เราเห็นข่าวกันเยอะแยะมากมายเกี่ยวกับสรรพากรเรียกผู้ประกอบการเสียภาษีย้อนหลัง และโดนค่าปรับเงินเพิ่มมหาศาล ซึ่งนั้นทำให้เห็นว่าสรรพากรตรวจสอบรายได้จริงของเราได้ ฉะนั้น เจ้าของธุรกิจหลายคนจึงถูกปรับจริง ต้องจ่ายภาษีจริง ไม่ใช่เพียงคำขู่อีกต่อไป
การออกข่าวก็แบบนี้เหมือนเชือดไก่ให้ลิงดู ทำให้บุคคลที่มีเงินได้ หรือกิจการที่มีเงินได้ต่างพากันอยากทำบัญชี หรือทำรายรับ รายจ่ายให้ถูกต้อง
แต่เอ๊ะ! สงสัยกันไหมคะ ว่าพี่สรรพากรเค้ารู้ความเคลื่อนไหวของเราได้ยังไง วันนี้ทาง CPD Academy จะมาเพื่อนๆมาทำความเข้าใจกัน
1 .เครื่องมือและเทคโนโลยีการตรวจสอบรายได้ของกรมสรรพากร
กรมสรรพากรมีความก้าวหน้าอย่างมากในด้านเทคโนโลยีของการติดตามรายได้ ปัจจุบันมีโปรแกรมซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชั่นที่มาช่วยให้สรรพากรตรวจสอบธุรกรรมทางบัญชีได้อย่างง่ายดาย
รวมทั้งการขาย ค่าใช้จ่าย และผลกำไรที่เกิดขึ้น อย่างที่เราเห็นกันอย่างได้ชัดเลยนะคะ โครงการคนละครึ่ง หรือ โครงการให้ร้านค้าเปิดบัญชี ถุงเงิน เพื่อใช้รับเงินในโครงการคนละครึ่ง ข้อดีของมันก็คือ ทำให้แม่ค้าขายของได้ง่าย แต่ข้อเสียข้อคือ แอฟพลิเคชั่นเหล่านี้บันทึกรายรับของเราไว้อย่างดี (แถมยังเป็นแอปที่จัดทำโดยภาครัฐเสียด้วย หึหึ)
4 กลุ่มข้อมูลที่เสี่ยงโดนสรรพากรตรวจสอบบัญชี
กรมสรรพากรมีระบบ RBA (Risk Based Audit System) นำมาใช้วิเคราะห์ข้อมูล 4 กลุ่มดังนี้
- ข้อมูลการยื่นภาษี
ยกตัวอย่างเช่น การยื่นแบบภาษีตามปกติของกิจการเรา ภ.พ.30 เป็นต้น
2. ข้อมูลจากองค์กรภายนอกสรรพากร
ยกตัวอย่างเช่น กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ธนาคารแห่งประเทศไทย (BOT) การไฟฟ้า การประปา เป็นต้น
3. ใช้ข้อมูลการเปรียบเทียบย้อนหลัง 3-5 ปี
การใช้ข้อมูลทั้งภายในและภายนอกในการเอามาเปรียบเทียบค่ะ ที่เห็นได้ชัดเลยคือ ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า งบการเงินของเรานั่นเองค่ะ
4. ข้อมูลสนับสนุนการบริหารจัดเก็บภาษีตามระบบงานกรมสรรพากร
ยกตัวอย่างเช่น ระบบการกำกับดูแล ระบบการควบคุมการคืนภาษี เป็นต้น
2. ประเภทของรายได้ที่ควรรู้
รายได้สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท รายได้ที่ต้องเสียภาษีและไม่ต้องเสียภาษี
รายได้ที่ต้องเสียภาษี คือ รายได้จากค่าจ้าง เงินเดือน โบนัส ค่าคอมมิชชั่น และรายได้จากค่าเช่า และอื่นๆ เป็นต้น ซึ่งภาษีที่ต้องเสียหลักๆ แล้วได้แก่ ภาษีเงินได้ (บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล) และภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)
ในทางกลับกัน รายได้ที่ไม่ต้องเสียภาษี คือ รายได้ที่ไม่ถึงเกณฑ์ในการจ่ายชำระภาษี หรือได้รับสิทธิยกเว้น ซึ่งแยกออกเป็น 2 ส่วน คือ ภาษีเงินได้ (บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล) และภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ที่ไม่ต้องจ่ายชำระภาษี แต่ต้องยื่นภาษี เช่น รายได้สุทธิต่ำกว่า 150,000 ต่อปี
ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ได้รับยกเว้น เช่น การขายสินค้าการการเกษตรแบบไม่แปรรูป รายได้ค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์ รายได้จากการค้าขายที่ยอดขายไม่ถึง 1.8 ล้านบาทต่อปี
แต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่ารายได้เหล่านี้ต้องเสียภาษีหรือไม่ ทางเดียวก็คือ การทำบัญชีรายรับรายจ่ายหรือทำบัญชีดูก่อนว่าจะไม่ต้องจ่ายชำระเงินภาษีเงินได้หรือไม่
การเข้าใจความแตกต่างระหว่างรายได้ที่ต้องเสียภาษีและไม่ต้องเสียภาษีเป็นสิ่งสำคัญสำหรับทุกคนที่มีรายได้ค่ะ หากเราทราบข้อมูลว่ารายได้ส่วนไหนต้องเสียภาษี หรือไม่เสียภาษีอย่างถูกต้องจะช่วยให้เรามั่นใจได้ ว่ารายได้ของเราที่แสดงต่อกรมสรรพากรนั้นถูกต้องแล้ว และอาจใช้ประโยชน์จากสิทธิประโยชน์ทางภาษีอื่นๆได้อีกด้วย
3. แหล่งที่มากรมสรรพากรตรวจสอบรายได้
กรมสรรพากรมีอำนาจตรวจสอบรายได้ของบุคคลหรือธุรกิจ เพื่อให้แน่ใจว่า ผู้มีหน้าที่เสียภาษีรายงานรายได้ที่ต้องเสียภาษีทั้งหมดอย่างถูกต้องแล้ว ที่เราต้องแสดงข้อมูลอย่างถูกต้องนั้น เพราะว่ากรมสรรพากรมีความสามารถในการเข้าถึงแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย ข้อมูลที่สรรพากรสามารถเข้าถึงได้ ยกตัวอย่าง เช่น
ข้อมูลที่สรรพากรสามารถเข้าถึงได้ | แหล่งที่มา |
ใบกำกับภาษี | แบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม เช่น e-tax invoice |
การขอคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา | แบบแสดงรายการภาษีเงินได้ / หนังสือรับรองการหัก ณ ที่จ่าย |
การขอคืนภาษีเงินได้นิติบุคคล | แบบแสดงรายการภาษีเงินได้ / หนังสือรับรองการหัก ณ ที่จ่าย |
บันทึกทางธุรกิจ | การลงทุน หรือการจดทะเบียนเพิ่ม ลด จำนวนผู้ถือหุ้น การประกาศจ่ายเงินปันผล |
รายการเดินบัญชีธนาคาร | สถาบันการเงิน |
งบการเงิน | งบการเงินที่ยื่นแสดงตามกฏหมายต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าและกรมสรรพากร |
การจ้างงาน | แบบแสดงภาษีเงินได้ หนังสือรับรองการหัก ณ ที่จ่าย |
4. ถ้ารายงานรายได้ไม่ครบจะเกิดอะไรขึ้น ต้องโดนโทษอะไรบ้าง
กรมสรรพากรอาจเริ่มการตรวจสอบหรือสอบสวนจากแหล่งที่มาต่างๆ เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของรายได้ที่เราได้รายงานไป รวมทั้งข้อมูลที่สรรพากรสามารถเข้าถึงได้ที่กล่าวไว้ในหัวข้อที่ 3. แหล่งที่กรมสรรพากรสามารถตรวจสอบรายได้
หากกรมสรรพากรพอจารณา เรียกตรวจสอบ และตัดสินว่าบุคคลหรือธุรกิจนั้น รายงานรายได้ต่ำกว่าความเป็นจริง ก็จะมีบทลงโทษและค่าปรับ และอาจถึงขั้นดำเนินคดีอาญาในกรณีที่จงใจหลีกเลี่ยงภาษีเลยก็ได้
ทาง CPD Academy จะพาไปดูบทลงโทษที่เกี่ยวกับภาษีเงินได้ที่เราเจอบ่อยๆกันค่ะ
เริ่มต้นจาก ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากันเลยนะคะ
แบบแสดงรายการ คือ ภ.ง.ด.90/91
กำหนดการยื่นแบบแสดงรายการ ยื่นแบบกระดาษ คือ 31 มีนาคม ของทุกปี
ยื่นผ่านอินเทอร์เน็ต สามารถขยายเวลาการยื่นแบบได้ไปอีก 8 วันค่ะ
ค่าปรับหากไม่ยื่นภาษีเงินได้ ยื่นเกินกำหนดเสียค่าปรับ 2,000 บาท
และหากตรวจเจอรายได้เพิ่มเติม มายื่นภายหลังเพิ่มเติม กรณีมีเงินภาษีต้องชำระ ให้ชำระเงินภาษี พร้อมเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือนเลยะนะคะ
ส่วนภาษีเงินได้นิติบุคคล ก็มีบทลงโทษเช่นกันค่ะ แต่ว่าบทลงโทษก็จะมีผลขยายวงกว้างไปถึง ผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีหลายๆท่าน เช่น ตัวของกรรมการเองที่จะโดนค่าปรับด้วยค่ะ รายละเอียดค่าปรับและวิธีการคำนวณ ค่อนข้างจะมีความซับซ้อน หากเพื่อนๆท่านไหนต้องการเรียนรู้เพิ่มเติม เราสรุปไว้ให้ที่บทความนี้แล้วค่ะ
สรุปครบ…ค่าปรับยื่นงบล่าช้าเสียเท่าไร ยังไงบ้าง
5. สรรพากรตรวจสอบรายได้เราได้ทางไหนบ้าง
หลายปีที่ผ่านมา กฎหมายภาษีที่พ่อค้าแม่ค้าส่วนใหญ่หวาดกลัวเป็นที่สุด ก็น่าจะเป็นเรื่อง ธนาคารส่งข้อมูลให้สรรพากร ที่เรียกกันว่า ธุรกรรมลักษณะเฉพาะ ถึงแม้ว่ากฎหมายตัวนี้จะประกาศมาสักพักแล้วในปี 2562 แต่ว่าวันที่ 31 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมาจะเป็นครั้งแรกที่ธนาคารจะเริ่มส่งข้อมูลให้สรรพากร ซึ่ง ณ ปัจจุบันก็ยังมีคนสับสนในเรื่องนี้อยู่
จุดเริ่มต้นของการส่งข้อมูลโดยธนาคารให้แก่สรรพากรมันมีที่มาที่ไปอย่างงี้ค่ะ คือ เริ่มต้นมาจาก พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่48) พ.ศ.2562 พ.ร.บ. ฉบับนี้เริ่มบังคับใช้วันที่ 21 มีนาคม 2562 ซึ่งจะเป็นกฎหมายที่ออกมาเพื่อรองรับระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมที่เป็นอิเล็กทรอนิกส์ พวก E-Payment และหนึ่งในกฎหมายนี้ พูดถึงการส่งข้อมูลธุรกรรมลักษณะเฉพาะให้แก่กรมสรรพากร โดยสถาบันการเงินและผู้ให้บริการ e-Wallet ต้องส่งข้อมูลทุกๆ ปี ภายในวันที่ 31 มีนาคมปีถัดไป
ธุรกรรมลักษณะเฉพาะ คืออะไร?
ธุรกรรมลักษณะเฉพาะ คือ ธุรกรรมที่สถาบันการเงิน (เช่น ธนาคาร) รวมถึงผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ (เช่น mPAY, TrueMoney) มีหน้าที่ต้องรายงานข้อมูลของ บุคคลธรรมดา หรือ นิติบุคคล แก่กรมสรรพากร เมื่อตรวจพบว่า เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น
- ฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 3,000 ครั้งขึ้นไป หรือ
- ฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 400 ครั้ง และ มียอดรวมตั้งแต่ 2,000,000 บาทขึ้นไป
ยกตัวอย่าง เช่น
- หากมียอดรับโอนเงินรวม 2,999 ครั้งต่อปี จะยังไม่เข้าเกณฑ์ธุรกรรมลักษณะเฉพาะ
- หากปีมียอดรับโอนเงิน 399 ครั้ง มูลค่ารวม 2,000,001 บาท จะยังไม่เข้าเกณฑ์ธุรกรรมลักษณะเฉพาะ
- หากปีมียอดรับโอนเงิน 401 ครั้ง มูลค่ารวม 2,000,001 บาท จะถือว่าเข้าเกณฑ์ธุรกรรมลักษณะเฉพาะแล้ว
ผู้มีหน้าที่รายงานคือใครบ้าง
มีหน้าที่รายงานให้แก่กรมสรรพากรทราบ ได้แก่
- สถาบันการเงินของรัฐและเอกชน เช่น SCB, Kbank, ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารอาคารสงเคราะห์
- ผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ตามกฎหมายว่าด้วยระบบการชำระเงิน เช่น mPay, TrueMoney, Rabbit, Linepay
** จุดสังเกตตรงนี้ คือ แต่ละธนาคารจะแยกกันส่งข้อมูล ดังนั้น การพิจารณาว่าใครเข้าเกณฑ์ธุรกรรมลักษณะเฉพาะคือ พิจารณาตามแต่ละธนาคารไป
ข้อมูลที่ต้องรายงาน
- ชื่อเจ้าของบัญชี
- เลขประจำตัวประชาชน
- จำนวนครั้งที่ฝากหรือรับโอน (เป็นยอดรวม)
- จำนวนเงินที่ฝากหรือรับโอน (เป็นยอดรวม)
** จุดสังเกตตรงนี้ คือ
- การส่งข้อมูลยังไม่ถือเป็นเงินได้ แต่สรรพากรจะต้องนำไปวิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลอื่น ๆ ต่อไป
- ธนาคารนำส่งข้อมูลเป็นยอดรวมจำนวนครั้งและจำนวนเงิน ดังนั้น สรรพากรจะไม่มีสิทธิ์ทราบว่าเรารับเงินจากใครบ้าง
ธนาคารเริ่มต้นส่งข้อมูลเมื่อไร
ถึงแม้ว่า พรบ. ตัวนี้ประกาศใช้เมื่อ 21 มีนาคม 2562 แต่ว่าสำหรับการเก็บข้อมูลนั้น กฎหมายลูกออกมาบังคับให้เริ่มต้นเก็บตั้งแต่ 24 ธันวาคม 2562 นั่นหมายความว่า
- วันที่ 31 มีนาคม 2563 ธนาคารจะส่งข้อมูลธุรกรรมลักษณะเฉพาะสำหรับวันที่ 24-31 ธันวาคม 2562 จำนวนทั้งสิ้น 8 วัน
- วันที่ 31 มีนาคม 2564 เป็นต้นไป ธนาคารจะส่งข้อมูลธุรกรรมลักษณะเฉพาะสำหรับปีที่ผ่านมาเต็มปี
6. นักบัญชีช่วยแนะนำผู้ประกอบการได้อย่างไร
- แยกบัญชีส่วนตัวออกจากกิจการ เพราะอย่างน้อยเราก็สามารถชี้แจงกับสรรพากรได้ว่ารายการใดเป็นรายได้จากการค้า และรายการใดเป็นรายได้ส่วนตัว การแยกฐานเพื่อเสียภาษีจะลดภาระทางภาษีและทำให้ชัดเจนโปร่งใสมากยิ่งขึ้น
- บัญชีรายรับ–รายจ่าย ถึงแม้ว่าสรรพากรจะสามารถตรวจสอบรายได้ที่เข้าบัญชีได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าคุณต้องเสียภาษีจากรายได้เหล่านั้น เพราะอย่าลืมว่าทำธุรกิจก็ต้องมีต้นทุน ดังนั้น หากมีค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องอย่าลืมบันทึกบัญชี เพราะสุดท้ายแล้วหักกลบกันมาเป็นกำไรสุทธิ คุณอาจจะไม่ต้องเสียภาษีมากมายก็ได้
- ช่วยวางแผนภาษีแต่เนิ่นๆ เริ่มต้นที่การให้คำปรึกษาเรื่องการจดทะเบียนนิติบุคคล ว่าลูกค้าควรจะเปลี่ยนจากบุคคลธรรมดามาเป็นนิติบุคคลหรือไม่อย่างไร จากนั้นไปดูที่ระบบการเก็บเอกสารว่าต้องมีเอกสารรายรับ-รายจ่ายให้ครบถ้วน และถูกต้องตามหลักเกณฑ์ภาษี รวมไปถึงช่วยประมาณการภาษีที่ต้องจ่ายภายในปีว่าผู้ประกอบการควรเตรียมเงินสำรองไว้เท่าใด
บทสรุป
สรรพากรสามารถตรวจสอบรายได้ของจากหลายแหล่งที่มา เช่น ธนาคาร ประวัติการยื่นแบบ ธุรกรรมที่สถาบันการเงิน (เช่น ธนาคาร) รวมถึงผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ (เช่น mPAY, TrueMoney) ที่ต้องรายงานตามเงื่อนไขที่สรรพากรกำหนดไว้ หากเรารู้ตัวดี ว่าต้องเข้าเงื่อนไขแน่ๆ ก็ควรจะยื่นภาษีให้ถูกต้องตามกฎหมายนะคะ เพื่อป้องกันการโดนประเมินตรวจสอบ ที่จะมาพร้อมค่าปรับย้อนหลังอีกด้วยนะ
การยื่นภาษีเงินได้กับกรมสรรพากร ถือเป็นส่วนสำคัญของความรับผิดชอบทางการเงินของตัวเราเองและการเป็นพลเมืองในประเทศที่เราอาศัยอยู่ สิ่งสำคัญคือ เราต้องรู้ว่ารายได้ที่เราต้องนำส่ง หรือยื่นให้ถูกต้องมีอะไรบ้าง หากเราไม่ทราบ หรือไม่มีข้อมูล ต้องเริ่มขอคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญด้านภาษีหรือที่ปรึกษาทางการเงิน เพื่อให้แน่ใจว่ารายได้ทั้งหมดของเราได้ยื่นภาษีอย่างถูกต้องแล้วจะไม่มีการเรียกเก็บย้อนหลังจำนวนมหาศาลอย่างที่เราเห็นในข่าวอย่างทุกวันนี้ หากสรรพากรตรวจสอบรายได้ของเรามาจริงๆ เราก็มีข้อมูลที่เตรียมไว้สำหรับการชี้แจงได้ค่ะ
หากเพื่อนๆท่านไหนต้องการที่ปรึกษาธุรกิจ หรือการจัดทำรายรับ – รายจ่ายในโปรแกรมบัญชีอย่างเป็นระบบเพื่อใช้ยื่นภาษีเงินได้ ขอแนะนำ เพจ Zero to profit ที่อาจเป็นที่ปรึกษาให้เพื่อนๆได้ค่ะ
อยากทำความเข้าใจเรื่องบัญชีและภาษีที่กิจการต้องรู้ให้มากขึ้น ลองเรียนคอร์ส ภาษีเบื้องต้นและงบการเงินที่กิจการควรรู้ เพื่อรับมือกับบัญชีและภาษีธุรกิจกันค่ะ
อบรมบัญชีเก็บชั่วโมง CPD ออนไลน์ง่ายๆ ได้ที่บ้าน
สอบถามได้ที่นี่Line: @cpdacademy หรือhttps://lin.ee/36U1ks0Y