ความรู้บัญชี

อัตราส่วนทางการเงินคืออะไร? แบบไหนใช้วิเคราะห์อะไรบ้าง?

รู้จักอัตราส่วนทางการเงินคืออะไร อัตราส่วนแบบไหนใช้วิเคราะห์อะไรบ้าง

เคยสงสัยกันไหมว่าอัตราส่วนทางการเงินคืออะไร แล้วนักบัญชีอย่างเราจะวิเคราะห์อัตราส่วนได้ด้วยตัวเองหรือไม่ ถ้านักบัญชีคนไหนอยากเรียนรู้จักงบการเงินมากกว่าแค่การลงบันทึกบัญชี แนะนำให้อ่านบทความนี้ เพราะ CPD Academy รวบรวมอัตราส่วนการเงินที่ควรรู้และวิธีใช้ประโยชน์จากอัตราส่วนต่างๆ ในการทำงานมาให้ศึกษากันค่า

อัตราส่วนทางการเงินคืออะไร?

อัตราส่วนทางการเงิน คือ การนำตัวเลขจากงบการเงินมาเปรียบเทียบความสัมพันธ์เพื่อวิเคราะห์สุขภาพธุรกิจในแง่มุมต่างๆ เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างกำไรกับรายได้ ว่ารายได้ที่หาได้นั้นเราสามารถทำกำไรได้เท่าไร ทั้งนี้อัตราส่วนการเงินนั้น สามารถเปรียบเทียบได้ระหว่างข้อมูลแต่ละช่วงเวลาของกิจการในอดีต เปรียบเทียบกับคู่แข่ง หรือเปรียบเทียบกับกลุ่มอุตสาหกรรม

อัตราส่วนการเงิน 5 ประเภท

อัตราส่วนการเงินเป็นเครื่องมือนึงในการช่วยวิเคราะห์งบการเงินซึ่งถ้าจัดเป็นหมวดหมู่ เราสามารถแบ่งอัตราส่วนการเงินออกเป็น 5 ประเภท ตามนี้ค่ะ

1. อัตราส่วนความสามารถในการทำกำไร (Profitability Ratio)

อัตราส่วนกลุ่มนี้จะช่วยวัดความสามารถในการทำกำไร โดยเปรียบเทียบกับรายได้ ซึ่งเราแบ่งออกเป็นหลายๆ ขั้นตามงบกำไรขาดทุน ได้แก่

  • กำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin)
  • กำไรจากการดำเนินงาน (Operating Income)
  • กำไรก่อนภาษี (Earnings before Tax)
  • กำไรสุทธิ (Net Income)
  • กำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย (Earnings before Interest, tax, depreciation, and amortization: EBITDA)

ข้อดีของการวิเคราะห์อัตราส่วนความสามารถในการทำกำไรจะช่วยให้เรา

  • วิเคราะห์ความเหมาะสมในการตั้งราคาสินค้า
  • วิเคราะห์ความสามารถในการควบคุมต้นทุน
  • วิเคราะห์ความสามารถในการบริหารรายจ่ายแต่ละขั้น

ปกติแล้วการวิเคราะห์อัตราส่วนนี้ ถ้ายิ่งมีค่าสูงๆ ก็จะยิ่งดี เพราะมันหมายถึงกิจการมีกำไรเยอะ เมื่อเทียบกับรายได้ที่หามาได้ค่ะ

ความสามารถในการทำกำไร
ความสามารถในการทำกำไร

สำหรับใครที่ต้องการวิเคราะห์กำไรแบบเจาะลง ศึกษาเพิ่มเติมได้ที่นี่เลย: ความสามารถในการทำกำไรคืออะไร วิเคราะห์แบบไหนได้บ้าง

2. อัตราส่วนความสามารถในการดำเนินงาน (Activities Ratio)

ถ้าอยากมีรายได้ เราต้องบริหารทรัพย์สินให้เก่ง วิธีวิเคราะห์ว่าธุรกิจบริหารทรัพย์สินได้เก่งไหม เราสามารถใช้อัตราส่วนความสามารถในการดำเนินงาน หรือ Activities Ratio ช่วยในการวิเคราะห์ได้ โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ

ความสามารถในการบริหารสินทรัพย์ความสามารถในการบริหารเงินทุนหมุนเวียน
การหมุนเวียนของสินทรัพย์ (Asset Turnover)จำนวนวันในการจ่ายชำระหนี้: Days of Payable
การหมุนเวียนของสินทรัพย์ถาวร (Fixed Asset Turnover)  จำนวนวันในการถือสินค้า: Days of Inventory on Hand (DOH)
 จำนวนวันในการขาย: Days of Sales Outstanding (DSO)

กลุ่มที่ 1 ความสามารถในการบริหารสินทรัพย์

จะเป็นการเช็คว่าสินทรัพย์ที่มีอยู่ทั้ง 2 ชนิด คือ สินทรัพย์รวม และสินทรัพย์ถาวรนั้น สามารถสร้างรายได้ได้ดีขนาดไหน หรือสามารถหมุนไปเป็นรายได้ได้เร็วไหม จากอัตราส่วนการหมุนเวียนของสินทรัพย์ (Asset Turnover) และการหมุนเวียนของสินทรัพย์ถาวร (Fixed Asset Turnover) ตามลำดับ ซึ่งเรานิยมวิเคราะห์สินทรัพย์แบบนี้กับธุรกิจผลิต เพราะน่าจะลงทุนในสินทรัพย์ค่อนข้างสูง

ความสามารถในการดำเนินงาน
ความสามารถในการดำเนินงาน

กลุ่มที่ 2 ความสามารถในการบริหารเงินทุนหมุนเวียน (Working Capital)

เงินทุนหมุนเวียน (Working Capital) หมายถึง เงินทุนที่กิจการต้องใช้หมุนเวียนในการดำเนินงานทุกๆ วัน ซึ่งประกอบด้วยส่วนสำคัญอย่าง เจ้าหนี้การค้า สินค้าคงเหลือ และลูกหนี้การค้า

ปกติแล้วเราจะมีสินค้าขายได้ก็ต้องซื้อวัตถุดิบเข้ามา และวัตถุดิบเหล่านี้เกือบทุกธุรกิจย่อมซื้อแบบเป็นหนี้ จึงมีเจ้าหนี้การค้าเกิดขึ้น จากนั้นต้องมาเริ่มกระบวนการผลิตจากวัตถุดิบไปเป็นสินค้าสำเร็จรูป รวมๆ เราเรียกว่าสินค้าคงเหลือ และสินค้าที่ขายได้ก็มักจะไม่ได้รับเงินทันที เพราะว่าเราให้เครดิตกับลูกค้า เกิดขึ้นเป็นลูกหนี้การค้าในงบการเงิน

จะบริหารเงินได้ดีก็ต้องรู้จักวิธีจัดการกับเงินทุนหมุนเวียน ซึ่งปกติแล้วเรามักวัดประสิทธิภาพในการจัดการจากจำนวนวันของแต่ละบัญชีที่ถืออยู่ ได้แก่

  • จำนวนวันในการจ่ายชำระเจ้าหนี้: Days of Payable ยิ่งจ่ายช้า ยิ่งดี (แต่ต้องอยู่ในเครดิตเทอมด้วย)
  • จำนวนวันในการถือสินค้า: Days of Inventory on Hand (DOH) ยิ่งถือสั้น ยิ่งดี
  • จำนวนวันในการขาย: Days of Sales Outstanding (DSO) ยิ่งได้รับเงินเร็ว ยิ่งดี

วิธีการคำนวณเราสรุปมาให้ตามภาพด้านล่างนี้ ยิ่งผลรวมจำนวนวันของ DOH + DSO – Days of Payable น้อยยิ่งแสดงถึงความสามารถในการบริหารเงินทุนหมุนเวียนในธุรกิจได้ดี

ความสามารถในการบริหาร Working Cap
ความสามารถในการบริหาร Working Cap

3. อัตราส่วนสภาพคล่อง (Liquidity Ratio)

อัตราส่วนสภาพคล่อง เป็นอัตราส่วนที่บอกความสามารถในการจ่ายชำระหนี้ระยะสั้น หรือหนี้ที่จะถึงกำหนดในเวลา 12 เดือนนี้

เราจะเปรียบเทียบสินทรัพย์ระยะสั้นกับหนี้สินระยะสั้น โดยเพิ่มระดับความเข้มข้นไปเรื่อยๆ 3 ระดับดังนี้

  • อัตราส่วนทุนหมุนเวียน
  • อัตราทุนหมุนเวียนเร็ว (ใช้แค่เงินสดและเงินลงทุนระยะสั้น)
  • อัตราส่วนเงินสด

สำหรับคนที่อยากคำนวณอัตราส่วนนี้ด้วยตัวเองสามารถเช็คสูตรคำนวณและเลือกใช้อัตราส่วนที่เหมาะสมได้จากภาพนี้

สภาพคล่อง
อัตราส่วนสภาพคล่อง

4. อัตราส่วนโครงสร้างเงินทุน (Solvency Ratio)

การวิเคราะห์โครงสร้างเงินทุนเป็นการประเมินองค์ประกอบของการจัดตั้งธุรกิจว่าเกิดขึ้นมาจากหนี้สินหรือว่าส่วนของเจ้าของเป็นหลัก และอัตราส่วนเงินทุนนั้นจะบ่งบอกความมั่นคงหรือความอยู่รอดของธุรกิจในระยะยาวด้วย

อย่างเช่น ถ้าธุรกิจที่มีหนี้สูงๆ อาจจะมั่นคงน้อยกว่าธุรกิจที่มีส่วนของเจ้าของสูงๆ เพราะมีความเสี่ยงเจ้าหนี้เรียกเงินกู้คืน หรือต้องจ่ายชำระดอกเบี้ยในอนาคตค่อนข้างเยอะ

เราจึงมักเปรียบเทียบกันโดยใช้อัตราส่วน 2 ตัวนี้

  • Debt/Equity หนี้สินต่อส่วนของเจ้าของ
  • Debt/Asset หนี้สินต่อสินทรัพย์
Slide6 - CPD Academy
โครงสร้างเงินทุน

5. อัตราส่วนการวัดมูลค่าตลาด (Valuation Ratio)

อัตราส่วนการวัดมูลค่าตลาดของกิจการนั้น เป็นอัตราส่วนที่วัดระหว่างราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ เปรียบเทียบกับผลการดำเนินงานของบริษัทในรูปของกำไรสุทธิต่อหุ้น และมูลค่าตามบัญชีต่อหุ้น

โดยเราต้องใช้ข้อมูลจากแหล่งภายใน คือ งบการเงินในการคำนวณ และข้อมูลจากแหล่งภายนอก คือ ราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์

สำหรับอัตราส่วนที่ใช้วัดมูลค่าตลาด 3 อัตราส่วนที่สำคัญได้แก่

  • อัตรากำไรต่อหุ้น (EPS)
  • ราคาต่อกำไร (P/E)
  • ราคาต่อมูลค่าตามบัญชี (P/BV)

อัตราส่วนวัดมูลค่าตลาด
อัตราส่วนวัดมูลค่าตลาด

ตัว P หมายถึง ราคาของหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ซึ่งเราสามารถเช็คได้จากที่นี่

ทั้งหมดนี้เป็นอัตราส่วนการเงินทั้งหมดที่นิยมใช้กันในการประเมินธุรกิจทั้งจากแง่มุมเจ้าของธุรกิจหรือว่าบุคคลภายนอกซึ่งจะทำให้เราเข้าใจธุรกิจมากยิ่งขึ้น แล้วที่สำคัญนักบัญชีก็สามารถช่วยเจ้าของธุรกิจเลือกใช้อัตราส่วนเหล่านี้ในการวิเคราะห์งบการเงินแบบง่ายๆ ได้เช่นกันค่ะ

อัตราส่วนทางการเงิน 5 แบบ
อัตราส่วนทางการเงิน 5 แบบ

และถ้าใครอยากอ่านวิธีการวิเคราะห์ตัวเลขเพิ่มเติมอ่านได้ที่นี่เลย: ตัวอย่างการวิเคราะห์อัตราส่วนการเงิน

อบรมบัญชีเก็บชั่วโมง CPD ออนไลน์ง่ายๆ ได้ที่บ้าน 

สอบถามได้ที่นี่ Line: @cpdacademy

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า