 500 บาท โดยต้องชำระก่อนหมดอายุสมาชิก และเลือกชำระล่วงหน้าได้ไม่จำกัดจำนวนปี
การชำระค่าบำรุงสมาชิกสามารถทำได้หลายช่องทางค่ะ
- กรอกแบบฟอร์ม คำขอต่ออายุสมาชิก (สวบช.3) และชำระเงินค่าบำรุงได้ 3 ช่องทาง
- ชำระเป็นเงินสด ซึ่งชําระกับเจ้าหน้าที่สภาวิชาชีพบัญชี
- นําฝากเงินเข้าบัญชีสภาวิชาชีพบัญชี
- แคชเชียร์เช็คสังจ่ายสภาวิชาชีพบัญชีฯ
- ต่ออายุสมาชิกผ่านบริการออนไลน์ ของสภาวิชาชีพบัญชี หัวข้อ “ระบบสมาชิกและผู้สอบบัญชี” และชำระเงินค่าบำรุงได้ 2 ช่องทาง
- Download ใบแจ้งชำระเงิน (Bill Payment) และชำระเงินผ่านเคาน์เตอร์ธนาคาร
- ตัดผ่านบัตรเครดิต
ถ้าชำระเรียบร้อยแล้ว เช็คสถานะที่หน้าจอระบบสมาชิกและผู้สอบบัญชีตรงนี้ จะขึ้นว่าเป็นสถานะสมาชิก “คงอยู่” และระบบจะแสดงวันหมดอายุสมาชิกไว้ให้กันลืมด้วยค่ะ
2. ชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตการเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาต
ผู้สอบบัญชีจะต้องชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตการเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาต ปีละ 2,000 บาท ก่อนใบอนุญาต CPA สิ้นผล และเลือกชำระล่วงหน้าได้ไม่จำกัดจำนวนปี
โดยสามารถเลือกทำได้ 2 วิธีการดังนี้
- กรอกแบบฟอร์ม คำขอต่ออายุใบอนุญาตเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาต (กบ.ช.5) และชำระเงินค่าบำรุงได้ 3 ช่องทาง
- ชำระเป็นเงินสด ซึ่งชําระกับเจ้าหน้าที่สภาวิชาชีพบัญชี
- นําฝากเงินเข้าบัญชีสภาวิชาชีพบัญชี
- แคชเชียร์เช็คสังจ่ายสภาวิชาชีพบัญชีฯ
- ชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตการผู้สอบบัญชีออนไลน์ ผ่าน “ระบบสมาชิกและผู้สอบบัญชี” และชำระเงินค่าบำรุงได้ 2 ช่องทาง
- Download ใบแจ้งชำระเงิน (Bill Payment) และชำระเงินผ่านเคาน์เตอร์ธนาคาร
- ตัดผ่านบัตรเครดิต
จากนั้นอย่าลืมตรวจสอบหน้าจอสถานะใบอนุญาตว่า เป็นสถานะ “คงอยู่” และสามารถเช็ควันที่หมดอายุได้ตรงนี้เช่นกัน
3. ยื่นหลักฐานการพัฒนาความรู้ต่อเนื่องทางวิชาชีพ (CPD)
ผู้สอบบัญชีจะต้องยื่นหลักฐานการพัฒนาความรู้ต่อเนื่องทางวิชาชีพ (CPD) ภายในวันทำการสุดท้ายของปีปฏิทินเท่านั้น ซึ่งเรื่องนี้ผู้สอบบัญชีต้องระมัดระวังดีๆ หากเก็บชั่วโมง CPD ครบเรียบร้อยแล้วภายในปี อย่าลืมยื่นหลักฐานให้เรียบร้อยด้วยจ้า
ผู้สอบบัญชีต้องเก็บชั่วโมง CPD จำนวน 40 ชั่วโมง ต่อปีปฏิทิน โดยแบ่งเป็น
- ชั่วโมง CPD ที่เป็นทางการ 20 ชั่วโมงต่อปี โดยต้องมีชั่วโมงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการบัญชีหรือการสอบบัญชี ไม่น้อยกว่า 10 ชั่วโมง เนื้อหาจรรยาบรรณอย่างน้อย 1 ชั่วโมง และเนื้อหาด้านอื่นตามประกาศของสภาวิชาชีพบัญชี และ
- เป็นชั่วโมง CPD ที่ไม่เป็นทางการ 20 ชั่วโมงต่อปี ทั้งนี้ ให้นับชั่วโมงส่วนที่เกินจากชั่วโมงทางการเป็นชั่วโมงตามข้อนี้ได้ด้วย
เมื่อยื่นชั่วโมงครบถ้วนแล้ว อย่าลืมเช็คสถานะการยื่นชั่วโมง CPD ที่หน้าจอนี้นะคะ ว่าจะต้องขึ้นสถานะ “ยื่นชั่วโมงครบ”
แต่มีข้อแม้สำหรับผู้สอบบัญชีที่เพิ่งอบรม CPD และยื่นชั่วโมงในช่วงปลายเดือนธันวาคม แม้ว่าเราจะเก็บชั่วโมงครบแล้ว แต่ทางสภาวิชาชีพบัญชีจะใช้เวลาตรวจสอบค่อนข้างนาน ดังนั้น สถานะการเก็บชั่วโมงอาจจะยังขึ้นเป็น “ไม่ครบ” ก็ไม่ต้องตกใจไป เพราะว่าเราต้องรอสภาตรวจสอบ แต่อย่างไรก็ตามพอสภาตรวจสอบเสร็จแล้ววันที่นับชั่วโมงได้จะยึดตามวันที่ในหนังสือรับรองการผ่านการอบรมนะคะ
ถ้าไม่ทำ 3 ขั้นตอนนี้มีโทษอย่างไร
ถ้าหากไม่ทำ 3 ขั้นตอนนี้ให้เรียบร้อย ภายใน 31 ธันวาคม 2565 จะทำให้ใบอนุญาตเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาตสิ้นผลลงทันที และจะไม่สามารถปฏิบัติงานสอบบัญชีได้ กรณีปฏิบัติงานสอบบัญชีในระหว่างที่ใบอนุญาตสิ้นผลจะมีโทษอาญาจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
เห็นโทษแบบนี้แล้วมันช่างน่ากลัวเสียเหลือเกิน ถ้าหากใครมีเวลาในช่วงไม่กี่วันก่อนจะสิ้นปีนี้ก็อย่าลืมตรวจเช็ค 3 เรื่องนี้ให้เรียบร้อย จะได้ไม่ต้องมาเสียเวลาแก้ปัญหาในอนาคตนะคะ
อบรมบัญชีเก็บชั่วโมง CPD ออนไลน์ง่ายๆ ได้ที่บ้าน สอบถามได้ที่นี่
Line: @cpdacademy