หลังจากที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) แล้ว สิ่งที่ต้องรู้จักเพิ่มเติม ก็คือ การยื่นภาษีซื้อ ภาษีขาย และในส่วนของนักบัญชีก็ต้องรู่ว่า ภาษีซื้อและภาษีขาย จะต้องบันทึกบัญชีอย่างไร จนกระทั่งถึงเวลาที่ต้องยื่นภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วต้องปิดบัญชีภาษีซื้อ ภาษีขายอย่างไรให้ถูกต้อง สุดท้ายเรามีวิธีเช็กยังไงว่าเราภาษีมูลค่าเพิ่มแต่ละเดือนครบแล้ว บทความนี้จะพาทุกคนมาทำความเข้าใจไปพร้อมกันจ้า
1. ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีซื้อ ภาษีขาย คืออะไร
ภาษีมูลค่าเพิ่ม Value Added Tax หรือ VAT คือ การเก็บภาษีจากการขายสินค้าหรือบริการในทุกกระบวนการผลิต จำหน่ายสินค้าหรือให้บริการ ทั้งภายในประเทศและรวมถึงการนำเข้าจากต่างประเทศด้วย
ภาษีซื้อ หมายถึง ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ประกอบการจด VAT จ่ายเงินซื้อสินค้าหรือบริการที่เป็นผู้ประกอบการที่จด VAT เมื่อชำระค่าสินค้าหรือบริการที่ใช้ในการประกอบกิจการ ภาษีซื้อจะสามารถนำมาหักได้ในการนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม
ภาษีขาย หมายถึง ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ประกอบการจด VAT ได้เรียกเก็บเงินจากผู้ซื้อสินค้าหรือรับบริการ เมื่อมีการขายสินค้าหรือให้บริการจนส่งมอบสินค้าหรือให้บริการแล้วเสร็จ
ถ้ายังสงสัย ลองมาดูคลิปนี้ที่พี่หนอมสรุปให้พวกเราฟังกันค่ะ
ทุกสิ้นเดือน เวลานำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับกรมสรรพากร เราจะนำยอดภาษีขาย (ที่เก็บจากลูกค้า) หักกับภาษีซื้อ (ที่เคยโดนเรียกเก็บ) มาหักลบกันแล้วนำส่งสรรพากรตามสมการนี้
เมื่อนำมาหักกลบกันแล้ว หาก ภาษีขายมากกว่าภาษี = นำส่งภาษีให้กรมสรรพากร แต่ถ้าหาก ภาษีซื้อมากกว่าภาษีขาย ก็สามารถขอคืนหรือว่าเก็บไว้เป็นเครดิตเพื่อใช้เครดิตยอดภาษีเดือนหน้าได้เช่นกัน แต่เห็นไหมคะ ว่าภาษีส่วนนี้ ไม่ได้หมายความว่าผู้ประกอบการต้องจ่ายเงินเพิ่มเองแต่อย่างใด แถมยังสามารถนำภาษีซื้อจากค่าใช้จ่าย มาใช้สิทธิได้อีกด้วยนะคะ ฉะนั้น ภาษีขายจึงไม่ใช่รายได้ และภาษีซื้อก็ไม่ใช่ต้นทุนของธุรกิจ
2. ภาษีซื้อเคลม VAT ได้ทุกใบไหม
จากความหมายของภาษีซื้อในข้อแรก อยากไปเน้นตรงคำว่า “จ่ายเงินซื้อสินค้าหรือบริการ ชำระค่าสินค้าหรือบริการที่ใช้ในการประกอบกิจการ ” หมายถึง ภาษีซื้อที่เกิดขึ้นจะสามารถนำไปเคลม VAT ได้นั้น ต้องเป็นการซื้อสินค้าหรือใช้บริการที่ใช้ในการประกอบกิจการ (ถ้าไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับกิจการก็ไม่สามารถเอามาเคลม VAT ได้อยู่แล้ว)
มาดูตัวอย่างค่าใช้จ่ายหรือทุนที่สามารถนำมาเคลม VAT ได้กันค่ะ
- ซื้อวัตถุดิบ
- ซื้อบรรจุภัณฑ์
- ค่าใช้จ่ายในการขาย เช่น ค่าโฆษณา ค่าใช้จ่ายการตลาด
- ค่าใช้จ่ายในการบริหาร เช่น ค่าทำบัญชี ค่าตรวจสอบบัญชี ค่าที่ปรึกษา
- ซื้อทรัพย์สินเพื่อประกอบกิจการ เช่น ซื้อเครื่องจักร ซื้อตู้เก็บเอกสาร ซื้อคอมพิวเตอร์
เมื่อเรารู้แล้วว่า ค่าใช้จ่ายอะไรบ้างที่สามารถเคลม VAT ได้ แต่ว่าอย่าชะล่าใจไปนะคะ เรื่องสำคัญที่ห้ามลืม ก็คือ ใบกำกับภาษีที่เป็นต้นฉบับ ต้องนำมาเก็บรวบรวมเพื่อประกอบกับรายงานภาษีซื้อ ซึ่งใบกำกับภาษีที่ได้มานั้นข้อมูลต้องถูกต้องตามกฎหมายทุกจุดจึงสามารถเคลม VAT ได้ เช็กยังไงอ่านที่นี่เลย ใบกำกับภาษีสำคัญยังไง 8 จุดต้องเช็ค ถ้าอยากทำให้ถูกต้อง
ส่วนภาษีซื้อที่ไม่สามารถเคลม VAT จะมีลักษณะดังนี้
- เป็นการจ่ายค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจ เช่น รายจ่ายส่วนตัวของผู้บริหาร ค่ารับรอง เป็นต้น
- ใบกำกับภาษีซื้อไม่ถูกต้อง หรือสูญหาย หรือใบกำกับภาษีซื้อปลอม
- เข้าลักษณะของภาษีซื้อต้องห้ามในข้ออื่นๆ ที่ไม่ได้กล่าวมาข้างต้น เช่น ภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อ เช่าซื้อ เช่า หรือรับโอนรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน เป็นต้น
ต้องฝากถึงนักบัญชีทุกท่านเลยนะคะ ก่อนที่จะนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม ขั้นตอนของการจัดทำรายงานภาษีซื้อ จะต้องตรวจสอบต้นฉบับใบกำกับภาษีซื้อทุกใบว่าเข้าเงื่อนไขเคลม VAT ได้หรือไม่ค่ะ
3. ภาษีขาย เช็กยังไงยื่นให้ครบ
ภาษีขาย คือ สิ่งที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าที่ต้องออกเรียกเก็บจากลูกค้า และใบกำกับภาษีให้ผู้ซื้อสินค้าหรือรับบริการ จากนั้นรวบรวมเพื่อที่จะนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม
ทาง CPD Academy มี 3 วิธีการมาแนะนำ เช็กภาษีขายยังไง ถึงจะรู้ว่ายื่นครบหรือไม่
3.1 จัดเรียงเลขที่ใบกำกับภาษีขาย หากมีเลขที่ใบกำกับภาษีกระโดดข้าม ต้องหาสาเหตุว่าเกิดจากอะไร
3.2 ใบลดหนี้ หรือใบเพิ่มหนี้ ต้องอ้างอิงถึง เลขที่ใบกำกับภาษีครั้งแรกที่ซื้อ ว่าเกี่ยวข้องกับการซื้อสินค้าหรือการให้บริการในใบกำกับภาษีใบใด เพื่อนๆคงสงสัยกันใช่ไหมคะว่าเพื่ออะไร เหตุผลเพราะ
จากข้อ 3.1 เรื่องการจัดเรียงเลขที่ใบกำกับภาษี ถ้าหากมีข้ามไป จะเกิดขึ้นได้ 2 กรณีค่ะ
กรณีที่ 1 เปิดผิด (เลขเดิม) ยกเลิก แล้วเปิดใบใหม่ (เลขใหม่) ในกรณีนี้สามารถจัดทำได้ ถ้าหากใบเดิมที่เปิดผิด ยังไม่ได้ถูกดำเนินการยื่นภาษีมูลค่าไปแล้ว แต่ถ้าเป็นคนละเดือนกัน หรือมารู้ว่าผิดภายหลัง จะเป็นกรณีที่ 2
กรณีที่ 2 การเปิดใบลดหนี้ หรือใบเพิ่มหนี้ เพื่อแก้ไขยอดของใบกำกับภาษีใบเดิม เพื่อนๆพอจะมองภาพออกแล้วใช่ไหมคะ ว่าทำไมต้องอ้างอิงถึง เลขเดิมด้วย
3.3 ชนยอดระหว่าง รายงานภาษีขาย ช่องยอดขาย กับ บัญชีรายได้จากการขายสินค้าหรือให้บริการ และ
ชนยอดระหว่าง รายงานภาษีขาย ช่องภาษีขาย กับ บัญชีภาษีขาย
หรือพูดง่ายๆว่า ในส่วนนี้ ยอดขายทางด้านบัญชีและรายงานภาษีต้องตรงกันค่ะ ถ้าเกิดมีผลต่าง ต้องหาสาเหตุว่าทำไม ถึงไม่เท่า ก็จะเป็นข้อบ่งชี้ว่า เราอาจจะยื่นภาษีขาดหรือเกินไปได้ค่ะ ในกรณีที่กิจการไม่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม
4. การบันทึกบัญชี ภาษีซื้อ ภาษีขาย
เมื่อกิจการได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว
ฝั่งขาย – กิจการต้องออกใบกำกับภาษี
ฝั่งซื้อ – การต้องได้รับใบกำกับภาษี
ต้องบันทึกบัญชีอย่างไร มาดูกันเลยค่ะ
บัญชี | เดบิต | เครดิต |
เมื่อซื้อสินค้าหรือบริการ 15/10/2565 | ||
Dr.สินค้า | 5,000 | |
Dr.ภาษีซื้อ (สินทรัพย์) | 350 | |
Cr.เงินสด | 5,350 | |
เมื่อขายสินค้าให้ลูกค้าได้ 20/10/2565 | ||
Dr.เงินสด | 10,700 | |
Cr.รายได้จากการขาย | 10,000 | |
Cr.ภาษีขาย (หนี้สิน) | 700 | |
ปิดบัญชีภาษีซื้อ – ภาษีขายรายเดือน 31/10/2565 | ||
Dr.ภาษีขาย (หนี้สิน) | 700 | |
Cr.ภาษีซื้อ (สินทรัพย์) | 350 | |
Cr.เจ้าหนี้กรมสรรพากร | 350 | |
เมื่อชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม ประจำเดือน ตุลาคม | ||
Dr.เจ้าหนี้กรมสรรพากร | 350 | |
Cr.เงินสด | 350 | |
พอเพื่อนๆทราบคอนเซปของการบันทึกบัญชีภาษีซื้อ ภาษีขายแล้ง ปัจจุบันเราไม่ต้องมานั่งเดบิต เครดิต แบบนี้แล้วนะคะ ถ้าหากเราใช้โปรแกรมบัญชีที่มีระบบการจัดการใบกำกับภาษี และการนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มที่มีการบันทึกบัญชีให้อัตโนมัติ ขั้นตอนการบันทึกบัญชีพวกนี้ก็จะลัดขั้นตอนไปเลยค่ะ นักบัญชีอย่างเราก็ไปดูเพียงแค่ยอดคงเหลือ ว่าถูกต้องหรือไม่ มีความผิดปกติหรือไม่ค่ะ
เมื่อจด VAT แล้ว กว่าที่เราจะบันทึกรายการและได้ยอดของการนำส่งภาษีมันช่างมีขั้นตอนที่ซับซ้อน และเรายังต้องระวังเกี่ยวกับข้อผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นอีก เช่น การนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม มากไป หรือ น้อยไป ก็จะทำให้เกิดความยุ่งยากในการแก้ไขข้อมูลอีกนะคะ เพราะฉะนั้น เรามาเช็กข้อมูลกันให้ดีตั้งแต่แรก และลงบัญชีให้ครบถ้วนไปเลยดีกว่า จะได้ไม่เสียเวลามานั่งแก้ไขข้อมูลย้อนหลังค่ะ
อบรมบัญชีเก็บชั่วโมง CPD ออนไลน์ง่ายๆ ได้ที่บ้าน
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ Line: @cpdacademy