ภาษี

ใบกำกับภาษี คืออะไร ทุกกิจการต้องมีไหม เช็คที่นี่

ใบกำกับภาษี คืออะไร ทุกกิจการต้องมีไหม เช็คที่นี่

เมื่อเราซื้อสินค้าหรือรับบริการ จะสังเกตุเห็นว่าทำไมบางร้านออกเป็นใบเสร็จรับเงิน บางร้านออกเป็นใบกำกับภาษี บางร้านไม่มีบิลอะไรเลย ซึ่งคำตอบก็คือ ผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่มเท่านั้นมีหน้าที่ต้องออกใบกำกับภาษีให้ลูกค้าค่ะ และสำหรับนักบัญชีคนไหนที่ดูแลผู้ประกอบการประเภทนี้อยู่ มีเรื่องอะไรบ้างที่เราต้องรู้เกี่ยวกับใบกำกับภาษี เราสรุปมาให้ทุกคนเรียบร้อยละจ้า

1. ใบกำกับภาษี คืออะไร

ผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม จะต้องออกใบกำกับภาษี เพื่อที่แสดงมูลค่าของสินค้าหรือบริการที่คิดกับผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ และยอดภาษีมูลค่าเพิ่มที่เก็บจากราคาสินค้าหรือบริการที่คิดกับผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการนั้นค่ะ

  • ในกรณีเป็นผู้ขายสินค้าหรือให้บริการ ภาษีมูลค่าเพิ่มที่เราเรียกเก็บลูกค้านั้นเรียกว่า ภาษีขาย หรือ Output Tax
  • ในกรณีเป็นผู้ซื้อสินค้าหรือใช้บริการที่ผู้ขายคิดภาษีมูลค่าเพิ่มและกิจการได้รับเอกสารใบกำกับภาษี แสดงส่วนของภาษีที่จ่ายไปจากราคาสินค้าหรือบริการนั้นเรียกว่า ภาษีซื้อ หรือ Input Tax

2. ใบกำกับภาษีมีกี่ประเภท

ใบกำกับภาษี มี 3 ประเภทด้วยกันซึ่งประกอบด้วย

  • ใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบ
  • ใบกำกับภาษีอย่างย่อ
  • เอกสารอื่นที่ถือเป็นใบกำกับภาษี
ประเภทของใบกำกับภาษี
ประเภทของใบกำกับภาษี

2.1 ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป

ใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบเป็นใบกำกับภาษีที่ใช้กันทั่วไป ซึ่งผู้ประกอบการจด VAT ต้องออกใบกำกับภาษีชนิดนี้ให้กับลูกค้าเสมอ โดยส่วนประกอบที่สำคัญมีอยู่ 8 จุด ไปดูได้ที่บทความนี้เลยค่ะ ใบกำกับภาษีสำคัญยังไง 8 จุดต้องเช็ค ถ้าอยากทำให้ถูกต้อง

ตัวอย่างใบกำกับภาษีเต็มรูปจาก Flowaccount หน้าตาจะเป็นแบบนี้ค่ะ

ใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบ
ใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบ

ถ้าหากเราได้รับใบกำกับภาษีที่ข้อมูลไม่ครบถ้วน หรือออกโดยผู้ประกอบการที่ไม่มีสิทธิ์ออก เราก็จะเสียสิทธิในการเคลม VAT ได้นะคะ เพราะใบกำกับภาษีนี้จะเป็นภาษีซื้อต้องห้ามทันทีค่ะ

2.2 ใบกำกับภาษีอย่างย่อ

ใบกำกับภาษีอย่างย่อ คือเอกสารที่ผู้จดทะเบียน VAT เป็นผู้ค้าปลีก มีจำนวนการขายสินค้าที่เยอะมากๆ จึงสามารถออกเป็นใบกำกับภาษีอย่างย่อได้ ลูกค้าที่ได้รับ ก็จะได้รับอย่างย่อไป ซึ่งจะมีรายละเอียดข้อความในใบกำกับสั้นๆ ใบเล็กๆ ยกตัวอย่างเช่น ซื้อของจากร้านสะดวกซื้อเรามักได้บิลเล็กๆ ถ้าสังเกตุดูจะมีคำว่าใบกำกับภาษีอย่างย่อ หรือ Tax Invoice (ABB) ค่ะ

ข้อควรระวัง เอกสารใบกำกับภาษีอย่างย่อนี้ ไม่สามารถที่จะนำมาเคลมVAT ได้ ถ้าเราต้องการเคลม VAT ต้องขอให้ทางผู้ประกอบการออกใบกำกับภาษีเต็มรูปแทน ณ วันที่ซื้อสินค้า เพื่อที่นำมาใช้สิทธิภาษีซื้อค่ะ

ตัวอย่างใบกำกับอย่างย่อ

ใบกำกับภาษีอย่างย่อ
ใบกำกับภาษีอย่างย่อ

2.3 เอกสารอื่นที่ถือเป็นใบกำกับภาษี

เอกสารอื่นๆ ที่ถือเป็นใบกำกับภาษี หมายถึง เอกสารดังต่อไปนี้

  • ใบเพิ่มหนี้
  • ใบลดหนี้
  • ใบเสร็จรับเงินที่ส่วนราชการออกให้ในการขายทอดตลาด
  • ใบเสร็จรับเงินของกรมสรรพากร กรมศุลกากร หรือกรมสรรพสามิต เฉพาะส่วนที่เป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม
เอกสารอื่นที่ถือเป็นใบกำกับภาษี
เอกสารอื่นที่ถือเป็นใบกำกับภาษี

ใบเพิ่มหนี้ ใบลดหนี้ ถือเป็นเอกสารที่เอาไว้ปรับปรุงรายการของใบกำกับภาษีใบก่อนหน้า อาจจะเกิดได้จากเหตุการณ์ดังต่อไปนี้ เช่น ลูกค้าขอคืนสินค้า ลูกค้าขอลดราคา คิดเงินลูกค้าขาดไป หรือ ส่งของให้ลูกค้าเกินไป ก็ทำเป็นใบเพิ่มหนี้ ใบลดหนี้ได้ค่ะ

ใบเสร็จรับเงิน ส่วนใหญ่ที่เราเจอกันเป็นประจำ จะเป็นใบเสร็จรับเงินของกรมศุลกากร ในธุรกรรมของการนำเข้าสินค้า หรือใบเสร็จรับเงินจากสรรพากรค่านำส่งภาษี ภพ. 36 แล้วเดือนถัดไปเราจะเอามาใช้เคลม VAT ซื้อได้จ้า

3. ทำไมต้องออกใบกำกับภาษี

ตามหน้าที่ของการเป็นผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ซื้อสินค้าหรือบริการ และต้องออกใบกำกับภาษีเพื่อเป็นหลักฐานในการเรียกเก็บค่ะ ใบกำกับภาษีจึงมีความสำคัญตรงที่ว่า เป็นหลักฐานสำคัญของการที่เราได้ชำระภาษีในตัวสินค้าไปแล้วค่ะ

เช่น หากเรียกเก็บเงินลูกค้าค่าสินค้า 100 บาท และบวกค่าภาษีมูลค่าเพิ่มไป 7% เท่ากับ 7 บาท แล้วเราไม่มีหลักฐานอะไรให้ลูกค้าเลย แบบนี้ถือว่าไม่ได้ทำหน้าที่อย่างถูกต้องตามกฎหมายค่ะ

4. กิจการไหนบ้างที่ต้องใช้ใบกำกับภาษี

จริงๆแล้วทุกกิจการที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ต่างก็ต้องอยากได้เอกสารที่แสดงถึงว่า ได้จ่ายชำระเงินค่าสินค้าหรือบริการไปเพื่อเป็นเอกสารประกอบการบันทึกบัญชี แต่ว่ากิจการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มมีความจำเป็นสุดๆ เนื่องจากต้องจัดทำรายงานภาษีซื้อ ภาษีขาย เพื่อเป็นเอกสารประกอบการนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มค่ะ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากต้องการเคลมภาษีซื้อแล้วล่ะก็ กิจการจะต้องเรียกขอเอกสารใบกำกับภาษีมาให้ครบถ้วนเสมอค่ะ

5. ใบกำกับภาษี ใบไหนต้องให้ใครบ้าง

เมื่อขายสินค้าหรือบริการให้ลูกค้า ใบกำกับภาษี คือ ใบกำกับภาษี “ต้นฉบับ” ที่ต้องให้ลูกค้า แล้วสำเนาทางผู้ประกอบการก็ต้องเก็บไว้ด้วยเช่นกัน เพราะฉะนั้น ใบกำกับภาษี ต้องจัดทำขึ้นมา อย่างน้อย 2 ฉบับ = 1 ต้นฉบับ 1 สำเนา แต่ถ้าหากจะออกมากว่า 2 ใบ ก็ทำได้นะคะ แต่ต้องออกเป็น สำเนา เท่านั้น ต้นฉบับ จะมีได้เพียงแค่ใบเดียว ที่ให้ลูกค้าไปใช้สิทธิเคลม VAT เท่านั้นค่ะ

6. ใบกำกับภาษีปลอมคืออะไร มีโทษอย่างไร

ใบกำกับภาษีปลอม หมายถึง การจัดทำใบกำกับภาษีขึ้นมาโดยไม่มีสิทธิ์ออกหรือไม่ได้ซื้อสินค้าหรือบริการจริงๆ เพื่อที่จะนำภาษีนั้นมาใช้เครดิตภาษีในกิจการของตนเอง

มีโทษดังนี้

เจตนานำใบกำกับภาษีปลอม หรือใบกำกับภาษีที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายไปใช้ในการเครดิตภาษี

จำคุกตั้งแต่ 3 เดือน ถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000.- บาท ถึง 200,000.- บาท

เจตนาหลีกเลี่ยง หรือพยายาม หลีกเลี่ยงภาษีมูลค่าเพิ่ม ออกใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้ หรือ ใบลดหนี้ โดยไม่มีสิทธิที่จะออก

จำคุกตั้งแต่ 3 เดือน ถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000.- บาท ถึง 200,000.- บาท

ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้น ทุกท่านก็พอจะมองภาพออกแล้วว่า ใบกำกับภาษี คืออะไร กิจการแบบไหนต้องทำบ้าง ถ้าหากนักบัญชีต้องดูแลผู้ประกอบการจด VAT อย่าลืมให้คำแนะนำอย่างถูกต้องด้วยนะคะ

อบรมบัญชีเก็บชั่วโมง CPD ออนไลน์ง่ายๆ ได้ที่บ้าน

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ Line: @cpdacademy

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า