เพื่อนๆนักบัญชีที่อยู่ในกิจการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เคยปวดหัวบ้างไหมคะว่าทำไมการออกใบกำกับภาษีสำหรับธุรกิจแต่ละประเภทนั้นมีระยะเวลาในการออกใบกำกับภาษีแตกต่างกัน และเคยกังวลบ้างไหมว่ากิจการที่เราดูแลอยู่จะออกใบกำกับช้าไปจนทำให้โดนค่าปรับภาษีแบบไม่รู้ตัว
ถ้าใครกำลังเจอปัญหาปวดหัวนี้อยู่ว่าเราใบกำกับภาษีต้องออกเมื่อไรกันนะ CPD Academy จะพาทุกคนไปทำความรู้จักคำว่า Tax Point และเช็กจุดออกใบกำกับกันชัดๆ เลยในบทความนี้
1. ใบกำกับภาษีคืออะไร
ใบกำกับภาษี Tax Invoice ถือเป็นเอกสารหลักฐานสำคัญของระบบ VAT ซึ่งผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม มีหน้าที่ต้องจัดทำ และออกให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการทุกครั้งที่มีการขายสินค้าหรือการให้บริการนั่นเอง
- ในกรณีเป็นผู้ขายสินค้าหรือให้บริการนั้นเรียกว่า “ภาษีขาย หรือ Output Tax”
- ในกรณีเป็นผู้ซื้อสินค้าหรือใช้บริการที่ผู้ขายคิดภาษีมูลค่าเพิ่มและกิจการได้รับเอกสารใบกำกับภาษี แสดงส่วนของภาษีที่จ่ายไปจากราคาสินค้าหรือบริการนั้นเรียกว่า “ภาษีซื้อ หรือ Input Tax”
ใบกำกับภาษีจัดออกเป็น 3 ประเภทดังนี้
- ใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบ
- ใบกำกับภาษีอย่างย่อ
- เอกสารอื่นที่ถือเป็นใบกำกับภาษี

2. ใบกำกับภาษี ต้องออกเมื่อไร (Tax Point)
เริ่มต้นเราต้องรู้จากจุดรับผิดทางภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ Tax Point เสียก่อน
Tax Point หมายถึง จุดที่จะรับรู้รายการขายสินค้าและภาษีขายทางภาษี ก็คือจุดที่จะออกใบกำกับภาษีให้ลูกค้าค่ะ
ทำไมจะต้องมี Tax Point วัตถุประสงค์ก็เพื่อระบุวันที่คนขายมีสิทธิ์เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม และนำส่งสรรพากร และนอกจากนี้ยังกำหนดให้วันนี้เป็นวันที่ต้องจัดทำใบกำกับภาษีไว้เป็นหลักฐานด้วย เมื่อมีกฎหมายกำหนดไว้ชัดเจน การปฏิบัติ และนำส่งภาษีก็เป็นเรื่องที่เข้าใจง่ายมากขึ้นค่ะ
เมื่อผู้ขายสินค้า ออกใบกำกับภาษีแล้ว (ภาษีขาย) ต้องส่งมอบให้ลูกค้าและต้องนำส่งภาษีไม่เกินวันที่ 15 ของเดือนถัดไป
2.1 Tax Point การขายสินค้า
Tax Point ของการขายสินค้า ผู้ขายมีหน้าที่ต้องจัดทำใบกำกับภาษี เมื่อเหตุการณ์ 3 อย่างนี้เกิดขึ้นค่ะ แล้วแต่ว่า เหตุการณ์ใดจะเกิดก่อน
- เมื่อมีการส่งมอบสินค้า
- เมื่อมีการโอนกรรมสิทธิ์ของสินค้าเกิดขึ้น
- เมื่อรับชำระเงินค่าสินค้า

2.2 Tax Point ของการให้บริการ
Tax Point ของการให้บริการ ก็เช่นเดียวกันค่ะ แต่จะมีแค่ 2 เหตุการณ์ เมื่อเหตุการณ์ 2 อย่างนี้เกิดขึ้น แล้วแต่ว่า เหตุการณ์ใดจะเกิดก่อน
- เมื่อใช้บริการแล้ว
- เมื่อรับชำระเงินค่าสินค้า

จุดที่ควรระวังก็คือ เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่าธุรกิจเป็นประเภทใด และต้องออกใบกำกับภาษีเมื่อใดกันแน่ เพราะการให้บริการออกใบกำกับภาษีช้ากว่าการขายสินค้านะคะ นอกจากนี้ในทางบัญชีรับรู้รายได้อาจไม่พร้อมกับการออกใบกำกับภาษีเสมอไป ฉะนั้น จึงมีความแตกต่างเกิดขึ้นค่ะ
CPD Academy สรุปเรื่องการออกใบกำกับภาษีในคลิปนี้แล้ว ทุกคนลองทำตามนะคะ
3. ตัวอย่างกิจการ และ Tax Point ที่แตกต่างกัน
ต่อไปนี้เป็นการยกตัวอย่างสำหรับ Tax Point ของแต่ละกิจการนอกเหนือจากขายและบริการทั่วไปมาให้ทุกคนได้ศึกษากัน
ตัวอย่าง/เหตุการณ์อื่น ในการประกอบกิจการ | Tax Point จุดรับผิดทางภาษีมูลค่าเพิ่ม |
การขายกระแสไฟฟ้า น้ำประปา สินค้าที่ไม่มีรูปร่าง | เมื่อรับชำระเงิน เว้นแต่มีการออกใบกำกับภาษีก่อนการรับชำระเงิน |
การขายสินค้าด้วยเครื่องจำหน่ายอัตโนมัติ | เมื่อนำเงินออกจากเครื่องจำหน่ายอัตโนมัติ |
สินค้าขาดจากรายงาน | เมื่อตรวจพบว่าสินค้าขาดจากรายงาน |
การให้บริการโดยมีค่าตอบแทน | เมื่อรับชำระเงิน เว้นแต่มีการออกใบกำกับภาษีก่อนการรับชำระเงิน |
การให้บริการโดยไม่มีค่าตอบแทน | เมื่อมีการใช้บริการไม่ว่าโดยตนเองหรือบุคคลอื่น เว้นแต่มีการออกใบกำกับภาษีก่อนใช้ |
การนำเข้าสินค้าทุกกรณี | เมื่อมีการผ่านพิธีการทางศุลกากร |
ต่อไปเรามาดูเคสตัวอย่างของจริง ที่เป็นข้อหารือของกรมสรรพากรกันค่ะ สำหรับกรณีที่เกี่ยวข้องกับ Tax Point จุดรับผิดภาษีมูลค่าเพิ่มต้องออกใบกำกับภาษีเมื่อไรกันแน่
เลขที่หนังสือ | กค 0811/พ.00342 |
เรื่อง | ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการขายสินค้าด้วยเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ |
ข้อหารือ | บริษัทฯ เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ประเภทผลิต ขายส่ง ส่งออก อาหาร สำเร็จรูป ขนมและเครื่องดื่ม และนำเข้าวัตถุดิบและเครื่องจักร ต่อมาบริษัทฯ ได้นำเข้าเครื่องจำหน่าย สินค้าอัตโนมัติ (เครื่องอัตโนมัติ) เพื่อจำหน่ายสินค้าประเภทเครื่องดื่มและอาหารบรรจุกระป๋อง จึงขอ ทราบว่า 1) การขายสินค้าโดยเครื่องอัตโนมัติถือเป็นการค้าปลีกหรือไม่ และบริษัทฯ จะต้อง ออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปหรืออย่างย่อ 2) บริษัทฯ จะต้องจัดทำใบกำกับภาษีในวันที่บริษัทฯ บรรจุสินค้าเข้าเครื่องอัตโนมัติ หรือ วันที่นำเงินออกจากเครื่องอัตโนมัติ |
แนววินิจฉัย | 1) การขายเครื่องดื่มและอาหารบรรจุกระป๋อง ที่บรรจุอยู่ในเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ เข้าลักษณะเป็นการขายสินค้าที่ผู้ขายทราบโดยชัดแจ้งว่า เป็นการขายให้แก่ผู้บริโภคโดยตรง และใน ปริมาณซึ่งตามปกติวิสัยของผู้บริโภคโดยตรง และในปริมาณซึ่งตามปกติของผู้บริโภคนั้นจะนำสินค้าไป บริโภคหรือใช้สอยโดยมิได้มีวัตถุประสงค์ที่จะนำไปขายต่อไป ถือเป็นกิจการค้าปลีก บริษัทฯ มีสิทธิออกใบกำกับภาษีอย่างย่อได้ หรือ พูดง่ายๆ คือ เมื่อขายสินค้าให้ผู้บริโภคคนสุดท้าย ถือว่าเป็นการขายปลีก สามารถออกใบกำกับภาษีอย่างย่อได้ค่ะ 2) การขายเครื่องดื่มและอาหารบรรจุกระป๋อง ที่บรรจุอยู่ในเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ ดังกล่าว ไม่ว่าจะมีการชำระราคาโดยวิธีการหยอดเงิน เหรียญ บัตร หรือด้วยวิธีการในลักษณะทำนอง เดียวกัน ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มทั้งหมดเกิดขึ้นเมื่อได้นำเงิน เหรียญ บัตร หรือด้วยวิธีการ ในลักษณะทำนองเดียวกันออกจากเครื่องอัตโนมัตินั้น สรุปคือ เคสนี้ Tax Point เกิดเมื่อ นำเงิน เหรียญ บัตร ออกจากเครื่องอัตโนมัติค่ะ |
พอจะคลายข้อสงสัยในเรื่องของ ใบกำกับภาษีต้องออกเมื่อไรกันบ้างไหมคะ แบบนี้นักบัญชีก็สามารถนำความรู้ไปวางระบบบัญชี หรือวางระบบการควบคุมภายในกิจการได้นะคะ ก็จะทำให้กิจการสามารถออกใบกำกับภาษีตาม Tax Point ได้ถูกต้อง และจะได้จัดทำรายงานภาษีขายเพื่อนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มได้ถูกต้องด้วยค่ะ
อบรมบัญชีเก็บชั่วโมง CPD ออนไลน์ง่ายๆ ได้ที่บ้าน
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ Line: @cpdacademy