เรื่องที่สำคัญของนักบัญชีอีกเรื่องหนึ่ง ก็คือการวิเคราะห์รายการต่างๆทางบัญชี ให้แสดงตัวเลขออกมาอย่างถูกต้องตามความเป็นจริงที่สุด บัญชีลูกหนี้ถือเป็นอีกหนึ่งบัญชีที่สำคัญ ที่ต้องประเมินเกี่ยวกับลูกหนี้ที่ค้างนาน หรือลูกหนี้ที่มีแนวโน้มที่จะเรียกเก็บเงินไม่ได้แน่ๆ
แล้วถ้านักบัญชีจะประเมินมูลค่าหนี้ สงสัยจะสูญ หรือตัดหนี้สูญที่ไม่สามารถเรียกเก็บเงินได้ จะต้องทำอย่างไรบ้าง ให้ถูกต้องตามมาตรฐานการบัญชี TFRS for NPAEs วันนี้ CPD Academy จะพาทุกคนมาทำความเข้าใจในบทความนี้กันค่ะ
หนี้สงสัยจะสูญคืออะไร ?
หนี้สงสัยจะสูญ หรือ Doubtful Accounts หมายถึง การประมาณการยอดลูกหนี้ที่คาดว่าจะเรียกเก็บเงินไม่ได้ ด้วยวิธีการประมาณตามที่มาตรฐานการบัญชีกำหนด และรับรู้จำนวนค่าใช้จ่ายในงบกำไรขาดทุน
วิธีการตั้งประมาณการ
สำหรับวิธีการประมาณการหนี้ สงสัยจะสูญสามารถเลือกทำได้ 3 วิธีนี้ค่ะ
วิธีการประมาณหนี้สงสัยจะสูญ | วิธีการคำนวณ |
1. วิธีอัตราร้อยละของยอดขายเชื่อสุทธิ | คิดจาก ร้อยละของยอดขายเชื่อสุทธิ |
2. วิธีอัตราร้อยละของลูกหนี้ที่ค้างชำระจำแนกตามอายุของลูกหนี้ (AR Aging) | คำนวณโดยการจัดกลุ่มลูกหนี้จำแนกตามอายุของหนี้ที่ค้างชำระ โดยลูกหนี้ที่ค้างชำระนานให้คำนวณด้วยอัตราร้อยละที่สูงกว่าลูกหนี้ที่เพิ่มเริ่มเกิดขึ้น |
3. วิธีพิจารณาลูกหนี้เป็นแต่ละราย | พิจารณาจากความสามารถในการชำระหนี้และจำนวนที่คาดว่าจะได้รับชำระ |
ยกตัวอย่าง
กิจการใช้วิธีการประมาณหนี้สงสัยจะสูญ ด้วยวิธีที่ 2 อัตราร้อยละของลูกหนี้ที่ค้างชำระจำแนกตามอายุของลูกหนี้ (AR Aging) จะมีวิธีการคำนวณดังนี้
บริษัท ซีพีดี อะแคเดมี่ จำกัด มีลูกหนี้ค้างนานเกิน 90 วัน จำนวน 1,000,000 บาท ลูกหนี้ค้างนานเกิน 180 วัน จำนวน 5,000,000 บาท และลูกหนี้ค้างนานเกิน 365 วัน จำนวน 2,000,000 บาท
อัตราที่ใช้ตั้งประมาณการก็จะลดหลั่นลงไป เช่นจาก 50% สำหรับค้างนาน 90 วัน และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไปจนถึง 100% สำหรับค้างนาน 365 วันค่ะ ผลรวมประมาณการเราได้
อายุลูกหนี้ | อัตราร้อยละที่ใช้ตั้งประมาณการ | ลูกหนี้คงค้าง | บันทึกบัญชีค่าเผื่อหนี้ |
ลูกหนี้ค้างนานเกิน 90 วัน | 50% | 1,000,000 | 500,000 |
ลูกหนี้ค้างนานเกิน 180 วัน | 80% | 5,000,000 | 4,000,000 |
ลูกหนี้ค้างนานเกิน 365 วัน | 100% | 2,000,000 | 2,000,000 |
รวม | 8,000,000 | 6,500,000 |
วิธีการบันทึกบัญชี
Dr. หนี้สงสัยจะสูญ (ค่าใช้จ่าย) 6,500,000
Cr. ค่าเผื่อหนี้ สงสัยจะสูญ (Contra-Asset) 6,500,000
ในงบการเงินจะแสดงมูลค่าบัญชีลูกหนี้ตามมูลค่าที่จะได้รับ สำหรับวิธีนี้อยากให้ทุกคนสังเกตว่า การที่เราประมาณการหนี้ที่สงสัยว่าจะสูญเป็นค่าใช้จ่ายตั้งแต่งวดนี้ แสดงว่าเราจะแสดงมูลค่าค่าใช้จ่าย และทำให้บัญชีลูกหนี้ต่ำลง
ทำให้ผู้ใช้งบการเงิน มาอ่านก็จะรู้ว่าลูกหนี้ยอดคงเหลือ ณ มูลค่าที่จะได้รับเท่านี้จริงๆ ไม่สูงโอเวอร์จนเกินไปค่ะ
ตัดหนี้สูญทางบัญชีทำยังไง?
หากติดตามทวงถามและปฏิบัติตามขั้นตอนตามกฎหมายแล้ว ได้ข้อสรุปว่าต้องตัดหนี้สูญออกจากบัญชีเราจะบันทึกบัญชีอย่างไรได้บ้าง ลองมาศึกษาตรงนี้กันนะคะ
การที่จะเป็นหนี้สูญได้มันต้องผ่านกระบวนการ ทวงถาม ติดตาม จนถึงที่สุดก่อน ว่าเป็นลูกหนี้จำนวนเท่าไร จะชำระไหม ทวงถามติดตามไม่รู้กี่ครั้ง ถึงเวลาเราคาดว่าเค้าจะไม่ชำระหนี้แน่นอน เพราะว่าจากพฤติกรรมที่เราติดตามทวงถามแล้วเป็นแบบนี้ จะตัดหนี้สูญทางบัญชีสามารถทำได้ดังนี้ค่ะ
1. วิธีตัดโดยตรง
ยกตัวอย่าง บริษัท ซีพีดี อะแคเดมี่ จำกัดติดตามลูกหนี้ในกลุ่มลูกหนี้ค้างนานเกิน 365 วัน จำนวน 2,000,000 บาท ยื่นฟ้องศาลสั่งล้มละลายจนถึงที่สุดแล้ว คาดว่าไม่ได้รับเงินแน่นอน
วิธีการบันทึกบัญชีคือ
Dr. หนี้สูญ (ค่าใช้จ่าย) 2,000,000
Cr. ลูกหนี้ (สินทรัพย์) 2,000,000
2. วิธีตัดผ่านค่าเผื่อ หนี้สงสัยจะสูญ
วิธีการบันทึกบัญชี คือ
Dr. ค่าเผื่อหนี้ สงสัยจะสูญ (Contra-A) 2,000,000
Cr. ลูกหนี้ (สินทรัพย์) 2,000,000
นักบัญชีส่วนใหญ่จะชอบวิธีนี้ เพราะว่าคิดว่ามันเป็นวิธีที่น่าจะทำให้งบแสดงข้อมูลตามข้อเท็จจริงมากที่สุด
หนี้สูญได้รับคืนบันทึกบัญชีทำอย่างไร?
นักบัญชีเคยเจอปัญหาแบบนี้มั๊ยคะ เวลาที่เราคิดว่าลูกหนี้กำลังจะสูญหรือว่าสูญไปแล้ว เราบันทึกบัญชีไปแล้ว แต่ผ่านมาอีก 2 ปีลูกหนี้เอาเงินมาชำระ แล้วเราจะทำยังไงล่ะ ในการบันทึกบัญชีเพื่อให้มันถูกต้องตามมาตรฐานการบัญชี
ในอดีตลูกหนี้ที่เราคิดว่าเค้าจะไม่มาจ่ายชำระแล้ว เราก็ตัดหนี้สูญไปแล้ว อยู่ดีๆ ลูกหนี้ก็ติดต่อมาและชำระหนี้สูญคืนให้กับธุรกิจซะงั้น ก็ถือเป็นเรื่องที่ดีนะคะ แต่ว่าต้องมาปรับปรุงตัวเลขทางบัญชีให้ถูกต้องด้วย
เคสแบบนี้เราเรียกว่า หนี้สูญรับคืน เป็นการรับคืนเงินจากลูกหนี้ที่ตัดจำหน่ายหนี้สูญไปแล้ว โดยมี 2 วิธีด้วยกัน ดังนี้ค่ะ
ยกตัวอย่าง บริษัท ซีพีดี อะแคเดมี่ จำกัดได้รับการรับชำระเงิน จากลูกหนี้ในกลุ่มลูกหนี้ค้างนานเกิน 365 วัน จำนวน 1,000,000
1. ไม่ถือเป็นรายได้อื่น
จะโอนกลับ ค่าเผื่อหนี้ สงสัยจะสูญแล้วก็ลูกหนี้ตรงนี้นะคะ
Dr. ลูกหนี้ (สินทรัพย์) 1,000,000
Cr. ค่าเผื่อหนี้ สงสัยจะสูญ (Contra-A) 1,000,000
บันทึกรับชำระหนี้
Dr. เงินสด (สินทรัพย์) 1,000,000
Cr. ลูกหนี้ (สินทรัพย์) 1,000,000
2. ถือเป็นรายได้อื่น(ทางเลือก)
ถ้าเลือกใช้วิธีต้องเปิดเผยนโยบายการบัญชีสำหรับหนี้สูญได้รับคืนด้วย ตาม TFRS for NPAEs ฉบับปรับปรุง 2565 หลักใจความสำคัญของมันก็คือ เราจะบันทึกบัญชีแบบนี้ค่ะ
Dr. เงินสด 1,000,000
Cr. รายได้อื่น 1,000,000
วิธีนี้จะต่างกับวิธีแรกเพราะวิธีแรกจะไม่ได้รับรู้รายได้เข้ามา ฉะนั้นถ้าใครเลือกใช้วิธีนี้อย่าลืมเปิดเผยข้อมูลต่างๆ ให้ครบถ้วนตามมาตรฐานรายงานทางการเงินนะคะ
บทสรุป
เรื่องลูกหนี้เหมือนจะเป็นเรื่องไม่ซับซ้อน แต่ในความเป็นจริงมีรายละเอียดปลีกย่อยมากมายที่นักบัญชีต้องเข้าใจ หนึ่งในนั้นคือ เรื่องตั้งประมาณการหนี้สูบและตัดหนี้สูญค่ะ สำหรับใครที่มีปัญหาว่าจะทำอย่างไร บันทึกบัญชีแบบไหนจึงจะถูกต้องแนะนำทบทวนเรื่องหนี้สูญอีกครั้งที่นี่นะคะ
ทาง CPD Academy เอาบทความอื่นที่น่าสนใจเกี่ยวกับการบริหารลูกหนี้ให้ทุกท่านได้เรียนรู้เพิ่มเติมสำหรับให้นักบัญชีคนเก่งนำไว้ใช้แนะนำผู้ประกอบการให้เข้าใจมากยิ่งขึ้นค่ะ อ่านตามนี้ได้เลย: ลูกหนี้ค้างนานจัดการยังไงดี ?
เรียนบัญชีออนไลน์ เก็บชั่วโมง CPD ที่ www.cpdacademy.co
สอบถามได้ที่นี่ Line: @cpdacademy หรือ https://lin.ee/36U1ks0Y