ความรู้บัญชี

วิเคราะห์งบการเงินแนวนอนทำอย่างไร พร้อมตัวอย่างประกอบ

วิเคราะห์งบการเงินแนวนอนทำอย่างไร พร้อมตัวอย่างประกอบ

การวิเคราะห์งบการเงินมีมากมายหลากหลายวิธี และหนึ่งในวิธีที่นิยมใช้กันมากที่สุดก็คือ การวิเคราะห์แนวโน้มหรือ “วิเคราะห์งบการเงินแนวนอน” เพื่อเช็คว่าในปีที่เราสนใจนั้นมีความแตกต่างจากปีอื่นๆ อย่างไร จะได้หาสาเหตุและวิธีการแก้ไขได้

เล่ามาถึงตอนนี้หลายคนคงสงสัยใช่ไหมคะว่าการวิเคราะห์งบแนวนอนนั้นทำยังไง และมีเรื่องอะไรที่เราต้องรู้บ้าง ถ้าพร้อมแล้วเราไปหาคำตอบ พร้อมดูตัวอย่างการวิเคราะห์งบจริงกันเลยค่ะ

วิเคราะห์งบการเงินแนวนอนคืออะไร ?

วิเคราะห์งบแนวนอน หมายถึง การเปรียบเทียบข้อมูลในงบการเงินระหว่างช่วงระยะเวลาหนึ่งกับอีกช่วงระยะเวลาหนึ่งๆ เช่น ปี 2565 เทียบกับปี 2564 หรือไตรมาส 4/2565 เทียบกับไตรมาส 4/2564 เป็นต้น วิธีวิเคราะห์งบแบบนี้ทำให้เราทราบการเติบโตและแนวโน้มของรายการต่างๆ ในงบการเงิน

สูตรวิเคราะห์งบการเงินแนวนอน

การวิเคราะห์งบแบบแนวนอน หรือวิเคราะห์แนวโน้มนั้น ทำได้ 2 แบบ และมีสูตรการคำนวณดังนี้

1. เปรียบเทียบจำนวนเงินที่เปลี่ยนแปลงไป

จำนวนเงินที่เปลี่ยนแปลง (บาท) = จำนวนเงินปีนี้ – จำนวนเงินปีฐาน

2. เปรียบเทียบร้อยละที่เปลี่ยนแปลงไป (%)

% ที่เปลี่ยนแปลง = จำนวนเงินปีนี้ – จำนวนเงินปีฐาน/จำนวนเงินปีฐาน x 100

สูตรวิเคราะห์แนวนอน
สูตรวิเคราะห์แนวนอน

ถ้าลองสังเกตดูดีๆ การเปรียบเทียบวิเคราะห์งบแนวนอนนี้ไม่ได้ใช้สูตรที่ยากหรือซับซ้อนอะไร เราเพียงแค่ต้องระบุให้ได้ว่า ใช้ข้อมูลอะไรเป็นปีฐาน และต้องการเช็คการเปลี่ยนแปลงของช่วงเวลาไหน ก็เอามาเปรียบเทียบคำนวณหาผลต่าง และคิดเป็น % การเปลี่ยนแปลง

นั่นหมายความว่า หากต้องการวิเคราะห์งบด้วยวิธี เราต้องมีงบการเงินอย่างน้อย 2 ปี มิเช่นนั้นจะไม่มีตัวเปรียบเทียบนะจ๊ะ ซึ่งโดยปกติแล้วถ้าไม่ใช่งบการเงินปีแรก หรืองบเลิกกิจการ กิจการมักจะแสดงข้อมูลอย่างน้อย 2 ปีในงบการเงินตามที่กฎหมายกำหนดอยู่แล้วล่ะ

ตัวอย่างวิเคราะห์งบการเงินแนวนอน

พอจะทราบความหมายและสูตรการคำนวณไปแล้ว ถัดมาจะชวนทุกคนมาดูตัวอย่างการวิเคราะห์งบแนวนอนกันค่ะ ว่าเราสามารถทำได้อย่างไรบ้าง

อันดับแรก ทุกคนต้องมีงบการเงินของกิจการที่อยากวิเคราะห์ติดมือไว้ก่อนนะ และงบนี้ต้องมีข้อมูลอย่างน้อย 2 ปีนะคะ ถัดมาเรามาเริ่มวิเคราะห์กันต่อเลย

1. วิเคราะห์งบกำไรขาดทุนแนวนอน

งบกำไรขาดทุนจะมีข้อมูลรายได้ และค่าใช้จ่ายรูปแบบต่างๆ ใส่ไว้อย่างครบถ้วน บรรทัดสุดท้ายจะแสดงกำไรขาดทุนสุทธิจากการดำเนินกิจการ เวลาเราวิเคราะห์งบกำไรขาดทุนแบบแนวนอนแนะนำว่า ให้ใช้สูตร Excel คำนวณจะทำให้ได้ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงแบบง่ายๆ และแม่นยำขึ้นค่ะ

จากตัวอย่างนี้เราให้ปี 2563 เป็นปีฐาน และเราอยากทราบการเปลี่ยนแปลงในปี 2564 ว่าเปลี่ยนจากเดิมไปมากน้อยเพียงใด

วิเคราะห์งบกำไรขาดทุนแนวนอน
วิเคราะห์งบกำไรขาดทุนแนวนอน

พอคำนวณการเปลี่ยนแปลงทั้งมูลค่าและร้อยละ ใน 2 column สุดท้ายได้แล้ว เราลองเลื่อนสายตาลงไปดูด้านล่างสุดจะพบว่า กำไรสุทธิเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นกว่า 2.3 ล้านบาท คิดเป็น 17% เห็นข้อมูลแบบนี้ เราคงสงสัยใช่ไหมคะว่าการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้กำไรเพิ่มขึ้นตั้ง 2.3 ล้านบาทนั้นเกิดจากอะไร

สาเหตุการเพิ่มขึ้นของกำไรหลักๆ เกิดจาก

+ รายได้ที่เพิ่มขึ้นกว่า 22.31 ล้านบาท หรือ 8.1% ซึ่งอาจจะต้องไปเช็คต่อว่าเพิ่มขึ้นเพราะสินค้าตัวไหน หรือเกิดจากสาเหตุใด

– ต้นทุนขายที่เพิ่มขึ้น 44.08 ล้านบาท หรือ 30.2% ต้นทุนขายที่เพิ่มขึ้นส่งผลกระทบในแง่ลบกับธุรกิจ เพราะทำให้กำไรสุทธินั้นลดลง

+ ค่าใช้จ่ายในการขายที่ลดลง 20.25 ล้านบาท หรือ 30.6% ส่งผลกระทบในแง่บวก เพราะว่าค่าใช้จ่ายในการขายที่ลดลงทำให้กำไรสุทธิเพิ่มขึ้น

พอเราเช็คได้ว่า กำไรสุทธิ 2.3 ล้านบาท ที่เพิ่มขึ้นเกิดจากปัจจัยในแง่บวกและลบแล้ว อาจจะต้องไปวิเคราะห์เพิ่มเติมว่าในอนาคตจะมีผลกระทบอย่างไร มีอะไรที่ทำได้ดี และมีอะไรที่ต้องพัฒนาปรับปรุงบ้าง

2. วิเคราะห์งบแสดงฐานะการเงินแนวนอน

งบถัดมาที่เรามักใช้วิธีวิเคราะห์แบบแนวนอนกันบ่อยๆ คือ งบแสดงฐานะการเงิน ที่จะมีข้อมูลสินทรัพย์ หนี้สิน และส่วนของเจ้าของอยู่ในนั้น

จากตัวอย่างงบแสดงฐานะการเงินในรูป ถ้าเรากำหนดให้ปี 2563 เป็นปีฐาน แล้วเราเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงในปี 2564 จะพบว่า บางบรรทัดมีการเปลี่ยนแปลงขึ้น และบางบรรทัดเปลี่ยนแปลงลง ทีนี้วิธีการวิเคราะห์แบบง่ายๆ เราอาจจะต้องลองดูในแต่ละหมวดว่ามีการเปลี่ยนแปลงสุทธิเท่าใด แล้วค่อยเจาะลึกไปวิเคราะห์ในแต่ละบรรทัดกันค่ะ

วิเคราะห์งบแสดงฐานะการเงินแนวนอน
วิเคราะห์งบแสดงฐานะการเงินแนวนอน

  • สินทรัพย์รวม เพิ่มขึ้น 24.71 ล้านบาท หรือว่า 9.2% สาเหตุหลักๆ เกิดจากสินค้าคงเหลือที่เพิ่มมากขึ้นจากปีก่อน และนอกเหนือจากนั้นการเปลี่ยนแปลงในบรรทัดอื่นๆ อย่างเช่น เงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด ลูกหนี้ ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ สินทรัพย์ไม่มีตัวตน ก็มีการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน แต่ไม่ได้มีสาระสำคัญมากนักถ้าเทียบกับสินค้าคงเหลือ
  • หนี้สินรวม เพิ่มขึ้น 28.71 ล้านบาท หรือ 19.8% เกิดจากสาเหตุหลัก 3 ประการ คือ การเพิ่มขึ้นของเจ้าหนี้การค้าและเจ้าหนี้อื่น 17.84 ล้านบาท และเงินกู้ยืมระยะสั้น 20 ล้านบาท ตามลำดับ แต่ก็มีส่วนที่ลดลงคือ เงินเบิกเกินบัญชีและเงินกู้ยืมระยะสั้นจากสถาบันการเงิน จำนวน 9.8 ล้านบาท ในกรณีนี้อาจสันนิษฐานได้ว่ามีการกู้เงินกรรมการมาจ่ายชำระคืนเงินเบิกเกินบัญชีฯ
  • ส่วนของเจ้าของ หรือส่วนของผู้ถือหุ้น เปลี่ยนแปลงลดลง 4 ล้านบาท หรือ 4% ทั้งๆ ที่มีกำไรในปี 2564 จากงบกำไรขาดทุนจำนวน 15.99 ล้านบาท ทั้งนี้ สาเหตุเกิดจากการจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นจำนวน 20 ล้านบาทในปี 2564 นั่นเอง

ข้อควรระวังการวิเคราะห์งบแนวนอน

แม้ว่าการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงแบบแนวนอนหรือแนวโน้มมีประโยชน์มากๆ สำหรับนักบัญชี แต่ก็มีข้อควรระวัง ที่ CFI กล่าวไว้ว่า

การวิเคราะห์แบบแนวนอนแม้ว่าทำให้เห็นแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงธุรกิจได้ดี แต่ว่าผลการวิเคราะห์นั้นจะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ขึ้นอยู่กับว่าใช้ปีใดเป็นปีฐาน เช่น ถ้าปี 2563 เป็นปีฐานและมีผลประกอบการแย่ กลายเป็นว่าปี 2564 จะมีผลประกอบการดีมากๆ ซึ่งอาจทำให้ผลการวิเคราะห์ดีเกินความเป็นจริง

Corporate Finance Institute

ดังนั้น บางบริษัทจึงเลือกที่จะวิเคราะห์แบบเจาะลึกลงไปเพิ่มเติมแบ่งเป็นราย segment เพื่อหาสาเหตุความผิดปกติและเพิ่มความแม่นยำในการวิเคราะห์งบการเงินแบบแนวนอนได้มากยิ่งขึ้น

และที่สำคัญถ้าเราเข้าใจวิธีวิเคราะห์งบแบบแนวนอนแล้ว สิ่งที่ควรวิเคราะห์คู่กันแบบขาดไม่ได้คือ การวิเคราะห์งบแบบแนวตั้ง ซึ่งนักบัญชีสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมกันได้ค่ะ สุดท้ายนี้ หวังว่าบทความนี้จะมีประโยชน์และช่วยให้นักบัญชีทำงานได้เก่งขึ้นนะคะ

อบรมบัญชีเก็บชั่วโมง CPD ออนไลน์ง่ายๆ ได้ที่บ้าน

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ Line: @cpdacademy 

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า