ในสายอาชีพผู้ทำบัญชีนั้น มีอยู่ด้วยกันมากมายหลายแบบ ไม่ว่าจะเป็นนักบัญชีทั่วไป หรือสำนักงานบัญชี ถึงแม้จะทำงานบัญชีเหมือนกัน แต่ก็มีรายละเอียดหลายอย่างที่แตกต่างกัน
แต่เอ๊ะ!! เคยสงสัยไหมว่าสำนักงานบัญชีคืออะไร ลักษณะแตกต่างจากนักบัญชีทั่วไปยังไง มีอะไรที่เหมือนกัน และมีอะไรที่แตกต่างกันบ้าง แล้วนักบัญชีทั่วไป สามารถผันตัวไปเป็นสำนักงานบัญชีได้หรือเปล่านะ เรามาหาคำตอบไปพร้อมกันได้เลยค่ะ
สำนักงานบัญชีคืออะไร
สำนักงานบัญชีคือ นิติบุคคลที่ให้บริการด้านการสอบบัญชี หรือด้านการทำบัญชี ซึ่งอยู่ภายใต้กฎหมาย พระราชบัญญัติวิชาชีพบัญชี พ.ศ. 2547 ดังนั้นสำนักงานบัญชีคือนิติบุคคลที่ทำธุรกิจตามกฎหมายเฉพาะ ไม่ใช่ว่าใครนึกอยากจะเปิดก็เปิดได้นะคะ ต้องมีการจดทะเบียนและขั้นตอนหลายอย่างเลยทีเดียว
สำนักงานบัญชี มีลักษณะอย่างไร
ลักษณะของสำนักงานบัญชี แน่นอนว่าเป็นองค์กรก็ต้องมีกันอยู่หลายคน โดยสำนักงานบัญชีปกติแล้วจะมีพนักงานที่เป็นผู้ทำบัญชี และผู้ช่วยผู้ทำบัญชีอยู่ ซึ่งหน้าที่หลักของพนักงานในสำนักงานบัญชีคือ การบันทึกบัญชี และคอยจัดการเอกสารให้กับลูกค้า คอยช่วยเหลือให้คำแนะนำ ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับเรื่องบัญชีและภาษี
ในปัจจุบันนี้ อุตสาหกรรมด้านบัญชีเปลี่ยนไปมาก เมื่อก่อนสำนักงานบัญชีรับทำแค่งานทำบัญชี งานตรวจสอบบัญชี งานด้านภาษี แต่ทุกวันนี้ สำนักงานบัญชีต้องเป็น One stop service ให้กับลูกค้า ต้องเป็นที่ปรึกษาด้านธุรกิจได้ เป็นที่ปรึกษาด้านการเงินได้ และมีบริการเสริมอื่น ๆ เช่น การจัดทำงบประมาณ การวางระบบองค์กร การจัดการโครงสร้างด้านการเงิน เป็นต้น
เงื่อนไขการเปิดสำนักงานบัญชี
จากที่เราได้เกริ่นมาข้างต้น สำนักงานบัญชีไม่ใช่นึกอยากจะเปิดก็เปิดได้ เพราะอยู่ภายใต้กฎหมาย พระราชบัญญัติวิชาชีพบัญชี พ.ศ. 2547 สำหรับใครที่อยากเปิดสำนักงานจะมีขั้นตอนโดยคร่าวดังนี้ค่ะ
การจดทะเบียนนิติบุคคล
คนที่จะเปิดสำนักงานบัญชีต้องมีการจดทะเบียนกับสภาวิชาชีพบัญชี ตามมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพบัญชี พ.ศ. 2547 โดยใช้แบบคำขอจดทะเบียนของนิติบุคคล (สวบช.5) ดังนั้นก่อนสำนักงานจะรับทำงานก็ต้องจดทะเบียนก่อนนะ
การแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับหลักประกัน
การเปิดสำนักงานบัญชี ต้องจัดให้มีหลักประกันเพื่อประกันความรับผิดต่อบุคคลที่สาม จํานวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 3 ของทุน ณ วันที่ยื่นจดทะเบียนต่อสภาวิชาชีพบัญชี ณ วันที่จดทะเบียนกับสภาวิชาชีพบัญชี ตามแบบคำขอแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับหลักประกัน (สวบช.5.3)
โดยภายใน 60 วันนับแต่วันสิ้นรอบปีบัญชีทุกปี สำนักงานบัญชีต้องจัดให้มีหลักประกันเป็นจํานวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 3 ของทุน ณ วันสิ้นรอบปีบัญชีที่ผ่านมา หรือของรายได้รอบปีบัญชีที่ผ่านมา แล้วแต่จํานวนใดจะมากกว่า และแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับหลักประกันต่อสภาวิชาชีพบัญชี ตามแบบคำขอแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับหลักประกัน (สวบช.5.3) เช่นกัน
การต่ออายุทะเบียนนิติบุคคล
นอกจากจะให้จดทะเบียนแล้ว วางหลักประกันแล้ว ยังต้องมีการการต่ออายุทะเบียนนิติบุคคลอีกด้วยนะ โดยการต่ออายุทะเบียนนิติบุคคล ต้องต่ออายุทุก 1 ปี นับจากวันจดทะเบียน และภายใน 3 เดือนก่อนใบทะเบียนหมดอายุ ซึ่งค่าต่ออายุทะเบียนนิติบุคคลจะอยู่ที่ 2,000 บาท ต่อปี ตามแบบคำขอต่ออายุทะเบียนนิติบุคคล (สวบช.5.2) ลืมไม่ได้เด็ดขาดเลยนะ!!
นักบัญชีทั่วไปคืออะไร
นักบัญชีทั่วไปคือ บุคคลธรรมดาที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ทำบัญชีกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และสามารถใช้ชื่อเป็นผู้ทำบัญชีได้ รับงานทำบัญชีได้ และแน่นอนว่า ต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย พระราชบัญญัติวิชาชีพบัญชี พ.ศ. 2547
นักบัญชีทั่วมีกี่แบบ
นักบัญชีทั่วไป หรือนักบัญชีที่เป็นบุคคลธรรมาดา จะมีอยู่ 2 รูปแบบหลักด้วยกัน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมีความแตกต่างกันที่การจ้างงานดังนี้ค่ะ
นักบัญชีในบริษัท
นักบัญชีในบริษัท จะทำงานให้กับบริษัทใดบริษัทหนึ่งเพียงที่เดียว หรืออีกความหมายหนึ่งก็คือ นักบัญชีที่เป็นพนักงานประจำของแต่ละบริษัทนั่นแหละ โดยแผนกบัญชีเองก็จะมีหลายคนที่ทำงานร่วมกัน อาจจะแบ่งโซนการทำงานกัน เช่น บันทึกบัญชีฝั่งรับ บันทึกบัญชีฝั่งจ่าย เพราะบริษัทขนาดใหญ่จะมีรายการค้าจำนวนมากใน 1 วันนั่นเอง
นักบัญชีอิสระ
นักบัญชีอิสระ หรือฟรีแลนซ์รับทำบัญชี สำหรับนักบัญชีที่รับงานแบบฟรีแลนซ์ จะทำทุกอย่างด้วยตัวคนเดียว รับงานเอง บันทึกบัญชีเอง จัดทำเอกสารเอง คุยกับลูกค้าเอง โดยงานที่จะรับทำนั้น จะเป็นบริษัทขนาดเล็ก อยู่ในระดับ SMEs เพราะทำทุกอย่างคนเดียวหมด แต่ข้อดีคือสามารถรับงานลูกค้าได้หลายรายต่อ 1 เดือน เท่าที่ตัวเองจะทำไหวนะ
สำหรับนักบัญชีอิสระ ที่รับงานทำบัญชีอยู่แล้ว ในอนาคต ถ้าเรารับงานมากขึ้นเรื่อย ๆ เราอยากที่จะเติบโต มีลูกค้ามากขึ้น มีเครดิตดีขึ้น เราสามารถผันตัวเองไปเป็นสำนักงานบัญชีได้นะ
สิ่งที่เหมือนกันของสำนักงานบัญชีกับนักบัญชีทั่วไป
สำนักงานบัญชี และนักบัญชีทั่วไป ต่างก็ทำงานเหมือนกัน ดังนั้นก็ต้องมีสิ่งที่เขาทำเหมือนกันอยู่ เราไปดูกันดีกว่าว่า สำนักงานบัญชี และนักบัญชีนั้นเหมือนกันยังไง
- บันทึกรายการค้าประจำเดือน ปิดงบการเงิน จัดทำงบการเงิน
- จัดการคำนวณภาษี ยื่นภาษีตามที่สรรพากรกำหนด
- ต้องมีความรู้ด้านบัญชีและภาษี ให้คำปรึกษาได้
- สื่อสาร และให้ข้อมูลกับผู้ตรวจสอบบัญชี สำหรับการตรวจสอบบัญชี
สิ่งที่แตกต่างกันของ สำนักงานบัญชีกับนักบัญชีทั่วไป
จากหัวข้อที่ผ่านมาเรามีความเหมือนกันของสำนักงานบัญชีกับนักบัญชีทั่วไปแล้ว ทีนี้เรามาดูความแตกต่างกันบ้าง ถึงจะทำงานเกี่ยวกับบัญชีเหมือนกันแต่ก็มีความต่างกันด้วยนะ
- สถานะของผู้ทำบัญชีที่แตกต่างกัน : ระหว่างบุคคลธรรมดากับนิติบุคคล
- การขึ้นทะเบียน : สำนักงานบัญชีต้องขึ้นทะเบียนนิติบุคคล บุคคลธรรมดาไม่ต้องขึ้นทะเบียนนิติบุคคล
- จำนวนลูกค้า และขนาดของงานที่รับ : บุคคลธรรมดารับงานได้น้อยหรืออาจจะทำงานประจำ สำนักงานบัญชีรับงานได้เยอะมากกว่า
- งานบริการที่หลากหลาย : สำนักงานบัญชีสามารถให้บริการเสริมได้มากมาย เป็นบริการเพิ่มเติม ส่วนบุคคลธรรมดามีข้อจำกัดเรื่องรับงานได้น้อย รูปแบบงานที่ทำได้จึงน้อยกว่า
สรุป
โดยสรุปแล้วสำนักงานบัญชีคือ นิติบุคคลที่ให้บริการทำบัญชี ตรวจสอบบัญชี และอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติวิชาชีพบัญชี พ.ศ. 2547 ซึ่งนักบัญชีทั่วไปก็ไม่ได้ต่างกันในส่วนของการทำงาน หรือลักษณะหน้าที่การทำงาน
โดยส่วนที่แตกต่างกัน หลัก ๆ เลยคือ ขนาดของสำนักงานบัญชีนั้นจะใหญ่กว่า รับงานได้เยอะกว่า มีรายได้มากกว่า เป็นบริษัทนิติบุคคล ต้องจดทะเบียนอย่างถูกต้อง
อย่างไรก็ตาม นักบัญชีตัวเล็ก ๆ เมื่อเวลาผ่านไป เราได้เติบโตขึ้น สักวันหนึ่ง เราจะกลายไปเป็นสำนักงานบัญชีขนาดใหญ่ได้เช่นกัน CPD Academy ขอเป็นกำลังใจให้คนที่กำลังต่อสู้ เพื่อการเติบโตของตัวเอง และเชื่อว่าทุกคนจะทำได้ค่ะ
อ่านสรุป 6 เทคนิคการเปิดสำนักงานบัญชีเพิ่มเติมได้ที่นี่
อบรมบัญชีเก็บชั่วโมง CPD ออนไลน์ง่ายๆ ได้ที่บ้าน
สอบถามได้ที่นี่ Line: @cpdacademy หรือ https://lin.ee/36U1ks0Y