การวิเคราะห์งบการเงินเป็นงานนึงที่นักบัญชีทุกคนควรทำให้เป็น เพราะจะช่วยให้เจ้าของธุรกิจเข้าใจสุขภาพของธุรกิจตัวเองได้ง่ายมากยิ่งขึ้น วิธีวิเคราะห์งบที่นิยมกันมากวิธีหนึ่งก็คือ การวิเคราะห์งบการเงินแนวตั้ง ซึ่งทำให้เรารู้องค์ประกอบของงบการเงินว่าประกอบด้วยอะไรเป็นส่วนหลักๆ และสามารถต่อยอดไปวิเคราะห์เชิงลึกสำหรับบัญชีที่สำคัญๆ ได้ แล้วการวิเคราะห์งบแบบแนวตั้งนั้น มันคืออะไร มีวิธีคำนวณแบบไหน เราลองไปศึกษาวิธีการพร้อมตัวอย่างไปพร้อมๆ กันเลยค่ะ
วิเคราะห์งบการเงินแนวตั้งคืออะไร?
การวิเคราะห์งบแบบแนวตั้ง ภาษาอังกฤษเรียกว่า Common Size Analysis หรือ Vertical Analysis คือ การเปรียบเทียบตัวเลขแต่ละรายการกับยอดรวมในงบการเงินเดียวกัน เพื่อให้เห็นว่าแต่ละบรรทัดนั้นมีองค์ประกอบเป็นสัดส่วนเท่าไรของยอดรวมทั้งหมด ยกตัวอย่างเช่น ให้สินทรัพย์รวมเป็นฐาน 100% ของงบแสดงฐานะการเงิน
สูตรวิเคราะห์งบแนวตั้ง
การวิเคราะห์งบการเงินแบบแนวตั้งนั้น มีสูตรง่ายๆ 2 สูตรแยกตามงบการเงิน ดังนี้
งบกำไรขาดทุน = จำนวนเงินแต่ละบรรทัด/รายได้ x 100
งบแสดงฐานะการเงิน = จำนวนเงินแต่ละบรรทัด/สินทรัพย์รวม x 100
ตัวอย่างวิเคราะห์งบแนวตั้ง
เราทำความเข้าใจสูตรที่ใช้วิเคราะห์งบแบบแนวตั้งหรือ Common Size ไปแล้ว ถัดมาเราลองมาดูตัวอย่างการวิเคราะห์งบจากตัวเลขจริงกัน
1. วิเคราะห์งบกำไรขาดทุนแนวตั้ง
งบกำไรขาดทุนจะมีข้อมูลรายได้ และค่าใช้จ่ายต่างๆ ใส่ไว้อย่างครบถ้วน เมื่อเราวิเคราะห์งบกำไรขาดทุนเราจะกำหนดให้รายได้รวมเป็นฐานของการวิเคราะห์งบการเงิน แล้วบรรทัดอื่นๆ เราจะลองเช็คว่ามีสัดส่วนเป็นเท่าไรเมื่อเทียบกับรายได้
ยกตัวอย่างเช่น ในงบการเงินนี้ มีรายได้รวมในปี 2564 เท่ากับ 299,130,137 บาท คิดเป็น 100% และต้นทุนขายคิดเป็น 64% จากนั้นจะเหลืออัตราส่วนกำไรขั้นต้นจำนวน 36% และเราก็คำนวณอัตราส่วนบรรทัดอื่นๆ ไปตามลำดับ สรุปข้อมูลสำหรับปี 2564 และ 2563 ได้ตามนี้
2564 | 2563 | |
รายได้ | 100% | 100% |
ต้นทุนขาย | 64% | 53% |
ค่าใช้จ่ายในการขาย | 15% | 24% |
ค่าใช้จ่ายในการบริหาร | 14% | 16% |
ต้นทุนทางการเงิน | 0% | 1% |
ค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้ | 1% | 1% |
กำไรสุทธิ | 5% | 5% |
ถ้าเราลองคิดตาม การวิเคราะห์งบการเงินวิธีนี้ทำให้เราเห็นว่ารายได้ที่ 100% ดำเนินธุรกิจแล้วจะเหลือกำไรสุทธิเพียงแค่ 5% สำหรับทั้ง 2 ปี ซึ่งเกิดจากค่าใช้จ่ายต่างๆ ในกิจการกว่า 95% ในปี 2564 และ 2563 สัดส่วนต้นทุนขายมีสัดส่วนสูงสุด และค่อยๆ ลดหลั่นมาเป็นค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารตามลำดับ
ถ้าพูดง่ายๆ อาจอธิบายได้ว่า สินค้าที่ตั้งราคาขายไว้ 100 บาท หักลบค่าใช้จ่ายทั้งหมดแล้วจะเหลือกำไรเพียงแค่ 5 บาทเท่านั้น
2. วิเคราะห์งบแสดงฐานะการเงินแนวตั้ง
งบแสดงฐานะการเงิน มีข้อมูลสินทรัพย์ หนี้สิน และส่วนของเจ้าของ ซึ่งแสดงฐานะการเงินของกิจการ ณ วันที่สิ้นปี
ถ้าเรากำหนดยอดรวมสินทรัพย์เป็น 100% แล้วรายการที่เหลือในงบแสดงฐานะการเงินคิดเป็นสัดส่วนเท่าใดเราลองมาดูในภาพนี้กัน
จากองค์ประกอบของสินทรัพย์ทั้งหมด เราสรุปเป็นอัตราส่วนร้อยละแบบตารางนี้ แล้วพบว่าสัดส่วนสินทรัพย์ที่สูงสุด 2 อันดับสำหรับปี 2564 และ 2563 นั้น คือ สินค้าคงเหลือ และที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ ซึ่งถือว่าเป็นตัวขับเคลื่อนธุรกิจ และที่สำคัญช่วยสร้างรายได้ให้กับธุรกิจด้วย
2564 | 2563 | |
เงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด | 1.4% | 1.0% |
ลูกหนี้การค้าและลูกหนี้อื่น | 6.3% | 6.5% |
สินค้าคงเหลือ | 44.8% | 39.9% |
สินทรัพย์หมุนเวียนอื่น | 0.1% | 0.2% |
ที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ | 47% | 51.7% |
สินทรัพย์ไม่มีตัวตน | 0.2% | 0.5% |
สินทรัพย์ไม่หมุนเวียนอื่น | 0.2% | 0.2% |
สินทรัพย์รวม | 100% | 100% |
นอกจากนี้สำหรับฝั่งหนี้สินและส่วนของเจ้าของ ถ้ากำหนดให้ยอดรวมเท่ากับ 100% บรรทัดที่เหลือในงบจะมีสัดส่วนเป็นเท่าไรเราสรุปให้แล้วในนี้
2564 | 2563 | |
เงินเบิกเกินบัญชีและเงินกู้ยืมระยะสั้นจากสถาบันการเงิน | 14.5% | 19.5% |
เจ้าหนี้การค้าและเจ้าหนี้อื่น | 16.4% | 11.2% |
เงินกู้ยืมระยะสั้น | 22.6% | 17.2% |
หนี้สินหมุนเวียนอื่น | 3.8% | 4.2% |
ประมาณการหนี้สินผลประโยชน์พนักงาน | 2.1% | 2.1% |
ทุนจดทะเบียน | 6.8% | 7.5% |
กำไรสะสม | 33% | 37.6% |
องค์ประกอบอื่น | 0.7% | 0.7% |
หนี้สินและส่วนของผู้ถือหุ้น | 100% | 100% |
จากการตารางสรุปสัดส่วนหนี้สินและส่วนของผู้ถือหุ้น องค์ประกอบที่เยอะที่สุด 2 อันดับแรกในปี 2564 คือ เงินกู้ยืมระยะสั้น และกำไรสะสม แต่ในปี 2563 เป็นเงินเบิกเกินบัญชีฯ และกำไรสะสม ซึ่งอาจวิเคราะห์ได้ว่ากิจการเปลี่ยนแหล่งเงินทุนจากเงินเบิกเกินบัญชีธนาคารมาเป็นเงินกู้ยืมระยะสั้นจากกรรมการแทน เพราะว่าอัตราดอกเบี้ยน้อยกว่าก็เป็นได้
ข้อดี-ข้อเสีย ของการวิเคราะห์งบการเงินแนวตั้ง
Briefly finance กล่าวไว้ว่า การวิเคราะห์งบการเงินแนวตั้งนั้นมีทั้งข้อดีและเสีย สรุปง่ายๆ ดังนี้
ข้อดี | ข้อเสีย |
เข้าใจได้ง่ายเปรียบเทียบข้ามบริษัทได้ช่วยให้เข้าใจแนวโน้มธุรกิจในอดีตที่ผ่านมา | ไม่มีอัตราส่วนที่เป็นมาตรฐานไม่สนใจขนาดของธุรกิจ |
ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องใช้การวิเคราะห์แนวตั้งควบคู่กับการวิเคราะห์งบแบบอื่นๆ เช่น วิเคราะห์งบการเงินแนวนอน วิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงิน วิเคราะห์เงินสด เป็นต้น
ทั้งหมดนี้เป็นความหมาย วิธีการ และตัวอย่างการวิเคราะห์งบแนวตั้งอย่างง่ายค่ะ ซึ่งมีประโยชน์มากๆ เลยในการทำงาน ซึ่งถ้าลองวิเคราะห์แบบง่ายเป็นแล้ว ในอนาคตเราสามารถเจาะลึกลงไปวิเคราะห์ในแต่ละบัญชีได้เลยค่ะว่าประกอบด้วยอะไรอีกบ้าง แบบนี้ยิ่งทำให้เราเก่งขึ้น และทำงานได้ดียิ่งขึ้นเลยนะคะ